Archive

Posts Tagged ‘Mobile Application’

ททท. จับมือ โนเกีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยผ่าน Mobile Application

May 24th, 2012 No comments

พร้อมเปิดตัว “The New Amazing Thailand” และเกมส์ “Thailand Racing by Smile Land” บนแพลตฟอร์ม Windows Phone เป็นครั้งแรก

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย () พร้อมด้วยนายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาและระบบนิเวศน์การสื่อสารไร้สาย โนเกีย ประเทศไทย และตลาดเอเชียเกิดใหม่ ร่วมแถลงข่าว “ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น” เพื่อประกาศการร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่าง กับ โนเกีย เปิดตัวโมบายแอพพลิเคชั่น “The New Amazing Thailand” พร้อมต่อยอดเกมส์ “Thailand Racing by Smile Land” สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนโนเกียบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone และแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกด้วย

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่ ททท. ได้ร่วมมือ โนเกีย ในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำเสนอนวัตกรรมสำหรับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน Nokia ในระบบปฏิบัติการ Windows Phone จากความสำเร็จในการทำการตลาดผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น Amazing Thailand ในแพลตฟอร์มยอดนิยมทั้งโนเกีย ไอโฟน แอนดรอยด์ แบล็คเบอร์รี่ และไอแพด ในช่วงที่ผ่านมา ในปีนี้ ททท.จึงได้เปิดตัว “The New Amazing Thailand” โมบายแอพพลิเคชั่นบนทุกแพลตฟอร์ม โดยได้มีการเปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ พัฒนาเนื้อหาเพิ่มเติมทั้งข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โปรโมชั่นสิทธิพิเศษจากผู้ประกอบการและจากตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ในประเทศไทย พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก

รวมทั้งได้ร่วมกับโนเกียในการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับแพลตฟอร์ม Windows Phone เป็นครั้งแรก โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ดาวน์โหลดโมบายแอพพลิเคชั่น Amazing Thailand อีกเท่าตัว จากปีที่แล้วที่ทำได้กว่า 300,000 ดาวน์โหลด ซึ่งการทำการตลาดท่องเที่ยวผ่านสมาร์ทโฟน ถือเป็นช่องทางใหม่ที่มีศักยภาพในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เป็นกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงได้เกิดการรับรู้ ซึ่ง ททท. พร้อมเปิดรับนวัตกรรมและความร่วมมือเช่นนี้เสมอ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สามารถช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ไฮไลท์ของ โมบายแอพพลิเคชั่น “The New Amazing Thailand” คือการพัฒนาฟีเจอร์ที่เป็นฟังก์ชั่นการใช้งานให้สามารถใช้งานได้สอดคล้องกับความสนใจและเอื้อประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวขณะเดินทาง เช่น Augmented Reality หรือ AR เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นสัญลักษณ์และข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆที่อยู่รอบตัว, QR code scanner เพื่อเรียกดูข้อมูลการท่องเที่ยว, Interactive Map เพื่อเสนอแนะการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผ่านทางแผนที่บนสมาร์ทโฟน , Search และ Filter ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาและเรียกดูข้อมูลได้ตามความสนใจหรือประเภทของสถานที่ ตลอดจนฟีเจอร์ Check-In สำหรับแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยผ่านทาง Facebook โดยคาดว่าโมบายแอพพลิเคชั่นใหม่นี้จะสามารถเพิ่มความถี่ในการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิตอลแพลตฟอร์มและโมบายแอพพลิเคชั่นของ ททท. อีกด้วย

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาและระบบนิเวศน์การสื่อสารไร้สาย โนเกีย ประเทศไทย และตลาดเอเชียเกิดใหม่ กล่าวว่า “โนเกียรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ททท. ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น และส่งเสริมระบบนิเวศน์การสื่อสารไร้สาย ด้วยการนำเสนอแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยว และสนับสนุนนักพัฒนาไทยในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นดีๆ ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ใช้ โดยแอพพลิเคชั่นใหม่ที่เปิดตัวในวันนี้สามารถใช้งานได้บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน Nokia Lumia 900, 800, 710 และ 610 ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย เมื่อสมาร์ทโฟนที่โดดเด่นในเรื่องของความเร็ว ความง่ายในการใช้งาน มาผนวกกับแอพพลิเคชั่นดีๆ เชื่อแน่ว่าจะมอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้กับนักท่องเที่ยว”

