Archive

Posts Tagged ‘Mobile App’

ECIT ปี 55 กับยุค Mobile App เพื่อ SMEs อุตสาหกรรม

August 24th, 2011 No comments

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือม.ศรีปทุม บ่มเพาะมือดีโปรแกรมมือถือ ดึงจับคู่เจ้าของโรงงานสร้างแอพฯรองรับ เร่งเครื่องเดินหน้า ปี 55 ต่อ หลังผลงานดีต่อเนื่อง  3 ปี ทีโอที ซอฟต์แวร์พาร์ค ม.พระนครเหนือ สร้างผลงานแจ๋ว พัฒนาระบบคลาวด์และอีซัพพลายเชนรองรับ

นายวีรพล ศรีเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2555 เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแอพพลิเคชันผ่านโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงจะใช้โอกาสนี้เป็นปีเริ่มต้น โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นองค์กรภาคการศึกษาที่เน้นหนักการพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างจริงจัง โดยอาศัยฐานจากแนวทางการพัฒนาเดิมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้ามาสนับสนุน ตั้งแต่การใช้ระบบ ERP ออนไลน์ หรือระบบ e-commerce และ e-supply chain โดยโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือสามารถเข้ามาต่อยอดทั้งฐานลูกค้าเดิม และแอพพลิเคชันเดิมที่มีอยู่ได้

ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Enhancing SMEs Competitiveness Through IT: ECIT ) มีลำดับขั้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ ERP และซอฟต์แวร์เชิงเดี่ยวให้มาบริการในระบบ SaaS หรือ Software as a Service บนระบบ Cloud Computing ทำให้ SMEs ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพในราคาประหยัด ต่อจากนั้นก็มาพัฒนาระบบ e-commerce และต่อเนื่องไปยัง e-supply chain เพื่อทำให้ SMEs มีเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ขณะเดียวกันก็มีช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยใช้ระบบไอทีเข้าไปจัดการ

วิวัฒนาการนี้ โครงการ ECIT ยังพัฒนาต่อเนื่องตลอดเวลา โดยในปี 2555 ที่ถือว่าเป็นปีที่เริ่มโครงการใหม่อีกครั้ง ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพิจารณาว่า ทิศทางของการใช้งานแอพพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมภาคบริการนั้นได้นำระบบนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังไม่มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะตลาดกลุ่มนี้มีความซับซ้อน ขณะที่จำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านนี้กำลังขาดตลาดทำให้ Mobile Application ของภาคอุตสาหกรรมเกิดปัญหาการขาดแคลนอย่างมากสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านโทรศัพท์มือถือเข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่ายจนเกิดเป็นแอพพลิเคชันที่ดีและทำงานตรงกับความต้องการได้ คาดว่าในช่วงปีแรกจะมีแอพพลิเคชันทางด้านอุตสาหกรรมมารองรับประมาณ 10-20 โปรแกรม โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและศรีปทุมจะร่วมกันหาแนวทางการสนับสนุนทั้งในส่วนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และกลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่จะนำโปรแกรมไปใช้งาน

สำหรับเป้าหมายในปี 2555 ในโครงการ ECIT นั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังวางตัวเลขและงบประมาณหลักอยู่ที่การมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรม SMEs เข้ามาใช้ระบบ ERP ผ่านทางออนไลน์ให้ได้จำนวน 120 ราย และใช้โปรแกรมทั่วไปผ่านทางออนไลน์อีก 80 ราย และมุ่งเน้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาสู่ระบบ e-commerce และระบบ e-supply chain จำนวน 2,000 ราย โดยมีการอบรมการใช้งานไอทีให้ได้ 700 รายเพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้ามาใช้ระบบไอทีของ ECIT ต่อไป รวมถึงจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรมอีก 1,000 ราย ส่งเสริมระบบ Dead Stock Management จำนวน 200 กิจการ โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการในปี 2555 ประมาณ 50 ล้านบาท
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ อุตตมากร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี และคณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ทางม.ศรีปทุมได้ทำโครงการร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใน โครงการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยไอที โดยจะเข้ามาช่วยให้ SMEs ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางในการประยุกต์ใช้ไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีเป้าหมายที่จะให้โรงงานจำนวน 700 โรงได้เข้ามาฝึกอบรมด้านไอทีในเชิงลึก แตกต่างจากเดิมที่จะเน้นแค่พื้นฐาน โดยจะนำหลักสูตรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และหลักสูตร คพอ. ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอยู่แล้วมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาบุคลากร

เมื่อได้โรงงานที่มีพื้นฐานและเข้าใจในการนำระบบไอทีไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ก็จะทำความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใน 2 ด้าน ในส่วนแรกทางศรีปทุมจะสร้าง Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความตั้งใจและมีพื้นฐานในการนำไอทีไปใช้  หลังจากนั้นจะมีการผลักดันให้กลุ่มโรงงาน SMEs เหล่านี้ได้เข้าในโครงการหลักของ ECIT ด้วยการคัดเลือกและประสานกับซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ในระบบ SaaS หรือ Software as a Service ที่ทำงานผ่านระบบ Cloud Computing จากการคัดเลือกของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ในส่วนที่ 2 นั้นทางศรีปทุมจะจัดทำโครงการ Econovation Appcenter and Incubator for Mobile Developers เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก ความต้องการในปัจจุบันมีมากกว่าแรงงานกว่า 3 เท่า ขณะเดียวกันนโยบายของศรีปทุมต้องการสร้างแนวทางการพัฒนาคนให้เน้นหนักทางด้าน ICT ทั้งในส่วนของระดับ Certified หรือระดับประกาศนียบัตร และ Standard หรือหลักสูตรทั่วไป รวมถึงการเพิ่มในระดับ Success Entrepreneur หรือการสร้างผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จด้วยไอที

ในโครงการนี้ศรีปทุมจะผลักดันให้เกิดวิสาหกิจทางด้านแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไม่ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการ IOS ของแอปเปิ้ล, ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล และระบบปฏิบัติการ Black Berry ของ RIM ด้วยการผลักดันให้นักศึกษาของศรีปทุมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมโทรศัพท์มือถือ ที่คาดว่าในปีแรกจะมีประมาณ 40 ราย ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ของตนเองขึ้น รวมถึงรับนักพัฒนาโปรแกรมทางโทรศัพท์มือถือที่โดดเด่นจากภายนอกมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมอีก 20 ราย ทั้งหมดจะคดเลือกให้เหลือ 20 ราย โดยจะมีหน่วยงานเครือข่ายเพื่อทำหน้าที่ Coaching หรือผู้ฝึกสอนจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค, สำนักงานส่งเสริมอุตคสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI และทาง True Appcenter เป็นต้น

สิ่งที่ศรีปทุมจะเข้าไปสนับสนุนจะเริ่มตั้งแต่การให้สิ่งอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การให้ใช้ Mobile Application Lab หรือห้องทดลองการสร้างแอพพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นห้องแล็บชั้นนำของประเทศไทยเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังจะมีศูนย์ศึกอบรมของแอปเปิ้ลโดยตรง หรือ Authorized Training Center โดยมี Registered IOS Developer Program ที่เน้นหนักการพัฒนาซอฟต์แวร์บนไอโฟนที่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงโครงการ iTune U ที่เป็นโครงการสำหรับนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น

เมื่อทางศรีปทุมได้เข้ามาบ่มเพาะทั้งทางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับ SMEs ได้เตรียมความพร้อมทางด้านไอทีแล้ว บวกกับได้เตรียมการทางด้านผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านโทรศัพท์มือถือเอาไว้ ต่อจากนั้นทางศรีปทุมจะจับคู่ทางธุรกิจ หรือ Business Matching ระหว่างทั้งสองกลุ่ม เพื่อให้ทางผู้ประกอบการ SMEs ได้นำเสนอความต้องการทางด้านภาคอุตสาหกรรมของตนเอง ขณะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือสามารถพัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ซอฟต์แวร์ทางด้านนี้ยังมีจำนวนที่น้อยมาก

สำหรับรายละเอียดของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะการสร้างแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือนั้น คาดว่าจากจำนวน 20 รายนั้น จะมาจากนักศึกษาจบใหม่ที่มีแนวคิดและตั้งใจจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ หรือเป็นผู้ว่างงานที่มีความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในระยะเวลา 1-3 ปีที่ผานมาแต่ธุรกิจยังไม่เข้มแข็งและมีความสนใจทางด้านนี้ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอื่นอยู่แล้วหรือผู้รับจ้างอิสระแต่ตั้งใจจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการ สุดท้ายคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดวิสาหกิจทางด้าน Mobile Application ไม่น้อยกว่า 10 รายต่อปี

อย่างไรก็ตามทางศรีปทุมจะมีโครงการที่ผลักดันทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการแอพพลิเคชันเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หรือ 84AppsForTheKing โครงการ mLearning, โครงการ Mobile SMEs : BI-Cloud ที่จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในอีก 2 ปีข้างหน้า, โครงการ Software Camp และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของศรีปทุมมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะตรงกับแนวทางการสร้างศรีปทุมให้เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางด้าน ICT

