Archive

Archive for September, 2012

การทำงานรูปแบบโมบาย มีศักยภาพเติบโตสูงในไทย

September 28th, 2012 No comments

52 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรในไทย ประยุกต์ใช้ หรือมีแผนที่จะนำการทำงานรูปแบบโมบายมาใช้ในปี 2020

องค์กรส่วนใหญ่ (84 เปอร์เซ็นต์) ในประเทศไทย ที่มีการนำ “โมบายเวิร์กสไตล์” หรือการทำงานในรูปแบบโมบายมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์หลักในแง่ของการเพิ่มความยืดหยุ่น และทำให้สถานที่ทำงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า นอกเหนือจากองค์กรในไทยที่ได้นำการทำงานในรูปแบบโมบายมาประยุกต์ใช้แล้ว 44 เปอร์เซ็นต์ มองว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานลง ส่วนอีก 48 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง และ 32 เปอร์เซ็นต์ มองว่าค่าใช้จ่ายด้านการลาออกของพนักงานลดลง เหล่านี้คือผลการสำรวจเกี่ยวกับสถานที่ทำงานแห่งอนาคตที่ซิทริกซ์ได้เปิดเผยในวันนี้ โดยมาจากการสำรวจฝ่ายไอทีระดับอาวุโสที่มีอำนาจในการตัดสินใจ 1,900 คน ใน 19 ประเทศ

ในขณะที่องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย วางแผนว่าจะนำการทำงานรูปแบบโมบายมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยก็ยังจัดว่าตามหลังแนวโน้มโลกอยู่ในแง่ของการนำโมบายเวิร์กสไตล์มาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน โดยจากที่สำรวจ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรในไทย ที่มีการนำการทำงานรูปแบบโมบายมาใช้ เปรียบเทียบกับ (21 เปอร์เซ็นต์) ประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการนำการทำงานรูปแบบโมบายมาใช้ เพิ่มขึ้นสูงมาก และสำหรับทั่วโลกแล้ว 1 ใน 4 (24 เปอร์เซ็นต์) ขององค์กรได้มีการประยุกต์ใช้

จากข้อมูลไอดีซี[1] ความต้องการสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเติบโต 76 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2554 คิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมพนักงานรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใช้งานดิจิตอลอย่างแท้จริง ซึ่งต้องการนำสมาร์ทโฟนของตัวเองมาใช้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว โดยในประเทศไทย มีคำร้องของจากพนักงานจำนวนมาก (53 เปอร์เซ็นต์) ติดอันดับต้นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้องค์กรหันมาใช้การทำงานในรุปแบบโมบาย

Vanson Bourne ศูนย์วิจัยอิสระ ได้จัดทำสำรวจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 โดยรายงานเรื่องสถานที่ทำงานแห่งอนาคตของซิทริกซ์ แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มที่พนักงานจะนั่งทำงานในออฟฟิศนั้นลดลง ซึ่งแนวโน้มของการที่พนักงานหันมาใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลากหลายรูปแบบในการเข้าถึงแอพพลิเคชัน ข้อมูล และบริการขององค์กร จากสถานที่ต่างๆ นอกเหนือออฟฟิศปกตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มโลกที่เรียกว่าโมบายเวิร์กสไตล์

➢ จากการสำรวจ องค์กรเกือบครึ่งหนึ่ง (45 เปอร์เซ็นต์) ในประเทศไทย จะมีการนำการทำงานรูปแบบโมบายมาประยุกต์ใช้ในปี 2557 และองค์กร 7 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย กำลังวางแผนที่จะนำความริเริ่มดังกล่าวมาใช้ในราวปี 2563 ทั้งนี้ เหตุผลต่างๆ ที่องค์กรธุรกิจในไทยเลือกที่จะประยุกต์ใช้โมบายเวิร์กสไตล์ คือ
o มีความยืดหยุ่น และเป็นสถานที่ทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น (84 เปอร์เซ็นต์)
o ลดค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ (48 เปอร์เซ็นต์)
o ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน (44 เปอร์เซ็นต์)
o ช่วยดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับองค์กร (40 เปอร์เซ็นต์)
o สร้างความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ (40 เปอร์เซ็นต์)
➢ พนักงานในองค์กรจะได้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นที่มากขึ้น (72 เปอร์เซ็นต์) ลดเวลาเดินทาง (56 เปอร์เซ็นต์) สร้างสมดุลย์ชีวิตทำงานและส่วนตัว (48 เปอร์เซ็นต์) และเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับพนักงานแต่ละคน (44 เปอร์เซ็นต์)
➢ เหตุผลอันดับต้นๆ ในการไม่ประยุกต์ใช้โมบายเวิร์กสไตล์ในประเทศไทย คือ ขาดบุคลากรด้านไอที (70 เปอร์เซ็นต์)
➢ ความต้องการในการใช้งานโมบิลิตี้ที่เพิ่มขึ้น กำลังเป็นปัจจัยผลักดันองค์กรต่างๆ ให้มีการกำหนดใช้นโยบายในการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้เพื่องาน (BYOD) (65 เปอร์เซ็นต์) โดยปกติพนักงานจะเป็นผู้เลือกซื้ออุปกรณ์เอง โดย 72 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรช่วยออกค่าใช้จ่ายบางส่วนหรือเต็มจำนวนให้กับพนักงาน
➢ ความท้าทายอันดับต้นๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้นโยบาย BYOD คือ บรรดาพนักงานต่างไม่เข้าใจถึงความเสี่ยงของการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งานในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศทางธุรกิจ (60 เปอร์เซ็นต์) และข้อมูลด้านความปลอดภัย (60 เปอร์เซ็นต์)

จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อใช้ชีวิตกับสถานที่ทำงานแห่งอนาคต
จากรายงานสถานที่ทำงานแห่งอนาคตของซิทริกซ์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มทั่วโลก หนึ่งในสามของพนักงาน (29 เปอร์เซ็นต์) จะไม่นั่งทำงานในออฟฟิศแบบเดิมๆ ทั้งนี้พนักงานจะเปลี่ยนมาทำงานตามสถานที่ที่ก้ำกึ่งว่าจะเป็นที่ทำงาน ได้อย่างหลากหลายแทน เช่น ที่บ้าน (64 เปอร์เซ็นต์) ที่ไซต์งาน (60 เปอร์เซ็นต์) และออฟฟิศลูกค้าหรือออฟฟิศของพาร์ตเนอร์ (50 เปอร์เซ็นต์) ผู้คนคาดหวังว่าจะสามารถเข้าถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่น ดาต้าและการบริการ ในขณะที่ทำงานอยู่นอกออฟฟิศได้ เช่น ตามโรงแรม สนามบิน ร้านกาแฟ หรือในขณะที่รอเปลี่ยนเครื่อง จากเหตุการณ์ที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากน้ำท่วมในปี 2554 ดังนั้น จึงมีเหตุผลมากมายหลายหลากที่ทำให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยต้องตระหนักถึงความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณประโยชน์ของการติดตั้งโมบายเวิร์กสไตล์

การมีทีมงานที่ทำงานในลักษณะโมบาย นับเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงลักษณะของสถานที่ทำงานแห่งอนาคต ซึ่งสามารถเข้าถึงทรัพยากรองค์กรได้จากหลากหลายสถานที่ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายไอทีจำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้จำหน่ายเพื่อเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถบริหารจัดการกับผู้คนต่างๆ รวมถึงข้อมูล และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ในเชิงรุก องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต่างต้องอาศัยเทคโนโลยีหลากหลายมาช่วยเสริมการบริหารจัดการกลยุทธ์ด้านโมบายเวิร์กสไตล์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ เทคโนโลยีทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต่างมุ่งเน้นที่การจัดการระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและแอพพลิเคชั่น รวมถึง เดสก์ท็อปเวอร์ชวลไลเซชั่น และแอพพลิเคชั่นสโตร์ในเอ็นเทอร์ไพร์ซ บริการด้านการแบ่งปันไฟล์ผ่านระบบออนไลน์ การประชุม และการทำงานร่วมกันต่างๆ เพื่อศักยภาพในการทำงานจากจุดต่างๆ

สาสน์จากผู้บริหาร
มร ยาจ มาลิค รองประธาน ภาคพื้นอาเซียน ซิทริกซ์
“แรงกดดันจากทั่วโลก ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการบริโภคไอทีอย่างแพร่หลาย เป็นปัจจัยที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีของการจัดการและวิธีปฏิบัติทางธุรกิจ สถานที่ทำงานแห่งอนาคต ความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ ผลิตผล ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว ไม่ได้เป็นเพียงแค่เหตุผล ทว่ากลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ และในประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้งานโมบายเวิร์กสไตล์ในไทยดำเนินไปอย่างช้าๆ นั่นอาจเป็นเหตุผลจากการขาดความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยี องค์กรเกือบครึ่งหนึ่ง (41 เปอร์เซ็นต์) ในประเทศไทย ไม่ทราบว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชั่นองค์กรจากระยะไกลและมีความปลอดภัยในระดับเดียวกับที่ใช้งานในออฟฟิศ องค์กรที่สามารถตระหนักและประยุกต์ใช้โมบายเวิร์กสไตล์จึงจะเป็นองค์กรที่อยู่รอดได้ ซึ่งการทำงานไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสถานที่ และนั่นเป็นปัจจัยสำคัญของสถานที่ทำงานแห่งอนาคต และทำให้การใช้งานโมบายเวิร์กสไตล์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

วิธีการทำวิจัย
วิจัยเรื่องสถานที่ทำงานแห่งอนาคตของซิทริกซ์ จัดทำโดยสำนักวิจัยอิสระ Vanson Bourne ในเดือนสิงหาคม 2555 โดยสัมภาษณ์มืออาชีพอาวุโสด้านไอที 1,900 คนทั่วโลก ผลสำรวจมืออาชีพด้านไอที 100 คนจากทุกอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ 19 ประเทศ ครอบคลุม
- ยุโรป: ฝรั่งเศส เยอรมันนี รัสเซีย สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ
- อเมริกา: บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา
- เอเชีย แปซิฟิค: ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย

3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มาจากองค์กรที่มีพนักงาน 1,000 คนหรือมากกว่า ในขณะที่ 1 ใน 3 ที่เหลือมาจากองค์กรที่มีพนักงานระหว่าง 500-999 คน

ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง
➢ เอกสารด้านเทคนิค: The Top 10 Reasons to Embrace Workshifting
➢ เอกสารด้านเทคนิค: Workshifting: How IT is Changing the Way Business is Done
➢ เอกสารด้านเทคนิค: Desktop Virtualization: The key to embracing the consumerization of IT
➢ เอกสารด้านเทคนิค: Best practices to make BYOD simple and secure

ซิทริกซ์บนโลกออนไลน์
➢ ทวิตเตอร์: @Citrix
➢ ซิทริกซ์บนเฟซบุ๊ค Facebook

View :1582

ก.ไอซีที จับมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินหน้าภารกิจป้องปรามอาชญากรรมทาง ICT

September 27th, 2012 No comments

นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเตรียมความพร้อมการปฏิบัติราชการ ในปี พ.ศ.2556 ระหว่าง สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า การหารือร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย รวมทั้งความพร้อมในการปฏิบัติราชการของปี พ.ศ.2556 และความพร้อมของภารกิจที่ต้องก้าวเดินต่อไปในอนาคตร่วมกันระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการเตรียมตัวเพื่อก้าวเดินสู่อนาคตในโลกดิจิตอล รวมถึงโลกของการสื่อสาร โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีบทบาทในการร่วมดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ที่ปรากฏในโลกไซเบอร์หรือระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน เด็ก เยาวชน และประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง

“กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ปอท. สตช. จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อขอรับทราบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้ร่วมดำเนินงานมาอย่างพากเพียร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และร่วมเสียสละทำงานเพื่อบ้านเมือง รวมถึงปกป้องสถาบันอันเป็น ที่เคารพรัก ตลอดจนดูแลประชาชน เด็กเยาวชน และสังคม โดยรวมตลอดมา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในการหารือจะมุ่งประเด็นภารกิจ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการงบประมาณ ตัวชี้วัด การประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานของ ปท. และ ปอท. ที่ต้องการให้มีเอกภาพร่วมกันในการสร้างระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการทำงานให้สามารถตอบสนอง และดูแลประชาชนได้ พร้อมกันนี้ ยังมีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” นายไชยยันต์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น เริ่มตั้งแต่การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการปฏิบัติงานในการสืบสวน สอบสวน การจัดทำหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อรูปคดี การวางแผนปฏิบัติการจับกุม การปฏิบัติการจับกุม การฝึกอบรมหลักสูตรทางเทคนิค การฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การร่วมพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ การแบ่งบันร่วมใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทาง ICT ต่อการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะต่อประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและรูปแบบอาชญากรรมทาง ICT เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานในภาพรวมนั้นคล้ายคลึงกัน แต่มีความโดดเด่นที่ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยปอท. มีความโดดเด่นในด้านจำนวนบุคลากรที่สามารถรองรับการทำงานจำนวนมาก และกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีภารกิจในการดำเนินงานด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางมากกว่า พ.ร.บ.ฯ นอกจากนี้ ปอท. ยังสามารถสร้างความร่วมมือ หรือร้องขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจสากลได้ จึงสามารถดำเนินการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติได้ พร้อมทั้งสามารถสนับสนุนการทำงานด้านคดีอาชญากรรมอื่นให้กับตำรวจหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ ปท. มีความโดดเด่นในด้านการมีอุปกรณ์และเครื่องมือทาง ICT ต่างๆ ที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานเจ้าของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที ยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญ คือ กสทฯ และ ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายนั้น ต้องร่วมมือกันดำเนินการทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Evidence) เชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยของกระบวนการทำงานของแต่ละธุรกิจ (Business Logic) รวมทั้งเชื่อมโยงถึงงานอาชญวิทยา/พฤติกรรมศาสตร์ (Human Behavior) และสิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ ร่วมกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงได้รับนโยบายความร่วมมือจากผู้บริหารระหว่าง สตช. และ กระทรวงไอซีที ตลอดจนนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในแนวทางความร่วมมือร่วมกัน

“การร่วมมือกันดำเนินงานดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ทาง ICT ระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจ อุ่นใจ ปลอดภัยจากภัยร้ายทาง ICT ทั้งการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยสร้างค่านิยมอันดีงามต่อประชาชนในโลกไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการรับบริการแก้ไขปัญหาจากภัยร้ายที่ชัดเจน โปร่งใส มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจจากผลกระทบทาง ICT ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยสร้างความก้าวหน้าด้าน ICT ในภาพรวมของประเทศให้มากขึ้น” นายไชยยันต์ กล่าว

View :1400

ก.ไอซีที เดินหน้าสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศในหน่วยงานรัฐ

September 27th, 2012 No comments

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ว่า สืบเนื่องจาก พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมหรือการให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มอบหมายก่อน จึงมีผลใช้บังคับได้ และนับตั้งแต่ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 มีหน่วยงานผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว รวมทั้งสิ้น 40 หน่วยงาน จากจำนวนหน่วยงานที่แจ้งขอรับความเห็นชอบทั้งหมด 126 หน่วยงาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31 ของหน่วยงานที่ขอรับความเห็นชอบ

