Archive

Archive for the ‘Article’ Category

ออโตเดสก์ฟันธง 8 เทรนด์ฮิตของสิ่งก่อสร้างปี ‘57

March 15th, 2014 No comments

KHIDI Huangdeng Hydropower Station imageโดย มร.เจียนลูก้า แลงก์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอุตสาหกรรมประจำภูมิภาคอาเซียนของออโตเดสก์

จากหมู่บ้านเล็กๆ สู่ตึกสูงเทียมฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางด้านสิ่งปลูกสร้างที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มมีตึกสูงมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ารวมถึงการขยายตัวของเขตเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยได้แรงหนุนจากเหล่าชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เช่นเดียวกันกับปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ความแออัดที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ความไม่เพียงพอทางด้านพื้นที่สำหรับรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น ความไม่แข็งแรงทางด้านโครงสร้างเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาทิ ระบบคลาวด์ฯ และโมบายเทคโนโลยีสำหรับการแสดงผลแบบเรียลไทม์ การจำลอง / ประมวลผลแบบเวอร์ชวลไลซ์เซชั่นเพื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ถือหุ้น และผู้ที่มีส่วนได้ส่วยเสีย

การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาเป็นตัวแทนของ 2 สิ่งที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ การสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัยและเป็นระบบแบบบูรณาการอย่างเช่น เซียงไฮ้ทาวเวอร์, สิงคโปร์สปอร์ตฮับ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซีย (MP3EI) และการก่อสร้างส่วนขยายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่หมายถึงการจ้างงานบุคลากรนับพัน แต่ยังเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

เราจะเห็นอะไรในสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานในปี ‘57

กระแสการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วและกุญแจสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเหล่านี้ในปี 2557 และปีต่อๆ ไปก็คือเทคโนโลยีอันนำสมัยและนวัตกรรมทางการเงิน

อุตสาหกรรมการก่อสร้างในปี 2557 นี้จะเป็นปีแห่งการนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling ) มาปรับใช้ในงานเพื่อผลักดันให้เกิดผลผลิตอันยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น และนี่คือกุญแจสำคัญของเทรนด์อุตสาหกรรมการก่อสร้างที่น่าจับตามองในปี 2557 นี้
1. ในปี 2556 ที่ผ่านมา เราได้เห็นศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ที่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการทำงาน ซึ่งช่วยให้การทำงานนอกสถานที่มีความสะดวกมากขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้จะยังคงมีการใช้อย่างแพร่หลายอย่างต่อเนื่องในปี 2557 ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลโครงการแบบเรียลไทม์จะช่วยให้ผู้จัดการโครงการตระหนักถึงประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรากำลังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากรากฐานอุตสาหกรรมเดิมๆ ไปเป็นการใช้ BIM โดยลูกค้าจะค้นพบวิธีใหม่ในการเพิ่มศักยภาพของกระบวนการภาคสนามมากยิ่งขึ้น

2. การทำงานโดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่, คลาวด์และ BIM เป็นตัวช่วย จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือในสายงานทางด้านวิศวกรรม, สถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง บริษัทที่คิดการณ์ไกลจะเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการออกแบบและติดตามปัญหาในภาคสนาม ดังนั้นการนำ iPad และแทบเล็ตมาใช้งานในภาคสนามจะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่เริ่มใช้งานกัน

3. ในปี 2557 และจากนี้ไปอีก 5 ปี เราคาดการณ์ว่าการใช้งาน BIM จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เหล่าวิศวกร สถาปนิกและผู้ที่ทำงานก่อสร้างสามารถแบ่งปันข้อมูลโมเดลอันชาญฉลาดนี้ได้อย่างง่ายดาย โดย BIM จะมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกแบบและการจัดการในแต่ละโครงการจากแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง โดยในปีพ.ศ.2563 คาดว่า BIM จะก้าวเข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลักของการออกแบบและก่อสร้างโดยทำการประสานข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้มาอยู่ภายในโมเดลเดียว ในขณะเดียวกันก็จะมีการนำ BIM มาปรับใช้กับวงจรชีวิตของโครงการอีกด้วยทำให้ความเชื่อมต่อระหว่างการออกแบบและการก่อสร้างจะไหลลื่นและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อนและมีความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

4. เราเชื่อว่าภายในปี 2563 ระบบการส่งไฟล์จะมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถสร้างชิ้นส่วนของสิ่งก่อสร้างได้จากนอกสถานที่ ซึ่งการผลิตแบบดิจิตอลทั้งจากในและนอกสถานที่จะกลายมาเป็นมาตรฐานการทำงานของระบบอุตสาหกรรม

ส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโยธานั้น BIM และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะยังคงร่วมกันเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างไปในทางที่ดีขึ้น แต่ว่ากุญแจอื่นในด้านกระแสของเงินทุนโครงสร้างพื้นฐานจะยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เมื่อมองไปที่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของเมือง ทางโกลด์แมน แซชส์ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าโอกาสด้านโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนนั้นมีมูลค่ากว่าครึ่งล้านล้านดอลล่าร์ ด้วยเวลาเพียงใม่กี่ปี เศรษฐกิจของอาเซียนได้มีการเติบโตของ GDP สูงมากและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังคงเอื้อต่อความเจริญเติบโตและช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย จากข้อมูลของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองในอาเซียน เช่น มาเลเซียและไทยนั้น ได้มีการปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในประเทศของตัวเอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังคงมีความต้องการการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง

การเจริญเติบโตนั้นเชื่อมโยงไปยังการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีการก่อสร้างครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคและเชื่อกันว่านวัตกรรมทางการเงิน เช่น ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) ที่เข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นจำเป็นต่อการแก้ปัญหาด้านการขาดแคลนเงินทุน เราจะได้เห็นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านการก่อสร้างและการพัฒนาการเงินเท่าที่ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายจะทำได้ ซึ่งนั่นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น การการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจะเปิดโอกาสอันดีให้กับเหล่าผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน

นี่คือ 4 ปัจจัยที่น่าจับตามองในปี 2557 และผลจาก PPP

1. เมื่อรัฐบาลมีปัญหาทางด้านการเงิน ความร่วมมือแบบ PPP จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง PPP คือการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยมีทรัพยากร, ความเสี่ยง และผลตอบแทนต่างๆ ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานที่มากกว่าเดิม ดีกว่าการที่ภาครัฐจะแบกรับค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว การโยกย้ายการจัดซื้อจัดจ้างออกจากงบดุลของภาครัฐไปยังภาคเอกชนถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าการเพิ่มภาษีหรือเพิ่มภาระทางหนี้สินให้กับทางภาครัฐ

2. ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ PPP ได้รับการตอบสนองจากการแข่งขันที่มาจากทั่วโลก การลงทุนที่มาจากภาคเอกชนในท้องถิ่นนั้นจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว ในทางกลับกัน การแข่งขันทางด้านเงินทุนจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล การเพิ่มขึ้นของการแข่งขันทางด้านเงินทุนจากทางภาคเอกชนจะส่งผลต่อทั่วโลกให้เปลี่ยนจากโครงการเงินทุนที่เป็นระบบใครมาก่อนได้ก่อนเป็นหลักแล้วค่อยให้ผลตอบแทนด้านการเงินไปเป็นโครงการธุรกิจที่ดีที่สุด ในตอนนี้ PPP ได้มีการดำเนินการไปแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกตุ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ และ PPP เองก็กำลังจะมีขึ้นในอีกหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์

