Archive

Posts Tagged ‘โมบายล์แอพพลิเคชั่น’

โมบายล์แอพพลิเคชั่น … โอกาสของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย

June 30th, 2011 No comments

บทความ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในยุคปัจจุบัน อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารพื้นฐานแล้ว อุปกรณ์เคลื่อนที่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง หรือเล่นเกมส์ และยังใช้เป็นอุปกรณ์ในการรับข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารออนไลน์ต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้เพื่อเสริมความสามารถในการทำธุรกิจ เช่น การใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยของพนักงานขายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างน่าสนใจ โดยมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง เป็นต้น ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือโมบายล์แอพพลิเคชั่นนั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความหลากหลายของอรรถประโยชน์ต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสภาพการณ์ และแนวโน้มตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทย รวมไปถึงโอกาสและข้อคิดสำหรับนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในการเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น


    ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นไทย…มักถูกแจกจ่ายฟรี เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด

ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นของไทยในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้บริโภคชาวไทยมักเลือกซื้อแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาในต่างประเทศเป็นหลัก แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยเองนั้นยังคงมีอยู่จำนวนน้อย โดยจากการรวบรวมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า จำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมมีอยู่ประมาณ 871 แอพพลิเคชั่น   เมื่อเทียบกับจำนวนโมบายล์แอพพลิเคชั่นทั้งหมดทั่วโลกซึ่งอยู่ราว 743,640 แอพพลิเคชั่น

โมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในปัจจุบันนั้น มักถูกพัฒนาโดยองค์กรต่างๆทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและให้บริการต่างๆ แอพพลิเคชั่นต่างๆเหล่านี้มักถูกแจกจ่ายฟรี หรือจำหน่ายในราคาที่ต่ำ เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานให้กว้างขวาง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนแอพพลิเคชั่นแบบฟรีรวมทุกแพลตฟอร์มราวร้อยละ 43.6 และแบบที่ต้องชำระเงินราวร้อยละ 56.4 โดยแอพพลิเคชั่นที่ขายในระดับราคา 0.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับราคาเริ่มต้น จะมีอยู่ราวร้อยละ 18.8 ของแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยทั้งหมด

ปัจจุบัน โมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยมักถูกพัฒนาขึ้นสำหรับตลาดผู้บริโภค และเพื่อส่งเสริมธุรกิจหรือบริการหลักที่องค์กรรัฐหรือเอกชนนั้นดำเนินการอยู่ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

1)    เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาหรืออ้างอิง เช่น แอพพลิเคชั่นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทย หรือแอพพลิเคชั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลโครงการบ้านต่างๆของบริษัทได้ เป็นต้น

2)    เพื่อใช้เป็นช่องทางจัดจำหน่ายคอนเทนต์ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มักจะอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นได้ฟรี แต่ต้องซื้อเนื้อหารายฉบับ หรือสมัครสมาชิกรายเดือน เช่น แอพพลิเคชั่นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารออนไลน์ปกต่างๆ เป็นต้น

3)    เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้บริการต่างๆ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้บริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค เช่น การจองตั๋วชมภาพยนตร์ การซื้อ-ขายหุ้น การทำธุรกรรมธนาคารออนไลน์ เป็นต้น

4)    เพื่อจำหน่ายเป็นแอพพลิเคชั่นอรรถประโยชน์ต่างๆ ซึ่งบางส่วนอาจอนุญาตให้ผู้บริโภคใช้งานได้ฟรี แต่จะถูกจำกัดฟังก์ชั่นการทำงานที่สามารถใช้งานได้ โดยผู้บริโภคสามารถชำระเงินเพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นฉบับเต็มที่มีความสามารถที่สูงกว่า เช่น แอพพลิเคชั่นแปลภาษา ซึ่งในฉบับทดลองใช้ อาจใช้แปลภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าต้องการใช้งานฟังก์ชั่นแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็ต้องชำระเงินเพื่อสามารถใช้งานฉบับเต็มได้ เป็นต้น

    ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นปี ’54 หลากหลายปัจจัยหนุนการขยายตัว

แม้ว่าตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นไทยยังคงมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่จะมีส่วนผลักดันให้ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในปี 2554 มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการหนุนให้นักพัฒนาหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดนี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

•    การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟน จากคุณสมบัติอันโดดเด่นของสมาร์ทโฟนในเรื่องของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถลงแอพพลิเคชั่นต่างๆได้ จนมีการกล่าวกันว่าสมาร์ทโฟน คือ คอมพิวเตอร์ขนาดย่อส่วน ที่ผู้บริโภคสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูงในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ในการตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดสมาร์ทโฟนจะมีอัตราการเติบโตราวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8  โดยในปีนี้ผู้ประกอบการได้มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าสมาร์ทโฟนอีกหลายรุ่น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟนดังกล่าว จะมีส่วนช่วยผลักดันการขยายตัวของฐานผู้บริโภคบนตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นมากขึ้น

