Home > Press/Release > “MEANINGFUL” ACADEMIC COALITION ANNOUNCED AT CHULALONGKORN EVENT

“MEANINGFUL” ACADEMIC COALITION ANNOUNCED AT CHULALONGKORN EVENT

ประกาศความร่วมมือทางวิชาการด้าน “การมีความหมาย”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศ เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวนโยบายด้านต่างๆเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากระบบ 3g ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เป้าหมายหลักของเครือข่ายนี้ได้แก่การสร้างอุปสงค์ที่ “มีความหมาย” ต่อผลิตภัณฑ์บรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง เพื่อให้คนไทยกว่า 45 ล้านคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง ได้มีโอกาสได้ประโยชน์สูงสุดจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนี้
การประชุมประกอบด้วยคณาจารย์จากสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดวาระการวิจัยภายใต้กรอบของ “บรอดแบนด์ที่มีความหมาย” และจัดตั้ง “สถาบันช่องว่างดิจิตัล” ภายใต้ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร. เครก สมิธ ผู้ก่อตั้งสถาบันนี้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยไทยจะทำงานร่วมกับนักวิชาการจากภูมิภาคอื่นของเอเซีย รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อจัดทำแบบจำลองของบรอดแบนด์ที่มีความหมาย ซึ่งจะเข้ากันได้กับความต้องการและระบบคุณค่าของประเทศไทย”

เขากล่าวอีกว่า “แบบจำลองของสถาบันช่องว่างดิจิตัลจะไม่มองไปที่เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์เป็นตัวอย่างในอันที่จะตอบปัญหาเกี่ยวกับว่า บรอดแบนด์จะให้ประโยชน์แก่ชาวไทยได้อย่างไร แต่จะมองไปที่กรอบแนวคิดเชิงจริยธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย”
แบบจำลองนี้พัฒนาต่อมาจากงานของคณะทำงาน “บรอดแบนด์ที่มีความหมาย” ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการปรับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการคิดค้นนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ

ศ. ดร. ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้กรุณาให้เกียรติกล่าวปาฐกถานำในการประชุม ท่านได้กล่าวว่า “การออกใบอนุญาตเป็นเพียงก้าวแรกสู่การมีความหมายของบรอดแบนด์ ตอนนี้งานที่แท้จริงได้เริ่มขึ้นแล้ว”
ศ. ดร. ประสิทธิ์กล่าวต่ออีกว่า กทช. ได้กำหนดมาตรการหลายประการในการออกใบอนุญาต 3.9G ซึ่งมาจากรายงานและข้อเสนอแนะของโครงการบรอดแบนด์ที่มีความหมายในระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการลดช่องว่างดิจิตัล ตัวอย่างเช่น เสาสถานี 3.9G ต้องเข้าถึงอย่างน้อยร้อยละ 80 ของประชากรไทยในเวลาสองปี และโรงเรียนทุกแห่งและทุกๆตำบลในประเทศต้องอยู่ในรัศมีโครงข่ายสัญญาณ

ศ. ดร. ประสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า “ตอนนี้นักวิชาการและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อออกแบบโปรแกรมการใช้งาน ที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเสาสถานีเหล่านี้ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยของประเทศ ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน”

ที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 ได้กำหนดหัวข้อหลักของการวิจัยไว้ห้าหัวข้อ ดังต่อไปนี้
เศรษฐกิจและการคลัง: ดร. กิตติ ลิ่มสกุลจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาแบบจำลองทางการคลังสำหรับบรอดแบนด์ที่มีความหมาย โดยใช้เทคนิควิธีการทางเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์

การบริหารจัดการ: ส่วนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งจะวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการร่วมมือกันในทางกลยุทธ เพื่อให้ 3.9G สามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงานใหม่ๆในชนบทและสร้างการเป็นผู้ประกอบการ

นโยบายสาธารณะและการกำกับดูแล: ส่วนนี้จะเป็นความรับผิดชอบของคุณอัครพล … ซึ่งจะศึกษานวัตกรรมทางด้านการกำกับดูแล ควบคู่ไปกับการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ที่ “มีความหมาย”
นวัตกรรมทางเทคโนโลยี: สถาบันเทคโนโลยีสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะรับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และกำหนดหัวข้อการวิจัยเกี่ยวกับการให้บริการข้อมูลดิจิตัล รวมทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆที่จะสร้างอุปสงค์ให้แก่คนจำนวน “สองพันล้านคนต่อไป” ซึ่งยังมีรายได้น้อย และจะทดสอบนวัตกรรมเหล่านี้ในภาคชนบทของประเทศไทย

นวัตกรรมทางจริยธรรม: รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์และ ดร. เครก สมิธจากศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะศึกษาแนวทางการกำหนดแนวนโยบายและหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาดรรชนีชี้วัด “การมีความหมาย” ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนผู้ปกครองและผู้ออกแบบเทคโนโลยี สามารถแบ่งแยกระหว่างเทคโนโลยีที่ “มีความหมาย” กับ “ไม่มีความหมาย” ออกจากกันได้

ดร. เครกกล่าวว่า “การมีความหมาย หมายถึงการที่เทคโนโลยีเหมาะสมแก่บริบท” “ทั้งนี้หมายความว่าเราต้องระดมสมองที่ดีที่สุดในด้านต่างๆจากมานุษยวิทยาจนถึงประสาทสรีรวิทยามาเพื่อช่วยกันหาคำตอบ ข้อเสนอแนะทางวิชาการนี้จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม ที่จะจัดอันดับเทคโนโลยีรุ่นต่อๆไปบนพื้นฐานของการมีความหมายหรือการไม่มีความหมายหรือแม้กระทั่งที่เป็นอันตราย

นอกจากนี้ คุณโก๊ะเสี่ยวหงจาก Cisco System ประเทศสิงคโปร์ยังได้ประกาศการประชุมออนไลน์ระหว่างผู้สนใจจากประเทศและทวีปต่างๆ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงนักวิจัยและนักวิชาการจากประเทศไทยให้ได้ทำงานร่วมมือกันใกล้ชิดกับนักวิชาการชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก
ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ s.hongladarom@gmail.com

View :1117

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.