3. จับตามองความสำคัญของเงินทุน PPP ที่จะให้ผลตอบแทนแบบองค์รวมที่ดีที่สุดให้ดี เพราะไม่เพียงแต่จะดีในด้านการเงิน, สังคมและสิ่งแวดล้อมในโครงการที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างสมดุลย์อีกด้วย เจ้าของโครงการจะสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มรูปแบบตลอดวงจรชีวิตของโครงการ ซึ่งพวกเขาสามารถเห็นภาพและจำลองเหตุการณ์ในอนาคตภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องยึดการออกแบบซึ่งอิงอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีอยู่อย่างเดียว

4. การวางแผน, การออกแบบที่ทันสมัยและการส่งมอบเครื่องมือจะส่งผลสำคัญต่อการพัฒนา PPP ในพ.ศ. 2557 การผูกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนด้วยกลยุทธ์และนวัตกรรมจากเทคโนโลยี 3มิติ ไม่เพียงช่วยให้เจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและนักลงทุนเห็นถึงความโปร่งใสของโครงการและสามารถเข้าใจถึงขอบเขตและความซับซ้อนในการลงทุนได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาปรับปรุงโครงการจัดหาเงินทุนโครงการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ในเมื่อความท้าทายทางด้านการก่อสร้างกับโครงสร้างพื้นฐานทางโยธาได้อยู่ตรงหน้าแล้ว ลูกค้าของเราจะสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้นได้ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำหน้าร่วมกับนวัตกรรมด้านการเงิน ด้วยความร่วมมือระหว่าง PPP, คลาวด์, อุปกรณ์เคลื่อนที่และเทคโนโลยี BIM จะมาทดแทนกระบวนการที่ล้าสมัย และสร้างหนทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2557 นี้ จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนและเราเองก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นเทรนด์เหล่านี้เผยโฉมออกมาในเร็วๆ นี้

View :1435
Categories: Article Tags:

เมื่อ Facebook และ WhatsApp รวมกิจการเข้าด้วยกัน

February 21st, 2014 No comments

โดย คุณอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จำกัด
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด

• การรวมกิจการครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ถือว่าเป็นจังหวะที่ ตัดสินใจได้ดี นับว่าเป็น Strategic Move ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ มากขึ้น
ในแง่ของการให้บริการ – การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจสร้างความฮือฮาครั้งสำคัญได้ไม่แพ้เมื่อครั้งที่ Facebook รวมกิจการของ Instagram มาก่อนหน้านี้ เพราะการที่ได้ฟังก์ชั่นของ Instagram ที่ทำให้ Facebook นำเอาข้อดีมา integrate กับสิ่งที่มีอยู่ของ Facebook ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ในแง่ของผู้ใช้งาน – ลักษณะการใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งเป็นการใช้งานลักษณะ Instant Message ที่แตกต่างจาก Facebook ที่เป็นลักษณะ Story message มากกว่า ก็น่าจะทำให้ฐานผู้ใช้ จะมีโอกาสที่ได้สัมผัสการพัฒนาจากทีม Facebook ให้มีสีสันมากขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานสื่อสารบนโมบายของผู้บริโภคทั่วโลกได้ด้วย

• ผลกระทบต่อวงการโซเชียลมีเดีย
จากเดิมที่ปีที่แล้ว Facebook ได้แก้ปัญหาของ Mobile AD ไปได้ระดับหนึ่ง แต่การที่ได้ฐานลูกค้าจาก WhatsApp ด้วย จะเป็นจุดดึงดูดนักการตลาดมากขึ้น และช่วยให้เกิดความน่าสนใจผ่านช่องทางสื่อสารของแบรนด์กับผู้บริโภคด้วย เนื่องจาก Facebook พยายามพัฒนาจุดเด่นที่แตกต่างจากโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกมากขึ้น และได้กลุ่ม Chat ที่พร้อมใช้งานเข้ามาด้วย เป็นการรักษาฐานผู้ใช้ของตนเองให้รั้งอันดับหนึ่งในโลกดิจิตอลอยู่

ผลกระทบต่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ คาดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือการปรับตัวของคู่แข่งในกลุ่มโซเชียลแพลตฟอร์มรายอื่นๆ เช่น Line, WeChat, Twitter ที่คงต้องมีการพัฒนามากขึ้น การแข่งขันนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจมากขึ้นไปอีก

• คิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีแนวโน้มของโลกการสื่อสารในระยะ 2-3 ปีนี้ เป็นเช่นไร
อย่างตัวเลขที่ Facebook ประกาศว่ารายได้ของ Mobile AD ในปี 2013 ที่ผ่านมาสูงถึง 53% นั้น เป็นการชี้ชัดว่าแนวโน้มของเทคโนโลยีการสื่อสารบนโมบายจะเป็นกระแสหลัก ที่ทั้งผู้ประกอบการ นักพัฒนา และผู้บริโภคเองก้าวสู่การสื่อสารบนดีไวซ์ติดตัวจนเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว

• นักการตลาดไทยควรเตรียมตัวอย่างไร
แนวโน้มของผู้บริโภค จำนวนการครอบครองโมบายดีไวซ์และสัดส่วนการเข้าถึงมีมากขึ้น สิง่ที่นักการตลาด หรือ ผู้บริหารแบรนด์ควรเตรียมตัวต่อไป คือ การเปลี่ยนแปลงที่ Facebook จะนำเอาข้อดีของตัวเองและ WhatsApp เข้ามา integrate เข้าด้วยกัน น่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้งานโฟกัสที่แบรนด์ได้มากขึ้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมี Application ใหม่ๆ มาให้เลือกใช้มากขึ้นแน่นอน ดังนั้น นักการตลาดต้องมีการวางแผนและเลือกใช้ Content Strategy ให้เหมาะสมกับ feature ต่างๆ ที่ Facebook จะนำมาเสนอ

• ข้อความที่อยากฝากกับผู้อ่านทั่วไป
เรื่องสนุกเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอลที่เข้ามาสู่การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เราสะดวกขึ้น นอกจากช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าได้รวดเร็วด้วย ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กรที่จะปรับตัวสู่ Digital Transformation ได้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันหรือไม่

View :1586

มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขไทย

October 24th, 2013 No comments

โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกสบาย ความถูกต้องแม่นยำ และความรวดเร็ว ซึ่งด้านการสาธารณสุขก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลได้มีการปรับเปลี่ยนระบบภายในต่างๆ จากระบบในรูปแบบกระดาษมาเป็นระบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เวชระเบียน ซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ที่ใช้บันทึกและรวบรวมประวัติของผู้ป่วย ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษา และประวัติการแพ้ยา โดยโรงพยาบาลมีการจัดเก็บเอกสารเวชระเบียนให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยการส่งข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาลในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยเกิดขึ้น

โรงพยาบาลในประเทศไทยมีการจัดเก็บเวชระเบียนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากความสะดวกในการค้นหา และสามารถเรียกดูเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยวิธีการออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีการจัดเก็บเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่โรงพยาบาลประสบปัญหาในการรับส่งข้อมูลในกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีระบบสารสนเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อต้องเสียเวลาในการแปลงข้อมูล หรือต้องติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลที่ไม่สามารถอ่านได้ ซึ่งหากปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาอย่างรุนแรง อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เพียงเพราะโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งทำให้ไม่ทราบข้อมูลการรักษาที่ควรระวังเป็นพิเศษ

