Archive

Posts Tagged ‘3g’

เอไอเอส ยืนยันความพร้อมให้บริการ 3G อย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อคนไทย

December 12th, 2012 No comments

12 ธันวาคม 2555 : นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “บริษัทฯขอขอบพระคุณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ()และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ โดยได้อนุมัติมอบใบอนุญาตให้บริการ แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ในช่วงที่ผ่านมา”

“สำหรับเอไอเอสแล้ว เราได้มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการส่งมอบบริการ 3G อย่างมีคุณภาพสูงสุดในทุกด้าน อาทิ
- การพัฒนางานด้าน Customer Service หรือ บริการลูกค้า อาทิ การเสริมศักยภาพงานบริการของ Shop, Call Center และร้านเทเลวิซ ได้เตรียมเงินลงทุนไว้มากกว่า 2,000 ล้านในปี 2013 เพื่อพัฒนาศักยภาพรองรับการใช้งาน Data ของลูกค้า ประเดิมด้วยการเปิดตัว Flagship Store ในวันที่ 12 ธันวาคม 2555
- การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์นำ Smart Device พร้อมการพัฒนา Application เพื่อตอบพฤติกรรมใช้งาน 3G
- ขออนุมัติเลขหมายจาก กสทช. เพื่อพร้อมต่อการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
“โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้เร่งติดตั้งเครือข่าย 3G คลื่น 2.1 GHz เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดตัวการให้บริการ 3G อย่างรวดเร็วที่สุดและคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2556 ส่วนงบประมาณในการลงทุนนั้น ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้นในการเปิดให้บริการในเฟสแรกเป็นเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท”
นายวิเชียร ย้ำในตอนท้ายว่า “บริษัทฯ ขอยืนยันว่า จะมุ่งเน้นการส่งมอบบริการอย่างมีคุณภาพสูงสุด จากศักยภาพของพนักงานเอไอเอสมากกว่า 9,000 คน ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการให้บริการมากว่า 22 ปี ด้วยอัตราค่าบริการที่สมเหตุ สมผล และเป็นธรรมต่อลูกค้าอย่างแน่นอน”

View :1529
Categories: 3G Tags: ,

ความเห็นต่อการที่ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G

December 4th, 2012 No comments

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
3 ธันวาคม 2555

ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้อง ในการประมูล เนื่องจากผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ผมเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นข่าวดีในแง่ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการ ในเวลาอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวได้ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของ ทั้งที่เชื่อได้ว่า มีความผิดปรกติหลายประการในการออกแบบการประมูล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน

ผมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

ประการที่หนึ่ง กสทช. ไม่ควรแอบอ้างว่า การไม่รับฟ้องดังกล่าวเป็นการรับรองความถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายของการออกแบบการประมูลของตน เนื่องจากศาลปกครองยังไม่ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม กสทช. ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกแบบการประมูลในอนาคตให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนซ้ำอีก

ประการที่สอง ปปช. ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นอิสระในการตรวจสอบการประมูล 3G ที่เหลืออยู่ ควรเร่งพิจารณากรณีร้องเรียนเรื่องความผิดปรกติในการประมูลดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการออกแบบการประมูลที่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

ประการที่สาม ศาลปกครองควรให้คำอธิบายว่า ในอนาคตประชาชนจะสามารถตรวจสอบการออกกฏและการกำกับดูแลของ กสทช. ได้อย่างไร เนื่องจากศาลตีความผู้เสียหายที่สามารถฟ้องคดีในความหมายแคบ และแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีในช่วงแรกให้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต่อมาก็มีคำวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี จนนำมาสู่การไม่รับคำฟ้อง

นอกจากนี้ ศาลปกครองควรเร่งพิจารณาคดีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่ค้างอยู่โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

View :1427
Categories: Article, Press/Release Tags:

สามโอเปอเรเตอร์ ย้ำชัดการประมูลโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ วอนมองประโยชน์และความต้องการลูกค้าประชาชนเป็นหลัก

October 29th, 2012 No comments

พร้อมเดินหน้าลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่อคนไทยทั่วประเทศ

ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งสามราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท จำกัด และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของการประมูล ที่ผ่านมา ยืนยันโปร่งใส ยินดีให้ตรวจสอบได้ วอนมองประโยชน์และความต้องการลูกค้าประชาชนเป็นหลัก พร้อมเดินหน้าลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่อคนไทยทั่วประเทศ ชี้ทุกค่ายมีเหตุผลในการเลือกช่วงความถี่และเคาะราคาที่ต่างกัน มั่นใจการประมูล ครั้งนี้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ ประชาชนไทยและประเทศชาติ

ตามที่มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการประมูล 3G ที่ผ่านมานั้น โอเปอร์เรเตอร์ทั้งสามราย โดย นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมาย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรูมูฟ) ในฐานะที่เป็นเอกชนผู้เกี่ยวข้องและเข้าร่วมในเหตุการณ์การประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz มาตั้งแต่ต้น พร้อมใจกันชี้แจงข้อเท็จจริงต่อความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับเอกชนผู้เข้าร่วมการประมูลที่ยืนยันได้ว่ามีความโปร่งใส พร้อมแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคมของไทย โดยผู้ให้บริการทั้งสามรายมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยี 3G เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยยกระดับให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีสื่อสารล้ำสมัยจะช่วยสนับสนุนความเจริญและการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และการศึกษา โดยผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในวงการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นเวลาหลายสิบปี และต่างมีความพร้อมที่จะร่วมยกระดับเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศมีความสามารถแข่งขันและมีศักยภาพเทียบนานาประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ การเข้าร่วมประมูล 3G ของโอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย เป็นโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์บริการเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงที่สัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลง ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีแนวทางในการดูแลลูกค้า เพื่อลดผลกระทบในการให้บริการหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลง และให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเข้าร่วมประมูล ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งในแง่แหล่งเงินทุน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้บริการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้น แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการประมูลในครั้งนี้เป็นการประมูลที่เอื้อเอกชนทั้งสามราย จะต้องมองถึงความพร้อมของเอกชนด้วย หากมีการเพิ่มราคาจากราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาท ที่มีการเสนอในกรอบข้อสรุปข้อศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจมีผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

โอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย ยืนยันการประมูลเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน โดยเงินรายได้ที่เข้ารัฐจากการประมูลครั้งนี้ไม่ได้ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่วางไว้ ซึ่งราคาประมูลที่เหมาะสมจะสะท้อนต้นทุนการให้บริการ ทำให้อัตราค่าบริการมีความเหมาะสมพอที่ประชาชนทุกกลุ่มจะเข้าถึงได้ง่าย ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากการใช้ 3G ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญว คือ การที่ประเทศชาติมีการพัฒนาและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากราคาประมูลแพง ค่าบริการก็จะแพง ประชาชนที่ได้ประโยชน์มีน้อย จะเป็นการสูญเสียของประเทศชาติมากกว่า

การลงทุนของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย มิใช่เพียงเงินค่าคลื่นที่ประมูลได้เท่านั้น แต่โอเปอเรเตอร์ยังต้องลงทุนในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรตามเงื่อนไขที่ กำหนด อีกทั้งยังต้องมีการลงทุนในการพัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าเพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งสุดท้ายรายได้จะกลับสู่ภาครัฐและรัฐจะมีรายได้จากการลงทุนโครงข่ายและภาษีรายได้ของผู้ประกอบการ

สำหรับประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฮั้วประมูล ทำให้ได้ราคาคลื่นความถี่ในราคาไม่สูงนั้น ขอชี้แจงว่า การเพิ่มเงินในการประมูลก็เพื่อให้ได้เลือกช่วงความถี่ที่ต้องการก่อน ซึ่งช่วงคลื่นที่เหลือก็ไม่ได้แตกต่างกันจนทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก และผลการประมูลก็บรรลุเป้าหมายเพราะได้เงินประมูลสูงกว่าราคาตั้งต้น ส่วนประเด็นการฮั้วประมูลนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการทุกรายก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการประมูลเดียวกัน หากมีการฮั้วกันก็จะถูกตัดสิทธิ์จากการประมูล อีกทั้งยังเสื่อมเสียชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจต่อไป ดังนั้น ผู้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 3 ราย ยืนยันมั่นใจว่าได้ปฎิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อปฏิบัติในการประมูลตามที่กสทช.กำหนดทุกประการ

ที่สำคัญ โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHzของ กสทช. ว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งยังมั่นใจในหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในการจัดการประมูล ซึ่ง กสทช. ได้ศึกษาแนวทางการประมูลอย่างละเอียดรอบคอบ มีการวิจัย และมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในการประมูล นอกจากนี้ ในวันจัดการประมูล ยังได้เชิญผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย อีกทั้งการที่ กสทช. ได้ยื่นเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับ 4 องค์กรตรวจสอบหลักของประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำชัดเจนถึงความบริสุทธิ์ใจและความมุ่งมั่นของกสทช.ที่ทำให้การประมูลมีความโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน

โอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย ขอแสดงความชื่นชมต่อคณะกรรมการ กสทช. ทุกท่าน ที่ดำเนินการตามเป้าหมายการทำงานที่แท้จริง คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดังกล่าว และสามารถผลักดันจนการประมูลเสร็จสิ้นลง นับว่า กสทช. ได้ถือเอาประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาประเทศเป็นที่ตั้ง แม้ว่าจะมีหลากหลายความคิดเห็นและข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อการประมูลดังกล่าว แต่โอเปอเรเตอร์ 3 รายต่างเชื่อมั่นว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกด้านจะได้ข้อสรุปที่กระจ่างแจ้งต่อประชาชนโดยเร็ว และคนไทยจะได้ใช้บริการ 3G ทัดเทียมกับคนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

View :1578
Categories: 3G Tags: , , ,

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลบริการ 3G ของกสทช.

October 23rd, 2012 No comments

โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างรุนแรง จากการจัดประมูลล้มเหลว เนื่องจากออกแบบการประมูลให้ไม่มีการแข่งขันกันจริง จนสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินของคลื่นความถี่ ได้พยายามกู้ศรัทธาองค์กร โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ว่า จะกำกับดูแลผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว

โดยรูปธรรม กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20% นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการ และให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค

บทความนี้จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าวของ กสทช. และจะเสนอแนะว่า หาก กสทช. มีความจริงใจที่จะกำกับดูแลบริการ 3G ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงแล้ว ควรดำเนินการอย่างไร

การกำกับอัตราค่าบริการ

อันที่จริงแม้ กสทช. ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ค่าบริการ 3G ก็ควรต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงทันทีจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐประมาณ 21-23% ของรายได้ โดยเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่น รวมประมาณ 5.5% แทน การเข้าสู่ระบบใบอนุญาตดังกล่าว โดยลำพังจึงทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงเกินกว่า 15% อยู่แล้ว ขอเพียงตลาดมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ ต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการก็จะถูกโอนถ่ายมาเป็นค่าบริการที่ลดลงของผู้บริโภคโดย กสทช. ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในปัจจุบัน และบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการ ยังถูกกำหนดอยู่ที่ 0.99 บาทต่อนาที ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจริงที่ผู้เขียนเคยคำนวณไว้ที่ 0.27 บาทต่อนาที ที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยให้เอกชนรวมหัวกันกำหนดค่า IC สูงกว่าต้นทุนจริงมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะเสียประโยชน์ไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท

หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถกำกับดูแลให้ค่าบริการ 3G ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการอาจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งตัดบางบริการออกไปเพื่อให้ดูราคาถูกลง หรือยัดเยียดขายพ่วงบริการอื่นที่ไม่จำเป็นเข้ามา ตลอดจนไปถึงการปฏิเสธไม่ลดราคาลงตามที่กำหนด โดยอ้างปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้กสทช. จะสามารถลดค่าบริการ 3G ลงได้จริง 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาค่าบริการของไทยตอนนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกกว่าราคาของต่างประเทศ ในปัจจุบัน บริษัท StarHub ในสิงคโปร์ คิดค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (unlimited) เพียงเดือนละ 670 บาท และแม้ในอินเดีย บริษัท Air Tel ก็คิดค่าบริการโทรศัพท์ 3G ซึ่งจำกัดปริมาณข้อมูลที่ 3.1 GB ในราคาเพียง 340 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกเป็นครึ่งหนึ่งของบริการที่คล้ายกันในประเทศไทย ในอนาคต ราคาค่าบริการในต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำลงไปอีก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมของประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันมากกว่าประเทศไทย การลดราคาบริการ 3G ของไทยลงเพียง 20% จึงยังไม่เพียงพอ

เมื่อครั้ง กสทช. ยกร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้เขียนเคยเสนอให้ กสทช. กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญ (เช่น บริการ 3G และบรอดแบนด์) ของไทย ต้องมีราคาถูกอย่างน้อยเป็นที่สองในอาเซียน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการขานรับจากกลุ่มผู้บริโภค กสทช. ก็ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องอัตราค่าบริการในรูปอื่นแทนเลย โดยเพียงชี้แจงแบบขอไปทีว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว กว่า กสทช. จะคิดออกว่าผู้บริโภคควรได้ราคาที่เหมาะสม องค์กรก็เกิดวิกฤติศรัทธาแล้ว

การคุ้มครองผู้บริโภค

การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ กสทช. ล้มเหลวอย่างมาก ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีประสบการณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อย และบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช. ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลย

นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เราจะพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2554-พ.ค. 2555 มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณา ไม่เสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต โดยสาเหตุสำคัญของความล่าช้าดังกล่าวก็คือ กสทช. ปล่อยให้สำนักงาน กสทช. เข้าเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากรอให้ผู้ประกอบการชี้แจงและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคเอง เสมือนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เป็นภารกิจโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกิจกรรม CSR

ความไม่ใส่ใจในการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประกาศเจตนารมย์ของ กสทช. ที่ออกมาดูว่างเปล่า ไร้มีน้ำหนัก จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองยังหวังว่า กสทช. จะพยายามพลิกวิกฤติขององค์กรในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ

หาก กสทช. จริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตั้งเป้าให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของไทยมีราคาถูก อย่างน้อยเป็นอันดับที่สองในอาเซียน

2. ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไม่ให้เกิน 25 สตางค์ต่อนาที และปรับลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง

3. เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค โดยสั่งการให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนการทำหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ และไม่บั่นทอนการทำงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยใช้กลไกอื่น

4. ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยยกเลิกประกาศห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งมีผลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งในการประมูล 3G ที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าประมูลเหลือเพียง 3 ราย และการประมูลใบอนุญาตอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

View :1683

ดีแทค เนทเวอร์ค พร้อมสู่การประมูลใบอนุญาต 3จี 2.1 GHz และมุ่งมั่นสู่เครือข่ายดีที่สุด

October 2nd, 2012 No comments

บริษัท จำกัด ตัวแทนเข้าประมูลจากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคเปิดเผยว่าพร้อมแล้วสำหรับการเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz () ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () ในวันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และคาดการณ์ที่จะมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย ที่ดีที่สุด

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า “ดีแทค เนทเวอร์คพร้อมเต็มที่สำหรับการเข้าสู่การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) และบริษัทกำลังเตรียมตัวสู่การเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 3G ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าดีแทคและคนไทย”

“เราขอชมเชย กสทช. ที่ดำเนินการจัดประมูลให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก เราเชื่อว่าการประมูลครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับวงการโทรคมนาคม และเป็นจุดบันทึกสำคัญของวงการโทรคมนาคมในประเทศ พร้อมทั้งเป็นการก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแห่งการสื่อสารสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย ต่อไปนี้ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น และยังได้ใช้ประโยชน์มากมายจากการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) เหนือสิ่งอื่นใดการที่ได้ใช้ระบบใบอนุญาตที่ใช้กันในระดับสากลนอกเหนือจากระบบสัมปทานแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายได้เสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจร่วมกัน และช่วยให้ผลประโยชน์กลับคืนสู่ผู้บริโภคและประเทศอย่างแท้จริง” นายจอน กล่าว

“อีกสิ่งที่สำคัญที่ชัดเจน คือความถี่ย่าน 3G ใหม่จะช่วยตอกย้ำความสำเร็จของกลยุทธ์ลูกค้าคือศูนย์กลาง (Customer Centricity) ภายใต้กลยุทธ์นี้เรามุ่งมั่นที่จะคิดค้นสินค้าและบริการที่ดีที่สุดภายใต้เทคโนโลยีเครือข่ายล้ำสมัย สู่ลูกค้าของเราตรงในแบบที่เค้าเป็นและใช่ในแบบที่เค้าต้องการใช้งานอย่างแท้จริง”