นอกจากนี้ โนเกีย ยังได้ร่วมกับ ททท. ในการพัฒนาเกมส์ “Thailand Racing by Smile Land” สำหรับแพลตฟอร์ม Windows Phone โดยเฉพาะ ซึ่งเกมส์นี้เป็นการแข่งขันด้านความเร็วตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้นำฉากสถานที่ท่องเที่ยวจากเกมส์ Smile Land บน Facebook มาเป็นสนามแข่ง ผนวกกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งการแข่งรถ แข่งเรือ แข่งจักรยาน หรือแข่งขันโดยการใช้สัตว์เป็นพาหนะ รวมทั้งเพิ่มลูกเล่นด้วยการเก็บของที่ระลึกและไอเท็มพิเศษเพื่อเก็บคะแนนสะสมไว้ในเกม Smile Land บน Facebook ได้อีกด้วย ซึ่งคาดว่า ทั้ง “The New Amazing Thailand” และ “Thailand Racing by Smile Land” โมบายแอพพลิเคชั่นนี้จะส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีผ่านทางกลุ่มผู้ใช้ Nokia Lumia ที่มีอยู่ทั่วโลก

นักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใหม่ได้ที่ mobile.tourismthailand.org หรือสนุกสนานกับเกมส์ Smile Land โดยเข้าไปที่ www.smilelandgame.com

View :1672

โมบายล์แอพพลิเคชั่น … โอกาสของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย

June 30th, 2011 No comments

บทความ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในยุคปัจจุบัน อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารพื้นฐานแล้ว อุปกรณ์เคลื่อนที่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง หรือเล่นเกมส์ และยังใช้เป็นอุปกรณ์ในการรับข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารออนไลน์ต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้เพื่อเสริมความสามารถในการทำธุรกิจ เช่น การใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยของพนักงานขายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างน่าสนใจ โดยมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง เป็นต้น ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือโมบายล์แอพพลิเคชั่นนั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความหลากหลายของอรรถประโยชน์ต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสภาพการณ์ และแนวโน้มตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทย รวมไปถึงโอกาสและข้อคิดสำหรับนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในการเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น


    ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นไทย…มักถูกแจกจ่ายฟรี เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด

ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นของไทยในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้บริโภคชาวไทยมักเลือกซื้อแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาในต่างประเทศเป็นหลัก แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยเองนั้นยังคงมีอยู่จำนวนน้อย โดยจากการรวบรวมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า จำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมมีอยู่ประมาณ 871 แอพพลิเคชั่น   เมื่อเทียบกับจำนวนโมบายล์แอพพลิเคชั่นทั้งหมดทั่วโลกซึ่งอยู่ราว 743,640 แอพพลิเคชั่น

โมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในปัจจุบันนั้น มักถูกพัฒนาโดยองค์กรต่างๆทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและให้บริการต่างๆ แอพพลิเคชั่นต่างๆเหล่านี้มักถูกแจกจ่ายฟรี หรือจำหน่ายในราคาที่ต่ำ เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งานให้กว้างขวาง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนแอพพลิเคชั่นแบบฟรีรวมทุกแพลตฟอร์มราวร้อยละ 43.6 และแบบที่ต้องชำระเงินราวร้อยละ 56.4 โดยแอพพลิเคชั่นที่ขายในระดับราคา 0.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับราคาเริ่มต้น จะมีอยู่ราวร้อยละ 18.8 ของแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยทั้งหมด

ปัจจุบัน โมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยมักถูกพัฒนาขึ้นสำหรับตลาดผู้บริโภค และเพื่อส่งเสริมธุรกิจหรือบริการหลักที่องค์กรรัฐหรือเอกชนนั้นดำเนินการอยู่ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

1)    เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาหรืออ้างอิง เช่น แอพพลิเคชั่นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทย หรือแอพพลิเคชั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลโครงการบ้านต่างๆของบริษัทได้ เป็นต้น