จากปัญหาดังกล่าว มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพจึงถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการ การรับส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เพื่อให้ทุกระบบในโรงพยาบาลสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งนี้ การสร้างมาตรฐานของข้อมูลไม่ได้เป็นการบังคับให้ทุกโรงพยาบาล ต้องมีระบบการเก็บข้อมูล และระบบการทำงานที่เหมือนกันทุกประการ ตรงกันข้าม การกำหนดมาตรฐานของข้อมูลให้ถือปฏิบัติเหมือนกัน เป็นการให้อิสระแก่หน่วยงานแต่ละแห่งในการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ผลสุดท้าย ทุกโรงพยาบาลจะบันทึกข้อมูลด้วยรหัสที่มีความหมายอย่างเดียวกัน และจัดรวบรวมตัวแปรต่างๆ ที่กำหนดในข้อมูลชุดที่เป็นมาตรฐานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

Health Level Seven (HL7) เป็นมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นมาตรฐานที่ไม่เฉพาะเจาะจง ถูกออกแบบมาเพื่อตีกรอบกว้าง โดยแต่ละโรงพยาบาลสามารถปรับลักษณะให้เหมาะสมกับกระบวนการทำงานของตัวเองที่ต่างกันได้ โดยสามารถกำหนดภาษา โครงสร้าง และชนิดข้อมูลที่จำเป็นในการบูรณาการ เพื่อให้ข้อมูลถูกส่งต่อจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่งได้อย่างราบรื่น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในงานบริหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กร (Administrative) หรือการบริหารงานด้านสุขภาพการแพทย์ (Health and Clinical) ได้

มาตรฐาน HL7 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีเวอร์ชั่น 3 เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด เรียกว่า HL7 V3 โดยมีการกำหนดรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการสร้างวัตถุข้อมูลของ HL7 ให้ใช้ภาษา XML (Extensible Markup Language) เพื่อเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการระหว่างระบบหรือองค์กร (Interoperability) ให้เป็นไปได้อย่างสะดวกราบรื่น แต่เนื่องจาก HL7 มีนโยบายการพัฒนามาตรฐานที่ยืดหยุ่นได้ ดังนั้นในอนาคตถ้ามีเงื่อนไขการใช้งานอื่นๆ ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการเก็บชุดข้อมูลได้
ปัจจุบันมีประเทศที่นำมาตรฐาน HL7 ไปใช้และเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 55 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศหลักที่มีบทบาทในการประยุกต์ใช้และส่งเสริมเผยแพร่ HL7 ได้แก่

ประเทศแคนาดา ได้รับการสนับสนุนจาก HL7 Canadian Constituency ซึ่งอยู่ภายใต้ Canadian Health Infoway Standards Collaborative โดยการมีส่วนร่วมกับ HL7 ของแคนาดาส่วนมากอยู่ในรูปของการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับ HL7 ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เช่น การเป็นพันธมิตรกับองค์กร HL7 International การให้คำตอบและข้อมูลแก่ HL7 international การสนับสนุนการประชุมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ HL7 การดำเนินการและจัดการ forum ที่เกี่ยวกับ HL7 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการประยุกต์ใช้ HL7 ที่เป็นที่รู้จักดีคือการใช้มาตรฐาน HL7 ในระบบ Prince Edward Island’s drug information system (DIS) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลยาที่จัดเก็บภายใต้มาตรฐาน HL7

ประเทศฟินแลนด์ สำนักงานประกันสังคม (Social Insurance Institution) ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพและสวัสดิการของประเทศในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยยึดตามมาตรฐาน HL7 โดยให้ชื่อระบบฐานข้อมูลว่า KanTa ซึ่งระบบจะมีรายละเอียดของข้อมูลการสั่งจ่ายยาทางอิเล็กทรอนิกส์ และร้านขายยาทั้งหมดในฟินแลนด์ โดยประชาชนในประเทศสามารถล็อกอินเข้าไปในระบบผ่านอินเทอร์เน็ตและใช้ authentication service ทำการระบุตัวตนเพื่อดูข้อมูลของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้สองวิธี คือ

- ใช้ระบบการระบุตัวตนที่ควบคุมโดยรัฐบาล
- ใช้ระบบการระบุตัวตนเดียวกับที่ใช้กับระบบ online banking

ระบบการระบุตัวนี้เป็นการรักษาความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการขโมยข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งระบบฐานข้อมูล KanTa ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านสาธารณสุขของประเทศฟินแลนด์เป็นอย่างมาก นอกจากผู้ป่วยสามารถดูประวัติการรักษาและข้อมูลการสั่งจ่ายของแพทย์ได้แล้ว ด้วยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับร้านขายยาทั้งประเทศทำให้สามารถควบคุมการซื้อยาของผู้ป่วยในประเทศ และยังสามารถใช้ควบคุมการใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลของประชาชนในประเทศได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน อินเดีย เกาหลี เป็นต้น ได้มีการนำมาตรฐาน HL7 มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน และจัดเก็บข้อมูลสุขภาพให้มีความราบรื่นและประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. มีภารกิจในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นรหัสยามาตรฐานไทย หรือมาตรฐาน HL7 โดยในอนาคต สพธอ. จะร่วมมือกับศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะด้าน Health Informatics และมาตรฐาน HL7 ในการสนับสนุนการจัดสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ

ทั้งนี้การมีมาตรฐานด้านข้อมูลสุขภาพที่ใช้ได้จริงในระดับประเทศจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการมีมาตรฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่ง สพธอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชาได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง:

View :1372

กสทช กับความเสียหายของประเทศจากความล่าช้าในการประมูลคลื่น 4G

August 28th, 2013 No comments

โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนดูรายการตลกของคุณ โน้ต อุดม แต้พานิช คุณโน้ตบอกว่าเรา (คนไทย) มักคิดว่าเราดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านเรา แต่ลาวเขามี 4G มานานแล้ว แต่ประเทศไทยสงสัยจะต้องรอ “ชาติหน้า”

ความล้าหลังทางด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้นมิได้เป็นเพียงเรื่องขบขัน ในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันล่าสุดของ Institute of Management Development (IMD) ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า คุณภาพของบริการหลัก 5 ประเภท ได้แก่ บริการขนส่งทางบก ขนส่งทางอากาศ การเงิน พลังงาน และ โทรคมนาคม ประเทศไทยมาเป็นอันดับที่สามในอาเซียนตามหลังสิงคโปร์ และ มาเลเซียทุกบริการ ยกเว้นบริการโทรคมนาคมซึ่งมาเป็นอันดับที่ 4 แพ้ฟิลิปปินส์ซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าไทย

ผู้เขียนเห็นว่า ที่ผ่านมาพัฒนาการของกิจการโทรคมนาคมล้าหลังมีปัญหามากมายสืบเนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เช่น ระบบสัมปทาน ความล่าช้าในการสรรหากรรมการของหน่วยงานกำกับดูแล การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ การฟ้องร้องเรื่องการประมูลคลื่น ครั้งแรก ฯลฯ ปัญหาทั้งหลายเกิดจากผลประโยชน์อันมหาศาลของกิจการโทรคมนาคมทำให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กัน แต่ในที่สุดเราก็เริ่มปลดล็อคปัญหาได้ จากการที่มีการประมูลคลื่น เมื่อปลายปีที่แล้ว แม้การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนั้น เป็นเสมือนการ “แจกคลื่น” มากกว่า เพราะไม่มีการแข่งขันจริงระหว่างผู้ประมูล 3 ราย

