Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที เดินหน้าสร้างความรู้ “ระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติ”

January 30th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “ระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติ และวิสัยทัศน์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ว่า ในการบริหารจัดการสาธารณภัยนั้น มีเป้าหมายเพื่อการหลีกเลี่ยง ลด หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการปัจจัยสำคัญต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการข้อมูล และเครือข่ายข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และความน่าเชื่อถือในการประมวลผลข้อมูล เพื่อการแจ้งเตือนล่วงหน้า และการบูรณาการ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

“จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้จัดทำระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยทั้งในระดับชาติ และในระดับท้องถิ่น ตลอดจนศักยภาพด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในระยะต่างๆ พร้อมทั้งได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ระบบงานดังกล่าว รวมถึงการนำเสนอข้อมูลทิศทาง นโยบาย และวิสัยทัศน์ของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารจัดการพิบัติภัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนส่งเสริมประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ทำให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องในภารกิจดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องเรียนรู้ ศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การทำงานได้อย่างสมบูรณ์ สามารถบริหารจัดการข้อมูล แจ้งเตือนภัย ควบคุม สั่งการ และให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านพิบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ทั้งในยามปกติ และในสภาวะวิกฤติ

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ทำการศึกษา ออกแบบ และจัดทำต้นแบบ เพื่อใช้เป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการพิบัติภัย

ดังนั้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบบงานดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงได้จัดการสัมมนาฯ ขึ้น เพื่อนำเสนอภาพรวม และรูปแบบของระบบงาน ตลอดจนวิธีการในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างองค์กรภาคต่างๆ รวมทั้งนำเสนอทาง นโยบาย และแนวทางการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งทางด้านความคิด และความร่วมมือในการบริหารจัดการข้อมูลพิบัติภัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มศักยภาพในระบบการบริหารจัดการ การปฏิบัติการ และการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ทั้งระบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล แม่นยำ ทั่วถึง มีเสถียรภาพมั่นคง และเชื่อถือได้

View :1573

ก.ไอซีที ร่วมมือ มสธ. พัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT

January 30th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช () ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญยิ่งกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการเตรียมความพร้อมของประชาชนและชุมชนให้มีศักยภาพพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเครื่องมือที่จะพัฒนาคนในภาคส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม ที่กระทรวงฯ มีอยู่ นั่นคือ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่พร้อมจะให้หน่วยงาน ภาคส่วน และภาคีร่วมกันใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการให้เกิดขึ้นกับชุมชน

“ในอนาคต ICT จะกลายเป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริมของการพัฒนาในทุกๆ เรื่อง รวมถึงการดำรงชีวิตตาม วิถีเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยไว้เป็นแนวทาง ในการดำรงชีวิต การเรียนรู้ การทำความเข้าใจ การทดลองเปลี่ยนแปลง และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง จึงมีความสำคัญในการน้อมนำมาสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น กระทรวงไอซีที และ มสธ. จึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนและวางแนวทางการใช้ เป็นเครื่องมือของชุมชนพอเพียง” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้น กระทรวงฯ จะร่วมกับ มสธ. และหน่วยงานภาคีพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT อย่างน้อย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการสร้างความรู้ ความเข้าใจและภูมิคุ้มกัน ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 2.หลักสูตรสำหรับผู้นำสตรีเพื่อสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว 3.หลักสูตรสำหรับผู้นำเยาวชนในศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์ และ 4.หลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการศึกษาทางไกล และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุนชน ซึ่งปี 2555 นี้ จะดำเนินการในชุมชนนำร่อง จำนวน 840 แห่ง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2554 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 ก่อนจะขยายผลไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่พสกนิกรอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือกับ มสธ. ครั้งนี้ เป็นการขยายพันธมิตรเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมและการสร้างประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่มีอยู่ ทั่วประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในปี 2555 นี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะร่วมกับ มสธ.ในการคัดสรรชุมชนที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และต้องการที่จะเป็นชุมชนนำร่องจำนวน 840 ชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนเหล่านั้นได้ใช้สื่อและหลักสูตรออนไลน์ที่จะพัฒนาขึ้น โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาผลักดันในเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ รวมถึงการติดตามแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิค เพื่อให้ชุมชนได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนได้ทุกเมื่อ และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

