Archive

Posts Tagged ‘Software Park Thailand’

วิสัยทัศน์ใหม่ซอฟต์แวร์พาร์ค ปรับแผนและบทบาทรับเทคโนโลยีเปลี่ยน

November 6th, 2010 No comments

เปิดวิชั่นใหม่ซอฟต์แวร์พาร์ค ธนชาติ ผอ.ใหม่ชี้ชัดเทคโนโลยีโมบาย และ
คลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เปลี่ยน เผย 5 บทบาทหลัก 7 แผนปฏิบัติการเร่งด่วน หวังผลปีหน้าเกิดสาขาใหม่อย่างน้อย 3 สาขา เกิดศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์มือถือ เปิดตัวฟรีแลนซ์สเปซรับกระแสคลื่นลูกใหม่ ผลักดันสัปดาห์โซลูชันซอฟต์แวร์ และเน้นสร้างศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า จากการที่เทคโนโลยีปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้
แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของซอฟต์แวร์พาร์คต่อไปนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้อง โดยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไปคือ อนาคตของซอฟต์แวร์พาร์คจะไม่ยึดติดกับสถานที่แต่จะปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของชุมชนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ในช่วงแรกที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเร่งด่วน เนื่องมาจากทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งของไทยและของโลกนั้น จะใช้ผ่านระบบ Cloud Computing มากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้สถานที่ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานมีความจำเป็นน้อยลง และตลาดของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะเปลี่ยนไป ความจำเป็นที่ทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คต้องเข้าไปช่วยให้ฝั่งผู้ผลิตเตรียมพร้อมรองรับ และสนับสนุนให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่น เพื่อส่งผลระยะยาวจึงต้องมีการปรับทั้งกระบวนการอย่างเร่งด่วน
ดังนั้นบทบาทที่รองรับวิสัยทัศน์ใหม่ของซอฟต์แวร์พาร์ค จะประกอบด้วย 5 ส่วนคือ
บทบาทที่ 1 การคงบทบาทให้ซอฟต์แวร์พาร์คเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ Landmark ของธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย แม้ว่าตัววิสัยทัศน์นั้นจะเน้นการไม่ยึดติดกับสถานที่ เช่น อาคารของซอฟต์แวร์พาร์ค แต่เนื่องจากในช่วงต้น การเป็นจุดรวมในเชิงสัญลักษณ์ยังมีความสำคัญในด้านความเชื่อมั่น และการติดต่อกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังมีความจำเป็นอยู่ อีกทั้งต่อไปแนวทางที่จะเป็นคือ การก่อเกิดของซอฟต์แวร์พาร์คต่างๆ ทั่วประเทศ ก็จะทำให้สถานที่ลดบทบาทลงไป
บทบาทที่ 2 คือ การเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีใหม่ให้กับวงการซอฟต์แวร์ไทย โดยมี 3 ทิศทางหลักคือ ซอฟต์แวร์พาร์คจะเป็นผู้นำในการผลักดันเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยอย่างรวดเร็ว ซอฟต์แวร์พาร์คจะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้แก่นักพัฒนา
ซอฟต์แวร์ไทย และซอฟต์แวร์พาร์คจะถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเทคโนโลยีรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดให้กับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่
บทบาทที่ 3 คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยงานเร่งด่วนคือการทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดใหม่ของซอฟต์แวร์ในระดับโลกได้อย่างดีในระยะยาว เนื่องจากระบบตลาดซอฟต์แวร์ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งตลาดซอฟต์แวร์ไทยหากปรับตัวได้ทัน ก็จะทำให้การขยายตลาดในระดับโลกทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะอบรม และสร้างองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ให้เข้าใจทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้ใช้ซอฟต์แวร์ไทย