มาปีนี้ ประเทศไทยมีความหวังที่จะได้ใช้บริการ 4G ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุดถึง 100 Mbps หรือมากกว่า 3G ห้าเท่าดังเช่นในลาว เนื่องจากสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของบริษัท ทรู และ ดีพีซี จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน แต่สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม () กลับตัดสินใจที่ให้ผู้ประกอบการรายเดิมใช้คลื่นต่อไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าเพื่อที่จะให้ผู้ใช้บริการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดเหตุ “ซิมดับ” คำถามคือ ปัญหา “ซิมดับ” นั้นเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ เป็นปัญหาที่ ก่อขึ้นมาเอง

ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำของ กสทช. ที่ผ่านมาน่าจะสะท้อนกรณีหลังมากกว่า เนื่องจาก กสทช. ละเลยที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับ แม้จะทราบข้อมูลดังกล่าวแล้วตั้งแต่มารับหน้าที่ในปี พ.ศ. 2554 และมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตั้งแต่เดือน เมษายน ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งระบุชัดเจนว่า คลื่นความถี่เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วต้องคืนเพื่อนำมาประมูล บริษัทเอกชน คือทั้งทรูและดีพีซีก็เคยมีจดหมายถึง กสทช. ว่าพร้อมโอนเลขหมายทั้งหมดเมื่อหมดอายุสัญญา โดยทรูมูฟจะโอนลูกค้าไปให้เรียลมูฟ และ ดีพีซีจะโอนลูกค้าซึ่งมีเพียงไม่ถึงแสนรายให้ กสท. แต่ กสทช. กลับนิ่งเฉยต่อข้อเสนอของเอกชนที่มีการเสนอเข้ามาตั้งแต่ ต้นปี พ.ศ. 2555

คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 ซึ่งผู้เขียนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ได้เสนอให้ กสทช. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหมดอายุสัญญาสัมปทานอย่างเร่งด่วนตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการรับทราบ และ มีโอกาสในช่วงเวลา 8 เดือนที่จะเลือกที่จะย้ายไปค่าย True move H AIS หรือ DTAC ได้ตามความสมัครใจ แต่ กสทช. กลับไม่ดำเนินการแต่อย่างใดในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนเพิ่งเห็นประกาศแจ้งการหมดอายุสัมปทานลงหนังสือพิมพ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงเพียง 1 เดือนกว่า

การที่ผู้ใช้บริการไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการหมดอายุสัมปทาน ทำให้ยังคงมีการเปิดใช้บริการหมายเลขใหม่และ สมัครบริการเสริมใหม่ที่มีรายการส่งเสริมการขายหรืออายุการใช้งานเกินระยะเวลาสัมปทาน รวมทั้งมีการเติมเงินจำนวนมากที่อาจใช้ไม่หมดเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ฯลฯ จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า เหตุใดจึงมีผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ค้างอยู่ในระบบที่จะได้รับความเดือดร้อนหากมีการระงับการให้บริการของผู้ประกอบการรายเดิม

ความล่าช้าในการประมูลคลื่น 1800 MHz มีต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ผู้เขียนได้เคยประมาณการอย่างคร่าวๆ ว่า ความเสียหายดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าประมาณ แสนกว่าล้านบาทต่อปี ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงมาจากบทความทางวิชาการ ซึ่งประเมินความเสียหายจากความล่าช้าในการประมูลคลื่น 3G ในประเทศอังกฤษ ว่า ความเสียหายที่มีมูลค่าสูงที่สุด ไม่ใช่ความเสียหายจากรายได้จากการประมูล แต่มาจากค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการที่จะใช้บริการสื่อสารข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ และที่รวดเร็ว ซึ่งประเมินได้ว่ามีมูลค่าประมาณ 5-7 เท่าของราคาคลื่นความถี่ที่ใช้ในการให้บริการต่อปี[1]

ผู้เขียนมีความเห็นว่า คลื่น 1800 MHz หรือ คลื่น 4G นั้นน่าจะมีราคาไม่น้อยกว่าคลื่น 3G ดังจะเห็นได้ว่า True ได้นำคลื่นที่ 2.1 GHz ที่ประมูลได้เมื่อปลายปีที่แล้วไปเปิดให้บริการ 4G แทน 3G หากเรานำราคาคลื่น 3G ที่ 4500 ล้านบาทต่อ 5 MHz มาประมาณการรายได้ในกรณีที่มีการประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งมีทั้งหมด 25 MHz ในเดือนกันยายนปีนี้ จะได้เป็นวงเงิน 22,5000 ล้านบาท เมื่อคูณด้วย 5 – 7 ก็จะได้ค่าเสียโอกาสประมาณ 112,500 – 157,500 บาทต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการเพียงคร่าวๆ เพื่อให้สาธารณชนสามารถตระหนักถึงขนาดของความเสียหายที่เกิดกับเศรษฐกิจของประเทศจากความล่าช้าในการมีบริการ 4G เพราะดูเหมือน กสทช. จะไม่ได้ให้ความสนใจใดๆ แก่ประเด็นนี้ หากแต่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องของการป้องกันมิให้เกิดปัญหาซิมดับซึ่งแท้จริงแล้วตนเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง

อนึ่ง การที่ กสทช. ให้ข่าวว่าตัวเลขความเสียหายดังกล่าวสูงเกินควรเพราะคลื่น 1800 MHz มีการใช้งานอยู่แล้วมิใช่คลื่นใหม่เช่น 2.1 GHz นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะลูกค้าในระบบทั้งหมดสามารถโอนย้ายไปยังคลื่นอื่นๆ ที่มีอยู่ได้ตามที่ผู้ให้บริการรายเดิมเสนอ แต่ กสทช. คงยืนกรานว่าจะต้องให้บริษัทเอกชนใช้คลื่นที่หมดอายุสัญญาสัมปทานในการรองรับลูกค้าเท่านั้นเหมือนกับมีธงปักไว้แล้ว

ผู้เขียนได้ศึกษาแนวทางในการโอนย้ายผู้ใช้บริการจำนวนมาก (mass migration) ในต่างประเทศ พบว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะทำแผนและเตรียมการประมูลและการโอนย้ายผู้ใช้บริการล่วงหน้าก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุลงล่วงหน้านับปีเพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็ในการยืดอายุใบอนุญาต แต่จนบัดนี้ กสทช. ยังไม่มีแผนและมาตรการโอนย้ายและเยียวยาผู้ใช้บริการที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ไม่มีการจัดตั้งอนุกรรมการประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษามาคำนวณราคาขั้นต่ำ ฯลฯ ดังนั้น ข้ออ้างว่า “ ทำไม่ทัน” จึงเป็นข้ออ้างที่รับไม่ได้ เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กสทช. “ไม่ได้ทำอะไร” มากกว่า

ผู้เขียนเห็นว่า เรามีความจำเป็นต้องทบทวนรูปแบบของ “องค์กรอิสระ” กำกับดูแลกิจการสาธารณูปการทั้งหลาย เพราะดูเหมือนองค์กรเหล่านี้มีแต่ความเป็นอิสระ (independence) ทั้งในการตัดสินใจ งบประมาณ และบุคลากร หากแต่ขาดความรับผิดชอบต่อผลงาน (accountability) หากเราต้องการให้มีการใช้เงินของรัฐปีละ 3,500 ล้านบาทให้เกิดประโยชน์แก่กิจการโทรคมนาคม คงจะต้องมาช่วยกันตรวจสอบการทำงานของ กสทช. มากขึ้น.