ดังนั้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงาน แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำ รวมทั้งยังไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นจากอะไร หรือทำได้อย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติฯ ของหน่วยงาน และบางหน่วยงานจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการจ้างหน่วยงานภายนอกมาช่วยดำเนินการ กระทรวงฯ จึงได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้สาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ อาทิ เหตุผลความจำเป็นตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ความสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ฝึกทักษะในการประเมินสถานภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานเอง และฝึกทักษะการจัดทำรายละเอียดนโยบายและแนวปฏิบัติด้วย

“การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 รวมทั้ง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการประกันความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่ายบรอดแบนด์และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม ภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติได้อย่างเหมาะสม อาทิ การสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ” นายวรพัฒน์ กล่าว

กระทรวงฯ หวังว่าการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่มีความรู้ทางด้านเทคนิค และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในระดับกระทรวง และกรม ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติฯ รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีการให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้ประโยชน์จากการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างแน่นอน

View :1303

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็น จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการใช้งาน IPv6 ในประเทศไทย

September 23rd, 2012 No comments

นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็น ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน ในประเทศไทย ว่า ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการต่างๆด้าน ICT ตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Smart Thailand นโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โครงการ Free Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายในสถานศึกษา โดยโครงการเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าจำนวนหมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Protocol version 4 (IPv4) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้หมดลงจากส่วนกลางไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา โดยจำนวนหมายเลข IPv4 ที่คงเหลืออยู่สาหรับจัดสรรภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเหลืออยู่น้อยมากและคาดว่าจะหมดลงเป็นภูมิภาคแรกของโลก ส่งผลให้การดำเนินการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไทยเพื่อรองรับแนวนโยบายรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นต้องประสบกับปัญหาหมายเลขอินเทอร์เน็ตมีไม่เพียงพอ ดังนั้น การผลักดันให้มีการใช้งาน Internet Protocol version 6 (IPv6) ในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ประกาศแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนเครือข่ายภายในประเทศของตนไปสู่ IPv6
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ มีนโยบายที่จะผลักดันและสนับสนุนให้มีการใช้ IPv6 ในประเทศไทย ภายใต้ทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อน ICT ของโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้าน IPv6 ที่เป็นมาตรฐานสากลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ด้วยการจัดทำโครงการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทยขึ้น โดยดำเนินการศึกษาแผนกลยุทธ์ด้าน IPv6 จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ศึกษาสถานภาพและความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ รวมทั้งจัดการประชุมระดมสมองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ที่จะจัดทำขึ้นดังกล่าว นอกจากจะมีแผนการดำเนินงาน และระยะเวลาดำเนินงานแล้ว จะมีมาตรการเร่งรัด ผลักดัน ติดตามประเมินผล และเพิ่มศักยภาพบุคลากรอีกด้วย

กระทรวงฯ หวังว่าการประชุมระดมความคิดเห็นสาธารณะฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการฉบับสมบูรณ์ที่มีความชัดเจน และนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

“การใช้ IPv6 นั้นจะเป็นส่วนประกอบสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับโครงข่ายการสื่อสาร ยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีความทั่วถึง ทันต่อเทคโนโลยี และมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับกับระบบงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Smart-Government) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ นโยบาย Free WiFi และนโยบาย One Tablet Per Child รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมให้กับบริการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้ง 3G, LTE และ IPTV เป็นต้น” นางเมธินี กล่าว

View :1337

THNIC จับมือ TrueHits สนับสนุนคนไทยใช้บริการของไทย

September 23rd, 2012 No comments

บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด หรือ ผู้ให้บริการชื่อโดเมน .th และ .ไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย จำกัด หรือ ผู้ให้บริการวัดความนิยมของเว็บไซต์สัญชาติไทย มอบสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า 2 ต่อ เพื่อจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ไทยหันมาใช้บริการไทย เริ่มวันนี้ถึง 28 ธันวาคม 2555

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา THNIC ร่วมกับ TrueHits แถลงความร่วมมือ ที่จะให้สิทธิ์ผู้ใช้บริการ TrueHits Web Stat ทั้งการสมัครสมาชิกใหม่ หรือ ต่ออายุ ได้รับโดเมน .in.th และ .ไทย พร้อมกันฟรี 1 ปี โดยรับสิทธิ์โดเมนฟรีผ่านตัวแทนจำหน่ายของ THNIC ที่ร่วมรายการเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์โดเมนฟรี 2 ชื่อ ทั้ง .in.th และ .ไทย จะยังสามารถใช้บริการ TrueHits Web Award สำหรับชื่อโดเมนทั้ง 2 ชื่อนั้น ในราคาเพียง 1 ชื่ออีกด้วย

นายภาคภูมิ ไตรพัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอช.นิค จำกัด กล่าวว่า “โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้คนทำธุรกิจออนไลน์ หันกลับมาใช้บริการของไทยเองแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ .ไทย อีกด้วย ซึ่ง .ไทย THNIC ได้รับมาดูแล ตั้งแต่ปี 2554 และให้บริการควบคู่ไปกับ .th โดยไม่ได้คิดมูลค่าเพิ่มเติม ปัจจุบัน มีผู้ถือครอง .ไทย อยู่แล้วกว่า 14,000 ชื่อ และหากมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เชื่อว่าจะช่วยลดกำแพงทางด้านภาษาให้กับกลุ่มผู้ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นประชากรอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น”

