Archive

Posts Tagged ‘​ตลาดไอซีที’

ไอดีซีระบุ แม้สิ่งเดียวที่แน่นอนที่สุดในปี 2555 คือความไม่แน่นอน แต่การใช้จ่ายด้านไอซีทีจะยังคงเติบโตต่อไป

November 28th, 2011 No comments

บริษัทไอดีซีเผยว่าสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะเต็มไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอนตลอดปี 2555 นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไอดีซีได้นำมาประกอบการการคาดการณ์ 10 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในปี 2555 ซึ่งถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะมีความผันผวนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่องค์กรต่างๆ ก็ยังคงมั่นใจว่าจะยังคงเติบโตได้ในภูมิภาคนี้ เหล่าผู้บริหารน่าจะต้องประสบกับความยากลำบากในการตัดสินใจลงทุน โดยเรามีโอกาสที่จะเห็นองค์กรต่างๆ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอซีทีในรูปแบบที่ใหม่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาอัตราการเติบโตเอาไว้ ข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดของเรื่องนี้นั้นจะอยู่ในรายงานฉบับใหม่ของไอดีซีที่มีชื่อว่า “ Asia/Pacific (excluding Japan) ICT 2012 Top 10 Predictions”

นายเคลาส์ มอเทนเซ็น หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2555 ที่เต็มไปด้วยความผันผวนนั้น สิ่งเดียวที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่สุดก็คือความไม่แน่นอนนั่นเอง ถึงแม้ว่าประเทศในภูมิภาคนี้จะสามารถรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่องค์กรส่วนใหญ่ยังคงพยายามลดความสูญเสียจากการลงทุนด้านไอซีทีในปี 2555 อยู่ดี”

“แต่เมื่อนำเอาความระมัดระวังมารวมเข้ากับความทะเยอทะยาน องค์กรต่างๆ จึงต้องหาหนทางในการทำกำไรจากการเติบโตภายในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็จะต้องตอบสนองต่อความความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของทั้งบรรดาผู้บริโภคและเหล่าพนักงานที่มีความรู้และมีอิสระในการเลือกมากขึ้น และต้องทำการลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวหากมีวิกฤติระลอกอื่นเข้ามาซ้ำเติม”

ไอดีซีตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปี 2555 แต่ก็ไม่เชื่อว่าการใช้จ่ายด้านไอซีทีในเอเชียแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากนัก โดยไอดีซีคาดว่าถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน องค์กรต่างๆ ในภาคธุรกิจจะยังคงเดินหน้าใช้จ่ายด้านไอซีทีอย่างค่อนข้างระมัดระวังต่อไป ซึ่งปริมาณการใช้จ่ายด้านไอซีทีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นในปี 2555 นั้นมีแนวโน้มขึ้นสูงถึง 653 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายถึงการขยายตัวขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายด้านไอซีทีของปี 2553 แต่อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตจะไม่สูงเท่ากับอัตราการเติบโตเมื่อปี 2553 และไอดีซีคาดว่าอัตราการเติบโตจะลดลงในช่วง 4-5 ปีหลังจากนี้ แต่กระนั้นก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 9% อยู่ดี

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษางานวิจัยล่าสุด ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการระดมสมองของนักวิเคราะห์ประจำประเทศและประจำภูมิภาค ทำให้ไอดีซีสามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มสำคัญ 10 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดไอซีทีในเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นได้ดังต่อไปนี้