•    การขยายตัวของตลาดแท็บเล็ต ถึงแม้ว่าฟังก์ชั่นการทำงานโดยทั่วไปของแท็บเล็ตจะมีความคล้ายคลึงกันกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า และขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับความสามารถในการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจในการใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการใช้งานส่วนบุคคลในลักษณะเดียวกับสมาร์ทโฟนแล้ว แท็บเล็ตยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านธุรกิจ หรือแม้แต่ถูกประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ และการศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2554 ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยได้มีการคาดการณ์กันว่ายอดจำหน่ายรวมของแท็บเล็ตในไทยจะมีราว 2 ถึง 3 แสนเครื่อง

•    การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ จากการที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายมีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าธุรกิจบริการโทรคมนาคมสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาบริการและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นการชมภาพยนตร์ออนไลน์ หรือแม้แต่การเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมออนไลน์บนอุปกรณ์พกพามากยิ่งขึ้น

•    ราคาจำหน่ายที่ถูก โมบายล์แอพพลิเคชั่นที่จำหน่ายผ่านร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์จะมีทั้งแบบฟรีและแบบที่ต้องชำระเงิน โดยแอพพลิชั่นแบบฟรีในตลาดโลกมีสัดส่วนราวร้อยละ 36.2 ของแอพพลิเคชั่นรวมทุกแพลตฟอร์ม ในขณะที่แบบที่ต้องชำระเงินจะมีสัดส่วนราวร้อยละ 63.8 สำหรับแอพพลิเคชั่นแบบที่ต้องชำระเงินนั้นจะมีราคาเฉลี่ยรวมทุกแพลตฟอร์มอยู่ที่ 4.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีราคาเริ่มต้นที่ 0.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีจำนวนแอพพลิเคชั่นราวร้อยละ 29.6 ของแอพพลิเคชั่นทั้งหมด สำหรับโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

•    ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก โมบายล์แอพพลิเคชั่นจะถูกขายออนไลน์ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่เรียกว่า ร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (Online Application Store) โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านแอพพลิเคชั่นของร้านออนไลน์ดังกล่าวบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ประกอบกับการจัดหมวดหมู่แอพพลิเคชั่นที่ง่ายแก่การค้นหา และระบบการชำระเงินที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือผ่านระบบการชำระเงินออนไลน์อย่างเพย์พาล

•    สร้างสรรค์ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้บริโภค จากคุณลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เช่น ระบบสั่งงานแบบสัมผัส เป็นต้น ทำให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการใช้งานในรูปแบบใหม่ ซึ่งสะดวกและง่ายแก่การใช้งาน โดยผู้บริโภคไม่เคยประสบมาก่อนในการทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่

จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ฐานผู้ใช้งานโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรรัฐหรือเอกชน เพื่อเป็นช่องทางการทำตลาดหรือส่งเสริมบริการของตนในตลาดผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และอาจมีส่วนในการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถกระทำได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยจะมีการขยายตัวสูงขึ้น โดยมีจำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มในตลาดผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 1,300 แอพพลิเคชั่น จากสิ้นปี 2553 ที่มีอยู่ราว 530 แอพพลิเคชั่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 147.2 ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นมูลค่าของธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับด้านต้นทุนการพัฒนาในปี 2554 จะอยู่ที่ราว 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.8 จากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ราว 265 ล้านบาท

นอกเหนือจาก โอกาสของนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในตลาดผู้บริโภคแล้ว  ตลาดองค์กร ก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในอนาคตเช่นกัน เนื่องจาก ตลาดองค์กรเป็นตลาดที่ใหญ่และมีเม็ดเงินในการลงทุนที่สูง โดยในปี 2553 ตลาดองค์กรสำหรับธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) นั้นมีมูลค่าถึงร้อยละ 74.8 ของตลาดซอฟต์แวร์ทั้งหมดในไทย คิดเป็นมูลค่าถึง 54,165 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับตลาดองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการระบบการทำงานที่มีความพร้อมในการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง (Availability) และความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability) ที่สูง ทำให้การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นในช่วงแรก น่าจะยังคงเป็นเพียงส่วนเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ซอฟต์แวร์ระบบที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยโมบายล์แอพพลิเคชั่นจะทำหน้าที่รับข้อมูลและส่งไปประมวลผลที่ซอฟต์แวร์ระบบ หรือดึงข้อมูลที่เก็บไว้ที่ซอฟต์แวร์ระบบมาแสดงผลให้แก่ผู้ใช้งาน เช่น การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบบริหารสินค้าคงคลังในห้างสรรพสินค้า ซึ่งพนักงานสามารถเรียกดูว่าสินค้าที่ลูกค้ากำลังสอบถามนั้น มีอยู่หรือไม่และจัดวางอยู่ที่ชั้นวางบริเวณใดผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นต้น

