Home > 3G, Application, Gadgets, SmartPhone/Mobile phone, Social Media/ Social Network, Technology > 10 แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดดเด่นที่สุดในปี 2013

10 แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดดเด่นที่สุดในปี 2013

· Ericsson ConsumerLab ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดบางประการในปีที่กำลังจะมาถึง

· เทคโนโลยี Cloud ได้ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และกลุ่มผู้หญิงเป็นแรงผลักดันหลักในตลาดมือถือสมาร์ทโฟน ถือเป็นสองแนวโน้มที่สำคัญ

· พฤติกรรมของคนรุ่นหนุ่มสาวได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และอินเตอร์เน็ทได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง

ในขณะที่ปี 2012 กำลังจะจบลง Ericsson ConsumerLab ได้พยายามค้นหาแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดดเด่นที่สุดสำหรับปี 2013 ที่กำลังจะมาถึง ตลอดระยะเวลามากกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ConsumerLab ได้ทำการวิจัยลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภค ในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสารสนเทศต่างๆ

คุณ Michael Björn หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ ConsumerLab กล่าวว่า “ข้อมูลการศึกษาวิจัยทั่วโลกของเรามาจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100,000 คนในแต่ละปี ในจำนวนกว่า 40 ประเทศ ซึ่งอยู่ในมหานครขนาดใหญ่กว่า 15 แห่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้สะสมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวนมหาศาล และเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

นี่คือแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เห็นเด่นชัดที่สุด:

1. ความสำเร็จของบริการ cloud ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคบนอุปกรณ์ต่างๆเปลี่ยนไป
มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้แท็บเล็ต และมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสวีเดน ต่างพึงพอใจในการใช้บริการ cloud เพื่อให้สามารถใช้แอ็พตัวเดียวกันและแชร์ข้อมูลต่างๆได้ บนอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งเครื่อง อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย

2. อุปกรณ์สื่อสารเพื่อความรวดเร็วทันใจ
จากคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่ใช้ไฟล์และโฟลเดอร์ สู่อุปกรณ์พกพาที่ใช้ผ่านแอ็พและบริการ cloud ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำงานบนโต๊ะ สู่การใช้อุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ที่สามารถพกพาได้สะดวก งานหลายอย่างสามารถทำได้ในช่วงเวลาอันสั้น ขณะเข้าแถวซื้อสินค้า หรือขณะที่คุยกับใครสักคนในร้านกาแฟ โดยผู้บริโภคในหลายประเทศต้องการซื้อแท็บเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และต้องการซื้อสมาร์ทโฟนมากกว่าแล็ปท็อป อีกด้วย

3. นำอุปกรณ์บรอดแบนด์ส่วนตัวมาทำงาน
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ จะใช้สมาร์ทโฟนส่วนตัวในที่ทำงานด้วย โดยนิยมใช้เพื่อช่วยทำงาน รับส่งอีเมลล์ วางแผนการเดินทางในธุรกิจ หาข้อมูลที่อยู่ต่างๆ และอีกหลากหลายประโยชน์ใช้สอย

4. ผู้คนในเมืองใหญ่นิยมใช้อินเตอร์เน็ททุกที่ทุกเวลา
ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทได้ในทุกที่ทุกเวลา ได้ผลักดันให้เกิดการเติบโตของตลาดอินเตอร์เน็ทบนมือถืออย่างแท้จริง โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 3,300 ล้านคนภายในปี 2018 และชีวิตในเมืองจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์มือถือคุณภาพดี ที่ครอบคลุมทั่วถึง

5. มีการนำเครื่องมือออนไลน์มาใช้ประโยชน์ในหลายภาคส่วน
เนื่องจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากเริ่มขาดความมั่นใจต่อองค์กรภาครัฐ และเอกชนบนโครงสร้างแบบดั้งเดิม จึงหันมาใช้เครื่องมือออนไลน์กันอย่างกว้างขวางเพื่อจุดประสงค์บางอย่างและเพื่อใช้เป็นที่พึ่งในยามฉุกเฉิน เช่น การรวมกลุ่มออนไลน์เพื่อสร้างสหกรณ์ออมทรัพย์แทนระบบธนาคาร การรวมกลุ่มของนักเรียนเพื่อช่วยกันทำการบ้าน การใช้สังคมออนไลน์แบบ Linked-in เพื่อช่วยในการหางานแทนบริษัทจัดหางานแบบดั้งเดิม เป็นต้น

6. กลุ่มผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดสมาร์ทโฟน
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้หญิงเป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำให้เกิดการยอมรับสมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวาง โดยมากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพศหญิงใช้ SMS, 77 เปอร์เซ็นต์ใช้รับส่งรูปภาพ, 59 เปอร์เซ็นต์ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค, 24 เปอร์เซ็นต์ใช้เช็คอินเพื่อแสดงสถานที่ที่ตนเองอยู่, 17 เปอร์เซ็นต์ใช้ค้นหาคูปองต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่ตัวเลขเหล่านี้สำหรับผู้ใช้เพศชายมีค่าน้อยกว่า

7. ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อสร้างไอเดียใหม่ๆในสังคมเมือง
ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มักมีจำนวนเพื่อนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชานเมืองมาก โดย 12 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อยู่ในเมืองกล่าวว่า เหตุผลหลักที่พวกเขาใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เพื่อติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นเหตุผลในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสาม รองจากการใช้เพื่อติดตามเรื่องราวของกลุ่มเพื่อน และการใช้เพื่ออัพเดตข้อมูลของตนเองสู่พวกเขา

8. ประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบผสมผสานที่เรียกว่า “In-line shopping”
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ ใช้สมาร์ทโฟนในการซื้อสินค้าอยู่แล้ว และพวกเขาเริ่มช็อปปิ้งในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “In-line shopping” โดยผสมผสานข้อดีของการเลือกซื้อสินค้าในร้าน (in-store shopping) เพื่อมีโอกาสสัมผัสกับของจริง กับมีการใช้เครื่องมือออนไลน์ (online shopping) เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เปรียบเทียบราคา รวมทั้งใช้ซื้อสินค้าเพื่อลดเวลาในการเข้าคิวรอจ่ายเงิน เป็นต้น

9. ทีวีบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ผู้ชมราว 62 เปอร์เซ็นต์ ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในขณะที่ดูวีดีโอและทีวี โดย 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชมกลุ่มนี้จะคุยกับผู้อื่น ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังรับชมอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง โดย 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชมกลุ่มนี้ มีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินกับ content ที่พวกเขารับชมผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คมากกว่า และการรับชมวีดีโอและทีวีบนอุปกรณ์พกพาส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้าน

10. การเรียนรู้บนความเปลี่ยนแปลง
ดัวยปัจจัยภายในและภายนอกทำให้การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กหนุ่มสาวในยุคนี้มักนำอุปกรณ์ส่วนตัวของตนเองเข้าไปในห้องเรียนด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจากองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อหาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การเชื่อมต่อสู่โลกอินเตอร์เน็ททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับเด็กๆทั่วโลก ในประเทศอินเดีย มีเด็กอายุ 9-18 ปี จำนวนประมาณ 30 ล้านคน จากทั้งหมด 69 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง

หมายเหตุ:

ลิงค์ของ รายงานเรื่อง “10 แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่โดดเด่นที่สุดในปี 2013”: http://www.ericsson.com/res/docs/2012/consumerlab/10-hot-consumer-trends-2013.pdf

View :1835

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.