View :1555

ก.ไอซีที เดินหน้าป้องกันภัยแฝงจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมให้เยาวชน

January 29th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนาเรื่อง “การป้องกันภัยแฝงจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน” ภายใต้ โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม ว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย ทั้งในครัวเรือน สถานศึกษา และร้านอินเทอร์เน็ตต่างๆ โดยใช้ทั้งเพื่อการติดต่อสื่อสาร สร้างความบันเทิง และเสริมสร้างความรู้ อย่างไรก็ตาม การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตนั้น อาจเป็นช่องทางให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้รับทราบข่าวสาร ข้อมูล และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อันอาจทำให้เยาวชนนำไปเป็นแบบอย่างในทางเสื่อมเสีย ทั้งในการแสดงออก การกระทำและการดำเนินชีวิต เช่น ภาพลามกอนาจาร พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ การชักชวนให้เล่นพนัน การติดยาเสพติด การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศของนักเรียนหรือเยาวชน เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าในปัจจุบันผู้กระทำความผิดในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการสัมมนาเรื่อง “การป้องกันภัยแฝงจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน” ภายใต้โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและเกิดการเรียนรู้ถึงภัยจากเว็บไซต์ และเกม ที่ไม่เหมาะสมต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมประชาชน สถาบันครอบครัว และสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์

พร้อมกันนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อแจกจ่ายชุดโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ แก่ผู้ปกครอง สถานศึกษา ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลจัดการ การใช้งานอินเทอร์เน็ต การป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 6 ถึง 20 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งกระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทนจากสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 2 กรุงเทพมหานคร ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป กว่า 500 ท่าน เข้าร่วมการสัมมนา

“การสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน รวมทั้งยังเป็นการเผยแพร่โปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ ที่กระทรวงฯ ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปกครองและโรงเรียนใช้ในการดูแลและปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งสามารถควบคุมและจัดการเวลาการเล่นอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเยาวชน โดยโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์นี้ได้พัฒนาให้เป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งแจกจ่ายฟรีสำหรับทุกคน เพื่อใช้ปกป้องเยาวชนไทยจากภัยแฝงที่มาพร้อมกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1600

ก.ไอซีที จัดอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด

January 27th, 2012 No comments

นายชัยโรจน์ จิรพัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการอบรมในหลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด ภายใต้โครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด ว่า ปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่ () ซึ่งหมายถึง ข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลก และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่แสดงอยู่ในรูปของตำแหน่งโดยกำหนดเป็นพิกัด (Coordinate) ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาในลักษณะที่เป็นข้อมูลจะเรียกว่า “” นั้น ได้มีกระบวนการจัดทำและผลิตที่ก้าวหน้าไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำและผลิตข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่จำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการที่จะนำไปใช้งานในการจัดการเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดด้านภูมิสารสนเทศทั้งระบบขึ้น เพื่อลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศในการจัดซื้อชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านภูมิสารสนเทศประเภทต่างๆ จากต่างประเทศในราคาที่ค่อนข้างสูง โดยการพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดดังกล่าวจะทำให้ได้ชุดคำสั่งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหา รวมทั้งมีศักยภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดคำสั่งที่จัดซื้อมาในราคาแพง

และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่พัฒนาขึ้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการอบรม 4 หลักสูตรเพื่อให้ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ คือ 1.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดทำและพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์รหัสเปิด (Desktop GIS) 2.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์รหัสเปิดด้านการจัดทำระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Web-based GIS) 3.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด (Remote Sensing) และ 4.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศรหัสเปิด (Photogrammetry)

“การจัดอบรมทั้ง 4 หลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประยุกต์ใช้ชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานในทุกภาคส่วนได้รับทราบ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คำสั่งฯ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมฯ ทั้งหมดประมาณ 103 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 61 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 18 แห่ง และสถาบัน การศึกษา 24 แห่ง

ส่วนการอบรมฯ ในครั้งนี้เป็นการอบรมในหลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด รุ่นที่ 3 จำนวน 30 คน ซึ่งใช้เวลาอบรมให้ความรู้ 4 วัน และผู้ที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้อีกด้วย” นายชัยโรจน์ กล่าว