2)    เพื่อใช้เป็นช่องทางจัดจำหน่ายคอนเทนต์ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มักจะอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นได้ฟรี แต่ต้องซื้อเนื้อหารายฉบับ หรือสมัครสมาชิกรายเดือน เช่น แอพพลิเคชั่นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารออนไลน์ปกต่างๆ เป็นต้น

3)    เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้บริการต่างๆ แอพพลิเคชั่นประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้บริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค เช่น การจองตั๋วชมภาพยนตร์ การซื้อ-ขายหุ้น การทำธุรกรรมธนาคารออนไลน์ เป็นต้น

4)    เพื่อจำหน่ายเป็นแอพพลิเคชั่นอรรถประโยชน์ต่างๆ ซึ่งบางส่วนอาจอนุญาตให้ผู้บริโภคใช้งานได้ฟรี แต่จะถูกจำกัดฟังก์ชั่นการทำงานที่สามารถใช้งานได้ โดยผู้บริโภคสามารถชำระเงินเพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นฉบับเต็มที่มีความสามารถที่สูงกว่า เช่น แอพพลิเคชั่นแปลภาษา ซึ่งในฉบับทดลองใช้ อาจใช้แปลภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าต้องการใช้งานฟังก์ชั่นแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็ต้องชำระเงินเพื่อสามารถใช้งานฉบับเต็มได้ เป็นต้น

    ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นปี ’54 หลากหลายปัจจัยหนุนการขยายตัว

แม้ว่าตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นไทยยังคงมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่จะมีส่วนผลักดันให้ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในปี 2554 มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการหนุนให้นักพัฒนาหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดนี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

•    การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟน จากคุณสมบัติอันโดดเด่นของสมาร์ทโฟนในเรื่องของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถลงแอพพลิเคชั่นต่างๆได้ จนมีการกล่าวกันว่าสมาร์ทโฟน คือ คอมพิวเตอร์ขนาดย่อส่วน ที่ผู้บริโภคสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูงในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ในการตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดสมาร์ทโฟนจะมีอัตราการเติบโตราวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8  โดยในปีนี้ผู้ประกอบการได้มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าสมาร์ทโฟนอีกหลายรุ่น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟนดังกล่าว จะมีส่วนช่วยผลักดันการขยายตัวของฐานผู้บริโภคบนตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นมากขึ้น

•    การขยายตัวของตลาดแท็บเล็ต ถึงแม้ว่าฟังก์ชั่นการทำงานโดยทั่วไปของแท็บเล็ตจะมีความคล้ายคลึงกันกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า และขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น ประกอบกับความสามารถในการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจในการใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการใช้งานส่วนบุคคลในลักษณะเดียวกับสมาร์ทโฟนแล้ว แท็บเล็ตยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านธุรกิจ หรือแม้แต่ถูกประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ และการศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2554 ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยได้มีการคาดการณ์กันว่ายอดจำหน่ายรวมของแท็บเล็ตในไทยจะมีราว 2 ถึง 3 แสนเครื่อง

•    การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ จากการที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายมีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าธุรกิจบริการโทรคมนาคมสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาบริการและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นการชมภาพยนตร์ออนไลน์ หรือแม้แต่การเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมออนไลน์บนอุปกรณ์พกพามากยิ่งขึ้น

•    ราคาจำหน่ายที่ถูก โมบายล์แอพพลิเคชั่นที่จำหน่ายผ่านร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์จะมีทั้งแบบฟรีและแบบที่ต้องชำระเงิน โดยแอพพลิชั่นแบบฟรีในตลาดโลกมีสัดส่วนราวร้อยละ 36.2 ของแอพพลิเคชั่นรวมทุกแพลตฟอร์ม ในขณะที่แบบที่ต้องชำระเงินจะมีสัดส่วนราวร้อยละ 63.8 สำหรับแอพพลิเคชั่นแบบที่ต้องชำระเงินนั้นจะมีราคาเฉลี่ยรวมทุกแพลตฟอร์มอยู่ที่ 4.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีราคาเริ่มต้นที่ 0.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีจำนวนแอพพลิเคชั่นราวร้อยละ 29.6 ของแอพพลิเคชั่นทั้งหมด สำหรับโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