“นี่คือจุดเชื่อมต่อที่สำคัญทางธุรกิจของเรา โดยเราเชื่อว่าการให้บริการ 3G ที่คาดว่าจะมีขึ้นจะสามารถนำธุรกิจของเราและลูกค้าของเราสู่สิ่งใหม่ วันนี้ เรามั่นใจอย่างเต็มที่ในคุณภาพเครือข่าย สินค้า บริการ และพนักงาน เราพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าสู่การเดินทางครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่” นายจอน กล่าวในที่สุด

View :1356

ดีแทค ซัมเมอร์ สเปเชียล ให้ส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท บน 3G สมาร์ทโฟนรุ่นยอดนิยม ไม่มีสัญญา ไม่มีค่าปรับ

March 29th, 2012 No comments

ดีแทคจัดโปรโมชั่นพิเศษ ( Summer Special) เพิ่มความร้อนแรงให้กับตลาดสมาร์ทโฟน พร้อมเอาใจลูกค้าดีแทคด้วยการสร้างความผูกพันระยะยาวแต่ไม่ผูกมัด ไม่มีสัญญา ไม่มีค่าปรับ มอบส่วนลดรวมสูงสุด 10,000 บาท พร้อมให้ผ่อน 0% นาน 6 เดือน สมาร์ทโฟนยอดนิยมรุ่นล่าสุดร่วมรายการทั้ง iPhone 4S, Samsung Galaxy Note, และ HTC Sensation XL รวมทั้งให้ลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างสบายใจโดยจ่ายค่าบริการรายเดือนหลังหักส่วนลด 539 บาทสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แบบไม่จำกัด

ดีแทคมอบข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าดีแทครายเดือนโดยเฉพาะ แบบไม่มีเงื่อนไขผูกมัดให้ลูกค้าต้องชำระเงินในระยะยาว เมื่อซื้อสมาร์ทโฟนที่ร่วมรายการที่สำนักงานบริการลูกค้าดีแทคและดีแทค เซ็นเตอร์ ทุกสาขา ทั่วประเทศและสมัครแพ็กเกจ 899 บาท ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2555 ลูกค้าดีแทคที่มีอายุการใช้งาน 1 ปีขึ้นไปและมีค่าใช้บริการรายเดือนที่เรียกเก็บแล้วในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม หรือเมษายน 2555 เดือนใดเดือนหนึ่งจำนวน 1,200 บาทขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าเครื่องในวันแรกสูงสุดทันที 3,520 บาท โดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการล่วงหน้า และรับส่วนลดค่าโทรเพิ่มอีก 6,480 บาท (ส่วนลดเดือนละ 360 บาท นาน 18 เดือน) ทั้งนี้ลูกค้าดีแทคทุกหมายเลขและลูกค้าใหม่ก็สามารถใช้สิทธิพิเศษนี้ได้ โดยจะได้รับส่วนลดรวมสูงสุด 6,250 บาท ทุกเครื่องไม่มีการทำสัญญา ลูกค้าจึงไม่ต้องกังวลว่าจะโดนปรับเมื่อไม่ใช้งานไม่ครบตามกำหนด

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถเลือกชำระได้ทั้งบัตรเครดิต และเงินสด รวมทั้งได้สิทธิผ่อน 0% นาน 6 เดือน กับบัตรเครดิตชั้นนำมากมาย ลูกค้าสามารถตรวจสอบอายุการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ดีแทคและตรวจสอบค่าบริการรายเดือนล่าสุดของตัวเองได้โดยกด *140# จากมือถือ หรือสามารถนำใบเสร็จค่าบริการตามเงื่อนไขมาแสดงเพื่อซื้อสมาร์ทโฟนที่ร่วมรายการพร้อมสมัครแพ็กเกจที่สำนักงานบริการลูกค้าดีแทค และดีแทค เซ็นเตอร์ ทุกสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 30 เมษายนศกนี้ และสามารถดูรายละเอียดสมาร์ทโฟนและแพ็กเกจที่ร่วมรายการ ตลอดจนเงื่อนไขการชำระเงินเพิ่มเติมได้ที่ www.dtac.co.th

View :3113

ดีแทคเตรียมความพร้อมทุกด้าน มุ่งสู่ความเป็นเครือข่าย 3 จีที่ดีที่สุด

February 10th, 2012 No comments


ดีแทคเผยแผนเดินหน้าปรับปรุงยกระดับเครือข่ายทั้งหมดทั่วประเทศให้เสร็จสิ้นในปี 2555 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเครือข่าย 3จีที่ดีที่สุดครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศไทยมอบประสบการณ์สื่อสารที่เหนือกว่าด้วยแคมเปญ Life Network ภายใต้แผนลงทุน 40,000 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี พร้อมย้ำความพร้อมในการร่วมประมูล 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ในปีนี้

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ในปี 2554 ที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการวางรากฐานและเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในยุคที่เมืองไทยก้าวสู่ยุคแห่งการสื่อสารข้อมูลไร้สายอย่างเต็มตัวเห็นได้ชัดเจนจากการเปิดให้บริการ 3จี เอชเอสพีเอ บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและส่งผลให้อัตราผู้ใช้บริการดาต้าในเครือข่ายดีแทคเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเรายังสามารถรักษาและขยายฐานลูกค้าอย่างแข็งแกร่งโดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.6 ล้านเลขหมายจากปีก่อนหน้า”