View :1574

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

January 26th, 2012 No comments

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) ครั้งที่ 5 ตามกฎกระทรวงมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ภายใต้ โครงการพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท ว่า กระทรวงฯ มีนโยบายในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมได้รับ การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านไอซีทีและมีโอกาสเข้าถึงไอซีทีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคนพิการที่ขาดโอกาส และความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวในปัจจุบัน โดยกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ จะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาสังคมและประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในด้านความสะดวก เครื่องมือหรืออุปกรณ์เฉพาะทาง ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ด้านไอซีทีสำหรับคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท เพื่อศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลความต้องการทางด้านการบริการ หรือข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลความต้องการของคนพิการแต่ละประเภท เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกรอบแนวทางเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะทางด้านกิจกรรม และวิธีการปฏิบัติของกระทรวงฯ ตลอดจนเพื่อนำไปใช้ในการให้บริการและสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องมีการจัดเวทีสำหรับระดมความคิดเห็นซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะ ตามกฎกระทรวงมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จำนวน 10 ครั้ง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คนพิการและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านคนพิการ สถาบันการศึกษาของรัฐ/เอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น เข้าร่วมครั้งละประมาณ 20 คน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความต้องการต่างๆ จากบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการเหล่านั้น ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นการระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 5 ที่กระทรวงฯ จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดแนวทางเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง

View :1611

ก.ไอซีที หนุนโครงการ e–Shop บูรณาการร่วมโครงการ e-Women

January 25th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ e-Shop หรือ ร้านค้าชุมชนออนไลน์ ขึ้น และบูรณาการร่วมกับโครงการ เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างครบวงจร โครงการ e-Shop นี้ จะเป็นการตั้งร้านค้าสาธิตขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนได้เห็นและใช้เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตาม ซึ่งจะเน้นการทำงานจริงขายจริง โดยจัดทำขึ้นเป็น 3 รูปแบบ คือ www.ThaitelecentreCharms.com , www.thaitelecentreShop.com และwww.thaitelecentreMall.com

ThaitelecentreCharms เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชนกว่า 800 แห่งที่ตั้งอยู่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ThaitelecentreCharms นี้จะยึดหลัก การทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship/ Social Entreprise) โดยมุ่งหวังให้ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีช่องทางการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นออกสู่ตลาดสากล รวมทั้งตลาดระดับบน (High-End Market) ด้วยการจัดทำร้านค้าสาธิตออนไลน์ของชุมชน (Demonstration Community e-Shop) ที่มีชุมชนเข้าร่วมบริหารจัดการ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) จากชุมชนสู่ชุมชนด้วยกัน อีกทั้งเป็นการประกาศอัตลักษณ์ ศักดิ์ศรีของชุมชนออกสู่สังคมใหญ่หรือสาธารณชน และสังคมโลกด้วย ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้คนในชุมชน โดยไม่มีการผูกขาดทางการค้าแต่อย่างใด

สำหรับนโยบายของ ThaitelecentreCharms ก็คือ การขายสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ราคายุติธรรม เน้นความซื่อสัตย์ และส่งสินค้าแน่นอน โดยทางร้านจะให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพระดับพรีเมี่ยมไปยังตลาดต่างประเทศ (Premium Market) เป็นหลัก ส่วนสินค้าที่จำหน่ายจะแบ่งออกเป็นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ อาหารแปรรูป เครื่องประดับ ของที่ระลึก และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าทางร้านจะแจ้งหมายเลขการส่งสินค้าให้กับผู้สั่งซื้อทุกครั้ง เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบสถานะการขนส่งกับเว็บไซต์ไปรษณีย์หลังจากการจัดส่งของ ซึ่งหมายเลขการส่งของนี้สามารถตรวจสอบได้หลังจากที่ส่งของแล้วประมาณ 24 ชม. หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

