Home > Press/Release > ก.ไอซีที ศึกษาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

ก.ไอซีที ศึกษาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้งานไบโอเมตริกในการบ่งบอกอัตลักษณ์บุคคล () เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์และสำรวจการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกในการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แม้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะมีการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกประเภทต่างๆ ได้แก่ ลายนิ้วมือ ภาพใบหน้า ดีเอ็นเอ ม่านตา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชนในรูปแบบของบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อาทิ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart ID Card) การจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ระบบการผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Border Control) การตรวจสอบประวัติอาชญากร เป็นต้น แต่การใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกดังกล่าว ยังเป็นการใช้งานเฉพาะภายในหน่วยงาน หรือระหว่างหน่วยงานตามที่มีข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น โดยยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานกลางการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบูรณาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันให้มีการดำเนินการกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะดำเนินการศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกของประเทศไทย และดำเนินโครงการนำร่องโดยทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ก่อนขยายผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำหนดมาตรฐานกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมของประเทศ

“วัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็เพื่อศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวโดยดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ตลอดจนเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานด้านไบโอเมตริกของประเทศไทย ซึ่งในปี 2554 กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาและจัดทำระบบทดสอบนำร่องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกข้ามหน่วยงานโดยใช้มาตรฐานด้านไบโอเมตริกสากล (ISO/IEC JTC1 SC37) เพื่อทำการกำหนดกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และร่างมาตรฐานกลางการใช้ข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว

สำหรับการทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกนั้น ได้ดำเนินการร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมการกงสุล ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ทางเทคนิคแล้วมีความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้เห็นถึงโอกาสในการขยายรูปแบบการทำงานและการให้บริการฯ ให้กว้างขวางออกไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้างต้นยังพบอีกว่าการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จริงยังคงมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกระทรวงฯ จะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ไขต่อไป

View :1474

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.