“ขณะเดียวกัน แผนการปรับปรุงยกระดับเครือข่ายทั่วประเทศซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ก็มีความคืบหน้าตามแผน และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2555 นี้
ซึ่งเราขอย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการยกระดับระบบเครือข่ายการสื่อสารครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเพราะเป็นการนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดในโลกมาสู่ประเทศไทยเพื่อผู้บริโภคชาวไทยจะได้สัมผัสถึงคุณภาพของบริการสื่อสารที่ดีขึ้นเร็วขึ้น และเสถียรยิ่งขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อการพัฒนาเครือข่ายครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์”

การเปิดให้บริการ ส่งผลให้ธุรกิจบริการดาต้าของดีแทคในปี 2554 เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอัตรา 77% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยมีจำนวนผู้ใช้บริการดาต้าในเครือข่ายดีแทคทั้งหมด 6 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2554 และ อัตราการใช้งานดาต้าบนเครือข่ายดีแทคทั่วประเทศเติบโตถึงประมาณ 100% ภายในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนหลังการเปิดให้บริการ dtac เมื่อเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปี 2554

ในปี 2555 ดีแทคจะดำเนินการขยายขอบข่ายการให้บริการ 3จี อย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเครือข่าย 3จี ที่ดีที่สุดของไทย โดยจะครอบคลุมพื้นที่บริการใน 45 จังหวัดในเดือนมีนาคม 2555 และครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอทั่วประเทศไทยภายในปี 2556 นอกจากนั้น ยังมีการเตรียมพร้อมเพื่อการทดสอบเทคโนโลยีเครือข่ายในอนาคตอย่าง LTE (4จี) ต่อไป

ด้านกลยุทธ์การตลาดหลักสำหรับปี 2555 ดีแทคมุ่งใช้แนวคิดการบริการแบบ “ลูกค้าคือศูนย์กลาง (Customer Centricity)” เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดและประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้าจดจำและพูดถึง ขณะที่การพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ นั้น จะยังคงดำเนินไปภายใต้แคมเปญ “Life Networkเครือข่ายเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” มุ่งมั่นยกระดับชีวิตผู้บริโภคชาวไทยซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวต่อไป อาทิ บริการ WiFiซึ่งเปิดให้ทดลองใช้ฟรีในพื้นที่ศูนย์การค้า 27 แห่งทั่วกรุงเทพ ฯเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา และจะขยายไปยังศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศภายในไตรมาส 3 ของปี 2555

View :1616
Categories: Press/Release Tags: ,

ดีแทคเปิดตัวแอร์การ์ดที่ความเร็วสูงสุด 42Mbps

December 6th, 2011 No comments


พร้อมข้อเสนอแพ็กเกจให้ลูกค้าใช้ เล่นได้ไม่จำกัดฟรี 1 เดือน

ดีแทคเปิดตัวแอร์การ์ดรุ่นใหม่พร้อมแพ็กเก็จการใช้งานฟรี เพื่อรองรับการใช้งาน dtac 3G เร็วที่สุดของเมืองไทย dtac 3G speedy 42 Mbps รองรับการดาวน์โหลดข้อมูลได้สูงสุดถึง 42Mbps พร้อมนำเสนอแอร์การ์ด ที่มาพร้อมแพ็กเก็จการใช้งานฟรีที่ให้ความคุ้มค่าอีก 2 รุ่น dtac 3G speedy 21Mbps และ dtac 3G speedy 7.2Mbps ให้เป็นทางเลือกกับลูกค้า โดยจะเริ่มทยอยวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ที่สำนักงานบริการลูกค้า ดีแทคเซ็นเตอร์และร้านค้าอุปกรณ์ไอทีทั่วประเทศ

ดีแทคแอร์การ์ดใหม่ล่าสุดทั้ง 3 รุ่น จัดโปรโมชั่นพิเศษ โดยในกล่องจะประกอบด้วย aircard ที่มาพร้อมซิมแบบรายเดือน หรือแบบเติมเงิน และแพ็กเกจแบบคิดตามการใช้งานจริงที่ให้ลูกค้าได้ใช้งาน dtac 3G ไม่จำกัดฟรี 1 เดือนแรก หรือหากลูกค้าเลือกแพ็กเก็จที่คิดตามชั่วโมง ก็จะมีชั่วโมงให้ใช้ฟรี 50 ชั่วโมงต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงแรก โดยแอร์การ์ดแต่ละรุ่นมีจุดเด่นที่แตกต่างกันเหมาะสำหรับการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้า

dtac aircard 3G speedy 42 Mbps เป็นแอร์การ์ดที่มาพร้อมกับแพ็กเกจรายแรกของเมืองไทยที่สามารถรองรับการดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุดถึง 42Mbps ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดในเมืองไทยขณะนี้ พร้อม Google Chrome ที่จะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเร็ว ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

dtac aircard 3G speedy 21 Mbps พิเศษด้วยฟังก์ชั่น Fast-Link ที่ช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เร็วและง่ายมากยิ่งขึ้น ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวกเพียงเสียบแอร์การ์ดเข้ากับคอมพิวเตอร์ ระบบจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้อัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าเล่นเน็ตผ่านบราวซ์เซอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องลงโปรแกรมหรือกดปุ่มใดๆ

dtac aircard 3G speedy 7.2 Mbps แอร์การ์ดรุ่นยอดนิยม ใช้งานง่าย ราคาคุ้มค่าที่สุดในตลาด

ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลดีแทคแอร์การ์ดและแพ็กเกจเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานบริการลูกค้าดีแทค ดีแทคเซ็นเตอร์ และร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีทั่วประเทศ หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dtac.co.th หรือ โทร1678 ดีแทค คอลล์เซ็นเตอร์

View :2540
Categories: 3G, Internet, Press/Release Tags: , ,

“ทรูมูฟ เอช” เปิดตัว “iSIM” ออนไลน์ไร้สายด้วย 3G+

November 3rd, 2011 No comments

ตอกย้ำผู้นำบริการ และผู้ให้บริการที่ตอบสนอง ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รองรับการใช้งาน Convergence device อย่างแท้จริง เปิดตัว ซิมใหม่สำหรับคนเล่นเน็ต ให้อิสระออนไลน์แบบไร้สายได้แรงกว่าด้วยเครือข่าย 3G+ เร็วสูงสุด 42 Mbps ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ทั่วกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัดทั่วไทย

เลือกซื้อแพ็กเกจท่องเน็ตไร้สายแบบออนไลน์ถึง 3 แพ็กเกจได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน www.truemove-h.com/iSIM ครั้งแรกของวงการโมบายล์อินเทอร์เน็ตที่ให้วันใช้งานนานถึง 6 เดือนทุกแพ็กเกจ เปิดใช้ซิมวันนี้ รับฟรี 150 MB ทันที ขาเน็ตตัวจริงหาซื้อ iSIM ได้แล้ววันนี้ที่ร้านทรูช็อป ทรูสเตชั่น และร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เพียง 169 บาทเท่านั้น พร้อมนำเงินรายได้จากการจำหน่าย iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2554 ซิมละ 20 บาท ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท เรียล มูฟ จำกัด กล่าวว่า “ทรูมูฟ เอช เปิดตัว iSIM ซิมใหม่สำหรับคนท่องเน็ตโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าบริหารจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของ iSIM ผ่าน www.truemove-h.com/iSIM ได้ง่ายๆ แบบออนไลน์ เช่น การเช็คยอดอินเทอร์เน็ตคงเหลือ การสั่งซื้อแพ็กเกจเสริมเน็ต สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมาะกับลูกค้าที่ใช้งานแท็ปเล็ต แอร์การ์ด Mi-Fi หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่รองรับ3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz โดยทรูมูฟ เอช ออกแบบ iSIM จากประสบการณ์และความเข้าใจการใช้งานของลูกค้าที่ใช้ Convergence device ผนวกจุดเด่นที่เหนือกว่าด้วยเครือข่าย 3G+ เร็วสูงสุด 42 Mbps และครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากที่สุด ทั่วกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัดทั่วไทย* ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ อยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และกระบี่ นอกจากนี้ iSIM ยังเป็นซิมเล่นเน็ตซิมแรกที่ให้วันใช้งานนานถึง 6 เดือน ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลหรือรีบเร่งใช้เน็ตให้หมดภายในเดือนที่เปิดใช้งาน และเพิ่มความคุ้มค่ายิ่งขึ้นด้วยการคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริงเป็นเมกะไบท์ (MB) และเพื่อฉลองการเปิดตัวครั้งนี้ ลูกค้าที่เปิดใช้ iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2555 ราคาเพียง 169 บาท รับฟรี 150 MB ทันที! มั่นใจว่า iSIM จะเพิ่มอิสระในการเข้าถึงข้อมูลและความบันเทิงอย่างไร้ขีดจำกัด แบบ FREEYOU และจะเป็นซิมคู่กายของนักท่องเน็ตแบบไร้สายได้อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น ทรูมูฟ เอช จะนำเงินรายได้จากการจำหน่าย iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2554 ซิมละ 20 บาท ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านมูลนิธิ
ราชประชานุเคราะห์ต่อไป”

ลูกค้าที่สนใจเปิดใช้ iSIM จากทรูมูฟ เอช ได้แล้ววันนี้ ที่ทรูช็อป ทรูสเตชั่น และตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า โทร 1331 หรือ www.truemove-h.com

View :2076

3G พลิกโฉมการสื่อสารไร้สายของไทย คนกรุงกว่าร้อยละ 89 มีแผนใช้งานในอนาคต

August 15th, 2011 No comments

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจุบัน การสื่อสารโทรคมนาคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคใหม่ นอกเหนือจากการสื่อสารในรูปแบบเสียงแล้ว การสื่อสารในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการสื่อสารที่เน้นข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งภาพและเสียงหรือที่เรียกกันว่ามัลติมีเดียมากยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการในการสื่อสารของยุคนี้ คือ ความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูล ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า (Third Generation)

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายหลักได้มีการเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม (HSPA) มาตั้งแต่ปี 2552 โดยจำกัดขอบเขตในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความคุ้นเคยและได้ทดลองใช้งานบริการ 3G มาก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz จะต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2554 และการประมูลน่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงกลางปี 2555 เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เริ่มทยอยเปิดตัวให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะพลิกโฉมการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการการใช้งานบริการ 3G และบริการเสริมด้านข้อมูลต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

 ผลสำรวจความต้องการใช้บริการ 3G…คนกรุงมีแผนใช้ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5

การเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมตั้งแต่ปี 2552 นับได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความคุ้นเคยในหมู่ผู้บริโภคในการใช้งานบริการ 3G นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และกำหนดยุทธวิธีการทำตลาดในช่วงระยะถัดไปที่จะมีการทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูล หรือแม้แต่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ในระยะที่ผ่านมา พบประเด็นต่างๆ ดังนี้

 คนกรุงเทพฯกำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ร้อยละ 36.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่มีแผนจะใช้งานในอนาคตมีถึงร้อยละ 89.5

จากการสอบถามถึงการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 36.6 กำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ในช่วงที่การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 54.4 ให้ข้อมูลว่ายังไม่เคยใช้งานบริการ 3G มาก่อน โดยมีเหตุผลหลัก คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนไม่รองรับระบบ 3G คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.5 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีแผนที่จะใช้งานบริการ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 85.2 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวจะเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ยังไม่เคยใช้งานบริการ 3G อีกว่า พื้นที่ให้บริการ 3G ยังไม่ครอบคลุม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.3 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก การเปิดให้บริการ 3G ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังคงเป็นลักษณะการทดสอบให้บริการ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักมีแผนที่จะเปิดให้บริการ 3G ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ภายในสิ้นปี 2554 นี้ และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 3 ปี ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ให้บริการ 3G มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังไม่เคยใช้บริการ 3G มีแผนที่จะใช้บริการในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้บริการในปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G รวมไปถึงผู้ให้บริการเสริมด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

 ร้อยละ 80 ของผู้ใช้งานบริการ 3G ในปัจจุบัน ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปัจจุบัน การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานบริการ 3G สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หลากหลาย ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เน็ตบุ๊ค แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คผ่านแอร์การ์ด 3G จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯราวร้อยละ 80 ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีสัดส่วนการใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 84.8 ของผู้ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในการถือครองสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการพัฒนาบริการเสริมทางด้านข้อมูลใหม่ๆในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทแท็บเล็ต ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานบริการ 3G ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวถึงร้อยละ 13.0 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจาก ฟังก์ชั่นการทำงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า ขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ และสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ประกอบกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 ผลสำรวจบริการด้านข้อมูล…คนกรุงต้องการช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เน้นมัลติมีเดีย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 บริการด้านข้อมูลมีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 24.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล ในขณะที่ปี 2554 บริการด้านข้อมูลมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงสนับสนุนจากการทยอยเปิดตัวการให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ประกอบกับการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม ซึ่งจะมีส่วนผลักดันการใช้งานบริการด้านข้อมูลให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น โดยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.8 ของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯต่อบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 71.6) รองลงมาคือ ชมทีวีออนไลน์ (ร้อยละ 64.7) บริโภคข่าวสาร (ร้อยละ 59.3) และฟังเพลงออนไลน์ (ร้อยละ 54.7) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานเครือข่าย 3G เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ในการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง ทั้งนี้ เพื่อการอัพเดทข้อมูลกิจกรรมที่ตนทำอยู่ให้แก่เครือข่ายเพื่อนฝูง หรือเพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว รวมไปถึงการบริโภคข่าวสารในรูปแบบมัลติมีเดีย ซึ่งบริการกลุ่มนี้ค่อนข้างเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่บริการที่ค่อนข้างมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ธนาคารบนมือถือ การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะมีผู้สนใจในสัดส่วนที่น้อยกว่า

เมื่อพิจารณาความต้องการใช้งานบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G แยกตามช่วงอายุ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี มีความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ และบริการเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจบริการด้านข่าวสารเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น แต่ก็มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56.1

สำหรับกลุ่มที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 ถึง 44 ปี ให้ความสนใจกับบริการด้านข้อมูลทุกประเภท และมีสัดส่วนปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น ยกเว้น บริการที่เกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจสูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น สำหรับกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 44 ปี ให้ความสนใจใช้บริการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร และธนาคารบนมือถือในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น และไม่ค่อยให้ความสนใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการมากนัก

 ผลสำรวจบริการด้านความบันเทิงออนไลน์…คนกรุงต้องการบริการที่มีคอนเทนต์หลากหลาย

ปัจจุบัน การบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น มักจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม โดยบริการเหล่านี้รวมเรียกว่า โมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Mobile Entertainment) สำหรับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา บริการดังกล่าวมักมีข้อจำกัดจากความเร็วของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งอยู่ระหว่าง 80 ถึง 200 กิโลบิตต่อวินาที ทำให้คุณภาพการให้บริการไม่ค่อยเป็นที่พอใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดให้บริการ 3G ในช่วงครึ่งหลังของปี ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ให้มีทั้งคุณภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อน จึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคต่อลักษณะเนื้อหาและการชำระเงินในการใช้บริการความบันเทิงแบบออนไลน์บนระบบ 3G โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 ผู้บริโภคสนใจชมภาพยนตร์มากที่สุด และอยากจะจ่ายรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการไม่อั้น

บริการทีวีออนไลน์เป็นบริการลักษณะมัลติมีเดียซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการให้บริการดังกล่าว คือ ขนาดของข้อมูลมักจะใหญ่ ทำให้ความเร็วของโครงข่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดถึงคุณภาพของการให้บริการ โดยความเร็วขั้นต่ำที่พอจะเปิดให้บริการแบบออนไลน์ คือ 64 ถึง 80 กิโลบิตต่อวินาที จึงทำให้มีผู้ให้บริการบางรายเปิดให้บริการดังกล่าวบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปจากการที่ต้องรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับอรรถรสของการชมที่ได้รับ ทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมไม่ค่อยสูงนัก ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ 3G จะมีส่วนช่วยผลักดันให้คุณภาพของการให้บริการดีขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลที่ลดลง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้บริการดังกล่าวขยายตัวยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับรายการทีวีออนไลน์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการชม พบว่า มีผู้ต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.6 รองลงมาคือ รายการข่าวและมิวสิกวีดีโอ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราวร้อยละ 52 และเมื่อสอบถามถึงรูปแบบการชำระค่าชมรายการที่ต้องการจะเลือกชำระ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราวร้อยละ 50 เลือกที่จะชำระแบบรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการแบบไม่อั้น ในขณะที่การจ่ายรายเดือนเพื่อชมหลายช่องรายการตามที่กำหนดไว้แบบไม่อั้น ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่านั้น กลับมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดคือร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยากจะเลือกชมทีวีเฉพาะประเภทรายการที่ตนโปรดปรานจริงๆ และพร้อมที่จะจ่ายเฉพาะช่องรายการที่ชอบ เพื่อสามารถรับชมได้แบบไม่จำกัดในรอบเดือนนั้น