จุดสำคัญของบทบาทในเรื่องนี้อีกประการคือ การขยายตัวจากการเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ต้องเป็นสำนักงาน หรือ Park ให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเสมือนจริง หรือ Virtual Park สอดคล้องกับการเติบโตของเทคโนโลยี Cloud Computing และทำให้การขยายตัวของการสนับสนุนทำได้อย่างไม่จำกัด
นอกจากนั้น จุดเด่นของซอฟต์แวร์พาร์คแต่เดิมคือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ของไทยมีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน หรือ software process ในจุดนี้ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวก็จะเพิ่มความเข้มข้นในมาตรฐานใหม่ที่จะรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย เพื่อทำให้มาตรฐานของซอฟต์แวร์ไทยสามารถสู้กับซอฟต์แวร์ต่างประเทศได้ เพราะตลาด Cloud Computing แม้จะเปิดตลาดให้กับไทยสู่ตลาดโลก แต่ขณะเดียวกันก็เปิดตลาดโลกเข้าสู่ตลาดไทยด้วยเช่นกัน หากซอฟต์แวร์ไทยไม่เข้มแข็งพอก็อาจเสียตลาดในประเทศไปได้ ส่วนเครื่องมือเสริมต่างๆซอฟต์แวร์พาร์คก็จะมีพร้อมให้กับผู้ประกอบการเช่นเคย
บทบาทที่ 4 คือ การสร้างความร่วมมือแนวใหม่ หรือ New Collaborative ในวิสัยทัศน์ใหม่บทบาทของซอฟต์แวร์พาร์คด้านนี้จะเพิ่มความโดดเด่นมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ไม่ว่าจะเป็นโมบาย หรือ Cloud Computing ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยตลาดใหญ่จะเป็นตลาดระดับโลก ทั้ง App Store, Android Store รวมถึง Cloud ใหญ่ๆ ที่รวบรวมซอฟต์แวร์ระดับโลกเอาไว้ ในส่วนนี้ซอฟต์แวร์พาร์คต้องเข้าไปช่วยทำให้ซอฟต์แวร์ไทยสามารถเข้าสู่ตลาดระดับโลกให้ง่ายกว่านี้ เนื่องจากปัจจุบันการเข้าสู่ตลาดนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของซอฟต์แวร์ไทยอยู่ ขณะเดียวกันตลาดในระดับประเทศซอฟต์แวร์พาร์คก็ให้ความสำคัญด้วย โดยจะเร่งสร้างตลาด Mobile Store และ Cloud Computing ในประเทศไทยให้มากขึ้น และทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความคุ้นเคยกับตลาดนี้โดยเร็ว
ในระยะยาวซอฟต์แวร์พาร์คจะมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมของทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ระดับภูมิภาค โดยใช้เครือข่ายพันธมิตรของซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ รวมถึงบรรดาสมาคมวิชาชีพทางด้านไอทีทั้งหมด และประสานงานโครงข่ายระดับมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับและสนับสนุนตลาดแบบใหม่
บทบาทที่ 5 ของซอฟต์แวร์พาร์คคือ การมุ่งสร้างความต้องการของตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศให้เติบโตแบบยั่งยืน เพราะนอกจากการสนับสนุนให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เปลี่ยนแปลงแล้ว ซอฟต์แวร์พาร์คจำเป็นที่จะต้องลงไปในระดับผู้ซื้อด้วย เพื่อสร้างความสมดุลของตลาดให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มใหม่ของเทคโนโลยีนั้นต้องการแรงผลักจากทั้งสองส่วนไปพร้อมๆ กัน จึงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักทางด้านผู้ซื้อที่ซอฟต์แวร์พาร์คจะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษคือ กลุ่ม SMEs และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