View :1337

เทรนด์ไมโครเตือนผู้ใช้อินสตาแกรมระวังมัลแวร์รูปแบบใหม่

July 3rd, 2013 No comments

Get Free Follower App

Get Free Follower Post on Instagram
รายงานบทความพิเศษโดยคาร์ลา อากรีกาโอ นักวิเคราะห์ภัยคุกคาม ศูนย์วิจัยเทรนด์แล็บส์ บริษัท เทรนด์ไมโคร ระบุว่า “ (Instagram) แอพพลิเคชั่นแชร์รูปภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมล่าสุดที่ตกเป็นเป้าหมายการหลอกลวงที่เรียกว่า “Survey Scams” อย่างที่เคยพบบนเฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์เราพบว่าการหลอกลวงโดยให้ผู้ใช้ร่วมตอบแบบสอบถามนี้จะทำให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอนดรอยด์มัลแวร์ติดเข้ามาในอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย”

ปัจจุบันเราจะพบว่ามีผู้ติดตามที่สนใจอยากจะติดตาม (follow) เราในอินสตาแกรม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่อินสตาแกรม แอคเค้าท์ของคุณจะต้องมีการตั้งค่าเป็น “ส่วนตัว” (private) และในขณะที่ตรวจสอบการร้องขอเหล่านี้ นักวิจัยระบบรักษาความปลอดภัยของเทรนด์ไมโครพบบางสิ่งที่ผิดปกติในหลายๆ รายชื่อที่ติดต่อเข้ามา เราจึงเข้าไปตรวจสอบหน้าเพจของอินสตาแกรม แอคเค้าท์เหล่านั้น และพบว่าพวกเขาเหล่านั้นโพสต์รูปภาพที่มีข้อความว่า “Get Free Followers!” โพสต์นี้ทำให้เรานึกถึงพินเทอเรสต์ (Pinterest) ที่เคยตรวจพบว่ามีการหลอกลวงในรูปแบบรายการโปรโมชั่นฟรี และเทรนด์ไมโครเคยบล็อกไปเมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนี้สิ่งอื่นที่เราพบว่าน่าสงสัยก็คือว่าผู้ติดตามอินสตาแกรมเหล่านี้มักจะใช้ชื่อที่ซ้ำๆ กัน เช่น “Tawna Tawna” และ “Concetta Concetta” เมื่อได้รับสัญญาณที่น่าสงสัย เทรนด์ไมโครจึงตรวจสอบรูปภาพ “Get Free Followers” และนำไปสู่​​หน้าเว็บที่มีแอพพลิเคชั่น “Get Followers” ซึ่งตรวจพบว่าเป็นมัลแวร์ ANDROIDOS_GCMBOT.A ที่จะหลอกให้ผู้ใช้เปิดหน้าเว็บที่เป็นอันตรายหรือส่ง SMS จากอุปกรณ์ต่างๆ ได้ซึ่งบริษัทเทรนด์ไมโครสามารถปกป้องผู้ใช้จากภัยคุกคามนี้โดยการปิดกั้น URL ที่เกี่ยวข้องได้

อาชญากรไซเบอร์จะได้ประโยชน์จากแบบสอบถามหลอกลวง (Survey scams) ผ่านทางเว็บไซต์ ad-tracking หากผู้ใช้ที่ไม่ระมัดระวังและดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ผู้ใช้จะถูกเปลี่ยนเส้นทางไปก่อนหน้า Survey Page ของจริงและถูกนำไปสู่เว็บไซต์ที่เป็นอันตรายในที่สุด อีกทั้งคนร้ายยังสามารถใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาจากการหลอกลวงเหล่านี้ไปเร่ขายให้กับกลุ่มอาชญากรรมอื่น ๆ หรือใช้ข้อมูลนี้เพื่อแผนการในอนาคตได้

ปัจจุบันอาชญากรไซเบอร์ที่อยู่เบื้องหลังการหลอกลวงเหล่านี้จะเข้าถึงทุกๆ เว็บไซต์เครือข่ายที่เป็นนิยม ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก พินเทอเรสต์ และอินสตาแกรม ดังนั้นเพื่อปกป้องตนเองจากการหลอกลวงเหล่านี้ ผู้ใช้งานจะต้องหมั่นตรวจสอบโพสต์ในบัญชีรายชื่อของคุณ แม้ว่าพวกเขาจะมาจากเพื่อน สมาชิกในครอบครัวหรือคนรู้จัก การระวังตัวคือการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

View :1595

ความหลากหลายในกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ เทรนด์ใหม่ที่ผู้ให้บริการต่างจับตามองเพื่อการสื่อสารแบบครบวงจรในอนาคต

December 7th, 2012 No comments

กาย ฮิลตัน หัวหน้าฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์บริหารจัดการรายได้ บริษัท แอมด็อคส์


โดย กาย ฮิลตัน หัวหน้าฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์บริหารจัดการรายได้ บริษัท แอมด็อคส์

คอนเวอร์เจนซ์ (Convergence) เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ถูกกล่าวถึงมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ช่วงสามปีมานี้ ตลาดการสื่อสารเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน ล่าสุดมีกระแสที่เรียกว่า omni convergence ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่เคลื่อนกระจายไปอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการสื่อสารทั่วโลก กระแสนี้บอกถึงมิติอันหลากหลายของคอนเวอร์เจนซ์แบบเดิมๆ และกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนประสบการณ์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นในตลาด over-the-top (OTT) อุปกรณ์ประเภทสมาร์ทดีไวซ์ (smart device) และเทคโนโลยีการเข้าถึงข้อมูลหรือเนื้อหาการสื่อสารด้วยความเร็วสูง (super-fast access)

Omni convergence กำลังบีบให้ผู้ให้บริการการสื่อสาร ทบทวนวิธีการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการของพวกเขา วิธีการสร้างรูปแบบการคิดราคาในลักษณะที่ให้ความสะดวกแก่ลูกค้าและจะเป็นผลดีต่อผู้ให้บริการ และช่องทางการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาด

ยุคของ Omni convergence เกิดขึ้นจากประสบการณ์การใช้บริการสื่อสารของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ผู้ให้บริการต้องพยายามก้าวให้ทันกับความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า นั่นคือ ความคาดหวังที่จะได้รับบริการแบบเรียลไทม์ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการอย่างครบครัน โดยไม่จำกัดประเภทของอุปกรณ์ เทคโนโลยีการเข้าถึงเนื้อหาหรือข้อมูล หรือบริการที่พวกเขาใช้อยู่

ตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติว่า นาย “ก” เป็นลูกค้าของผู้ให้บริการเครือข่าย “XYZ” นาย “ก” ขับรถและใช้โปรแกรมจีพีเอสในสมาร์ทโฟนเพื่อบอกเส้นทางจากสถานที่ A ไปยังสถานที่ B ขณะขับรถอยู่นั้น นาย “ก” ก็ได้รับการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับราคาน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน บนเส้นทางที่เขากำลังขับขี่ไปถึงจุดหมาย และเมื่อนาย “ก” เติมน้ำมัน ณ สถานีบริการน้ำมันแห่งนั้น เขาก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นจำนวนนาทีที่จะได้โทรฟรี คุณเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ? Waze ผู้ซึ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นนำทาง ได้จับมือกับหลายบริษัทเพื่อนำเสนอบริการเหล่านี้แล้ว นี่เป็นตัวอย่างการรวมทรัพยากรโดยผู้เล่นในตลาดสื่อสาร บริษัทผู้พัฒนาแอพลิเคชั่น ธุรกิจค้าปลีก และเครื่องมือนำทาง สิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตเรามากขึ้น

