Home > Press/Release > ทีมนักศึกษาไทยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการในระดับนานาชาติ

ทีมนักศึกษาไทยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการในระดับนานาชาติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวไทย ทรงตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการเสริมสร้างคุณภาพและศักยภาพของเด็กไทยที่อยู่ห่างไกลในชนบท ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งเด็กเจ็บป่วย ผู้พิการให้ได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อผู้พิการอย่างต่อเนื่อง ทรงเห็นถึงความจำเป็นของคนพิการที่จะต้องใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกพิการ (International Convention on Rehabilitation Engineering & Assistive Technology :iCREATe) ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ START center (Singapore Therapeutic, Assistive & Rehabilitative Technology Centre) ประเทศสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล และคณะผู้บริหารจาก สวทช. เฝ้ารอรับเสร็จฯ

สำหรับปี 2553 เนคเทคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอีก 3 แห่ง คือ Singapore Therapeutic, Assistive & Rehabilitative Technology (Start) Centre, Shanghai Jiao Tong University, and University Of Shanghai For Science And Technology ได้จัดงาน icreate 2010 ขึ้น ณ ศูนย์การประชุม Shanghai everbright นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2553 โดยมีหัวข้อการประชุมเป็นเรื่อง “การเดินทาง การจ้างงาน การศึกษา นันทนาการ และกีฬาสำหรับคนพิการ” ทั้งนี้มีกิจกรรมหลักของงานประชุมวิชาการ 3 กิจกรรมคือ

• การประชุมวิชาการ/การนำเสนอผลงาน (Seminars & Workshops) โดยมุ่งเน้นให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรทางด้านวิชาการ ด้านการผลิต การจำหน่าย รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ อันได้แก่ นักวิจัย นักวิชาการ นักกายภาพบำบัด ผู้จำหน่าย ผู้ดูแลคนพิการ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้พิการ โดยจะมีกิจกรรมทั้งในส่วนของการนำเสนอบทความทางวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการแสดงปาฐากถา ในปี 2553 มีวิทยากรหลัก 4 ท่าน การนำเสนอผลงานจำนวน 71 เรื่อง และการอบรมเชิงปฏิบัติการ 12 เรื่อง
• การประกวดโครงงานนักศึกษา (Student Design Challenge: SDC) ได้มุ่งเน้นให้เป็นเวทีของการสร้างโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการนำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และสร้างผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการ โดยเวทีแห่งกิจกรรมนี้ จะทำให้ผู้เข้าประกวดมีโอกาสได้นำเสนอผลงานต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรจากหลากหลายวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมต่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป ในปีนี้มีนักศึกษาส่งโครงการเข้าร่วมประกวด 35 โครงงาน จาก 4 ประเทศคือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศ ผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
• การจัดนิทรรศการ (Exhibition) เพื่อการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ สินค้าและบริการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ในปีนี้มีหน่วยงานร่วมจัด 6 หน่วยงาน

เนคเทคได้ทำการคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทย เพื่อไปร่วมแข่งขันการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการในระดับจำนวน 5 ทีมได้แก่
1. โครงการ The Design and Development of the Power added-on for Manual Wheelchair โดย นายบดินทร์ บูระวัตรเดชา นายสิทธิชัย ประสิทธิ์ผล นายวัศพล พงษ์สุวรรณ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ : ดร บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. โครงการ 9 ช่องมหัศจรรย์ (Incredible 9 Squares) โดย นางสาวชยพร ศุภวิไล นายณัฐพงศ์ สุระเสถียร มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.ชาคริต วัชโรภาส จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์
3. โครงการโปรแกรมแปลภาษาไทยเป็นภาษามือสามมิติ โดย นายณัฐดนัย หอมคง นายนัทธ์นที มณีรัตน์ มี อาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.นราธิป เที่ยงแท้ จาก ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. โครงการเครื่องเปิดหนังสืออัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางแขน (An Automatic Page Flipping System for Disabled Readers) โดย นายบาศ ทรงศิลป์ นายประกายเพชร ศุภกาญจนกันติ นายเมธิชัย โอบอ้อม มีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ จาก ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. โครงการ Ptalk โปรแกรมอ่านภาษาไทยบนมือถือสำหรับคนตาบอด โดย นายปรีชากร ต่อเรืองวัฒนา นายปณิธาน บัลลังก์ปัทมา นางสาวธิติมา นุชพิทักษ์ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.ชลวิช นัทธี จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับผู้พิการ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 53 ตัวแทนประเทศไทยคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับรางวัลอื่นๆ อีก รวม 3 รางวัล ซึ่งมีผลการการแข่งขัน ดังนี้

“โปรแกรมแปลภาษาไทยเป็นภาษามือสามมิติ” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 1400 เหรียญสหรัฐ โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาโดย นายณัฐดนัย หอมคง และนายนัทธ์นที มณีรัตน์ อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.นราธิป เที่ยงแท้ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาต่อยอดจาก “พจนานุกรมไทย-ภาษามือ 3 มิติ” ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยจากโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่ง ประเทศไทย ครั้งที่ 6 (NSC 2004) และได้รับทุนวิจัยและพัฒนาจากโปรแกรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ พิการ (B7-2) ของเนคเทค/สวทช.

รางวัล Best prototype คือ เครื่องเปิดหนังสืออัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางแขน (An Automatic Page Flipping System for Disabled Readers) พัฒนาโดย นายบาศ ทรงศิลป์ นายประกายเพชร ศุภกาญจนกันติ นายเมธิชัย โอบอ้อม อาจารย์ที่ปรึกษา: ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานรางวัลจาก HRH Princess Salote Mafile’o Pilolevu Tuita of Tonga โครงการนี้ได้รับคำชื่นชมจากคณะกรรมการผู้ตัดสินว่าที่ได้รางวัลนี้เพราะว่าพร้อมนำสู่สายการผลิตได้

รางวัล Best poster คือ ผลงาน 9 ช่องมหัศจรรย์ (Incredible 9 Squares) พัฒนาโดย นางสาวชยพร ศุภวิไล นายณัฐพงศ์ สุระเสถียร อาจารย์ที่ปรึกษา: ดร.ชาคริต วัชโรภาส จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลจาก HRH Princess Salote Mafile’o Pilolevu Tuita of Tonga

View :1706

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.