Archive

Posts Tagged ‘องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ’

ไอบีเอ็มจับมือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยใน 6 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ

December 14th, 2012 No comments


จุดประกายนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSMสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้แก่ครูและนักเรียนไทย

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 14 ธันวาคม 2555: ไอบีเอ็มเปิดเผยถึงโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM เพื่อฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นโครงการที่กลุ่มอาสาสมัครของบริษัทฯ ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสความตื่นเต้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์และกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความสนใจของนักเรียน พร้อมทั้งเสริมสร้างแนวทางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ริเริ่มสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดต่างๆ ของไทย

โครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์เต็มวันอบรมให้ความรู้แก่คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนนำร่องใน 6 จังหวัด เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ซึ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบตลอดชีวิตต่อไปในอนาคต

“ไอบีเอ็มเชื่อมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างบุคลากรแห่งอนาคต ในการประสานความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติครั้งนี้ เรารู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนในการส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างบุคลากรในอนาคต อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศของเราเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ มีพันธกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้ตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเทคโนโลยี โดยถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ผ่านนิทรรศการสร้างสรรค์และกิจกรรมด้านการศึกษาต่างๆ ในแนวทางที่น่าสนใจและเข้าถึงได้ โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM อันเป็นความร่วมมือกับไอบีเอ็มในครั้งนี้ มีกิจกรรมภายใต้แนวคิดที่ดีเยี่ยมมากมาย สร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนานและริเริ่มสร้างสรรค์ให้แก่ทั้งครูและนักเรียนในชั้นเรียน ทาง อพวช. หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับไอบีเอ็ม เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อไปในอนาคต”

โครงการ TryScience

เนื่องจากครูมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการอบรมให้ความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีทรัพยากรที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์แก่คณะครู โดยในช่วงแรกของกิจกรรมฯ ทีมงานของไอบีเอ็มและอพวช. ได้แนะนำเว็บไซต์ TryScience เพื่อให้คณาจารย์ได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์หลายพันคน ภายใต้สาขาวิชาที่หลากหลายตั้งแต่โบราณคดีไปจนถึงสัตววิทยา รวมถึงส่วน TryScience Teachers ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของเว็บไซต์ TryScience ที่มากมายด้วยทรัพยากรและสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับให้ครูผู้สอนผนวกเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน พร้อมไปกับการดึงดูดความสนใจจากนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น โดยทางทีมงานและคณะครูยังได้ร่วมกันระดมความคิด เกี่ยวกับโครงการการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในอนาคตร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือในอนาคต

ส่วนท้ายของกิจกรรมฯ เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจ ตรวจสอบ ค้นหา และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ด้วยชุดกิจกรรมการทดลองในด้านต่างๆ โดยนักเรียนจะได้รับแรงบันดาลใจจากวิศวกรไอทีของไอบีเอ็ม และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เบื้องต้นผ่านกิจกรรมการทดลองที่น่าสนใจ

นายทองสุข สว่างงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร) กล่าวว่า “โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM มีประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนเป็นอย่างมาก นักเรียนทุกคนรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้พบว่าวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของตนมากเพียงใด การฝึกอบรมในครั้งนี้ รวมถึงองค์ความรู้มากมายจากเว็บไซต์ TryScience ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนของเราได้สัมผัสและมีประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโรงเรียนในการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์”

นายจีระยศ กิจตรอง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ทางคณะครูพบว่าเนื้อหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากเว็บไซต์ TryScience มีประโยชน์อย่างมากในทางปฏิบัติ และสามารถนำไปปรับใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนได้ นอกจากนี้ นักเรียนยังรู้สึกประทับใจอย่างมากกับโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ เพราะช่วยให้เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองที่จับต้องได้ ทั้งยังช่วยให้นักเรียนเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่าย”

โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM ภายใต้ความร่วมมือของไอบีเอ็มและอพวช. มีคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมกว่า 600 คนจาก 28 โรงเรียนในกรุงเทพฯ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี และเชียงใหม่ โดยมีแผนที่จะจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience เพิ่มเติมในปีหน้า

# # #

เกี่ยวกับเว็บไซต์ TryScience

www.TryScience.org เป็นเว็บไซต์อินเตอร์แอคทีฟระดับโลกที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์ TryScience เป็นผลงานการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง New York Hall of Science ไอบีเอ็ม และหน่วยงานที่เป็นสมาชิกของสมาคมศูนย์วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี โดยนับเป็นแหล่งรวบรวมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์หลายพันคน ในสาขาวิชาที่หลากหลายตั้งแต่โบราณคดีไปจนถึงสัตววิทยา
TryScience เปิดโอกาสให้ผู้คนในทุกๆ ที่สามารถเข้าถึงและสำรวจความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ในรูปแบบของนิทรรศการแบบอินเตอร์แอคทีฟ การผจญภัยมัลติมีเดีย และ “การทัศนศึกษา” ผ่านกล้องถ่ายทอดสด นอกจากนี้ TryScience ยังนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์เชิงปฏิบัติการที่เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถนำไปทดลองทำที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเว็บไซต์ TryScience ได้ที่ http://www.tryscience.org/

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเว็บไซต์ในหัวข้อ TryScience Teachers ได้ที่ http://www.tryscience.org/teachers/teacher.html