“ทุกปี TrueHits จะมีการประกวด TrueHits Award ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งสำหรับผู้ทำธุรกิจในโลกออนไลน์ และเพื่อต้อนรับ TrueHits Award ครั้งต่อไปในปี 2556 ที่จะถึงนี้ จึงได้เพิ่ม .ไทย เป็นการจัดอันดับอีก 1 หมวดหมู่ เพื่อให้ผู้มีชื่อเว็บที่เป็นภาษาไทย ได้มีช่องทางในการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น และผู้ใช้ .ไทย จะได้รับการเก็บสถิติตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป” ดร.ปิยะ ตัณฑวิเชียร กล่าว

View :1372
Categories: Internet, Press/Release Tags: ,

โซนี่ มิวสิค ประกาศรุกตลาดไตรมาส 4 ปักเรือธงจับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์

September 23rd, 2012 No comments

บริษัท เอนเตอร์เทนเมนต์ โอเปอเรติ้ง(ประเทศไทย) จำกัด ประกาศทิศทางรุกตลาดไตรมาส 4 ชูแพลตฟอร์มแอนดรอยด์รับตลาดสมาร์ทโฟนโตต่อเนื่อง และชี้ปัจจัยหนุนจากราคาเครื่องสมาร์ทโฟนที่ปรับราคาให้รองรับกับลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมฟังเพลงหรือชมมิวสิควีดิโอผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น พร้อมย้ำกลยุทธ์ One Sony ชูจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีในแต่ละผลิตภัณฑ์หลักควบคู่กับการยกระดับประสบการณ์ความบันเทิงใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อหลากหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงคอนเทนต์บนเครือข่ายได้อย่างสะดวก อีกทั้งเร่งผนึกความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทโซนี่ต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งทางธุรกิจ

นายพอล มนัสถาวร ผู้อำนวยการกลุ่มงานดิจิตอล บริษัท โซนี่ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนต์ โอเปอเรติ้ง(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “สำหรับทิศทางการทำตลาดของโซนี่มิวสิค ในครึ่งปี 2555 ยังคงเดินหน้าในการผลักดันและสนับสนุนการใช้งานแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับความนิยมและมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีการประมาณการณ์ตัวเลขรวมโทรศัพท์มือถือปีนี้ไว้ที่ 15 -17 ล้านเครื่อง โดยจะเป็นเครื่องสมาร์ทโฟนกว่า 5 ล้านเครื่องและเกินกว่า 70 % เป็นแอนดรอยด์ ซึ่งส่งผลให้โซนี่มิวสิค มีความมั่นใจว่าตลาดในส่วนของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ One Sony ซึ่งเป็นจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีในแต่ละผลิตภัณฑ์หลัก ควบคู่กับการยกระดับประสบการณ์ความบันเทิงใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อหลากหลายแพลตฟอร์ม และคอนเทนต์บนเครือข่ายได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งเร่งผนึกความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทโซนี่ต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทางด้านโซนี่โมบายล์ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะมีเครื่องสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เข้าทำตลาดหลายรุ่นและจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดและตอกย้ำความเป็น One Sony ได้อย่างลงตัว พร้อมสร้างประสบการณ์การฟังเพลงรูปแบบดิจิตอลผนวกเข้าด้วยกัน ปัจจุบันลูกค้าที่ซื้อเครื่องสมาร์ทโฟนของโซนี่โมบายล์ มีการดาวน์โหลดคอนเทนต์จากโซนี่มิวสิค ไปแล้วกว่า 50,000 ดาวน์โหลด ทั้งเพลงไทยและสากล โดยสมาร์ทโฟนของโซนี่โมบายล์ที่มีการดาวน์โหลดเพลงมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ รุ่น 1. Xperia™ arc S , Xperia™ ray , Xperia™ Neo L , Xperia™ Play และ Xperia™ mini เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบริการสุดคุ้มสำหรับลูกค้าที่ใช้มือถือ Sony Xperia SmartPhone และรักในเสียงเพลงสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเพลงเพราะๆได้ฟรีผ่านทาง App Sony Music โดยเข้าไปที่ เมนู เลือก เลือก Play Store แล้วเลือก ค้นหา คำว่า Sony Music หลังจากนั้นกดโหลดโปรแกรม Sony Music กดเลือก ติดตั้ง สุดท้ายเลือกโปรแกรม แล้วโหลดกันได้เลย สิทธิพิเศษนี้สำหรับลูกค้า Sony Xperia SmartPhone ทุกรุ่น ซึ่งรับสิทธิ์ดาวน์โหลดแบบไม่อั่นฟรี ทุกเพลงทั้งเพลงไทย เพลงสากล และมิวสิค วีดีโอ

ปัจจัยในการผลักดันตลาดปีนี้เติบโตขึ้น เนื่องจากราคาเครื่องสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ ที่มีการปรับราคาให้ครอบคลุมตลาดทุกกลุ่มเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมฟังเพลงหรือชมมิวสิควีดิโอผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญและส่งผลให้ดิจิตอลมิวสิคเติบโตด้วยเช่นกัน ซึ่งในปีนี้มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบการเติบโตในปีที่ผ่านมาถือว่ายังมีการเติบโตประมาณ 15% นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในปี 2013 จะเติบโตขึ้นไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตามดิจิตอลคอนเทนต์ของโซนี่ มิวสิค โฟกัส 3 แพลตฟอร์มหลักไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์ , Windows และ iOS พร้อมยังเชื่อมมั่นว่าปลายปีนี้หลังจากไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows Phone 8 จะส่งให้ตลาดดิจิตอล คอนเทนต์มีสีสัน คึกคักและกระตุ้นการฟังเพลงรูปแบบดิจิตอลอย่างแน่นอน” นายพอล กล่าวทิ้งท้าย