1. เพื่อเกิดใหม่ในตลาดเกิดใหม่: รูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติเอเชียที่เกิดใหม่จะขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ของการใช้จ่ายด้านไอซีทีในปี 2555
ไอดีซีพบว่ามีบริษัทขนาดใหญ่ในรูปแบบใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพตลาดในปัจจุบันเกิดขึ้น ซึ่งเราเรียกรวมว่าเป็น “บริษัทขนาดใหญ่สัญชาติเอเชียที่เกิดใหม่” บริษัทเหล่านี้มีความกระหายที่จะเติบโตและขยายขอบเขตของธุรกิจออกไปในพื้นที่ต่างๆ โดยมีดีเอ็นเอที่ต่างออกไปจากองค์กรที่มาจากตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิง และนั่นนำไปสู่คำถามที่ว่ารูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติแบบเดิมๆ นั้นยังคงเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดอยู่หรือไม่ ซีไอโอทั้งหลายในบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้กำลังมองหาทางเลือกใหม่ๆ ที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตนเองและหาหนทางทำให้การลงทุนด้านไอทีของพวกเขาผลิดอกออกผลเร็วขึ้น ไอดีซีคาดว่าบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติเอเชียที่เกิดใหม่นี่เองที่จะช่วยผลักดันให้เกิด “คลื่นลูกใหม่” ของการใช้จ่ายด้านไอซีที ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โมบิลิตี้ คลาวด์ การวิเคราะห์เชิงธุรกิจและโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

2. คุณค่าของความมีหนึ่งเดียว: ธุรกิจในเอเชียจะเห็นคุณค่าของการมีสินค้าไอทีเพียงรูปแบบเดียว
ความซับซ้อนของตลาดในเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าและเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการมีสินค้า/บริการขายออกสู่ตลาดเพียง “รูปแบบเดียว” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า การขายสินค้า/บริการเพียงชนิดเดียว สามารถสร้างรูปแบบการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนให้กับผู้ขายหรือผู้ให้บริการได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือบริษัทแอ๊ปเปิ้ลที่มุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่าย คือมีโทรศัพท์มือถือวางจำหน่ายเพียงรูปแบบเดียวและมีมีเดียแท็บเล็ตวางจำหน่ายเพียงรูปแบบเดียว ในยุคก่อนที่แอ๊ปเปิ้ลจะโด่งดังขึ้นมา หลายคนเชื่อว่าการมีสินค้าออกวางจำหน่ายอย่างหลากหลายคือปัจจัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจโทรศัพท์มือถือได้ แต่ไอดีซีคาดการณ์ว่าบริษัททั้งหลายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไอซีทีจะเริ่มพิจารณาปรับใช้รูปแบบการทำธุรกิจแบบ “รูปแบบเดียว” เช่นนี้จากปี 2555 เป็นต้นไป

3. ทำให้ 2 + 2 = 1: การให้บริการคลาวด์ที่มีการจัดรวมการบริการเป็นกลุ่มจะนำไปสู่ “เอาท์ซอสซิ่ง 3.0”
ในปี 2554 ไอดีซีประมาณการว่าแอพพลิเคชั่นระดับองค์กรใหญ่ใหม่ๆ กว่า 80% จะถูกพัฒนาสำหรับ “พับบลิคคลาวด์” และภายในปี 2558 การใช้จ่ายที่เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นระดับองค์กรใหญ่นั้นจะมาจากคลาวด์ ประมาณ 20% ดังนั้นผู้ใช้บริการคลาวด์จะต้องบริหารจัดการปริมาณของบริการและเวนเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนขึ้นในการบริหารจัดการซึ่งกลับกลายเป็นว่าการประยุกต์ใช้คลาวด์หาได้ทำให้การบริหารจัดการทำได้ง่ายขึ้นแต่อย่างใด เพื่อลบจุดอ่อนข้อนี้ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป ผู้ให้บริการคลาวด์จะเริ่มจัดหาเครื่องมือบริหารจัดการที่สามารถรวมเอาการจัดการบริการคลาวด์ในรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันได้ นั่นก็คือการให้บริการคลาวด์ที่มีการจัดรวมการบริการเป็นกลุ่มหรือ Cloud Orchestration นั่นเอง ผลก็คือ ตลาดจะยังคงไม่พูดถึงการใช้บริการคลาวด์มากนักในช่วงระหว่างปีนี้จนถึงปี 2558 หากแต่จะนึกถึงการบริการในรูปแบบนี้ว่าเป็นการพัฒนาขึ้นของการเอาท์ซอร์ส หรือที่เรียกว่าเอาท์ซอสซิ่ง 3.0 แทน