ขณะที่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับตลาดองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน และจำนวนผู้ใช้งานระบบที่ไม่มากนัก ทำให้โมบายล์แอพพลิเคชั่นอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการใช้งานแทนระบบซอฟแวร์เดิมบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เนื่องจาก ความคล่องตัวของอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มากกว่า ซึ่งอาจช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรขนาดเล็กได้ เช่น ระบบบัญชีบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริหารสามารถเรียกดูรายงานสรุปการดำเนินธุรกิจจากที่ใดก็ได้ เป็นต้น

    ข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น

ถึงแม้ว่าตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2554 แต่นักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดนี้ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ดังนี้

•    พัฒนาแอพพลิเคชั่นในหลากหลายแพลตฟอร์ม และสามารถทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ จากการที่โมบายล์แอพพลิเคชั่นถูกขายผ่านทางร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ซึ่งมักถูกเก็บส่วนแบ่งรายได้ราวร้อยละ 30 ของยอดขาย ประกอบกับราคาของแอพพลิเคชั่นมักถูกตั้งในราคาไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รายได้ต่อการขายหนึ่งครั้งค่อนข้างต่ำ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขายในปริมาณมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่อิงรายได้หลักจากยอดแอพพลิเคชั่นที่ขายได้ ควรพิจารณาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนหลากหลายแพลตฟอร์มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ และออกแบบให้สามารถจับตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจพัฒนาให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

•    สร้างความแตกต่างให้กับแอพพลิเคชั่นที่จะพัฒนา ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้มีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นองค์กร รวมถึงนักพัฒนาอิสระหันมาพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นมากยิ่งขึ้น ทำให้จำนวนแอพพลิเคชั่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความหลากหลายให้เลือก ผู้ประกอบการควรมองหาช่องว่างทางการตลาดที่มีความต้องการเฉพาะสำหรับผู้บริโภคหรือธุรกิจไทย เพื่อออกแบบแอพพลิเคชั่นที่จะพัฒนาให้มีความแตกต่างและมีจุดเด่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือตอบโจทย์ความต้องการใช้งานเฉพาะด้านของธุรกิจ รวมถึงการสร้างความได้เปรียบเหนือจุดด้อยของแอพพลิเคชั่นคู่แข่ง

•    ปรับปรุงและพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ทำให้แอพพลิเคชั่นที่เคยได้รับความนิยม อาจจะเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ถูกลอกเลียนแนวคิดและมีการออกแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกมา นักพัฒนาต้องหมั่นสำรวจตลาดและวางแผนในการปรับปรุงและพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆให้แก่แอพพลิเคชั่นในการรักษาและขยายฐานลูกค้าของตน

•    ร่วมมือกับสถานศึกษาในการผลิตนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น เนื่องจาก ธุรกิจการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นของไทยนั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงยังคงมีปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้และความชำนาญเฉพาะในการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ผู้ประกอบการอาจร่วมมือกับสถานศึกษาในการเปิดหลักสูตรการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น รับนักศึกษาฝึกงาน ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในการทำจุลนิพนธ์ของนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเริ่มต้นการทำงานได้เร็วหลังจากจบการศึกษา

บทสรุป
ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยผู้บริโภคมักเลือกซื้อแอพพลิเคชั่นต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของฐานผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ประกอบกับการทยอยเริ่มเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการเข้ามาขององค์กรรัฐ และผู้ประกอบการเอกชน ในการผลักดันการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมบริการหรือธุรกิจหลักของตน ทำให้ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ดี และเป็นโอกาสของนักพัฒนาไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 จำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มในตลาดผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 1,300 แอพพลิเคชั่น จากราว 530 แอพพลิเคชั่นในปี 2553 ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นมูลค่าของธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับด้านต้นทุนการพัฒนาในปี 2554 จะอยู่ที่ราว 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.8 จากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ราว 265 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มที่สำคัญในตลาดผู้บริโภคนั้น โมบายล์แอพพลิเคชั่นจะทำให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การจับจ่ายซื้อของผ่านห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น เป็นต้น หรือแม้แต่ในตลาดองค์กรและผู้ประกอบการขนาดเล็ก จะเกิดโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นต่างๆดังกล่าวเหล่านี้ ยังคงเป็นตลาดใหม่สำหรับเมืองไทย จึงเป็นช่องว่างทางการตลาด และโอกาสอันสำคัญสำหรับนักพัฒนาไทย ซึ่งมีความเข้าใจในความต้องการผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจของไทยเป็นอย่างดี ในการเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจซอฟต์แวร์จากนักพัฒนาต่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น จะยังคงต้องเผชิญความท้าทายและข้อจำกัดต่างๆในการดำเนินธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ หรือแม้แต่สภาพการแข่งขันที่โมบายล์แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ถูกตั้งราคาไว้ต่ำ ประกอบกับการถูกร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์เก็บส่วนแบ่งรายได้ราวร้อยละ 30 ของยอดขาย และความท้าทายในการถูกลอกเลียนแนวคิดและมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกสู่ตลาด

Disclaimer:
“รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

View :2625