Home > Press/Release > นโยบาย กสทช. เน้นการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล

นโยบาย กสทช. เน้นการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล

สุภิญญา ระบุ ภารกิจสำคัญเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสื่อใหม่ ต้องทิ้งอำนาจนิยมก้าวสู่ยุค ธรรมาภิบาล ด้าน ประวิทย์ ห่วงการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล หากเข้าสู่ยุคเทเลแบงก์กิ้ง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๔ หรือ NBTC Year End Conference 2011 “Reaching the next level of communication 2011” ขึ้น ในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ ธ.ค. ๕๔ โดยในงานมีการจัดช่วง NBTC talk เปิดพื้นที่ให้ กสทช. แสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ โดยมี กสทช. ๙ ใน ๑๑ คนเข้าร่วม

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในฐานะ กสทช. คือการปฏิรูปโครงสร้างวิทยุ โทรทัศน์ ให้เปลี่ยนจากอำนาจนิยมอุปถัมป์ไปสู่ระบบใบอนุญาตที่มีธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสร้างเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้เสรีภาพทางความคิดต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและจรรยาบรรณ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้คนด้อยโอกาส เด็ก ผู้มีรายได้น้อย สามารถใช้คลื่นความถี่เป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาที่ผู้บริโภคไทยเผชิญในปัจจุบันนั้นมีลักษณะ “รวมยุค” คือ บางพื้นที่บางกลุ่มก็ยังเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งถือเป็นปัญหายุคเก่า นอกจากนั้นยังมีปัญหายุคปัจจุบัน เช่น การเข้าถึงแต่ไม่เท่าทัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่เท่าทันแพ็คเกจต่างๆ ไม่เท่าทันอุปกรณ์ ปัญหาคุณภาพบริการมีปัญหา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเริ่มมีปัญหาของยุคอนาคต นั่นคือเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ถูกละเมิดผ่านการเข้าถึงข้อมูลที่ได้จากการใช้บริการโทรคมนาคม ซึ่งปัญหานี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งในช่วงปีหลังๆ มานี้ ต่อไปหากมีบริการ 3G และมีการใช้บริการอื่นๆ ผ่านบริการโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น เช่น เทเลแบงก์กิ้ง หากไม่มีระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี ก็จะเกิดปัญหาที่สร้างความเสียหายได้อย่างมากและกว้างขวาง เพราะเมื่อเข้าถึงข้อมูลด้านโทรคมนาคมได้ก็หมายถึงการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของคนคนนั้นได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องวางมาตรการป้องกัน

กสทช. ประวิทย์ย้ำว่า ตราบเท่าที่ยังมีการใช้บริการโทรคมนาคม มีการสื่อสารกัน ปัญหาย่อมไม่หมดไป แก้ปัญหาเก่าแล้วก็เกิดปัญหาใหม่ เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการออกแบบบริการใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของสังคม ในการสะท้อนปัญหาและร่วมกันแสวงหาแนวทางแกไข

“ผู้บริโภคนั้นถึงอย่างไรก็ต้องการบริการ การกำกับดูแลโดยพื้นฐานจึงต้องส่งเสริมให้เกิดบริการอยู่แล้ว แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้บริการนั้นมีประโยชน์อย่างแท้จริง หรือมีปัญหาและจุดอ่อนน้อยที่สุด ซึ่งควรต้องเน้นการวางมาตรการเชิงป้องกันหากคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างให้เกิดการแจ้งหรือสะท้อนปัญหาจากผู้ใช้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที รวมถึงรับฟังว่าอะไรคือความต้องการของประชาชน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะตอบสนองได้ทั้งหมด แต่เพื่อจะทำงานได้ตรงกับความต้องการ” นายประวิทย์กล่าว

View :1510

Related Posts

Categories: Press/Release Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.