รายชื่อโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM
1. โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านบ่อ จังหวัดกาญจนบุรี
2. โรงเรียนอนุบาลวัดไชยชุมพลชนะสงคาม จังหวัดกาญจนบุรี
3. โรงเรียนบ้านหัวหิน จังหวัดกาญจนบุรี
4. โรงเรียนเขาดินวิทยาคาร จังหวัดกาญจนบุรี
5. โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง จังหวัดกาญจนบุรี
6. โรงเรียนบ้านโป่งหวาย จังหวัดกาญจนบุรี
7. โรงเรียนเทศบาล 1 วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี
8. โรงเรียนเมืองพัทยา 7 จังหวัดชลบุรี
9. โรงเรียนอนุบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี
10. โรงเรียนอนุบาลพนัสศึกษาลัย จังหวัดชลบุรี
11. โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ จังหวัดชลบุรี
12. โรงเรียนวัดบ้านนา จังหวัดชลบุรี
13. โรงเรียนอนุบาลประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
14. โรงเรียนเทศบาลวัดธรรมิการาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
15. โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองบัว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
16. โรงเรียนเทศบาลบ้านค่าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
17. โรงเรียนอนุบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ (สละชีพ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
18. โรงเรียนเทศบาล 1 บูรพาวิทยากร จังหวัดนครราชสีมา
19. โรงเรียนเทศบาล 2 วัดสมอราย จังหวัดนครราชสีมา
20. โรงเรียนเทศบาล 3 ยมราชสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา
21. โรงเรียนเทศบาล 4 เพาะชำ จังหวัดนครราชสีมา
22. โรงเรียนเทศบาล 5 วัดป่าจิตตสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา
23. โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่
24. โรงเรียนวัดเวฬุวัน จังหวัดเชียงใหม่
25. โรงเรียนบ้านแจ่งกู่เรือง จังหวัดเชียงใหม่
26. โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่
27. โรงเรียนเทศบาลวัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่
28. โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย จังหวัดเชียงใหม่

หมายเหตุ: โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ TryScience IBM-NSM ที่จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นลักษณะ
เปิดกว้างให้คณะครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียนสามารถเข้าร่วมได้

View :1425

อพวช. เปิดฉากมหกรรมวิทย์ 54 จุดประกายความคิดผ่านสื่อมัลติมีเดีย

August 3rd, 2011 No comments

เตรียมพบกับปรากฏการณ์ตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2554 ที่นำทัพนิทรรศการเสมือนจริงในรูปแบบ 4 มิติ มาช่วยจุดประกายความคิดด้วยวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ โดยในปีนี้มหกรรมวิทย์ฯ จะได้ร่วมเฉลิมฉลองปีเคมีสากล และปีป่าไม้สากล ไปพร้อมกับเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเยาวชน

(อพวช.) ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน เตรียมพร้อมเนรมิตพื้นที่กว่า 42,000 ตารางเมตร ของศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา ให้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่สามารถรองรับผู้เข้าชมงานจากทั่วประเทศ เนื่องจากในแต่ละปีมีเยาวชนให้ความสนใจเดินทางเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องขยายการจัดงานให้ยาวถึง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-21 สิงหาคมนี้

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช. บอกว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวติด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” โดยยังคงนำเสนอเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งต่างจากนิทรรศการทั่วไป

การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลองปีเคมีสากล และปีป่าไม้สากล โดยผู้จัดงานได้นำเทคโนโลยีมัลติมีเดีย รูปแบบใหม่ เขามาสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้กับเยาวชนผ่านสื่ออินเตอร์แอคทีฟ นิทรรศการและภาพยนตร์ในรูปแบบ 3 มิติ และ 4 มิติ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ

นิทรรศการหลักภายในงานมหากรรมวิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้ ยังคงเน้นไปที่นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่นำเสนอพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ที่ทรงพระราชทานหลักคิดสู่ปฏิบัติ พัฒนาประเทศบนวิถีพอเพียง รวมถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็ดพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบรมศานุวงศ์

ตลอดจนนิทรรศการที่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ในส่วนของนิทรรศการหลัก กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งกำลังได้รับความสนใจ ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ได้จำลอง “ภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์” เพื่อให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง ร่วมสำรวจขั้วโลก และไขความลับบรรยากาศโลกในช่วงร้อยล้านปีที่ผ่านมา พร้อมปิดฉากด้วยภาพยนตร์ 4 มิติ ที่จะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม

การทดลองมหัศจรรย์แห่งเคมี และเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกเป็นอีกนิทรรศการที่น่าสนใจ ไม่แพ้นิทรรศการเรียนรู้คุณค่าของน้ำแห่งชีวิต ผ่านม่านน้ำขนาดใหญ่ และมัลติเธียเตอร์ ก่อนจะปิดท้ายที่กับนิทรรศการเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ และคนพิการ ภายในบ้านแห่งความเท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความประทับใจ และจุดประกายการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้ไม่แพ้นิทรรศการในครั้งที่ผ่านๆ มา

นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับความร่วมมือจาก 100 หน่วงงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมจัดแสดงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในงาน อาทิ การแสดงหุ่นขี้ผึ้งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จาก มาดามทรูโซ ห้องเรียนทดลองวิทย์จากประเทศญี่ปุ่น บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยจากเยอรมนี เป็นต้น

ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดงานในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน ไม่ต่ำกว่า 1,200,000 ล้านคน ใน 16 วัน ซึ่งปัจจุบันมียอดจองขอเข้าชมงานเป็นหมู่คณะแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 คน งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในปีนี้ เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ของวันที่ 6-21 สิงหาคมนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้นวันที่ 9 สิงหาคม) วันเปิดงานอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธี

View :1924