4. “หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยข้อมูล” จะทำให้ “Big Data” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมากขึ้น
ไอดีซีคาดว่าเอเชียแปซิฟิกจะเริ่มเข้าสู่ยุคของ Big Data ได้ในปี 2555 ซึ่งข้อมูลจากการปฏิสัมพันธ์โดยใช้โซเชียลมีเดีย ข้อมูลจากมาตรวัดที่วัดผลแบบเรียลไทม์ ข้อมูลแบบ geospatial และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ในเรื่องของการจัดการกลยุทธ์การบริหารข้อมูลขึ้นมา เช่นเดียวกับทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ที่สุด จะได้มาจากเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถทำงานในสภาวะที่ข้อมูลที่องค์กรต่างๆ สร้างขึ้นมีปริมาณ อัตราความเร็ว และความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นได้ เครื่องมือเหล่านี้ก็คือเครื่องมือการวิเคราะห์ Big Data นั่นเอง ไอดีซีเชื่อว่า จากการที่ตัวแปรและแบบจำลองสำหรับการวิเคราะห์ Big Data นั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งใหม่ และต้องใช้ทักษะความสามารถระดับสูงในการวิเคราะห์ข้อมูล จะนำไปสู่การเกิดตำแหน่งงานใหม่ขึ้นในปี 2555 ซึ่งมีชื่อตำแหน่งว่า “Chief Data Scientist” หรือ “หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยข้อมูล” เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับ Big Data ได้นั่นเอง

5. Workload แบบใหม่บนคลาวด์จะเกิดขึ้น: นำโดยออโตเมชั่น
ไอดีซีคาดว่าในปี 2555 ความสามารถในการกำหนดประสิทธิภาพและทรัพยากรด้านไอทีจะกลายเป็นจุดสำคัญที่องค์กรใช้ในการสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางเช่นนี้ และไอดีซียังเชื่อว่า อันเนื่องมาจากการที่ workload ระลอกใหม่ๆ กำลังเคลื่อนเข้าสู่คลาวด์ ความสำคัญของการทำให้ขั้นตอนการทำงานด้านไอทีนั้นมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “ออโตเมชั่น” จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวและกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ซีไอโอให้ความสนใจในปี 2555 ที่จะถึงนี้ การลงทุนในเรื่องของการปรับเข้าสู่มาตรฐานและออโตเมชั่นจะทำให้องค์กรสามารถออกแบบ ปรับใช้ และดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานหลัก รวมทั้งสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างไอทีและการปฏิบัติงานในภาคส่วนอื่นๆ ของธุรกิจได้ในที่สุด

6. ผู้รวบรวมไว้ซึ่งแอพพลิเคชั่น: ทีมเสาะหานวัตกรรมใหม่ที่ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมตั้งขึ้นเพื่อส่งคอนเทนต์ไปสู่บ้านคุณ
การเพิ่มปริมาณที่มากขึ้นอย่างมหาศาลของดิจิตอลคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นที่ใช้บนอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายแบบทั้งมีสายและไร้สายนั้นนำมาซึ่งโอกาสครั้งใหม่สำหรับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโอกาสที่จะรวบรวมเอาคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นเข้าด้วยกันเพื่อเสนอเป็นโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ แต่การจะทำเช่นนี้ได้นั้น ต้องมีแผนกหรือทีมที่ดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสรรหาแอพพลิเคชั่น ไปจนถึงกระบวนการนำมาผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสามารถเสนอแอพพลิเคชั่นที่ “ใช่” ให้แก่ธุรกิจหรือผู้บริโภคทั่วไปได้สำเร็จ ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 นี้ ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมที่มองการไกลจะสร้าง “ทีมเสาะหานวัตกรรมใหม่” ขึ้นมาเพื่อค้นหาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอให้กับผู้ใช้ในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และ ฮอตสปอตต่างๆ