View :1684
Categories: Press/Release Tags: ,

9 หน่วยงาน ก่อตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ หรือ Mobile Technology for Thailand (MT2 )

April 27th, 2011 No comments

ภาครัฐ เอกชน การศึกษา รวมพลังตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ จับมือสร้างซอฟต์แวร์มือถือไทย สร้างมิติใหม่เปิดกว้างการเข้าร่วม หวังทุกองค์กรส่งแผนคืนสู่สังคม เชื่อเกิดกระแสสร้างมาตรฐานใหม่รับสมาร์ทโฟนเติบโต

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกลุ่มเอ็มทีสแควร์ กล่าวว่า ทริดี้เห็นโอกาสและแนวโน้มตลาดแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรรวม 9 หน่วยงาน ก่อตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ หรือ Mobile Technology for Thailand ( ) ขึ้น เพื่อหาความร่วมมือรูปแบบใหม่ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์มือถือให้กับนักพัฒนาในประเทศไทย รวมถึงการระดมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จากองค์กรสมาชิกให้เป็นในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ในช่องทางที่ถูกต้อง

จุดสำคัญของการตั้งกลุ่ม MT2 ขึ้นในครั้งนี้คือ การร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากในกลุ่มจัดตั้งแรกเริ่มได้คัดเลือกกลุ่มที่มีความหลากหลายและเป็นตัวแทนของทั้งอุตสาหกรรม นั่นคือ มีทั้งภาครัฐทั้งจากโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์ ทีมวิจัยและพัฒนา ภาคการศึกษา องค์กรเอกชนที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก แล

ะเอกชนของไทย
โดยในช่วงต้น ทริดี้จะทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์คทำหน้าที่เป็นเลขานุการ วาระดำรงตำแหน่งและโครงสร้างของกลุ่มจะมีการพิจารณาใหม่หลังจากที่มีการเปิดรับสมาชิกผู้เข้าร่วมได้จำนวนหนึ่ง โดยสมาชิกใหม่ที่จะเข้าร่วมนั้นจะรับเฉพาะสมาชิกแบบองค์กร ส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือทุกคนถือเป็นกลุ่มผู้รับผลประโยชน์และเข้าร่วมกิจกรรมได้

ทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่ม MT2 เข้มแข็งขึ้นก็คือ จะมีองค์กรซึ่งเป็นที่รวมของทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางร่วมกัน ซึ่งถือเป็นองค์แรกทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย จะทำให้การแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางการสนับสนุน รวมถึงการตั้งธงในการพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือของไทยทำได้ง่ายและมีความถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดได้ รวมถึงการเข้าไปกำหนดมาตรฐานต่างๆ เช่น การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับ ทริดี้เองนั้นจะมีการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักพัฒนากับผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย การจัดตั้งศูนย์ทดสอบแอพพลิเคชั่น (Application Test Center: ATC) และร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมแอพพลิเคชั่นของไทยไปสู่ตลาดโลกต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า กระบวนการเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นสมาชิก MT2 ทุกหน่วยงานมุ่งเป้าหมายไปที่การคืนสู่สังคม เพื่อทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือของไทยเติบโตแบบยั่งยืน แม้ช่วงแรกจะยังไม่มีเป้าหมายกิจกรรมที่จะผลักดันในเชิงนโยบายอย่างชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ และเน้นการประชุมร่วมกันแบบกระชับ เพื่อทำให้เกิดการเจรจานอกรอบ และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันทั้งในแบบทวิภาคี และพหุภาคี แต่คาดว่าเมื่อเกิดการพบปะและร่วมกันทำงานแบบต่อเนื่อง และการที่มีประเด็นทางสังคมเกิดขึ้น กลุ่มนี้จะมีทิศทาง ข้อเรียกร้อง และแนวทางการทำงานเพื่อสังคมอย่างชัดเจนในที่สุด

ในเบื้องต้น MT2 ได้วาง Road Map ในการดำเนินงานโดยกำหนดจากสองกรณี คือ งานใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และงานที่เป็นหลักของสมาชิกแต่สามารถเชื่อมต่อและส่งผ่านข้อมูลหรือประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยงานหลักที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น การเข้าร่วมงาน BOI Fair หรือ การจัดงาน e-market place ทางด้านซอฟต์แวร์ และงานอื่นๆ ซึ่งงานเหล่านี้สมาชิกกลุ่มก่อตั้งจะเข้าร่วมในนามกลุ่มและทุ่มเททรัพยากรเพื่อนำเสนอผลงานของซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือไทยออกสู่ตลาด มีการกระจายความรู้ และสร้างฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนงานขององค์กรสมาชิกที่นำเข้ามาสู่ Road map จะนำลักษณะงานที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมอยู่แล้วมาเชื่อมต่อ และแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ให้กับสมาชิก เช่น การอบรมแอนดรอยด์ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) ก็สามารถโอนถ่ายข้อมูลของผู้เข้าร่วมอบรมให้กับองค์กรสมาชิกที่สนใจได้นักพัฒนาฝีมือดีไปร่วมงาน หรือได้รับรู้ข้อมูลว่านักพัฒนาเหล่านั้นเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมด้านใด