ส่วนร้านค้าชุมชนออนไลน์อีก 2 รูปแบบนั้น จะมุ่งเน้นการจำหน่ายสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดย thaitelecentreMall.com จะเน้นการจำหน่ายสินค้าชุมชนออกสู่ตลาด (Open Market) ขณะที่ thaitelecentreShop จะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่คัดสรรแล้ว (Developed Market) ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายผ่าน thaitelecentreMall จะแบ่งออกเป็น 6 หมวดสินค้า คือ อาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา ส่วน thaitelecentreShop จะจำหน่ายสินค้าประเภทงานฝีมือและหัตถกรรมชุมชน สินค้าด้านการเกษตร งาน ICT หรือเทคโนโลยี งานบริการต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

View :1608

ก.ไอซีที ผลักดันสำนักงานสถิติฯ จัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน

January 24th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน ครั้งที่ 1/2555 ว่า ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554-2558 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาระบบสถิติของประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้ และเครือข่ายผู้ดำเนินการด้านสถิติที่ปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลสถิติในการตัดสินใจ และการดำเนินนโยบายบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงของทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการผลิตข้อมูล/ สถิติที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลมีความซ้ำซ้อน หลายมาตรฐาน และยากต่อการบูรณาการเชื่อมโยงสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ผลิตให้เป็นชุดข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และการบริหารให้กับผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งประเทศ จังหวัด และท้องถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดระบบสถิติเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการผลิต บูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูล/ สถิติในทุกสาขา ให้สามารถนำชุดข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้จริง นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตข้อมูลสถิติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านสถิติของประเทศ รวมทั้งกำกับ ติดตามการดำเนินงานด้านสถิติของประเทศให้ เป็นไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พร้อมรายงานความก้าวหน้าตามแผนแม่บทฯ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบสถิติต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นเลขานุการ

สำหรับการจัดระบบสถิติของประเทศไทยนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) ผังสถิติทางการ สาขาต่างๆ เช่น สาขาอุตสาหกรรม สาขารายได้ – รายจ่าย สาขาแรงงาน สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะสนับสนุนผู้บริหารระดับประเทศ จังหวัด และท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินงานตามนโยบาย 2) ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การพัฒนา และต้องการชุดข้อมูลสถิติหลากหลายสาขามาสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารทั้งสามระดับ 3) การพัฒนาทักษะผู้ผลิตและผู้ใช้สถิติทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการนำสถิติมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจบนฐานข้อมูล

ส่วนการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติ 3 ด้านของประเทศครั้งนี้มีสาระสำคัญ คือ การศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศและสาขาต่างๆ รวมทั้งได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อระบุประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการการพัฒนาข้อมูลสถิติเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนั้นยังได้มีการตรวจสอบข้อมูลสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ได้ผลิตในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การกำหนด “เจ้าภาพสถิติสาขาต่างๆ” ตลอดจนได้ศึกษามาตรฐานคุณภาพสถิติและแนวทางการพัฒนาสถิติแต่ละประเภทอีกด้วย การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานในระดับสาขาและระดับพื้นที่ต่อไป

View :1404

ก.ไอซีที ร่วมโครงการทางด่วนนี้ดีจัง เปิดศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน และ e-library ใต้ทางด่วน ถ.สุขุมวิท

January 21st, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิด ”ศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์” ใต้ทางด่วนบริเวณ ถ.สุขุมวิท (เพลินจิต) ว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีดำริเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ให้พัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนสุขุมวิท (เพลินจิต) เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว กระทรวงฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จึงได้ร่วมมือกับภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในพื้นที่ใต้ทางด่วนเพลินจิตขึ้น

“กระทรวงฯ และภาคีจากภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว โดยกระทรวงฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลทั่วไป 12 ชุด เครื่องพิมพ์ ระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คู่สายโทรศัพท์ และอินเทอร์ข่ายไร้สาย (WiFi) จำนวน 4 จุด นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ที่สามารถให้บริการสืบค้นและให้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องต่างๆ รวมถึงด้านการส่งเสริมสุขภาวะ โดยใช้เนื้อหาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ ICT เป็นสื่อให้แก่ เยาวชน และชุมชน” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนแห่งนี้ เป็นศูนย์ลำดับที่ 1,880 ภายใต้ “โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ของกระทรวงฯซึ่งได้วางเป้าหมายการจัดตั้งเอาไว้ในบริเวณชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนี้ กระทรวงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาสังคมอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในด้านต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐ (e-Services) และการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างชุมชนได้โดยทั่วกัน

View :1470

สรอ. จัดทัพประกาศแนวรุกรัฐบาลไทยก้าวสู่ยุค “Smart Government” ยกระดับงานบริการไอทีภาครัฐ ในรูป e-Services แบบก้าวกระโดด

January 18th, 2012 No comments

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) จัดทัพประกาศแนวรุกดันรัฐบาลไทยก้าวสู่ยุค “Smart Government” ชู 4 พันธกิจหลักประกาศแผนเร่งด่วนพัฒนาการใช้ไอทีในภาครัฐ หวังยกระดับ e-Services ให้บริการประชาชนได้เต็มพิกัด พร้อมลดงบประมาณภาครัฐได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมวาง “Roadmap” คาด 4 ปีข้างหน้าพลิกโฉมการบริการภาครัฐด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทำได้แบบครบวงจร และมีมาตรฐานกลาง

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า เป้าหมายในการผลักดันให้เกิด Smart Government คือ ภาคประชาชนได้รับการบริการที่ดียิ่งๆ ขึ้น ภาครัฐจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด ที่สำคัญต้องเลือกเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเน้นเรื่อง Speed (ความเร็ว) มาเป็นอันดับหนึ่ง จึงเร่งให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ สรอ.คิดค้นโครงการที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนภาครัฐบาลไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างรวดเร็ว และใช้ต้นทุนต่ำ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่มากกว่าหนึ่งหน่วยงานเข้าด้วยกัน พร้อมเพิ่มระดับความเร็วในการเชื่อมโยงบริการโดยประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน

สิ่งที่จะได้เห็นต่อไปจากนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทั่วประเทศ หรือโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมาก จะเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมข้อมูลแต่ละหน่วยงานถึงกันได้เป็นอย่างดี สามารถรองรับการบริการไปสู่ภาคเอกชนอีกด้วย โดยบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น คาดว่าภายในครึ่งปีนี้จะเริ่มมีบริการต่างๆ ของภาครัฐทยอยเข้ามาใช้ระบบฐานข้อมูลบัตรประชาชน ดังนั้น Roadmap ที่สรอ. กำลังดำเนินการจะเป็นการทำให้เกิด Paradigm Shift หรือการทำให้มาตรฐานของต้นแบบถูกยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยมีคำว่า Speed (ความเร็ว) เป็นตัวขับเคลื่อน มีระดับนโยบายคอยส่งเสริม โดยเฉพาะกฎระเบียบ และการประสานงานในระดับนโยบาย

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สรอ. ได้ถูกจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน เพื่อเป็นหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาดูทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ และการบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสร้างมาตรฐานกลางให้กับไอทีภาครัฐทั้งหมด โดยมี 4 พันธกิจหลักที่มีเป้าหมายในการผลักดันให้ภาครัฐของไทยก้าวสู่การเป็น “Smart Government” ดังนี้ 1.สร้างเครือข่ายและพัฒนาความรู้ไปสู่การเป็น Smart Government ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรไอทีภาครัฐ 2. สร้างโครงสร้างพื้นฐานและแอพพลิเคชันร่วม เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ของภาครัฐ เป็นต้น 3. ยกระดับ e-service และบูรณาการ Back office ด้วยการทำให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันสร้างเป็นบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และ 4. สร้างสถาปัตยกรรมและมาตรฐานให้เกิดขึ้นในระบบไอทีภาครัฐ ที่จะต้องสอดรับกับแนวนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ต้องการให้สรอ.จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรการทำงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยงบประมาณไม่มากและเกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบอันจะนำไปสู่การใช้ไอทีในภาครัฐที่คาดว่าจะทำให้ ลดงบประมาณโดยรวมได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นแผนดำเนินการเร่งด่วนของสรอ.คือ การทำระบบ Government Data Center หรือศูนย์ข้อมูลกลางภาครัฐให้มีมาตรฐานและแข็งแกร่งในการรองรับระบบฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานได้ โดยศูนย์นี้เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่ระบบ Government Cloud Service ที่จะทำให้การบริการภาครัฐเข้าสู่ระบบออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ โดยอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านโครงสร้างเครือข่ายอย่าง Government Information Network 2.0 (GIN 2.0) ซึ่งเป็นงานที่กระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้ สรอ.ดำเนินการและจะมีการเร่งรัดให้โครงการนี้สำเร็จให้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นทางเลือกหลักในการสร้างระบบเครือข่ายทั้งหมด ตลอดจนการดูแลทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยไอทีของภาครัฐ ผ่านระบบโครงสร้าง Government Security Monitoring (GovMon) และมีระบบ Government Nervous System หรือ GNS ที่ สรอ. จะต้องจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการติดตามสถานภาพการดำเนินงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีแผนงานเร่งด่วนที่ไม่ใช่งานทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ สรอ.ต้องเร่งดำเนินการภายในปี 2555 คือ การสร้างระบบอีเมล์ของภาครัฐหรือ MailGoThai ที่จะทำให้ง่ายและใช้งานได้จริง โดยที่บุคลากรภาครัฐไม่ต้องไปใช้งานอีเมล์จากต่างประเทศ และจะเป็นอีเมล์ที่ติดตัวไปทุกที่แม้จะมีการโยกย้ายตำแหน่งในภายหลังก็ตาม รวมไปถึงการสร้างระบบ e-Government Portal ที่จะรวบรวมบริการและการแบ่งปันความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับทั้งบุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไปในอนาคต โดยการทำงานทั้งหมดเป้าหมายของสรอ.กับหน่วยงานภาครัฐก็คือการเข้าสู่ระบบ Paperless Government หรือหน่วยงานรัฐไร้กระดาษ

สำหรับในระยะถัดไป สรอ. ต้องจัดเตรียมการดำเนินงานเรื่องใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ หรือ Government Certification Authority (GCA) สำหรับรองรับกระบวนการทำงานทางอิเล็กทรอนิกส์ของข้าราชการ เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการสร้างระบบความปลอดภัยข้อมูลการติดต่อสื่อสารของคนภาครัฐในขั้นต่อไปจากการเน้นให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของ สรอ. ในครั้งนี้ทำให้ สรอ. จะต้องทำหน้าที่เป็น PMO ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐ โดยเน้นด้านคุณภาพบริการเป็นหลัก เพื่อทำให้ระบบภาครัฐทั้งหมดเกิดความมั่นใจ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ระบบไอทีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยสรอ.จะเน้นการรับฟังความเห็นของหน่วยงานรัฐทั้งหมดมาเป็นพื้นฐาน และมีการทำวิจัยรองรับมากขึ้น รวมถึงการทำระบบ SLAs หรือข้อกำหนดในการให้บริการที่ชัดเจน และเป็นมาตรฐานสากล โดยปรับแต่งให้เข้ากับหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะ ในปัจจุบัน SLAs ของภาคเอกชนเองก็มีความแตกต่างกันไปตามจุดเด่นทางการตลาด ซึ่งของสรอ.จะมุ่งเน้นการให้บริการภาครัฐเท่านั้น ทำให้เกิดจุดแข็งที่แตกต่างอย่างมาก

อย่างไรก็ดีคาดว่าภายใน 4 ปีข้างหน้า สรอ.จะก้าวสู่เป้าหมายที่จะต้องทำให้เอกสารภาครัฐที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้อย่างครบวงจร และต้องเข้าไปแทรกอยู่ทุกกระบวนการการทำงานในส่วนของหน่วยงานภาครัฐต้องเปิดบริการประชาชนที่ไม่ต้องนำสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน โดยสามารถเชื่อมต่อกับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดได้โดยตรง และข้อมูลสามารถดึงเชื่อมกันได้ด้วยมาตรฐานเดียวกันรวมถึงบริการ IT Service ของภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างในแบบบริการสาธารณูปโภค โดยในเบื้องต้นผ่านระบบ Cloud Computing และต้องเข้าสู่ระบบจ่ายตามการใช้งานจริง ใช้น้อยจ่ายน้อย ใช้มากจ่ายมาก โดยที่ระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ IT ของภาครัฐ ลดลง 30-50 % และหน่วยงานภาครัฐต้องสร้างการทำงานในแบบทำงานที่บ้านได้หรือ Work at Home ผ่านโครงสร้างสาธารณูปโภคทางด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพมีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ IT ของภาครัฐไปสู่การเป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ (Project Manager) และเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล (MIS Manager) นอกจากนั้นต้องมีการซ้อมแผนสำรองฉุกเฉินเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปของหน่วยงานรัฐขึ้นมา

ดร.ศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงไอซีที คือ สรอ.จะเป็นตัวกลางในการผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่มากกว่าหนึ่งหน่วยงานเข้าด้วยกัน ซึ่งในปี 2555 นี้ไม่เพียงสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่อที่เป็นจริงแล้วยังเพิ่มระดับความเร็วในการเชื่อมโยงบริการโดยประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทั่วประเทศ หรือโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมาก จะเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมข้อมูลแต่ละหน่วยงานถึงกันได้เป็นอย่างดีและที่สำคัญจะได้เห็นประชาชนที่ถือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำความสามารถของบัตรเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งภายในครึ่งปีนี้คาดว่าจะเริ่มมีบริการต่างๆ ของภาครัฐทยอยเข้ามาใช้ระบบฐานข้อมูลบัตรประชาชน และคาดว่าเมื่อถึงปลายปีจะมีมากกว่าสิบหน่วยงานที่รองรับได้

นอกจากนี้สรอ.ยังต้องเป็นฝ่ายวิชาการในการค้นคว้าและสร้างมาตรฐานทางวิชาการใหม่ๆ ให้กับภาครัฐทั้งหมด การสร้าง Government Enterprise Architecture ขึ้นมา รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อทำให้ Speed ของการบริการภาครัฐไทยในด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปแบบก้าวกระโดด ดังนั้น Roadmap ที่สรอ.กำลังจะดำเนินการไปนั้นต้องถือว่าเป็นการทำให้เกิด Paradigm Shift หรือการทำให้มาตรฐานของต้นแบบถูกยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยมีคำว่า Speed เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิด Smart Government และนำไปสู่การเกิด Smart ต่างๆ ขึ้นอีกมากมาย อีกด้วย
# # #

View :1414

ก.ไอซีที มุ่งสร้างความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ รองรับคำขวัญวันเด็ก

January 15th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ในปีนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2555 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม ว่า “สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี” ดังนั้น กระทรวงไอซีที ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยการเข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานวันเด็กแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

“การจัดนิทรรศการของกระทรวงฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็ก นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลการดำเนินงานของกระทรวงฯ อาทิผลงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นต้น ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

โดยกระทรวงฯ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ เช่น เทคโนโลยี Web Conference ซึ่งนำเสนอการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้บริหารส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ ผ่าน Web Conference นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีระบบสัมผัส (Touch Screen) ที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้ร่วมถวายพระพรออนไลน์ และเทคโนโลยีประชาสัมพันธ์จำลอง Tablet เพื่อให้เด็กๆ ที่มาร่วมงานได้สัมผัสและทดลองใช้ Application ต่างๆ ที่ได้จำลองมาจาก Tablet ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน อันเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามโครงการแจก Tablet ให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนไทย ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป

“กระทรวงฯ หวังว่าเด็ก นักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่ได้เข้าชมนิทรรศการครั้งนี้ จะสามารถเข้าถึงและใส่ใจในเทคโนโลยี รวมทั้งได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอน เพื่อรองรับการใช้ Tablet และมีความรู้ ความเข้าใจเทคโนโลยี ตลอดจนผลการดำเนินงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่” นาวาอากาศอนุดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมจัดบูธแสดงกิจกรรมผลงานเด่นๆ ของแต่ละหน่วยงานในบริเวณเดียวกัน อาทิ บมจ.ทีโอที ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์อย่างเหมาะสม ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการระบบ 3จี บมจ.กสท โทรคมนาคม จัดกิจกรรมร่วมสนุกเล่นเกมต่างๆ รวมทั้งเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการ 3จี บจ.ไปรษณีย์ไทย จัดแสดงแสตมป์เก่าหายาก การถ่ายรูปทำโปสการ์ดส่วนตัว สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จัดแสดงเกี่ยวกับการทำ e-book, e-card การถ่ายภาพประกอบพร้อมพิมพ์แจกหรือส่งอีเมล์ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ได้นำเสนอการเรียนรู้ประโยชน์ของบัตรและการทำบัตรสมาร์ทการ์ด เป็นต้น

View :1404