7. “การคาดเดาปัญหาล่วงหน้าได้” จะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกของแพลตฟอร์มเชิงกลยุทธ์
ระบบไอทีที่คาดเดาไม่ได้นั้น จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสมรรถนะในการทำธุรกิจขององค์กร และเพื่อที่จะเอาชนะปัญหานี้ หลายองค์กรได้ใช้เงินทุนในจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะสร้างระบบสำรองที่มีทั้งเซอร์ฟเวอร์ ซิสเต็ม ดาต้า และเน็ตเวิร์ค แต่ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 องค์กรที่มองการไกลจะมีแนวคิดที่ฉีกออกจากแนวคิดแบบเดิม องค์กรเหล่านี้จะใช้ประโยชน์จากระบบเสมือนเพื่อสร้างพื้นที่เผื่อไว้สำหรับความขัดข้องในแพลตฟอร์มไอทีของตนเอง แทนที่จะต้องพึ่งพาแต่ระบบสำรองเพียงอย่างเดียว ไอดีซีคาดว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปี 2555 และจะกลายเป็นวิธีปฏิบัติที่ได้รับความนิยมเมื่อต้องการที่จะวางระบบสภาพแวดล้อมเสมือนแบบ x86 ที่มีขนาดใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

8. บริษัทต่างๆ จะกลับไปสู่การใช้ไอทีแบบมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ไอดีซีคาดว่า ในปี 2555 แนวโน้มของความไม่แน่นอนและความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจจะส่งผลให้ประเด็นเรื่อง “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” กลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่บริษัทในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญอีกครั้ง ทั้งการโฟกัสไปที่เทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นไปที่ลูกค้า มัดใจลูกค้า ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้ารายหลักๆ ได้มากขึ้น โดยในปี 2556 นั้น หากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กระแสแนวคิดเรื่องของลูกค้าเป็นศูนย์กลางนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไอดีซีเชื่อว่าวิธีการแบบมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าเช่นนี้จะเป็นส่วนสำคัญของการใช้ไอทีในบริษัทส่วนใหญ่ในปี 2558

9. การผสมผสานระหว่างอุปกรณ์พกพาและไอทีจะกรุยทางไปสู่ Workspace รูปแบบใหม่
ไอดีซีคาดการณ์ว่าองค์กรจะเริ่มสร้างสถาปัตยกรรมของ workspace ให้สอดคล้องกับโมบิลิตี้ คลาวด์ และดาต้าเซอร์วิส ในปี 2555 การอนุญาตให้พนักงานในองค์กร เริ่มนำอุปกรณ์ไอทีของตนเข้ามาใช้ในการทำงานประจำวันของพวกเขามากขึ้น หรือที่เรียกกันแพร่หลายว่า Consumerization นั้น จะสร้างความต้องการที่จะมีสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ๆ ขึ้น และไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 องค์กรจะเริ่มทดลองนำโซลูชั่นไร้สายมาปรับใช้ เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชุดใหม่ วางระบบใหม่ หรือเพิ่มไซต์การทำงานใหม่เกิดขึ้น

10. กลายเป็น “ชนชั้นกลาง”: สมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่า 3,000 บาทจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สำคัญ
สมาร์ทโฟนได้ทำให้วงการคอมพิวเตอร์เข้าสู่ยุคใหม่ โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2555 ยอดการจัดส่งเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นมีแนวโน้มว่าจะแซงยอดการจัดส่งของพีซี และเป็นที่คาดการณ์ว่าสมาร์ทโฟนจะขึ้นนำพีซีอย่างถาวร ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 เราจะได้เห็นสมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่า 3,000 บาทออกจำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ ไอดีซียังเชื่ออีกว่าผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้จะมีอาการ “เสพติดแอพพลิเคชั่นบนมือถือ” แบบเดียวกับที่เราได้เห็นในตลาดที่พัฒนาแล้วมาก่อนเช่นเดียวกัน

View :1627