 ผู้บริโภคราวร้อยละ 30.5 ชอบเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้และซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบ

ธุรกิจเพลงดิจิทัลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของไทยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สืบเนื่องจาก ความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สายยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้ธุรกิจเพลงดังกล่าวถูกจำกัดอยู่แต่เพลงที่ได้รับการตัดต่อความยาวประมาณ 30 ถึง 60 วินาที เพื่อนำมาใช้เป็นเพลงในบริการเสียงรอสาย หรือติดตั้งเป็นเพลงเสียงเรียกเข้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถ้าเป็นเพลงฉบับเต็มก็จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนก่อนแล้วฟังแบบออฟไลน์ สำหรับธุรกิจบริการฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงและเก็บเพลงไว้บนอินเทอร์เน็ตได้นั้น ยังคงถูกจำกัดอยู่แต่บนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการ 3G จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริการดังกล่าวได้

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับลักษณะการชำระค่าบริการฟังเพลงออนไลน์ที่ผู้บริโภคต้องการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการชำระเป็นรายเพลงและเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้ เป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.5 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงที่มักจะเลือกเฉพาะเพลงที่ชอบจริงๆ จากความหลากหลายที่นำเสนอโดยค่ายต่างๆ โดยไม่อยากจะชำระแบบรายเดือน ซึ่งโดยรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายโดยเปรียบเทียบที่สูงกว่า ถ้าจำนวนเพลงที่ตนชื่นชอบมีไม่มากนัก

 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและราคาของเกมออนไลน์มากกว่าแหล่งพัฒนาเกม

ลักษณะของรูปแบบธุรกิจเกมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การขายเกมโดยให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดเกมที่ต้องการมาไว้ที่อุปกรณ์คลื่อนที่ก่อนแล้วเล่นแบบออฟไลน์ ไม่ได้เล่นกันแบบออนไลน์เหมือนเกมออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีขนาดเกมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สาย อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไปเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G

จากการสอบถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมออนไลน์บนระบบ 3G พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 58 ต้องการเกมออนไลน์ที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเกม ได้แก่ ต้องเป็นเกมต่างประเทศมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 7.8 และชื่อเสียงบริษัทเกมมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 13.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเนื้อหา และราคาเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาเป็นลำดับรองลงมา

บทสรุป
การเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมของผู้ให้บริการเอกชนรายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการสื่อสารไร้สายของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริการด้านข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯเกี่ยวกับการใช้บริการ 3G ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เปิดทดสอบการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ในเขตกรุงเทพฯมีผู้ที่กำลังใช้บริการ 3G อยู่ราวร้อยละ 36.6 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการ 3G ในปัจจุบันส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เน็ตบุ๊ค และแท็บเล็ต ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานเลยมีอยู่ราวร้อยละ 54.4 อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งาน 3G ในปัจจุบันราวร้อยละ 89.5 มีแผนที่จะใช้งานในอนาคต สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G และเครื่องลูกข่าย/ตัวเครื่อง รวมถึงผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการเสริมหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

ความต้องการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ประกอบกับกระแสการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนจะมีส่วนผลักดันให้บริการด้านข้อมูลมีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนราว 20.8 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้งานบริการเสริมด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ชมทีวีออนไลน์ บริโภคข่าวสาร และฟังเพลงออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ของผู้บริโภค ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลในปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่อยู่ในลักษณะความบันเทิงแบบออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการด้านความบันเทิงแบบออนไลน์ หรือโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์บนระบบ 3G ในอนาคต ซึ่งจากแบบสอบถาม พบว่า ผู้ที่ต้องการใช้บริการทีวีออนไลน์ มีความต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด รองลงมาเป็น ข่าว มิวสิกวีดีโอ ละคร เป็นต้น และส่วนใหญ่อยากใช้บริการแบบรายเดือน โดยสามารถชมเฉพาะช่องประเภทรายการที่ตนโปรดปรานได้แบบไม่อั้น ซึ่งแตกต่างจากบริการฟังเพลงออนไลน์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการความหลากหลายของเพลง โดยสามารถเลือกได้จากหลายๆค่าย และต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบจริงๆ ในขณะที่บริการเกมออนไลน์นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเกมที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก

จากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความบันเทิงรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถสร้างความบันเทิงแบบพกพาได้ทุกที่ทุกเวลา และยังพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการ เพื่อสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตนชื่นชอบได้จากคลังคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่จะเข้ามาพัฒนาบริการด้านความบันเทิงบนช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากช่องทางให้บริการความบันเทิงแบบดั้งเดิมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใช้เวลากับอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น และฐานผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายสื่อสาร (Coverage) ที่มีโอกาสขยายออกไปกว้างขึ้นในอนาคต อาจเป็นทิศทางที่ธุรกิจต่างๆต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาด และโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น

——————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

View :2321