แนวทางการคืนสู่สังคมนี้ถือเป็นข้อกำหนดในการรับสมาชิกใหม่ โดยนอกจากจะพิจารณาตัวองค์กรของผู้สมัครแล้ว ยังจะพิจารณาเรื่องแนวทางการคืนสู่สังคมขององค์กรนั้นเป็นสำคัญอีกด้วย

สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีหน้าพัฒนาบุคคลากรที่มีความสามารถสูงด้านเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ประเทศ การมาถึงของเทคโนโลยีด้านโมบายล์คอมพิ้วติ้งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการไอทีและสร้างโอกาสให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระดับโลก ทางภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกันในรูปแบบพันธมิตรทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทางภาควิชาได้เรียนรู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการได้ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีโมบายล์ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างต่อไป

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ในฐานะเลขานุการกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของตลาดโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนมีการเติบโตสูงมากทั้งในตลาดโลกและตลาดในประเทศไทย โดยในประเทศมียอดขายเครื่องไปแล้วกว่า 3 ล้านเครื่อง เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีเพียง 1.2 ล้านเครื่อง ขณะที่ตลาดโลกนั้นเติบโตยิ่งกว่า เพราะมีการใช้งานอยู่ถึง 54 ล้านเครื่อง และมีมูลค่าซอฟต์แวร์อยู่ถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นการรวมกลุ่ม MT2 ในครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก

สิ่งที่กลุ่ม MT2 จะต้องเร่งก่อนที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือของไทยจะเสียโอกาสคือการสร้างตลาดที่เหมาะสมกับนักพัฒนาไทย ซึ่งครอบคลุมตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากซอฟต์แวร์ประเภทนี้เหมาะสมกับแนวทางการพัฒนาของไทยอย่างมาก เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างแอพพลิเคชั่นขนาดใหญ่ดังเช่น ซอฟต์แวร์ทางด้านธุรกิจ โดยเมื่อกลุ่ม MT2 มีสมาชิกจากองค์กรทางด้านโทรศัพท์มือถือเข้าร่วม ก็สามารถผลักดันให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสามารถเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ผ่านการสนับสนุนของกลุ่มได้ทันที

ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม MT2 ด้วยการรับหน้าที่เป็นเลขานุการ เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งในส่วนขององค์กรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อเป็นประโยชน์ของกลุ่มและอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนั้นจะมีการก่อตั้ง Mobile Testing Center หรือศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือ โดยองค์กรและสมาชิกสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่ซอฟต์แวร์พาร์คได้นำเสนอเพิ่มเข้ามาอีกคือ การนำระบบ Business Matching หรือการเชื่อมต่อทางธุรกิจ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักพัฒนาและผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ และเร่งให้เกิดการเจรจาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กรมากขึ้น โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คจะสามารถเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนา เวิร์คช็อป และอื่นๆ มาเสริมตลอดเวลาอีกด้วย

ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสารและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในฐานะสมาชิกกลุ่ม กลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า บทบาทที่สำคัญของเนคเทคต่อกลุ่มนี้จะมี 2 ประการคือ เป็นผู้สนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้ง Hardware และ Software โดยเฉพาะเทคโนโลยีฐานในเชิงลึกเพื่อให้นักพัฒนานำไปต่อยอดเป็น mobile application ที่หลากหลาย ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น VAJA ที่ให้บริการเสียงสังเคราะห์จากข้อความภาษาไทย และ Traffy API ที่ให้บริการทำนายสภาพจราจร สามารถนำไปสร้าง mobile application ในธุรกิจท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ได้

นอกจากนั้นเนคเทคจะเป็นผู้ประสานการเชื่อมโยงข้อมูลจากภาครัฐ ในฐานะที่เนคเทคสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนคเทคสามารถติดต่อประสานงานกับภาครัฐด้วยกัน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานในการเชื่อมต่อ การออกแบบโครงสร้างข้อมูล อันจะเป็นประโยชน์ทั้งภาครัฐเองและกลุ่ม MT2 ให้เชื่อมโยงกันได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานกลางในการสื่อสารข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล นอกจากนี้เนคเทคยังสนับสนุนกิจกรรมในภาคการศึกษาในรูปแบบการจัดประกวดแข่งขันซึ่งทำเป็นประจำทุกปี