•    ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก โมบายล์แอพพลิเคชั่นจะถูกขายออนไลน์ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่เรียกว่า ร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (Online Application Store) โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านแอพพลิเคชั่นของร้านออนไลน์ดังกล่าวบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ประกอบกับการจัดหมวดหมู่แอพพลิเคชั่นที่ง่ายแก่การค้นหา และระบบการชำระเงินที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือผ่านระบบการชำระเงินออนไลน์อย่างเพย์พาล

•    สร้างสรรค์ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้บริโภค จากคุณลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เช่น ระบบสั่งงานแบบสัมผัส เป็นต้น ทำให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการใช้งานในรูปแบบใหม่ ซึ่งสะดวกและง่ายแก่การใช้งาน โดยผู้บริโภคไม่เคยประสบมาก่อนในการทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่

จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ฐานผู้ใช้งานโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรรัฐหรือเอกชน เพื่อเป็นช่องทางการทำตลาดหรือส่งเสริมบริการของตนในตลาดผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และอาจมีส่วนในการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถกระทำได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยจะมีการขยายตัวสูงขึ้น โดยมีจำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มในตลาดผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 1,300 แอพพลิเคชั่น จากสิ้นปี 2553 ที่มีอยู่ราว 530 แอพพลิเคชั่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 147.2 ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นมูลค่าของธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับด้านต้นทุนการพัฒนาในปี 2554 จะอยู่ที่ราว 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.8 จากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ราว 265 ล้านบาท

นอกเหนือจาก โอกาสของนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยในตลาดผู้บริโภคแล้ว  ตลาดองค์กร ก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในอนาคตเช่นกัน เนื่องจาก ตลาดองค์กรเป็นตลาดที่ใหญ่และมีเม็ดเงินในการลงทุนที่สูง โดยในปี 2553 ตลาดองค์กรสำหรับธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) นั้นมีมูลค่าถึงร้อยละ 74.8 ของตลาดซอฟต์แวร์ทั้งหมดในไทย คิดเป็นมูลค่าถึง 54,165 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับตลาดองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการระบบการทำงานที่มีความพร้อมในการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง (Availability) และความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability) ที่สูง ทำให้การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นในช่วงแรก น่าจะยังคงเป็นเพียงส่วนเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ซอฟต์แวร์ระบบที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยโมบายล์แอพพลิเคชั่นจะทำหน้าที่รับข้อมูลและส่งไปประมวลผลที่ซอฟต์แวร์ระบบ หรือดึงข้อมูลที่เก็บไว้ที่ซอฟต์แวร์ระบบมาแสดงผลให้แก่ผู้ใช้งาน เช่น การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบบริหารสินค้าคงคลังในห้างสรรพสินค้า ซึ่งพนักงานสามารถเรียกดูว่าสินค้าที่ลูกค้ากำลังสอบถามนั้น มีอยู่หรือไม่และจัดวางอยู่ที่ชั้นวางบริเวณใดผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นต้น

ขณะที่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับตลาดองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน และจำนวนผู้ใช้งานระบบที่ไม่มากนัก ทำให้โมบายล์แอพพลิเคชั่นอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการใช้งานแทนระบบซอฟแวร์เดิมบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เนื่องจาก ความคล่องตัวของอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มากกว่า ซึ่งอาจช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรขนาดเล็กได้ เช่น ระบบบัญชีบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริหารสามารถเรียกดูรายงานสรุปการดำเนินธุรกิจจากที่ใดก็ได้ เป็นต้น

    ข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น

ถึงแม้ว่าตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2554 แต่นักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดนี้ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ดังนี้

•    พัฒนาแอพพลิเคชั่นในหลากหลายแพลตฟอร์ม และสามารถทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ จากการที่โมบายล์แอพพลิเคชั่นถูกขายผ่านทางร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ซึ่งมักถูกเก็บส่วนแบ่งรายได้ราวร้อยละ 30 ของยอดขาย ประกอบกับราคาของแอพพลิเคชั่นมักถูกตั้งในราคาไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รายได้ต่อการขายหนึ่งครั้งค่อนข้างต่ำ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขายในปริมาณมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่อิงรายได้หลักจากยอดแอพพลิเคชั่นที่ขายได้ ควรพิจารณาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนหลากหลายแพลตฟอร์มของอุปกรณ์เคลื่อนที่ และออกแบบให้สามารถจับตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจพัฒนาให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