View :1444

ก.ไอซีที จัดซื้อแท็บเล็ตเพิ่มจาก เซิ่นเจิ้น สโคปฯ อีก 54,945 เครื่อง

September 23rd, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) เพิ่มเติม ภายใต้โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา ระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ซายเอ็นทิฟิก ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Shenzhen Scope Scientific Development Co.,Ltd) ว่า กระทรวงฯ ได้ทำการสั่งซื้อเพิ่มเติม หรือ Repeat Order โดยทำสัญญาจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตกับบริษัท ในส่วนที่เหลือตามสัญญาจัดซื้อลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่ระบุว่า กระทรวงฯ สามารถทำ คำสั่งซื้อเพิ่มเติมสำหรับเครื่องแท็บเล็ต จำนวนไม่เกิน 1,000,000 เครื่อง โดยกระทรวงฯ ได้เคยทำสัญญา Repeat Order ครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 จำนวน 403,941 เครื่อง ส่วนการลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องแท็บเล็ตเพิ่มเติมในครั้งที่สองนี้ กระทรวงฯ ได้สั่งซื้อเป็นจำนวน 54,945 (ห้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยสี่สิบห้า) เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 4,505,490 USD (สี่ล้านห้าแสนห้าพันสี่ร้อยเก้าสิบดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 135,164,700 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบห้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยบาท) โดยหากรวมเครื่องแท็บเล็ต ทั้งหมดที่กระทรวงฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 858,886 เครื่อง

สำหรับสัญญาสั่งซื้อเครื่องแท็บเล็ตเพิ่มเติมในครั้งที่สองนี้ มีนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายธารธรรม อุประวงศา ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐาน สำนักส่งเสริมและพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ลงนามเป็นพยาน ส่วนฝ่ายจีนมี Mr.Liu Jun ประธานบริษัทฯ เป็นผู้ลงนาม และตัวแทนสถานทูตประเทศจีนประจำประเทศไทย ลงนามเป็นพยาน
โดยบริษัท เซิ่นเจิ้น สโคปฯ ได้ดำเนินการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตตามสัญญาจัดซื้อล็อตแรก จำนวน 400,000 เครื่อง ครบแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ขณะที่เครื่องแท็บเล็ตที่ได้จัดซื้อเพิ่มเติม (Repeat Order) ครั้งที่ 1 จำนวน 403,941 เครื่องนั้น บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคปฯ ได้จัดส่งมาแล้วจำนวน 141,304 เครื่อง และจะทยอยส่งมอบพร้อมกับเครื่องแท็บเล็ตที่จัดซื้อเพิ่มเติมครั้งที่สองนี้ ภายในวันครบกำหนดส่งมอบ คือ วันที่ 30 กันยายน 2555

ด้านคุณลักษณะของเครื่องแท็บเล็ตนั้น เป็นไปตามรายละเอียดที่ได้ระบุไว้ในสัญญาจัดซื้อครั้งแรกฉบับที่ 208/2555 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 คือ เป็นหน้าจอแบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว มีหน่วยบันทึกข้อมูล 8 GB มีหน่วยประมวลผลกลางมีความเร็วสัญญาณนาฬิกา (Clock speed) 1.2 GHz มีหน่วยความจำหลัก (RAM) จำนวน 1 GB ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 แบบ Ice Cream Sandwich และใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Polymer ขนาดความจุ 3600 mAh มีการรับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี

View :1675

แซสส่งการวิเคราะห์ขั้นสูงสู่อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลหลังเข้าซื้อกิจการไอแมทช์

September 23rd, 2012 No comments

ไอแมทช์ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์โฆษณาดิจิทัลได้เข้ามาช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับแพลตฟอร์ม การจัดการด้านการตลาดแบบครบวงจรของแซสโดยตรง

บริษัท แซส ผู้นำด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจและการจัดการด้านการตลาดอย่างครบวงจร เข้าซื้อกิจการของบริษัท ไอแมทช์ (aiMatch) ธุรกิจผู้ให้บริการเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์โฆษณาบนระบบคลาวด์เพื่อช่วยให้ผู้โฆษณาสามารถขายและจัดการคลังโฆษณาออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อผสานรวมการวิเคราะห์ขั้นสูงของแซสเข้ากับเทคโนโลยีของไอแมทช์แล้ว ทำให้ผู้โฆษณาได้รับโซลูชั่นที่ครอบคลุมสำหรับใช้ในการจัดการ คาดการณ์ ปรับใช้ และวัดผลคลังโฆษณาต่างๆ เพื่อสร้างรายได้จากการโฆษณาได้อย่างสูงสุด โดยลูกค้าปัจจุบันของบริษัท ไอแมทช์ ประกอบด้วย APN Digital, Photobucket, Pinger และ Popcornflix