หนึ่งในความท้าทายประการแรกของ Omni convergence คือธุรกิจที่ว่องไวปราดเปรียว (Business Agility*) ที่ต้องการให้องค์กรมีลักษณะเป็น “องค์กรที่ตอบสนองได้รวดเร็ว” ด้วยอัตราความเร็วที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของบริการใหม่ แอพพลิเคชั่น และประสบการณ์ต่างๆ ที่พร้อมรองรับการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น ผู้ให้บริการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและการแสวงหาแนวร่วมในอนาคตเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ รวมถึงการกำหนดรูปแบบใหม่ๆ ในการคิดค่าบริการ

* Business Agility คือความสามารถของบริษัทในการตอบสนองข้อมูลที่รับเข้ามา รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขทางการตลาดใหม่ๆ โดยการเพิ่ม ลบ ควบรวม หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในบริการใหม่ๆ รวมถึงอุปกรณ์และรูปแบบธุรกิจ ผู้ให้บริการจำเป็นต้องหลีกหนีจากมุมมองด้านเครือข่ายและไอทีแบบเดิมๆ เพราะจากนี้ไปอุปสรรคไม่ได้มีเพียงแค่ ‘ปัญหาด้านเครือข่าย’ หรือ ‘ปัญหาด้านธุรกิจ’ ทั้งเครือข่ายและไอทีต่างเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์เดียวกันที่ต้องนำเสนอสู่ลูกค้า สิ่งที่ต้องการ คือ วิธีการแบบบูรณาการและครบครันมากขึ้น นับตั้งแต่เรื่องเครือข่ายไปจนถึงเรื่องรายได้ โดยต้องนำเรื่องเครือข่ายหลัก การให้บริการ การคิดค่าบริการ และแง่มุมทางธุรกิจมารวมไว้ด้วยกัน การบูรณาการองค์ประกอบทางธุรกิจและเครือข่ายเช่นนี้จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของบริษัทที่ต้องการชนะในสนามแข่งขันในยุค omni convergence ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องตัดสินใจว่าจะเข้าถึงบริการประเภทดาต้าได้อย่างไร เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างแก่ทั้งผู้บริโภคและคู่ค้า หากมีความตระหนักว่าผู้บริโภคถูกขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์และบริการใหม่ๆ ผู้ให้บริการต้องพิจารณาว่าจะสามารถนำเสนอคุณค่าสูงสุดสู่ประสบการณ์ผ่านอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง นั่นหมายความว่าการเปิดตัวบริการประเภท ดาต้าที่แตกต่าง ซึ่งมุ่งเน้นที่คุณค่าของประสบการณ์จากการใช้บริการสื่อสารข้อมูลมากกว่าปริมาณของข้อมูลที่นำเสนอ การเปลี่ยนจากการเข้าถึง (access) ไปสู่ประสบการณ์ (experience) เช่นนี้ต้องอาศัยการบูรณาการของข้อมูลเครือข่ายและข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่มากขึ้นอีกขั้น ตัวอย่างเช่น นโยบายของเครือข่ายต้องมีวิวัฒนาการจากการควบคุมการไหลของข้อมูลเพียงอย่างเดียว ไปเป็นการเปิดประสบการณ์การสื่อสารข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ไดนามิค ดาต้า พาส , แชร์วอลเล็ต และการมอบส่วนลดแบบเรียลไทม์ (real-time discounting)

การคิดค่าบริการ (ประเภท วอยซ์, ข้อความเมสเสจจิ้ง และดาต้า) แบบเรียลไทม์ได้กลายเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมโดยปริยาย เช่นเดียวกับการควบคุมนโยบาย ความท้าทายยังคงอยู่ที่การกำหนดว่านโยบายกับวิธีการคิดค่าบริการควรจะบูรณาการกันอย่างไรในลักษณะเรียลไทม์ เนื่องจากเดิมสองส่วนนี้มีการจัดการแบบออฟไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวของผู้ให้บริการในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายหรือที่ผู้ใช้สร้างขึ้น ความท้าทายอีกด้าน ก็คือ จะมีรูปแบบการจัดการการสมัครใช้แพ็คเกจแบบเรียลไทม์อย่างไรที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนหรืออัพเดทข้อเสนอได้ทันทีที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็สามารถกระจายข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังอุปกรณ์รับส่งข้อมูลของลูกค้า ตลอดจนระบบคิดค่าบริการและระบบกำหนดนโยบายในแบบเรียลไทม์ อย่างทั่วถึง

แนวทางแบบองค์รวมที่เปลี่ยนจากเรื่องเครือข่ายไปสู่เรื่องรายได้เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำให้การคิดค่าบริการเป็นส่วนหนึ่งของดิจิตอล แวลู เชน รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ต่อผู้ให้บริการ จากมุมมองด้านการจัดการรายได้ ระบบการคิดค่าบริการและเรียกเก็บเงินจำเป็นต้องสามารถลดค่าใช้จ่าย และอุปสรรคด้านเวลาที่จะทำธุรกิจลงได้อย่างมาก โดยการบูรณาการหลากหลายผลิตภัณฑ์หลักแบบเรียลไทม์ให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่เพียงแต่ระบบการคิดค่าบริการในตัวของมันเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบูรณาการระบบการคิดค่าบริการกับตัวควบคุมนโยบาย และแพลตฟอร์มบริการ ซึ่งต้องช่วยให้การสร้างสรรค์และสร้างรายได้จากบริการใหม่ๆ ง่าย และเร็วขึ้น ผ่านกรอบการให้นิยามความหมายของบริการอันเดียวกัน และเสริมสร้างประสบการณ์ของลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ และการควบคุมการใช้บริการผ่านอุปกรณ์ใดๆ และเทคโนโลยีการเข้าถึงด้วย

View :1646

ความเห็นต่อการที่ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G

December 4th, 2012 No comments

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
3 ธันวาคม 2555

ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้อง ในการประมูล เนื่องจากผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ผมเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นข่าวดีในแง่ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการ ในเวลาอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวได้ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช. ทั้งที่เชื่อได้ว่า มีความผิดปรกติหลายประการในการออกแบบการประมูล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน

ผมมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

ประการที่หนึ่ง กสทช. ไม่ควรแอบอ้างว่า การไม่รับฟ้องดังกล่าวเป็นการรับรองความถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายของการออกแบบการประมูลของตน เนื่องจากศาลปกครองยังไม่ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม กสทช. ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกแบบการประมูลในอนาคตให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนซ้ำอีก

ประการที่สอง ปปช. ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นอิสระในการตรวจสอบการประมูล 3G ที่เหลืออยู่ ควรเร่งพิจารณากรณีร้องเรียนเรื่องความผิดปรกติในการประมูลดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการออกแบบการประมูลที่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

ประการที่สาม ศาลปกครองควรให้คำอธิบายว่า ในอนาคตประชาชนจะสามารถตรวจสอบการออกกฏและการกำกับดูแลของ กสทช. ได้อย่างไร เนื่องจากศาลตีความผู้เสียหายที่สามารถฟ้องคดีในความหมายแคบ และแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีในช่วงแรกให้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต่อมาก็มีคำวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี จนนำมาสู่การไม่รับคำฟ้อง

นอกจากนี้ ศาลปกครองควรเร่งพิจารณาคดีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่ค้างอยู่โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

View :1426
Categories: Article, Press/Release Tags:

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลบริการ 3G ของกสทช.