นายจิรวิทย์ แม้ประสาท ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า อินเทลเห็นการเติบโตด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อสร้างความโดดเด่นทางเทคโนโลยี และร่วมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน อินเทลฯได้เริ่มโครงการใหม่ เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี, แหล่งความรู้ และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายระบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อโครงการ Intel AppUpSM developer program และยังจัดทำโครงการ Intel AppUpSM Center ซึ่งเป็นแหล่งรวมซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ ซึ่งโครงการเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างบริษัทอินเทลฯ กับกลุ่มเอ็มทีสแควร์ (MT2) ให้เกิดกิจกรรมหลายด้าน เช่น กิจกรรมฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับนักพัฒนา, ให้บริการอุปกรณ์เพื่อการทดสอบซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์แอพพลิเคชั่นที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจจากประเทศไทย

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 กล่าวว่า ทางกลุ่มบริษัทสามารถซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีครบวงจรในด้านธุรกิจโมบาย ทั้งโทรศัพท์มือถือและคอนเทนต์ รวมถึงด้านซอฟต์แวร์ธุรกิจ โดยมีนโยบายที่สนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง ผ่านโครงการประกวด Samart Innovation Awards ที่จัดอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 9 แล้วในปีนี้ โดยความร่วมมือกับกลุ่ม MT2 ในช่วงต้น จะให้การสนับสนุนด้านกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ แก่นักพัฒนา และมีแนวทางที่จะสนับสนุนด้านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยให้นักพัฒนามีอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานใหม่ๆ และยังส่งฐานข้อมูลนักพัฒนายุคใหม่ที่เริ่มมีผลงานจากโครงการนี้ให้กลุ่ม MT2 ได้ใช้เป็นฐานในการส่งเสริมต่อไป

นายชวัล บุญประกอบศักดิ์ รองประธานฝ่ายบริหาร บริษัท สปริงเทเลคอม ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า สปริงถือว่าเป็นองค์กรกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของกลุ่ม MT2 เนื่องจากเป็นบริษัทซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และได้รับทราบปัญหา รวมถึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ในขณะนี้ตลอดเวลา ทำให้สปริงสามารถถ่ายทอดและชี้ทิศทางการแก้ไขปัญหาในองค์รวมให้กับกลุ่มได้ง่ายขึ้น โดยสิ่งที่สปริงจะให้ความร่วมมือกับกลุ่มคือ เสนอให้ฐานข้อมูลของนักพัฒนาที่ผ่านกลุ่ม MT2 สามารถเข้าฝึกอบรมในรูปแบบการทำงานจริง, กลุ่มสามารถใช้งานโปรแกรมสปริงในการเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกลุ่มกับสมาชิกและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไปได้ฟรีแบบไร้ข้อจำกัด นอกจากนั้นในปลายปีทางสปริงจะเปิดเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของสปริง หรือ SDK เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้ามาเขียนซอฟต์แวร์ต่อเชื่อมได้

รศ.ดร.จันทร์บูรณ์ สถิตวิรยวงศ์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า แนวทางการมีส่วนร่วมและบทบาทของสถาบันต่อกลุ่ม MT2 จะประกอบด้วย การเข้าไปช่วยผลิตบุคลากรทางด้านการพัฒนา Mobile Application ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ผ่านทางหลักสูตรอบรม และสร้างนักศึกษาตามรายวิชาที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรของคณะฯ เพื่อเข้าไปสนับสนุนแนวทางของกลุ่ม, ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Wireless Network และ Mobile Application รวมถึงกำหนดทิศทาง มาตรฐาน และผลักดันอุตสาหกรรมด้าน Software บนโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องร่วมกับ MT2

นายเอกราช คงสว่างวงศา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 จากความต้องการที่มากขึ้นของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดจนอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เป็นโอกาสที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยจะสรรค์สร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นบนระบบปฎิบัติการ Windows Phone 7 โดยบริษัทฯมีกิจกรรมสนับสนุนอย่างจริงจังสำหรับนักพัฒนาผ่านศูนย์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Microsoft Innovation Center โดยเริ่มตั้งแต่การอบรม การพัฒนา การทดสอบ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในด้านการนำแอพพลิเคชั่นขึ้นไปจำหน่ายทั่วโลกบนมาร์เกตเพลสของ Windows Phone 7 โดยนำมาเชื่อมการทำงานกับกลุ่ม MT2 เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้วยังเป็นการขยายการเพิ่มและนำรายได้สู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

View :1444
Categories: Press/Release Tags: , ,