Archive

Posts Tagged ‘NBTC Policy Watch’

NBTC Policy Watch ชี้ มาตรการขยายระยะเวลาคลื่น 1800 MHz ละเมิดกฎหมาย และเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค

June 29th, 2013 No comments

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้แถลงรายงานศึกษาในหัวข้อ “ขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz: เพื่อผู้บริโภคหรือเพื่อใคร?”

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการ และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า กรณีการหมดอายุสัมปทานของคลื่น 1800 MHz ซึ่งบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) ได้รับสัมปทานมาจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (กสท) ในเดือนกันยายนนี้ หากพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะพบว่า คลื่นดังกล่าวจะต้องกลับคืนมาสู่มือสาธารณะในฐานะทรัพยากรสื่อสารของชาติ และนำไปจัดสรรใหม่โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่านระบบใบอนุญาตด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้น การที่ กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ….. (ประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ) ซึ่งมีใจความสำคัญที่การขยายระยะเวลาให้บริการบนคลื่นที่จะหมดอายุสัมปทานต่อไปเป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าเป็นการเยียวยาผู้บริโภคจากเหตุการณ์ “ซิมดับ” จึงไม่สามารถทำได้ตามฐานอำนาจทางกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานซึ่งขาดความโปร่งใสและสร้างกฎกติกาในการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ไปสู่ระบบใบอนุญาตซึ่งโปร่งใสและส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมมากกว่า

นายวรพจน์ชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว กสทช. โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รับรู้ถึงภารกิจในการจัดการให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตของคลื่น 1800 MHz เป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา ตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2554 (มีเวลาเกือบ 2 ปี) หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในต้นเดือนเมษายน 2555 (มีเวลาเกือบ 18 เดือน) ดังนั้น กทค. จึงมีเวลาเตรียมตัวเพียงพอสำหรับ 1) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน 2) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน 3) ขยายขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (mobile number portability หรือการย้ายค่ายเบอร์เดิม) รวมถึงเพิ่มช่องทางในการขอใช้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม (เช่น ผ่านเอสเอ็มเอสหรือเว็บไซต์) และ 4) จัดประมูลให้ทันล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่สามารถให้บริการรองรับลูกค้าคงค้างได้อย่างต่อเนื่อง หรือไม่เกิดเหตุการณ์ “ซิมดับ” ทว่า กทค. กลับละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ทำสิ่งที่กล่าวมาจนล่วงเลยสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ซึ่งทำให้ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันจนนำไปสู่มาตรการขยายระยะเวลา

นายวรพจน์กล่าวต่อว่า ที่จริงแล้ว กทค. สามารถพิจารณาแนวทางอื่นๆ ที่ทั้ง “เยียวยาผู้บริโภค” และ “ไม่ละเมิดกฎหมาย” ไปพร้อมๆ กัน เช่น การนำคลื่น 1800 MHz ในช่วงคลื่นที่ยังว่างอยู่ ซึ่งดีแทคทำสัญญากับ กสท มาใช้รองรับลูกค้าคงค้างเป็นการชั่วคราว ทว่า กทค. กลับไม่เคยสำรวจความเป็นไปได้ของทางเลือกดังกล่าว นายวรพจน์ชี้ว่า การที่ กทค. ไม่สามารถดำเนินการจัดประมูลล่วงหน้าทั้งที่มีเวลาพอเพียง และการไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของแนวทางที่อาจช่วยเยียวยาผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับรักษาเจตนารมณ์ในกฎหมาย ย่อมทำให้อดตั้งข้อกังขาไม่ได้ว่า มาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่นดังกล่าวอาจไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การเยียวยาผู้บริโภค (เพราะผู้บริโภคไม่เสียหายอะไรตราบเท่าที่แนวทางที่ใช้สามารถทำให้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง) แต่เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการรายเดิมจากการสูญเสียฐานลูกค้ามากกว่า โดยผู้ประกอบการรายเดิมอย่างทรูมูฟและดีพีซีสามารถยืดเวลารักษาฐานลูกค้าของตนบนคลื่น 1800 MHz ออกไปได้ (โดยเฉพาะทรูมูฟซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 17 ล้านราย) อีกทั้งอาจได้ประโยชน์จากการไม่ต้องเสียค่าสัมปทานร้อยละ 30 ของรายได้ให้กับ กสท ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท (เพราะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว) รวมถึงอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เกือบร้อยละ 6 ของรายได้ให้กับ กสทช. (เนื่องจากไม่ใช่เป็นการให้บริการในระบบใบอนุญาต)

นายวรพจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สังคมมีราคาต้องจ่ายจากมาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz นั่นคือ โอกาสในการสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โอกาสในการสร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม โอกาสที่ประเทศชาติเสียไปจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร และโอกาสที่ผู้บริโภคเสียไปจากการได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ อย่าง 4G ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้น กทค. ไม่ควรใช้มาตรการขยายเวลาโดย “จับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน” ทั้งที่เป็นความผิดพลาดในการดำเนินงานของตนเอง และ กทค. ต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเยียวยาผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการกันแน่

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.nbtcpolicywatch.org

View :1323
Categories: 3G Tags: