Home > Press/Release > สวทช. โชว์ผลงานในงาน NAC 2011 :  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

สวทช. โชว์ผลงานในงาน NAC 2011 :  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

สวทช. โชว์ผลงาน  อุปกรณ์ช่วยหายใจขณะเพลิงไหม้และก๊าซพิษ,โคมลอยทนไฟ,พริกเผ็ดรักษาโรค,เครื่องขนย้ายผู้ป่วยฝีมือคนไทย,เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์สำหรับผลิตวัสดุฝังในแก้ไขความบกพร่องของร่างกาย และ กราฟีน(GrapheneX :วัสดุแห่งอนาคต ฯลฯ
ในงาน NAC 2011 :  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ประกาศจัดงาน NAC 2011 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาที่ได้ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา   โดยดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า    
       “มนุษย์ สภาวะแวดล้อม และภัยพิบัติ 3 ความเชื่อมโยงกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์”  คือตัวการสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น จากสภาพของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายลงตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันได้ส่งผลย้อนกลับมาจนกลายเป็น ปัญหา “ภัยพิบัติ” ที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเฮติ ที่ผ่านพ้นไปไม่นาน ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่เมืองไคร์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่นที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก็เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ดินถล่ม ภาวะภัยแล้ง เรื่อยมาจนปีที่แล้วต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้คนไทยต่างก็เริ่มตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภัยพิบัติเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะจนไม่อาจเพิกเฉยอีกต่อไปได้  หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจและตระหนักต่อแนวทางการป้องกันและแก้ไขเพื่อจะบรรเทาภัยพิบัติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เช่นกัน เพราะผมมั่นใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญและมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยรับมือกับปัญหาภัยพิบัติได้ หากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเราจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ รับมือ ภัยธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึง การพัฒนา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ นิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม การก่อการร้าย ตลอดจนการเตือนภัย การป้องกัน และการเยียวยารักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ” ดร.วีระชัย กล่าว
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยรับมือภัยพิบัติได้ และนับเป็นความท้าทายของนักวิจัย สวทช. อย่างมากในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้สร้างผลงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว อาทิ ข้าวทนน้ำท่วม ข้าวทนดินเค็ม การวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคระบาดต่างๆ ทั้งในคน สัตว์และพืช ระบบสื่อสารฉุกเฉิน อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เสื้อเกราะกันกระสุน และล่าสุดกับผลงานวัคซีนไข้เลือดออก Dengue เป็นต้น
“การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ในปีนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการและนักวิจัยได้นำเสนอความรู้และผลงานในการรับมือภัยพิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ที่จะช่วยเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของนักวิจัยสวทช. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านหัวข้อการประชุมกว่า ๓๐ เรื่อง และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานกว่า ๑๐๐ ผลงาน”   ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
สำหรับตัวอย่างผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในงานแถลงข่าวครั้งนี้ อาทิ แกรฟีน : วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งนักวิจัยสวทช. ได้เตรียมพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหาร ชุดช่วยหายใจหนีไฟและก๊าซพิษ นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่หาทางออกจากพื้นที่ประสบภัย รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถยืนได้และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์ (Rapid Prototyping) สำหรับออกแบบและขึ้นรูปวัสดุฝังใน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า ๘๕๐ ราย ในโรงพยาบาล ๗๗ แห่งทั่วประเทศได้ใช้บริการแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการประชุมเรื่อง Facing Climate Change Impact with Science & Technology: From Urban Flood to Forest Fire โดยProf. Xing Chen วิทยากรจากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สาธารณรัฐจีน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของไทย รวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีต่างๆ กับภัยพิบัติในหลากหลาย    รูปแบบ อาทิ
-แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์และสึนามิ 2011 บทเรียนจากญี่ปุ่น
-นวัตกรรมเตือนภัยและแจ้งเหตุภัยธรรมชาติ
-เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาโลกใต้ทะเล
-สิ่งมีชีวิตพยากรณ์…เตือนภัยสิ่งแวดล้อม
-เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
-การรับมือภัยพิบัติลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย
-ยุงยุคโลกร้อน
-นวัตกรรมไทยป้องกันภัยคุกคาม
-ข้าวทนน้ำท่วม…ทางรอดของชาวนาไทย
ฯลฯ
งานประชุมและแสดงผลงานประจำปีของ สวทช. หรืองาน NAC 2011 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจัดแสดงผลงานและโครงการวิจัยที่ สวทช. ได้ดำเนินการ ภายในงานจะมีการสัมมนา นิทรรศการแสดงผลงาน การเจรจาธุรกิจ และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมุ่งให้เกิดการวิจัยต่อยอดและการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th//
 

View :1326

Related Posts

Categories: Press/Release Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.