•    สร้างความแตกต่างให้กับแอพพลิเคชั่นที่จะพัฒนา ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้มีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นองค์กร รวมถึงนักพัฒนาอิสระหันมาพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นมากยิ่งขึ้น ทำให้จำนวนแอพพลิเคชั่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความหลากหลายให้เลือก ผู้ประกอบการควรมองหาช่องว่างทางการตลาดที่มีความต้องการเฉพาะสำหรับผู้บริโภคหรือธุรกิจไทย เพื่อออกแบบแอพพลิเคชั่นที่จะพัฒนาให้มีความแตกต่างและมีจุดเด่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือตอบโจทย์ความต้องการใช้งานเฉพาะด้านของธุรกิจ รวมถึงการสร้างความได้เปรียบเหนือจุดด้อยของแอพพลิเคชั่นคู่แข่ง

•    ปรับปรุงและพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ทำให้แอพพลิเคชั่นที่เคยได้รับความนิยม อาจจะเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ถูกลอกเลียนแนวคิดและมีการออกแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกมา นักพัฒนาต้องหมั่นสำรวจตลาดและวางแผนในการปรับปรุงและพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆให้แก่แอพพลิเคชั่นในการรักษาและขยายฐานลูกค้าของตน

•    ร่วมมือกับสถานศึกษาในการผลิตนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น เนื่องจาก ธุรกิจการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นของไทยนั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงยังคงมีปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้และความชำนาญเฉพาะในการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ผู้ประกอบการอาจร่วมมือกับสถานศึกษาในการเปิดหลักสูตรการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น รับนักศึกษาฝึกงาน ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในการทำจุลนิพนธ์ของนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเริ่มต้นการทำงานได้เร็วหลังจากจบการศึกษา

บทสรุป
ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นในไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยผู้บริโภคมักเลือกซื้อแอพพลิเคชั่นต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของฐานผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ประกอบกับการทยอยเริ่มเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการเข้ามาขององค์กรรัฐ และผู้ประกอบการเอกชน ในการผลักดันการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมบริการหรือธุรกิจหลักของตน ทำให้ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ดี และเป็นโอกาสของนักพัฒนาไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 จำนวนแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยรวมทุกแพลตฟอร์มในตลาดผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 1,300 แอพพลิเคชั่น จากราว 530 แอพพลิเคชั่นในปี 2553 ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นมูลค่าของธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับด้านต้นทุนการพัฒนาในปี 2554 จะอยู่ที่ราว 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.8 จากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ราว 265 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มที่สำคัญในตลาดผู้บริโภคนั้น โมบายล์แอพพลิเคชั่นจะทำให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภค และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การจับจ่ายซื้อของผ่านห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงบนโมบายล์แอพพลิเคชั่น เป็นต้น หรือแม้แต่ในตลาดองค์กรและผู้ประกอบการขนาดเล็ก จะเกิดโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ตลาดโมบายล์แอพพลิเคชั่นต่างๆดังกล่าวเหล่านี้ ยังคงเป็นตลาดใหม่สำหรับเมืองไทย จึงเป็นช่องว่างทางการตลาด และโอกาสอันสำคัญสำหรับนักพัฒนาไทย ซึ่งมีความเข้าใจในความต้องการผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจของไทยเป็นอย่างดี ในการเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจซอฟต์แวร์จากนักพัฒนาต่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น จะยังคงต้องเผชิญความท้าทายและข้อจำกัดต่างๆในการดำเนินธุรกิจพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ หรือแม้แต่สภาพการแข่งขันที่โมบายล์แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ถูกตั้งราคาไว้ต่ำ ประกอบกับการถูกร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์เก็บส่วนแบ่งรายได้ราวร้อยละ 30 ของยอดขาย และความท้าทายในการถูกลอกเลียนแนวคิดและมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกสู่ตลาด

Disclaimer:
“รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

View :2625