October 23rd, 2012 No comments

โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างรุนแรง จากการจัดประมูลล้มเหลว เนื่องจากออกแบบการประมูลให้ไม่มีการแข่งขันกันจริง จนสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินของคลื่นความถี่ ได้พยายามกู้ศรัทธาองค์กร โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ว่า จะกำกับดูแลผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว

โดยรูปธรรม กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20% นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการ และให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค

บทความนี้จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าวของ กสทช. และจะเสนอแนะว่า หาก กสทช. มีความจริงใจที่จะกำกับดูแลบริการ 3G ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงแล้ว ควรดำเนินการอย่างไร

การกำกับอัตราค่าบริการ

อันที่จริงแม้ กสทช. ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ค่าบริการ 3G ก็ควรต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงทันทีจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐประมาณ 21-23% ของรายได้ โดยเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่น รวมประมาณ 5.5% แทน การเข้าสู่ระบบใบอนุญาตดังกล่าว โดยลำพังจึงทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงเกินกว่า 15% อยู่แล้ว ขอเพียงตลาดมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ ต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการก็จะถูกโอนถ่ายมาเป็นค่าบริการที่ลดลงของผู้บริโภคโดย กสทช. ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในปัจจุบัน และบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการ ยังถูกกำหนดอยู่ที่ 0.99 บาทต่อนาที ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจริงที่ผู้เขียนเคยคำนวณไว้ที่ 0.27 บาทต่อนาที ที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยให้เอกชนรวมหัวกันกำหนดค่า IC สูงกว่าต้นทุนจริงมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะเสียประโยชน์ไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท

หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถกำกับดูแลให้ค่าบริการ 3G ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการอาจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งตัดบางบริการออกไปเพื่อให้ดูราคาถูกลง หรือยัดเยียดขายพ่วงบริการอื่นที่ไม่จำเป็นเข้ามา ตลอดจนไปถึงการปฏิเสธไม่ลดราคาลงตามที่กำหนด โดยอ้างปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้กสทช. จะสามารถลดค่าบริการ 3G ลงได้จริง 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาค่าบริการของไทยตอนนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกกว่าราคาของต่างประเทศ ในปัจจุบัน บริษัท StarHub ในสิงคโปร์ คิดค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (unlimited) เพียงเดือนละ 670 บาท และแม้ในอินเดีย บริษัท Air Tel ก็คิดค่าบริการโทรศัพท์ 3G ซึ่งจำกัดปริมาณข้อมูลที่ 3.1 GB ในราคาเพียง 340 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกเป็นครึ่งหนึ่งของบริการที่คล้ายกันในประเทศไทย ในอนาคต ราคาค่าบริการในต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำลงไปอีก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมของประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันมากกว่าประเทศไทย การลดราคาบริการ 3G ของไทยลงเพียง 20% จึงยังไม่เพียงพอ

เมื่อครั้ง กสทช. ยกร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้เขียนเคยเสนอให้ กสทช. กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญ (เช่น บริการ 3G และบรอดแบนด์) ของไทย ต้องมีราคาถูกอย่างน้อยเป็นที่สองในอาเซียน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการขานรับจากกลุ่มผู้บริโภค กสทช. ก็ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องอัตราค่าบริการในรูปอื่นแทนเลย โดยเพียงชี้แจงแบบขอไปทีว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว กว่า กสทช. จะคิดออกว่าผู้บริโภคควรได้ราคาที่เหมาะสม องค์กรก็เกิดวิกฤติศรัทธาแล้ว

การคุ้มครองผู้บริโภค

การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ กสทช. ล้มเหลวอย่างมาก ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีประสบการณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อย และบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช. ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลย

นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เราจะพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2554-พ.ค. 2555 มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณา ไม่เสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต โดยสาเหตุสำคัญของความล่าช้าดังกล่าวก็คือ กสทช. ปล่อยให้สำนักงาน กสทช. เข้าเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากรอให้ผู้ประกอบการชี้แจงและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคเอง เสมือนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เป็นภารกิจโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกิจกรรม CSR

ความไม่ใส่ใจในการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประกาศเจตนารมย์ของ กสทช. ที่ออกมาดูว่างเปล่า ไร้มีน้ำหนัก จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองยังหวังว่า กสทช. จะพยายามพลิกวิกฤติขององค์กรในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ

หาก กสทช. จริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตั้งเป้าให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของไทยมีราคาถูก อย่างน้อยเป็นอันดับที่สองในอาเซียน

2. ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไม่ให้เกิน 25 สตางค์ต่อนาที และปรับลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง

3. เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค โดยสั่งการให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนการทำหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ และไม่บั่นทอนการทำงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยใช้กลไกอื่น

4. ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยยกเลิกประกาศห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งมีผลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งในการประมูล 3G ที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าประมูลเหลือเพียง 3 ราย และการประมูลใบอนุญาตอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

View :1683

เศรษฐศาสตร์ชันสูตรว่าด้วยการประมูล 3G พิสดาร

October 21st, 2012 No comments

โดย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปุจฉา: ในต่างประเทศกับในประเทศไทยต่างกันอย่างไร?
วิสัชนา: ในต่างประเทศ รัฐออกแบบการประมูลให้เอกชนแข่งขันกัน เพราะรู้ว่าเอกชนจะพยายามประมูลต่ำ
ในประเทศไทย รัฐออกแบบการประมูลไม่ให้เอกชนแข่งขันกัน แต่เอกชนกลับพยายามประมูลสูง!!

การประมูล ของ จบลงไปแล้ว พร้อมกับทิ้งความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ “ลาภลอย” เป็นกำไรแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท เพราะราคาคลื่นที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินมากมาย

ทันที่ที่จบการประมูล ร่องรอยความผิดปรกติก็เริ่มปรากฏมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวเสียงข้างน้อยใน กสทช. ตลอดจน ผู้บริหารกระทรวงการคลังต่างออกมาท้วงติงว่าการประมูลนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ “กฎหมายฮั้ว” แม้กระทั่งที่ปรึกษาประธาน กทค. เองก็ยังทำหนังสือเสนอล้มประมูล เพื่อไม่ให้ กสทช. ต้องเสี่ยงคุกตะราง

อย่างไรก็ตาม กสทช. กลับเร่งเดินหน้าออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสามรายอย่างรีบร้อน และแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้ที่ท้วงติงทั้งหลาย ในขณะที่ สื่อมวลชนบางส่วนก็ประสานเสียงไปทางเดียวกับ กสทช. โดยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ประชาชนไปสนใจเรื่องอื่น เช่น อัตราค่าบริการ 3G ในอนาคต โดยไม่พยายามสืบเสาะหาความผิดปรกติในการประมูลที่เกิดขึ้นเลย

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอใช้วิชา “เศรษฐศาสตร์ชันสูตร” (forensic economics) มาชวนท่านผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ว่า มีความผิดปรกติในการเคาะราคาในการประมูลอย่างไร และความผิดปรกติดังกล่าวน่าจะเกิดจากอะไร

คำถามที่ต้องการคำตอบ

ดังที่ทราบกัน ในการประมูลครั้งนี้ AIS เสนอราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ส่วน DTAC และ TRUE เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูล ผลก็คือทำให้รัฐได้รายได้รวมทั้งสิ้นเพียง 41,625 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.8% เท่านั้น และทำให้มูลค่าการประมูล 3G ในประเทศไทยต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

คำถามที่เกิดขึ้นกับการประมูลมี 2 คำถาม คำถามแรกคือ ทำไมการประมูลจึงล้มเหลวจนสร้างความเสียหายต่อประชาชนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท? คำถามนี้ตอบง่ายมากว่า การประมูลล้มเหลวเพราะ กสทช. ออกแบบให้การประมูลแทบไม่เหลือการแข่งขันเลย จึงทำให้ผู้เข้าประมูลทุกรายมั่นใจได้ว่า จะได้คลื่น 3G ไปตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องแข่งขันกันเสนอราคามาก

คำถามที่สองซึ่งที่น่าสนใจกว่า ก็คือ ทำไมการประมูลยังมีการแข่งขันเหลืออยู่ ทั้งๆ ที่กฎการประมูลถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดการแข่งขัน? โดยมีคำถามที่เกี่ยวเนื่องกันคือ AIS ทำไมจึงประมูลสูงกว่ารายอื่นมาก?

