Archive

Posts Tagged ‘NSTDA สวทช.’

3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

April 7th, 2011 No comments

สวทช.// เดินหน้าความร่วมมือการจัดการข้อมูลงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เร่งด่วนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูลภาพรวมงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ มีประโยชน์ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากร วางนโยบาย และการใช้ประโยชน์

เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีพิธีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังที่จะบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีความเข้มแข็งในสาขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ สวทช. มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ นำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สำหรับ วว. มีการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน ส่วนอพวช. มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างต้นแบบที่พบครั้งแรกในโลก

“การบรูณาการข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 100,000 ข้อมูล โดยจะมีการประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท ดูสถานภาพการแพร่กระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธุ์ มีกลไกการประเมินศักยภาพ ตลอดจนการตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อแสดงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2554 ” ดร.วีระชัย กล่าว

ผลที่ตามมาจากการทำฐานข้อมูล จะทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในรูปแบบมาตรฐานสืบค้นได้ง่าย ข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้นการเข้าถึง มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทำให้ประเทศมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลก

ด้าน ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อความรู้และข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการ และวางนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานต่อไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ของประเทศในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้

View :1400

IRPC เสริมทัพงานวิจัยและพัฒนา จับมือ สวทช. ต่อยอดผลิตภัณฑ์

January 10th, 2011 No comments

เดินหน้างานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เต็มสูบ ประกาศจับมือ สวทช. ต่อยอดวิจัย 5 ผลิตภัณฑ์หลักให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ก่อนจะก้าวไปสู่ความร่วมมืออื่นๆในอนาคต ชี้เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะสร้างฐานความรู้ด้านงานวิจัยและต่อยอดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมของประเทศ

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อวิจัยและพัฒนาโครงการและผลิตภัณฑ์ของ IRPC ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้วยการคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์สำคัญของบันทึกข้อตกลงฯ นี้ คือ เพื่อสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ
ให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการคิดค้นและวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยของประเทศ ให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรู้อย่างยั่งยืน

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
การลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ IRPC ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการเป็นพันธมิตรระหว่างหน่วยงานทั้ง 2 ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือมุ่งหวังจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือนี้ สวทช. จะเข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอด 5 ผลิตภัณฑ์หลักของ IRPC ประกอบด้วย

1. โครงการ Green ABS ที่ IRPC คิดค้นสำเร็จเป็นรายแรกของโลก โดย สวทช. จะทำการวิจัยและพัฒนาเพิ่มคุณภาพของยางพาราให้มีคุณภาพและใกล้เคียงกับยางสังเคราะห์มากขึ้นเพื่อจะเพิ่มปริมาณการทดแทนให้ได้ถึง 50% จากเดิมที่สามารถทดแทนยางสังเคราะห์ได้เพียง 20%

2. โครงการ EPS for construction ที่นำโฟมมาผสมกับคอนกรีตเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานและลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่ง สวทช. จะเข้ามาช่วยพัฒนาชิ้นงานให้บางและเบาขึ้น รวมทั้งเพิ่มคุณสมบัติการเป็นฉนวนให้ดีขึ้นไม่ติดไฟ และยังผสมโฟมลงไปในส่วนงานทำคอนกรีตที่ใช้ทำพื้น เพื่อช่วยในการกันความร้อนได้เลยเหมือนเป็นฉนวนไปในตัว

3. โครงการ Compound Polymer Composite (WPC) ซึ่งเป็นการผลิตเม็ดพลาสติกผสมขี้เลื่อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถลดการตัดต้นไม้และลดการใช้พลาสติกได้มากที่สุดถึง 70% ซึ่ง สวทช. จะเข้ามาพัฒนาในส่วนงานขึ้นรูปพลาสติก เช่น เก้าอี้พลาสติก ไม้เทียม ที่จะนำไปใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งต่างๆ เป็นต้น

4. โครงการ Renewable Chemical ที่นำน้ำมันพืชมาทดแทนน้ำมันดิบ ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นหรือ น้ำมันเครื่องด้วยการเติมไฮโดรเจนลงไป เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและสังคมที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นในปัจจุบัน โดย สวทช. จะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาให้คุณภาพน้ำมันที่ได้เหมาะสมกับการเป็นน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่น

5. โครงการ Acetylene Black คือการนำแก๊ส Acetylene มาเผาเพื่อให้ได้เขม่าดำสำหรับอุตสาหกรรมถ่านไฟฉายซึ่ง สวทช. จะเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพของเขม่าดำให้สูงขึ้นจนสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมโซล่าเซลล์ และ แบตเตอร์รี่รถยนต์ในที่สุด โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ให้นำมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ IRPC ก้าวไปสู่เป้าหมายในการเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำ ของภูมิภาคเอเชียในปี 2557 ดังนั้น บริษัทฯ จึงจะเพิ่มความเข้มข้นในการให้ความสำคัญกับงานด้านนี้มากขึ้น โดยในปีหน้าบริษัทฯ มีแผนจะลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับสินค้า Specialty พร้อมทั้งจะเพิ่มงบในการวิจัยพัฒนาในสินค้าเกรดพิเศษเป็นสัดส่วน 1% ของรายได้รวม จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 0.1% ของรายได้

“IRPC ถือเป็นเกียรติที่ได้ สวทช. เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนา ที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราหวังว่าจะมีความร่วมมืออื่นๆ อีกในอนาคต เพราะการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสนับสนุนเราในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นนำของเอเชียเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการร่วมกันแสดงให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงศักยภาพด้านการวิจัยของคนไทยอีกด้วย” กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนและรัฐ ในการขับเคลื่อนศักยภาพด้านงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ และเป็นภารกิจที่ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายพันธกิจสำคัญ คือการเป็นรากฐานในการสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ

“สวทช. มีนักวิจัยจากหลากหลายสาขาที่พร้อมจะสร้างงานวิจัยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมและประเทศชาติตามแนวโนบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการวิจัยของประเทศ เพื่อก้าวสำคัญ ในการพัฒนางานวิจัยให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และเห็นความสำคัญของการวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับของสังคมและสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมสร้างสรรค์พัฒนาก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีองค์ความรู้ผ่านกลไกการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การอุดหนุนและให้คำปรึกษากับเอกชนผ่านโครงการ iTAP ซึ่งอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมแก้โจทย์ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม โดยสวทช.ให้เงินทุนช่วยเหลือได้ 50% เงินอุดหนุนการวิจัยให้กับภาคเอกชนมากถึง 75% รวมถึงแรงจูงใจทางด้านภาษี สำหรับบริษัทเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาเทียบเท่ากับว่าลดภาษีน้อยลง เป็นกลไกกระตุ้นให้ภาคเอกชนต้องการทำงานวิจัยมากขึ้น

ในโอกาสอันดีนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการที่สององค์กรที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้ผนึกกำลังจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการวิจัยและพัฒนา และนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

View :1197