ปัจจุบันตลาดโฆษณาดิจิทัลกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อปีที่แล้วมีการใช้จ่ายด้านการโฆษณาออนไลน์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนถึง 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าตลาดแห่งนี้จะมีมูลค่าถึง 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ตลาดแห่งนี้มีลักษณะกระจายตัวและไม่มีแอพพลิเคชั่นด้านการวิเคราะห์ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ จึงทำให้ผู้โฆษณาไม่สามารถจัดการคลังโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเรื่องยากที่จะก่อให้เกิดผลกำไรสูงสุดได้ “การโฆษณาดิจิทัลมีศักยภาพอย่างมากที่จะใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ขั้นสูง” นายจิม เดวิส รองประธานอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท แซส กล่าว และว่า “ขณะนี้ผู้โฆษณายังขาดโซลูชั่นที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการคลังโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการวิเคราะห์ขั้นสูงจะช่วยกำหนดราคาโฆษณา กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และคลังสินค้าที่เหมาะสมเพื่อสร้างรายได้จากการโฆษณาได้อย่างสูงสุด”

ปัจจุบันตลาดโฆษณาดิจิทัลกำลังเคลื่อนเข้าสู่การประกวดราคาในรูปแบบเรียลไทม์ ทำให้ขีดความสามารถของแซสในด้านการประมวลผลและการจัดสรรคลังโฆษณาในลักษณะเรียลไทม์ ไม่ว่าจะผ่านทางวิดีโอ มือถือ จอแสดงผล หรือสื่อดิจิทัลอื่นๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้โฆษณา และการมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้โฆษณาสามารถสร้างระบบการขายแบบอัตโนมัติผ่านโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย (การแสดงโฆษณา การแลกเปลี่ยนโฆษณา และเครือข่ายโฆษณา) ตลอดจนสามารถช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ชมที่ดีขึ้นผ่านการวิเคราะห์แบบแยกพฤติกรรม ช่วยให้แซสสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

“เนื่องจากการเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลของข้อมูล ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์มีความต้องการโซลูชั่นที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และทำให้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งหมดพร้อมใช้สำหรับพวกเขา” นายเจฟ วูด อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ไอแมทช์ กล่าว และว่า “ผู้โฆษณากำลังค้นหาคู่ค้าเทคโนโลยีที่ไม่ได้เข้าแข่งขันกับพวกเขาในพื้นที่สื่อแห่งนี้ การรวมกลไกการนำเสนอและการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของไอแมทช์เข้ากับความสามารถด้านการวิเคราะห์และการหาจุดเหมาะสมที่สุด (optimization) ของแซส ได้นำเสนอโซลูชั่นที่เป็นที่ต้องการอย่างมากและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในทั้งสองกรณีได้”

นอกจากนี้ บริษัท แซส ยังมีแผนขยายความสามารถของตนเข้าสู่แวดวงนักโฆษณาและเอเจนซีต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลยิ่งขึ้นว่าต้องโฆษณาที่ใด และสามารถปรับใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในระดับสูงสุด

การเข้าซื้อกิจการของบริษัท ไอแมทช์ ทำให้บริษัท แซส ซึ่งล่าสุดติดอันดับในกลุ่มผู้นำแมจิกควอ แดรนท์ของบริษัท การ์ทเนอร์ อิงค์. ด้านการจัดการด้านการตลาดอย่างครบวงจร (Magic Quadrant for Integrated Marketing Management ) และได้รับรางวัลแพลตฟอร์มการบริหารแคมเปญการตลาดแบบหลายช่องทางจากฟอเรสเตอร์ เวฟ ( The Forrester Wave™:Cross-Channel Campaign Management Platforms ) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีความโดดเด่นในด้านแพลตฟอร์มการตลาดแบบหลายช่องทางที่ครบวงจร พร้อมด้วยความสามารถด้านการจัดการและระบบการโฆษณาอัจฉริยะ โดยขีดความสามารถที่เพิ่มเข้ามาใหม่นี้จะช่วยเสริมโซลูชั่นที่มีอยู่ในชุดโปรแกรม SAS® Customer Intelligence (ระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าอัจฉริยะ) ให้สมบูรณ์ และสามารถเน้นแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการตลาดได้โดยเฉพาะอีกด้วย

View :1493

กสทช. เคาท์ดาวน์ประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ยืนยันกระบวนการโปร่งใสเป็นธรรม

September 21st, 2012 No comments

ประกาศเริ่มนับถอยหลังประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz อีกครั้งกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศ สู่การเป็น “เครือข่ายไทย เครือข่ายโลก” พร้อมเผยวิธีการประมูลและกระบวนการที่โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น ด้วยมาตรฐานสากล ดีเดย์ 16 ตุลาคม นี้

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เผยวันนี้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เต็มรูปแบบ เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับเสียงตอบรับจากทุกฝ่าย 16 ตุลาคม 2555 คือ วันที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ครั้งแรกของประเทศไทย

การพัฒนาเครือข่าย 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จะทำให้สามารถใช้งานโทรคมนาคม ได้อย่างสมบูรณ์ครอบคลุมทุกรูปแบบ วันนี้เราทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศได้มาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การสื่อสารยุค 3G สมบูรณ์แบบ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศในการรองรับนโยบายเปิดเสรีอาเซียน ที่กำลังจะมาถึง