คำตอบที่เป็นไปได้

เหตุที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่น ก็น่าจะเพราะอยากได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยเลือกที่จะอยู่ติดกับย่านของ TOT ซึ่งทำให้ทั้งสองรายสามารถนำเอาคลื่นของตนมารวมกันเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ในขณะที่ DTAC และ TRUE ไม่ได้สนใจที่จะเลือกย่านความถี่ไหนเป็นพิเศษ ทั้งสองรายจึงประมูลต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้คือ ที่ราคาตั้งต้น การที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ราคาที่ AIS ประมูลนั้นสูงกว่ารายอื่นมากเกินความจำเป็น

หลักเบื้องต้นในการประมูลก็คือ ในกรณีที่มีของชิ้นเดียว ผู้เสนอราคาสูงสุด จะได้รับของในการประมูลนั้นไป ส่วนในกรณีที่มีของหลายชิ้น เช่นในการประมูล 3G ครั้งนี้ ผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิในการเลือกของก่อน ในทั้งสองกรณี ราคาที่เสนอสูงสุดไม่จำเป็นต้องสูงมาก แค่ให้มากกว่าผู้ได้อันดับสองเล็กน้อย เช่น เฉือนกันสลึงเดียว บาทเดียว หรือในกรณีนี้เฉือนกันเพียง 225 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในการเคาะราคาเพิ่มแต่ละครั้ง ก็เพียงพอแล้ว

เราจึงควรถามว่า เหตุใด AIS จึงเสนอราคาประมูลมากกว่า DTAC และ TRUE ถึง 1,125 ล้านบาท ทั้งที่เสนอสูงกว่าเพียง 225 ล้านบาท ก็ทำให้ได้เป็นผู้ชนะประมูลตามที่ต้องการแล้ว ทำไม AIS ต้องจ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็นถึง 900 ล้านบาท?

เมื่อวิเคราะห์ดูการเคาะราคาในการประมูล เราจะพบว่า ราคาการประมูลของ AIS ที่สูงขึ้นเกิดใน 2 กรณีคือ หนึ่ง เมื่อมีผู้ประกอบการรายอื่น เลือกสล็อตความถี่เดียวกันกับที่ AIS เลือก ก็พบว่ามีการแข่งราคากัน ทั้งที่แต่ละฝ่ายสามารถหลบไปหาสล็อตอื่นที่ว่างอยู่ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับทั้งคู่ เพราะไม่ต้องเพิ่มราคาในการประมูลเลย (เปรียบเสมือนการย้ายไปหาเก้าอี้ที่ว่างอยู่ในการเล่นเก้าอี้ดนตรี แทนที่จะต้องสู้เพื่อแย่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน) และ สอง AIS เสนอราคาสูงขึ้นเองในบางสล็อต ทั้งที่ไม่มีคู่แข่งเลย โดยการเสนอราคาสูงขึ้นเพื่อแข่งกับตนเองดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการประมูล ซึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่า ทำไปเพื่อให้มั่นใจว่าชนะรายอื่น เพราะหากจำเป็นต้องเสนอราคาสูงขึ้นพื่อให้ตนเป็นผู้ประมูลสูงสุด ก็ยังสามารถทำในรอบท้ายๆ ได้

การกระทำของผู้ประกอบการทั้งสามราย โดยเฉพาะ AIS จึงเป็นเรื่องที่แปลกพิสดารมาก เพราะทำให้ต้องเสียเงินประมูลมากเกินความจำเป็น ซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของบริษัทเอง

เราอาจอธิบายพฤติกรรมที่แปลกพิสดารนี้ได้หลายทาง หนึ่ง ผู้บริหาร AIS ที่เข้าร่วมประมูลมีสติปัญญาที่จำกัดมาก จนทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย ซึ่งสมควรถูกกรรมการบริษัทลงโทษ ปลดออกจากตำแหน่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หรือควรถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย สอง การยื่นราคาสูงเกินจำเป็นอาจเกิดขึ้นจากความพยายาม “จัดฉาก” ของบางฝ่าย เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า การประมูลมีการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริง การประมูลนี้ไม่สามารถมีการแข่งขันจริงได้เลย เพราะถูกออกแบบไม่ให้มีการแข่งขันมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ DTAC และ TRUE ต่างต้องการได้คลื่นความถี่ในราคาต่ำที่สุด โดยไม่สนใจที่จะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อนเลย การแข่งขันใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็น “การแข่งขันเทียม” เพื่อสร้างภาพเท่านั้น

ข้อสันนิษฐานใดจะเป็นจริง หรือจะมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีก ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน แต่ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะหาข้อสรุปที่แท้จริงได้ไม่ยากนัก หากมีการตรวจสอบอย่างจริงจังโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ปปช.

ก่อนการประมูล ผู้เขียนเคยคิดว่า พิสดารมากแล้วที่ กสทช. ใจกล้าออกแบบการประมูลให้แทบไม่มีการแข่งขัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเลย แต่หลังการประมูล ผู้เขียนกลับพบว่า ที่พิสดารยิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้ประกอบการเอกชนพยายามหาช่องทางในการแข่งขันกันจนได้ ทั้งที่กติกาไม่เอื้อต่อการแข่งขันเลย!

View :1508

ทีดีอาร์ไอชี้ ผลการประมูลล้มเหลวตามคาด ทำรัฐและประชาชนเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท เรียกร้อง กสทช. แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

October 17th, 2012 No comments

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ผลการประมูลคลื่น เป็นไปตามที่คาดหมายของผม คือ ได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 2.8 เท่านั้น คือ เพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบ ที่ 40,500 ล้านบาท เป็นเพียง 41,650 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น

การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3G ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือน “ลาภลอย” ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญการที่แต่ละรายได้คลื่น 3G มูลค่าถูกแสนถูกต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านบาทต่อปี จะไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการ 3G ที่ประชาชนต้องจ่ายแต่อย่างใด นอกจากจะเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น

ผลการประมูลครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่ พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขันมาก เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดมีความแตกต่างกันมาก เสมือนเป็นที่ดินทำเลดีติดทะเลกับที่ดินแออัดติดถนนใหญ่ไม่เป็นความจริง และตอกย้ำความเชื่อของสาธารณชนในวงกว้างที่ว่า การประมูลครั้งนี้มีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผลการประมูลยังชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการคือ หนึ่ง การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น สอง การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร ทั้งนี้ หาก กสทช. ได้รับฟังข้อทักท้วงของฝ่ายต่างๆ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น

ผมจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยให้แถลงต่อประชาชนว่า จะมีการรับผิดชอบอย่างไร และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ

นอกจากนี้ ในการประมูลคลื่นความถี่ 4G และคลื่นความถี่อื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไป ก็ขอให้ระวังอย่าได้ใช้แนวทางเดียวกันมาดำเนินการอีก

View :1416
Categories: 3G, Article Tags: