Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที จัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือไซเบอร์

January 4th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C) และหลักสูตรผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ (Executive Cyber Scout) สำหรับผู้บริหารกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้น ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี เพื่ออาศัยกระบวนการและหลักการลูกเสือมาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Cyber Scout ให้มีความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

การฝึกอบรมฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ในวิชาลูกเสือ มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความรักสามัคคี มุ่งมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเคารพในสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีสิทธิได้ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะทำให้สามารถเป็นแกนนำในการบริหารจัดการเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์ (Cyber Scout) ได้

สำหรับกิจกรรมอบรมในค่ายลูกเสือครั้งนี้ มีเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับกระบวนการของลูกเสือ กฎ ระเบียบวินัย คำปฏิญาณ ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติตนของลูกเสือ และกิจกรรมการเข้าฐานเพื่อเรียนรู้หลักการของลูกเสือทุกระดับ รวมถึงกิจกรรมนันทนาการในรูปแบบของลูกเสืออย่างแท้จริง ซึ่งคณะผู้บริหารของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เข้าร่วมการฝึกอบรมยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเป็นเครื่องหมายของการสืบทอดอุดมการณ์ของลูกเสือสืบไป

View :1818

ก.ไอซีที เปิด FREE PUBLIC WIFI ต้อนรับปีใหม่ เพื่อพัฒนาระบบ ICT ไทยให้มุ่งสู่การเป็น SMART THAILAND

December 31st, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในที่สาธารณะฟรี () ว่า “สืบเนื่องจากนโยบาย ของกระทรวงไอซีที ที่ได้ประกาศไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 นั้น กระทรวงฯ จึงได้ประสานงานความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ให้บริการภาคเอกชน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก เพื่อเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และยั่งยืนผ่านโครงข่าย SMART-WIFI@TH ซึ่งจากการศึกษาโครงการที่ใกล้เคียงกันในต่างประเทศ ร่วมกับการศึกษาความต้องการเฉพาะของประเทศไทย ทำให้มั่นใจได้ว่า SMART-WIFI@TH จะให้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก คนทำงานที่ต้องเดินทางหรือทำงานนอกสถานที่เป็นประจำ (Mobile Workers) ตลอดจนนักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกสบายในด้านข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างเต็มที่มากขึ้น
สำหรับการเปิดตัวในครั้งนี้เป็นการเปิดเฟส 1 ที่มีโครงข่ายครอบคลุมกว่า 20,000 จุดทั่วประเทศ โดยเน้นการให้บริการในพื้นที่สาธารณะที่มีความต้องการใช้งานสูง เช่น ศาลากลางจังหวัด สนามบิน มหาวิทยาลัย สถานีขนส่ง ฯลฯ ซึ่งมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นผู้ร่วมดำเนินการในช่วงเริ่มต้น และจะมีการร่วมมือกับผู้ให้บริการภาคเอกชนในช่วงต่อๆ ไป โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการมากกว่า 250,000 จุด ภายใน 5 ปี

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากสถิติการศึกษาอัตราการเข้าถึงการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต พบว่า ทุกๆ 10% ของการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้น จะสามารถเพิ่ม GDP ได้ 1.3% ซึ่งหมายความว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงเล็งเห็นศักยภาพของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและมุ่งที่จะพัฒนาอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ เพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ได้ 80% ของจำนวนหลังคาเรือนภายในปี 2558 หรืออีก 4 ปี ซึ่งในการพัฒนารูปแบบการดำเนินการที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Sustainable model for Thailand) นั้น ควรมีลักษณะเฉพาะตามความต้องการและสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้พัฒนารูปแบบการดำเนินการสำหรับ “SMART-WIFI@TH” เพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการนี้จะเป็นการผสมระหว่างโครงข่าย backbone ที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงข่ายใหม่ รวมทั้งจุดเชื่อมต่อ (access point) ของ ทีโอที กสทฯ และผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมภาคเอกชน ซึ่งจะทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อและเชื่อถือได้ ภายใต้ ID “SMART-WIFI@TH” เดียวกัน

เชื่อมั่นว่า SMART-WIFI@TH จะสร้างความเสมอภาคและชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อคนไทย และสำหรับ Free Public WiFi จำนวน 20,000 จุดแรกนี้ รัฐบาลตั้งใจมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2555 เพื่อพี่น้องชาวไทยทุกคน”

สำหรับวิธีการใช้งาน Free Public WiFi ให้เลือกรับสัญญาณ ICT Free WiFi และทำการเชื่อมต่อสัญญาณ จากนั้นลงทะเบียนรับรหัส Register และเมื่อได้ Account แล้วผู้ใช้งานจะได้รับ username และ password เพื่อนำมา Login ใช้งาน โดยหากต้องการอ่านคู่มือการใช้งานสามารถคลิกที่วิธีใช้งาน หรือ How to Use ได้ในหน้าแรก

View :1558

ก.ไอซีที เตือนผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อผู้ไม่ประสงค์ดี

December 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ มาดัดแปลง ตัดต่อ รวมถึงแสดงข้อความ หรือความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ตามเว็บไซต์ เฟสบุก หรือ ทวิตเตอร์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย และสร้างความแตกแยกในสังคม โดยการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้

ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือเฟสบุก ที่มีภาพหรือมีการแสดงข้อความอันมีลักษณะดูหมิ่น หรือไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โปรดอย่ากด “ถูกใจ” (like) “แบ่งปัน” (shared) หรือ “แสดงความคิดเห็น” (comment) ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิ ตอบโต้ในรูปแบบใดก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นโดยความตั้งใจ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น และยังเป็นการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการทำให้ภาพหรือข้อความอันไม่เหมาะสม แพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน หากมีการพบเห็นเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เผยแพร่ภาพ หรือมีข้อความหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้ผู้พบเห็น หรือรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณีอันดีงาม ก็อย่าได้ด่วนแสดงความคิดเห็นตำหนิติเตียน ตอบโต้ เนื่องจากเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์อื่นๆ นั้น อาจเกิดจากการที่กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างใช้ภาพ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาปลอมแปลงในลักษณะที่เรียกว่า Impersonation ซึ่งเป็นภัยออนไลน์ที่เกิดจากการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นของบุคคลผู้นั้น การแสดงความคิดเห็นตอบโต้หรือตำหนิ จึงอาจเป็นการให้ร้ายตำหนิผู้บริสุทธิ์และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกแอบอ้าง รวมถึงอาจทำให้ความเป็นธรรมในสังคมเสื่อมลง ดังนั้น ผู้พบเห็นจึงควรพิจารณาและต้องตระหนักอย่างรอบคอบ

หากประชาชนผู้ใดพบเจอเว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ที่มีลักษณะดังกล่าวโปรดแจ้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 1212 หรือ อีเมล์ 1212@mict.mail.go.th เพื่อดำเนินคดีหรือยุติการเผยแพร่ตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานเมื่อทราบว่ามีผู้กระทำ Impersonation โดยแอบอ้างชื่อเรา และควรจะแจ้งให้ผู้ใช้อื่นที่ติดตามเราในเครือข่ายทราบว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ตัวตนของเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่าการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการสนทนาของเราด้วย

จากนั้นดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เช่น สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการออกหนังสือในการยื่นคำร้องขอ IP Address จากทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักฐานในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

View :1532

สรอ.เตรียมผลักมาตรฐาน e-GOV เข้าสู่สากล หวังเกิดประสิทธิภาพรองรับอีอาเซียน

December 27th, 2011 No comments

รายงานข่าวจากการสัมมนาเรื่อง “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล และพิธีมอบประกาศนียบัตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑” จัดโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. โดยมีนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน, ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สรอ., รศ.ดร.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนโยบายและสารสนเทศมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอข้อหารือจากผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บริหารไอทีของภาครัฐจำนวน 40 คน

โดยได้เสนอแนวทางร่วมกัน 3 แนวทางคือ 1.แนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 2.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) 3.การเตรียมความพร้อมในเรื่อง โดยได้มีข้อสรุปเบื้องต้นในการทำงานปรับปรุงระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันออกมาหลายด้านประกอบด้วย

การทำงานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยไอทีนั้น ควรจัดให้มีมาตรฐานตั้งแต่ Font Code หรือรหัสตัวอักษร ซึ่งจำเป็นต้องเลือกว่าแบบใดมีความเหมาะสม และเพียงพอที่จะใช้เป็นมาตรฐานของหน่วยงานรัฐต่อไป ชุดคำสั่งข้อมูล หรือ Data Set ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทนั้น คือ ชุดข้อมูลมาตรฐาน หรือ standard data set ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล ปัจจุบันจะมีชื่อกลาง, วันเดือนปีเกิด มีวิธีการเขียนหลายแบบ dd/mm/yy, dd/mm/yyyy ปี พ.ศ. หรือ ค.ศ. เป็นต้น Minimal data set หรือการเก็บข้อมูลขั้นต่ำเช่น การเก็บ ชื่อ-นามสกุล, ส่วนสูง, อายุ, เพศ, วันเดือนปีเกิด โดยอาจจะเก็บ 5 อย่างเป็นอย่างน้อย เป็นต้น รวมถึง IT auditing หรือการตรวจสอบทางด้านไอที เนื่องจากข้อมูลในระบบไม่สามารถรับรองได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องแน่นอน ดังนั้นข้อมูลภาครัฐควรมีฝ่ายตรวจสอบหรือ Audit ภาครัฐ และอื่นๆ เช่น การออกใบอนุญาต ประกาศนียบัตร ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต้องถูกกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้เกิดระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถาวร

ในด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสือสารนั้น มีการหารือกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องระบบเครือข่าย หรือ Networking ภาครัฐจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเพียงพอ มีความแน่นอนของระบบไม่มีปัญหาระบบล่ม ความเร็วที่ให้บริการต้องมีมาตรฐาน ในส่วนของฮาร์ดแวร์นั้น ปัญหาที่ถูกระบุมากที่สุดคือ การตั้งราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างระบบฮาร์ดแวร์ ที่หน่วยงานรัฐมักตั้งราคากลางที่ค่อนข้างสูง เพื่อที่จะได้เทคโนโลยีที่ไม่ล่าช้า ซึ่งที่ประชุมได้หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ให้ราคากลางถูกลงเหมือนกับการซื้อโทรทัศน์ให้ได้ในอนาคต รวมถึงการลดการซื้อฮาร์ดแวร์ลง เช่น ลดการซื้อฮาร์ดดิสก์ด้วยการไปใช้บริการผ่านเครือข่ายกลุ่มเมฆ หรือ Cloud Computing อย่างบริการของ Drop Box ในประเทศไทยแทน

ในด้านซอฟต์แวร์นั้น ที่สัมมนา“ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล และพิธีมอบประกาศนียบัตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑” ได้หารือตรงกันว่า จำเป็นที่ต้องเริ่มมีการบังคับมาตรฐานบางอย่าง เช่น การสนับสนุนให้ภาครัฐให้ซอฟต์แวร์แบบเปิด หรือ Open Source อย่างจริงจัง ในแง่ของ Front Office หรือระบบส่วนหน้าของการให้บริการภาครัฐ เช่น ระบบทางด้านการศึกษาควรต้องมีให้ใช้กันทั่วประเทศ, ระบบ e-Health ส่งข้อมูลคนไข้ต้องเกิดขึ้น, ID Card หรือบัตรประชาชนต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้

ทางด้าน Back office หรือระบบหลังบ้านของการให้บริการภาครัฐ ควรจัดทำซอฟต์แวร์ด้าน Enterprise Resource Planning หรือ ERP ภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับซอฟต์แวร์ต่างประเทศจำนวนมาก โดยในทางปฏิบัติจะให้แต่ละหน่วยเข้ามาประมูลแต่ละโมดูลทำในรูปแบบเดียวกันที่สามารถนำมาเชือมโยงหรือ Integrate กันได้และในระบบต่างๆ เช่น MIS, EIS, BI เป็นต้น

สำหรับระบบฐานข้อมูล หรือ Database ควรกำหนดมาตรฐานด้านข้อมูล เรื่องของ IT Audit หรือการตรวจสอบ, ความเชื่อมโยงของฐานข้อมูล Database ถ้าจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีต้องสามารถเชื่องโยงกันได้ ปัจจุบันภาครัฐมีระบบสำมะโนครัวของกระทรวงมหาดไทย ทางมหาวิทยาลัยที่ต้องการใช้งานก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ แต่ควรให้มีมาตรฐานการบังคับใช้ และแผนการสนับสนุนให้ใช้ทั่วประเทศ และมีระบบรักษาความปลอดภัยเป็นเครื่องมือกำกับ

