Archive

Posts Tagged ‘Thai Law Watch’

ทีดีอาร์ไอร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เปิดตัวเว็บไซต์ Thai Law Watch เปิดโอกาสประชาชน ติดตามร่างกฎหมายไทย

August 26th, 2011 No comments

โครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำโดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย () นายปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงาน ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ Thailawwatch.org เว็บไซต์ระบบติดตามร่างกฎหมายไทย

โดยมองว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือทางนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่สุดเครื่องมือหนึ่ง การปฏิรูปประเทศไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ และบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ทั้งนี้ กระบวนการนิติบัญญัติซึ่งเป็นกระบวนการในการปรับปรุงแก้ไขและบัญญัติกฎหมายใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติได้มากขึ้น คณะผู้วิจัยยังได้จัดทำเว็บไซต์ Thailawwatch.org ระบบติดตาม (tracking system) ร่างกฎหมายซึ่งกำลังจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการติดตามของสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยในการเฝ้าระวังกฎหมาย (legislative watch unit) ในภาควิชาการ หรือภาคประชาสังคมในอนาคต

ทั้งนี้ ในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ วาระการปฏิรูปกฎหมายของรัฐบาลใหม่ โดย อ. จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงมุมมองของการปฎิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหามากในเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับคนในสังคม กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และที่ผ่านมากฎหมายเน้นการเอาคนเข้าคุกมากเกินไป สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือการลดการลงโทษประชาชนในเรื่องต่างๆ หลายชั้น ลดบทบาทของกฎหมายในฐานะเครื่องมือผู้มีอำนาจและให้อำนาจแบบไม่จำกัดต่อเจ้าหน้าที่ ขณะที่สิ่งที่ต้องเพิ่มคือการให้ความสำคัญของกฎหมายในฐานะทีเป็นเครื่องมือของผู้ไร้อำนาจ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิ ส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมสวัสดิการประชาชนหรือรัฐสวัสดิการ และส่งเสริมอำนาจประชาชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ

อ.จอน กล่าวว่า ลักษณะกฎหมายที่ดีในยุคสมัยนี้ว่า หนึ่ง หากเป็นกฎหมายที่เริ่มจากภาคประชาชนยิ่งดี สอง ควรต้องเป็นกฎหมายที่เสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และสาม ต้องมีการประชาพิจารณ์ที่เป็นกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้อย่างแท้จริง ที่สำคัญเราต้องการกฎหมายที่เขียนง่าย เข้าใจง่าย ที่คนทั่วไปอ่านรู้เรื่อง กฎหมายหนึ่งฉบับควรต้องมีเหมือนบทสรุปสำหรับผู้บริหารให้เป็นภาษาชาวบ้านกำกับไปด้วย และเวลาประชาพิจารณ์ ต้องคุยกันในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องภาษา

นายจอน กล่าวด้วยว่า ต้องมองกฎหมายในมุมใหม่ คือ กฎหมายเป็นเรื่องที่ดี ที่จะไปจัดการกับกลุ่มฮาร์ดคอร์ไม่ให้สร้างปัญหาในสังคม แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วกฎหมายควรใช้เพื่อการลงโทษอย่างสร้างสรรค์ ไม่เน้นการเอาคนไปเข้าคุกจนเป็นสูตรสำเร็จอย่างที่ทำกันมา การมีเว็บไซต์ Thailawwatch จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสำหรับองค์กรประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะการผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย จึงเป็นเว็บนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เรื่องกฎหมายไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน อย่างที่ประชาชนรู้สึกและเป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา ซึ่งคนจะกลัวกฎหมาย

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เว็บไซต์ Thailawwatch เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในโครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยงานวิจัยนี้จะศึกษาขั้นตอนของกฎหมาย เปรียบเทียบสามรัฐบาล ที่มีการออกกฎหมายจำนวนมาก คือ รัฐบาล พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยเนื้อหาใน ThaiLawWatch ประกอบด้วยสี่ส่วน ส่วนแรกเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติไทย เพื่อบอกความเข้าใจพื้นฐานในกระบวนการกฎหมายไทย ส่วนที่สอง เป็นการติดตามร่างกฎหมาย (Law tracking) จะติดตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น และชี้ให้เห็นว่ากำลังค้างอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งการติดตามขั้นตอนกฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างความรับผิดชอบของคนออกกฎหมาย ส่วนที่สามเป็นการวิเคราะห์สาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งคณะทำงานจะเลือกกฎหมายสำคัญๆ ขึ้นมาวิเคราะห์ และส่วนสุดท้าย เป็นบทความข่าวสารทั่วไป ทั้งนี้ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าไปติดตามชีวิตของร่างกฎหมายแต่ละเรื่องแต่ละฉบับได้ที่เว็บไซต์ Thailawwatch.org เพื่อร่วมกันกำกับและติดตามให้กฎหมายนั้น ๆ ออกมาตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง.

View :2991