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการนำโครงข่าย 3G มาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา Tele-Education และการสาธารณสุข Tele-Health ในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความสับสนของประชาชนในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้รองรับกับเครือข่ายของ ผู้ให้บริการ 3G เมื่อบ้านเราใช้เทคโนโลยี 3G มาตรฐาน ก็จะสามารถรองรับเครื่องลูกข่ายที่รองรับ 3G ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดได้ และที่สำคัญยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทย จากเดิมในยุคผูกขาดด้วยระบบสัมปทานไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเป็นครั้งแรก

นายพิทยาพล กล่าวว่า กสทช. ใช้วิธีจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 กำหนดไว้ สำหรับรูปแบบที่จะใช้ในการประมูล กทค. และ กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz สาระสำคัญของร่างประกาศประกอบด้วย จำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถถือครองได้ (Spectrum Cap)คือ 15 MHz และมีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz โดยมีราคาประมูลตั้งต้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 MHz

ในทุกขั้นตอน กสทช. ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำเอาคลื่นย่าน 2.1 GHz มาให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนทุกคน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz รวมถึงเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการจัดประมูลจะกระทำด้วยความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ตลอดจนถือเป็นวันสำคัญที่ทุกฝ่ายในวงการโทรคมนาคม ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ มาพร้อมใจรวมพลังเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมกันสนับสนุนให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เกิดขึ้น

ในส่วนของสำนักงาน กสทช. เอง ก็ได้เตรียมพร้อมทั้งในด้านสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสารสนเทศ ความปลอดภัย และการประชาสัมพันธ์ สำหรับการประมูล โดยมีคณะกรรมการดำเนินการประมูล 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานเตรียมการประมูล คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานรับและตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต และคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต ดูแล สำหรับที่ปรึกษาการประมูลได้บริษัท พาวเวอร์ อ็อกชั่น มาเป็นที่ปรึกษา และดูแลระบบซอฟท์แวร์การประมูล

นายพิทยาพล กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนรวมพลัง และให้การสนับสนุนการประมูล 3G ครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยของเราได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศเพิ่มโอกาสในการลงทุน 16 ตุลาคม 2555 นี้ วันประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของประเทศไทย ณ สำนักงาน กสทช.

View :1409

ไอดีซีระบุตลาดมือถือไทยหดตัว 7% ตามปัจจัยทางฤดูกาลและการห้ามการนำเข้า

September 17th, 2012 No comments

ไอดีซีเปิดเผยผลการศึกษาตลาดโทรศัพท์มือถือไทยล่าสุด ภายใต้รายงาน Asia/Pacific Quarterly Mobile Phone Tracker ซึ่งพบว่ายอดจัดส่งโทรศัพท์มือถือในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อยู่ที่ 5.3 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่คิดเป็นการหดตัวลง 7% หากเทียบกับยอดจัดส่งของไตรมาสที่ 1

นายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ประจำไอดีซีประเทศไทยเผยว่า “ตลาดฟีเจอร์โฟนได้รับผลกระทบในช่วงสั้นๆ จากการห้ามการนำเข้าและจำหน่ายโทรศัพท์ที่ถูกเพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ จำนวน 280 รุ่นของกสทช. ส่งผลให้ยอดจัดส่งลดลง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ความนิยมในตัวสมาร์ทโฟนรุ่นล่างที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ตลาดฟีเจอร์โฟนระดับบนหดตัวลงไปด้วย”

“ส่วนตลาดสมาร์ทโฟนนั้นก็ปรับตัวลดลง 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะไตรมาสที่ 1 มักเป็นไตรมาสที่ตลาดขยายตัวในระดับสูงอยู่แล้ว โดยการหดตัวนี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคเริ่มชะลอการซื้อ เพื่อรอการเปิดตัวของสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์รุ่นต่างๆ ที่จะทยอยเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง”

ภาพรวมของตลาดโทรศัพท์มือถือในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ถือว่าสดใส ซึ่งตลาดสามารถขยายตัวได้ 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดจัดส่งในไตรมาสที่ 1 ถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

“ตลาดสมาร์ทโฟนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดฟีเจอร์โฟนเริ่มตึงตัว ซึ่งเป็นไปตามที่ไอดีซีได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ การที่เหล่าเวนเดอร์ได้นำสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นเข้ามาทำตลาดด้วยระดับราคาต่างๆ ประกอบกับการที่โอเปอร์เรเตอร์ได้ช่วยผลักดันผ่านการขยายเครือข่ายการให้บริการ 3G และการนำเสนอดาต้า แพคเกจที่มีราคาถูกลงให้กับผู้บริโภค ทำให้ความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นตลอดทั้งปีนี้”

ไอดีซีคาดการณ์ว่าตลาดฟีเจอร์โฟนในปีนี้จะยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว และการขยายตัวในปีถัดๆ ไปจะเป็นเพียงแค่ตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น เนื่องจากตลาดหันไปนิยมซื้อสมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เกือบ 40% ในปีนี้ โดยการขยายตัวของตลาดระดับบนจะมาจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นใหม่ๆ ส่วนตลาดระดับล่างจะได้รับแรงกระตุ้นการการเข้ามาทำตลาดที่เพิ่มขึ้นของเวนเดอร์ใหม่ๆ ทั้งของประเทศไทยเองและเวนเดอร์จากประเทศจีน

View :1525