เพื่อให้การปรับเปลี่ยนบทบาทของซอฟต์แวร์พาร์คสมบูรณ์มากขึ้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานภายในบางส่วน โดยในปัจจุบันมีการแบ่งฝ่ายการทำงานหลักออกเป็น 5 ส่วนคือ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ Infrastructure and Facility support ที่จะให้บริการสถานที่ทำงาน สถานที่อบรม และอื่นๆ, ฝ่ายที่ปรึกษา หรือ IT Consulting หน้าที่หลักของฝ่ายนี้คือ พัฒนาขีดความสามารถของบริษัทซอฟต์แวร์ไทยให้เกิดมาตรฐานในระดับสากล, ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ Software Business Enabling รับผิดชอบด้านการประสานงานกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งระบบ รวมถึงการขับเคลื่อนความต้องการของตลาดเข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีใหม่, ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี หรือ Technology Enabling หน้าที่หลักคือ สนับสนุนให้เกิดการบริการบน Cloud Computing เกิดระบบ Enterprise 2.0 ดูแลการผลักดันระบบ Testing หรือธุรกิจการตรวจสอบซอฟต์แวร์ และอื่นๆ ฝ่ายสุดท้ายคือ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือ Technology Transfer รับผิดชอบเรื่องการสร้างองค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่และถ่ายทอดให้กับทุกระดับในอุตสาหกรรม
ส่วนงานสำคัญเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2554 นี้ ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะมีโครงการสำคัญ 7 โครงการ โครงการที่ 1 คือ การขยายสาขาของซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งจะมีการทำความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อื่นๆ และอาจจะขยายผลด้วยการใช้ระบบ
แฟรนไชส์ โดยแบ่งเป็นระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งคาดว่าในปี 2554 นี้จะมีเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขนาดเล็กเกิดขึ้นใหม่ 2 แห่ง และขนาดกลางเกิดขึ้น 1 แห่ง และในระยะยาวจะมีการเติบโตของธุรกิจซอฟต์แวร์พาร์คถึง 100% ภายใน 5 ปีนี้
โครงการที่ 2 คือ การสร้าง Freelance Space แห่งแรกให้เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยซอฟต์แวร์พาร์คอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสถานที่ และเงื่อนไขทั้งในส่วนของผู้จ้างงาน และผู้รับจ้างอิสระ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว Freelance Space จะเป็นสถานที่ที่จะกลายเป็นจุดกำเนิดเทคโนโลยีใหม่ๆ และรองรับรูปแบบการทำงานยุคใหม่ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีแนวโน้มต้องการทำงานแบบอิสระมากขึ้น ขณะที่การทำงานจะเป็นรูปแบบ Mobile office หรือสำนักงานเคลื่อนที่
คาดว่าภายในกลางปีนี้ Freelance Space จะเป็นรูปร่างและสามารถดำเนินการในขั้นต้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการเริ่มต้นของชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นสถานที่จริง และจะเติบโตขยายจำนวนทั้งในส่วนของผู้รับจ้างและผู้จ้างจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ในที่สุด โดยขณะนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดของโครงการก็คือ Seed Money หรือเงินลงทุนแรกเริ่ม ที่เข้าในรูปแบบแตกต่างกันไป เชื่อว่าโครงการนี้จะส่งผลเชิงบวกอย่างรุนแรงให้กับทั้งอุตสาหกรรม
โครงการที่ 3 คือ การพัฒนาระบบ Mobile และ Cloud ของวงการซอฟต์แวร์ไทย ซอฟต์แวร์จะใช้เทคโนโลยีทั้งสองเป็นเรือธงในการขับเคลื่อน เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีผลกระทบในวงกว้างกับอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยต้องเร่งให้ทั้งอุตสาหกรรมตระหนักและรับรู้แนวโน้มในเชิงลึกโดยเร่งด่วน ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการอบรมให้เอื้อกับทั้งสองเทคโนโลยีนี้ในทันที และมีการถ่ายทอดลงไปในทุกส่วนของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทั้งในระดับนักพัฒนา นักการตลาด จนถึงผู้บริหาร ฯลฯ ซอฟต์แวร์พาร์คจะมีการตั้ง Mobile Testing Center หรือ ศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เนื่องจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องยุ่งยากและใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากมีหลายระบบปฏิบัติการ และรุ่น ซอฟต์แวร์พาร์คจะขอความร่วมมือกับทั้งเจ้าของระบบปฏิบัติการและเจ้าของโทรศัพท์มือถือให้สนับสนุนโครงการนี้
สำหรับเป้าหมายหลักในปีนี้ ซอฟต์แวร์พาร์คยังมุ่งเน้นที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งสองต่อไปได้หรือ train the trainer โดยจำนวนในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและประเมินความเป็นไปได้อยู่ นอกจากนั้นยังจะมีโครงการร่วมทุนกับภาคเอกชนในบางส่วนเพื่อสร้างโครงการใหม่ในส่วนนี้ให้เกิดขึ้น เป็นการผลักดันให้เกิดศูนย์ที่พัฒนาเทคโนโลยีทั้งสองได้ง่ายขึ้น
โครงการที่ 4 คือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้านไอทีป้อนตลาด โครงการนี้ถือเป็นโครงการต่อเนื่อง จากการทำโครงการนำร่องที่จังหวัดเชียงราย โดยรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาฝึกงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่เน้นทำให้บัณฑิตมีความสามารถในการทำงานด้านซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง และสามารถเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อวงการซอฟต์แวร์ไทยทันที โดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริงอีกครั้งหนึ่ง โดยในปีนี้จะมีการขยายโครงการออกไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีความพร้อม รวมถึงการผลักดันเทคโนโลยีใหม่ให้เข้าไปในส่วนของกระบวนการเรียนรู้ของบัณฑิตใหม่ที่มาฝึกงานในทันที นอกจากนั้นยังมีการปรับเป้าหมายให้เกิดบัณฑิตที่มีความสามารถทางด้านการเขียนซอฟต์แวร์ระดับใหญ่ หรือ Software Enterprise ให้มากขึ้น รวมถึงปรับทัศนคติของทั้งนักศึกษาและบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ให้พัฒนาผลงานรองรับความต้องการของตลาดมากขึ้น
โครงการที่ 5 คือ การนำเสนอโซลูชันทางด้านซอฟต์แวร์ ปัจจุบันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยเริ่มผลิตซอฟต์แวร์เจาะเฉพาะตลาดอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกันไป ในโครงการนี้ซอฟต์แวร์พาร์ค จะประสานงานกับบริษัทนักพัฒนา สมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เพื่อรวบรวมและจัดซอฟต์แวร์เป็นหมวดหมู่ให้เป็นกลุ่มเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ซื้อสามารถเลือกใช้ได้โดยง่าย และจะมีการจัดงานใหญ่ร่วมกับทาง SIPA รวมถึงการจัดงานย่อยอย่าง Software Solution Week ขึ้น เพื่อให้แต่ละอุตสาหกรรมได้ทยอยกันมาศึกษา จนถึงเกิด Solution Showcase หรือตัวอย่างการทำงานของซอฟต์แวร์ให้แต่ละอุตสาหกรรมเลือกใช้ในที่สุด
โครงการที่ 6 คือการสร้าง Software Tester หรือ นักทดสอบซอฟต์แวร์ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย จากการที่ซอฟต์แวร์พาร์คได้ผลักดันมาตรฐาน CMMI มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเห็นทิศทางของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า นักทดสอบซอฟต์แวร์ ที่ถือว่าเป็นอุตสาหรรมกลางน้ำ ในขณะนี้ยังขาดแคลนอยู่ทั่วโลก ดังนั้นซอฟต์แวร์ถือเป็นโครงการเร่งด่วน โดยจะมีการประสานงานกับ NECTEC, SIPA และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรที่สามารถเป็นวิทยากรต่อไปได้ให้มากขึ้น จนทำให้เกิดบริษัททดสอบซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นในระดับที่น่าพอใจ
สุดท้ายโครงการที่ 7 คือการทำ e-MarketPlace สำหรับโซลูชันทางด้านซอฟต์แวร์ของไทย เพื่อที่จะนำเสนอซอฟต์แวร์ไทยสู่ตลาด SME และตลาดโลก โดยการใช้ Social Media และ Online Market ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และสมาคมต่างๆ

View :1637

ซอฟต์แวร์พาร์คทีวีแจ้งเกิด สร้างต้นแบบรายการ 3D ที่แรก

September 10th, 2010 No comments

ซอฟต์แวร์พาร์คคลอดรายการทีวี Software Park Channel อาศัยเคเบิลและอินเทอร์เน็ตทีวีสร้างแบรนด์ซอฟต์แวร์ไทย หวังตลาดยอมรับฝีมือ พร้อมยิงสดผ่านเน็ตดึง facebook ตอบคำถามหน้าจอ ดึงเทคโนโลยี 3D ฝีมือคนไทยทำต้นแบบรายการ

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยได้ผ่านยุคตั้งตัว และเริ่มมีความเสถียรในการบริหารงานแล้ว และกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคของการสร้างฐานการตลาดที่เข้มแข็ง แต่เนื่องจากบุคลากรทางด้านการตลาดซอฟต์แวร์ รวมถึงเครื่องมือทางด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ทางด้านนี้โดยเฉพาะยังมีไม่มากนัก ดังนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจึงได้จัดทำโครงการสร้างสื่อใหม่ให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยขึ้นมา โดยล่าสุดได้เปิดช่องทางใหม่ทางด้านรายการเคเบิ้ลทีวี และอินเทอร์เน็ตทีวี ชื่อรายการ Software Park Channel

การสร้างรายการทีวีของซอฟต์แวร์พาร์ค จะเป็นการจัดทำรายการทีวีที่เน้นประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เนื้อหาจะเน้นการแสดงถึงศักยภาพของซอฟต์แวร์ไทยโดยตรง ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มาออกมีช่องทางการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ยังสามารถนำสื่อที่เราผลิตไปเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ในโอกาสอื่นๆ เช่น youtube การออกบูธ ฯลฯ ได้ โดยเหตุผลที่สร้างรายการทีวีแบบต้นทุนต่ำนี้เนื่องจากเป็นแนวโน้มใหม่ของการผลิตรายการทีวีของโลก ทำให้เกิดเนื้อหารายการที่หลากหลาย และช่องทางการเผยแพร่ที่มากขึ้น

กลุ่มคนดูที่เป็นเป้าหมายของรายการนี้ จะเน้นกลุ่มธุรกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้า หรือ SMEs ไปจนถึงกลุ่มระดับกลาง เป็นการขยายฐานประชาสัมพันธ์ออกไปให้กว้างกว่าเดิม เน้นการสร้างแบรนด์ให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยโดยรวม ทำให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นต่อซอฟต์แวร์ไทย โดยผู้ชมอาจจะไม่ได้เป็นผู้เข้ามาใช้โดยตรง แต่เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีว่า ซอฟต์แวร์ไทยมีคุณภาพ และสามารถช่วยเหลือวงการธุรกิจของไทยให้มีประสิทธิภาพได้จริง ซึ่งจะส่งผลระยะยาวให้กับวงการซอฟต์แวร์ไทยโดยรวมมากกว่า
“จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดรายการนี้ขึ้นมาคือ ความร่วมมือกันทั้งจากซอฟต์แวร์พาร์ค บริษัทแอ็บโซลูท-เอ ซึ่งเป็นสื่อและผู้ทำธุรกิจซอฟต์แวร์ รวมถึงบริษัท ไอเอสแอลที ที่ไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติทางด้านซอฟต์แวร์สำหรับสื่อ จะทำให้ Software Park Channel เป็นรายการที่ลงตัว และสามารถรองรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไทยได้อย่างดี” นางสุวิภา กล่าวสรุป

นายสุนทร เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็บโซลูท-เอ เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายของการเข้ามาทำรายการ Software Park Channel คือต้องการเป็นตัวจุดประกายให้เกิดช่องรายการที่เป็นรายการทางด้านซอฟต์แวร์อย่างจริงจังเกิดขึ้น ปัจจุบันช่องรายการทีวีใหม่ๆ เกิดง่ายแต่มักจะเน้นรายการที่เป็นบันเทิง และเป็นรายการที่เป็นช่ององค์กรมากขึ้น โดยจากกระแสข่าวมีแนวโน้มจะเกิดช่องรายการที่เป็นไอทีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาและการใช้ content อย่างมาก รายการนี้จึงเป็นเหมือนรายการต้นแบบ เพื่อจะนำไปสู่การเป็นช่องรายการขนาดใหญ่ต่อไป

จากแนวคิดของรายการ ที่เน้นการเป็นรายการต้นทุนต่ำ (low cost TV program) แต่กระจายสื่อออกไปหลากหลาย และเน้นการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีไปด้วย ถือเป็นโจทย์ใหม่ ดังนั้นการจับกับพันธมิตรด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทจะรับผิดชอบทางด้านการถ่ายทำทั้งหมด โดยแบ่งช่วงรายการออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 10 นาที ในช่วงแรกจะเป็นการปูพื้นหรือทีมาของบริษัทซอฟต์แวร์ หรือตัวซอฟต์แวร์นั้นๆ ช่วงสองจะเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นของตัวซอฟต์แวร์ ช่วงที่สามจะเน้นเรื่องการตลาดและประสบการณ์ที่ติดตั้งให้กับลูกค้าองค์กรต่างๆ และช่วงสุดท้ายจะเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ตัวนั้น หรือซอฟต์แวร์ตัวใหม่ของบริษัทซอฟต์แวร์ที่มาออกรายการ โดยอยู่ในรูปแบบการนั่งโต๊ะพูดคุย และใช้พิธีกรที่มีความคุ้นเคยกับวงการซอฟต์แวร์เป็นคนสร้างสีสัน

“ความร่วมสมัยของรายการนี้คือ การนำเอา social media อย่าง Facebook เข้ามาเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ ซักถาม ผ่านผู้ดำเนินรายการเพื่อเป็นการสร้างสีสัน และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวกันอีกต่อไป ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซด์ http://Knowhow.swpark.or.th ทุกวันพุธ 10.30 น. และเทปจะถูกตัดทอนเข้าไปในช่องทางรายการหลัก SOFTWARE PARK CHANNAL ต่อไป” นายสุนทรกล่าว

ปัจจุบันรายการ Software Park Channel ได้จัดทำรายการไปแล้วจำนวน 15 ตอน ออกอากาศที่ช่อง TCNN (Thai Cable News Network) ทุกคืนวันอาทิตย์ เวลา 11:05 – 12:00 น. ไปแล้วจำนวน 10 ตอน รายละเอียดการผลิตของ Software Park Channel คือ จะผลิตเบื้องต้น 52 ตอน หรือจำนวนออกอากาศอาทิตย์ละ 40 นาที เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะมีการวิเคราะห์และปรับทิศทางตามสถานการณ์ของเทคโนโลยีต่อไป

รายการทั้งหมดจะออกอากาศพร้อมกับในเว็บไซต์ด้วย โดยทางด้านเทคนิคและการสร้างเว็บไซต์ทั้งหมด ทางทีมงานซอฟต์แวร์พาร์คจะเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หลังจากตอนที่ 16 เป็นต้นไป รูปแบบการถ่ายทำรายการ Software Park Channel จะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการใหม่ทั้งหมดด้วยการนำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของคนไทยเข้ามาช่วยเพื่อทำให้รายการดูทันสมัย และน่าสนใจมากขึ้น โดยทางบริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท ISLT ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่เชี่ยวชาญทางด้านการทำเทคโนโลยี 3D ในรายการโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้การถ่ายทำในตอนต่อจากนี้จะเป็นในรูปแบบ 3D และสามารถใช้ลูกเล่นของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับรายการทีวีต้นทุนสูงได้ จะทำให้รายการดูน่าสนใจ และเป็นต้นแบบของการทำรายการประเภทนี้เลยทีเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ของทั้งวงการ นั่นคือ ทางซอฟต์แวร์พาร์ค จะมีรายการซอฟต์แวร์ที่เป็นที่สนใจของประชาชน และได้โปรโมทวงการซอฟต์แวร์ไทยอย่างเต็มที่ ส่วนทางบริษัทก็จะเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายการรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ออกอากาศ และมีความเชี่ยวชาญการสร้างรายการ 3D ในต้นทุนต่ำ มีโอกาสในการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้เกิดมากขึ้นในประเทศ และทางบริษัทซอฟต์แวร์คือ ISLT ก็จะมี reference site ที่เป็นจริง ทำให้โอกาสขยายงานทั้งในและต่างประเทศเกิดขึ้นได้ง่าย
ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทยังได้เปิดอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจซอฟต์แวร์อีกด้วยหนึ่ง คือ Absolute PARK ที่จามจุรีย์สแควร์ เพื่อเป็นร้านทดลองและต้นแบบในการสาธิต และจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ในการจัดจำหน่าย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากหลายบริษัท ทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับงานตนเองได้ พร้อมทั้งเห็นหน้าตาและการใช้งานเบื้องต้นของโปรแกรมต่างๆ

นายจักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเอสแอลที เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับรางวัล APICTA (Asia Pacific ICT Award) เมื่อปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้นำผลงานซอฟต์แวร์ 3D Broadcasting มาพัฒนาจนสามารถเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยโปรแกรม นี้จะมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ การถ่ายทอดสดคนใส่เข้าไปในโลกสามมิติจริงๆ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง ด้วยการใช้ 3D บาร์โค๊ดมาช่วยในการจับตำแหน่งและประมวลผลแบบเรียลไทม์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่แพงเหมือนสมัยก่อน และผู้ผลิตรายการสามารถเปลี่ยนฉากได้อย่างง่ายดาย ลดต้นทุนด้านอุปกรณ์ หรือสามารถสร้างฉากที่ยิ่งใหญ่กว่าที่สามารถทำในโลกความเป็นจริงได้

สำหรับรายการ Software Park Channel ทาง ISLT ได้ร่วมกับซอฟต์แวร์พาร์ค ในการทำรายการทีวีต้นแบบ ที่ถือเป็นยุคใหม่ของรายการทีวี ที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลงานเหมือนกับรายการทีวีที่ลงทุน production สูงได้ และโมเดลนี้จะกลายเป็นต้นแบบของผู้ผลิตรายการทีวียุคใหม่ของไทยต่อไป

View :1452

ซอฟต์แวร์พาร์ค จัดอบรมไอทีกับการบริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่

August 3rd, 2010 No comments

ขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จะจัดงานสัมมนาเรื่อง “ไอทีกับการบริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่” ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี งานสัมมนาฟรีที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ พร้อมเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ประกอบการชั้นนำที่มีการนำไอทีมาใช้ในองค์กร ภายในงานจะได้พบกับโซลูชั่นในการบริหารจัดการธุรกิจ ระบบควบคุมต้นทุน ระบบควบคุมคุณภาพ ระบบการให้บริการลูกค้า และระบบจัดการเอกสาร ครบทุกความต้องการของธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในที่เดียว พลาดไม่ได้สำหรับผู้บริหาร ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สัมมาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนภายใน 23 สิงหาคมนี้เท่านั้น สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านไอทีสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์พาร์ค คุณณีรนารถ รัศมีวิศวะ โทร. 0 2583 9992 ต่อ 1446 หรือ neeranart@swpark.or.th

View :1644