ส่วนทางด้านบุคลากร หรือ Peopleware นั้น ควรมี career path training roadmap หรือแนวทางการสร้างบุคลากรทางด้านไอทีอย่างชัดเจน รวมถึงเส้นทางของอาชีพที่จะดำเนินต่อไปด้วย โดยจะต้องมีระบบ IT Literacy, IT Proficiency เป็นตัวสนับสนุนในระยะยาว นอกจากนั้นการให้บริการแก้ไขปัญหาและการสนับสนุนทางกฎหมายหรือ Service & Law ต้องถูกกำหนดเป็นแนวทางขึ้นมา ตั้งแต่การ Identify หรือระบุตัวบุคคล มี 1. สิ่งที่มีติดกาย เช่น ฟิงเกอร์ปริ้นส์ หรือลายนิ้วมือ, เรติน่าหรือม่านตา, สแกนกะโหลก, DNA 2. สิ่งที่เป็น เช่น รู้ชื่อพ่อ-แม่ 3. สิ่งที่ครอบครอง เช่น บัตรเครดิต ใบขับขี่ เป็นต้น ปัจจุบันแม้จะมี smartcard แต่ยังไม่สามารถใช้ได้ ระบบนี้ต้องทำให้ smartcard ใช้ได้ทุกอำเภอก่อน ส่วนกฎหมายนั้นยังต้องการลายเซ็น ยังต้องมีกระดาษ เรื่องของ digital sign. หรือลานเซ็นแบบดิจิตอลต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

ทางด้าน e-ASEAN นั้นรัฐบาลต้องเตรียมพร้อมทางด้าน e-service หรือการให้บริการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยใช้ เครื่องมือทางด้าน ICT ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อนำไปสู่ e-ASEAN แต่จำเป็นต้องผ่าน e-government ไปให้ได้ก่อน

งานสัมมนาที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการแบ่งปันองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจอาทิ “การบริหารจัดการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา” การเสวนา “กรณีศึกษา การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ ๑

View :1598

ก.ไอซีที จับมือ 3 หน่วยงานพัฒนาการใช้ ICT ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

December 23rd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารให้กับประชาชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท

ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับประชาชนของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3 หน่วยงาน คือ สสค. สวทช. และ สกว. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมขึ้น เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้และการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสให้ดียิ่งขึ้น โดยบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้จะเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 4 หน่วยงาน ให้มีทักษะ ความรู้และความสามารถทางวิชาการที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม รวมถึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือทางด้านงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมที่มีคุณภาพระหว่างกันอีกด้วย

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามารถในการต่อเชื่อมถึงกันของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกไปยังพื้นที่ทุรกันดารหรือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก อีกทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายผลต้นแบบการทำงานช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ที่ได้มีการวิจัยพัฒนาไว้ในพื้นที่นำร่องต่างๆ ของทั้ง 4 หน่วยงาน รวมถึงเพื่อส่งเสริมระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในเรื่องเด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพัฒนาให้เกิดระบบข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการของหน่วยงานในพื้นที่ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือดูแลเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ และเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้กระทรวงฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการจัดการเชิงพื้นที่ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับสาระสำคัญๆ ของบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ ก็คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและกำกับทิศทางความร่วมมือทางวิชาการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วม 4 หน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบและกำกับทิศทางการพัฒนาโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างกระทรวงฯ กับ สสค. สวทช. สกว. และองค์กรเครือข่ายภาคี รวมทั้งวางแผนผลักดันโครงการความร่วมมือที่มีความสำคัญให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ในระบบงานประจำของแต่ละหน่วยงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานระยะยาว นอกจากนี้ยังจะร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาระบบการจัดการระดับมหภาคทั้งในเชิงองค์กรและกลไกทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ขึ้นมารองรับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนการเรียนรู้ของเด็กและประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมในระยะยาวอีกด้วย

View :1268

ก.ไอซีที เปิดตัว “ThaiCERT” หน่วยงานดูแลความมั่นคงปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์

December 22nd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว กับ “ความมั่นคงปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์” ว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment นั้น มีมูลค่าสูงกว่า 680 ล้านล้านบาท ซึ่งการผลักดันให้จำนวนและมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานและบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมของทรัพยากรเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือเอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์

“ความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นมิติสำคัญที่เอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ได้เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเชิงรุกของการรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ในด้าน “Security” ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยมี Smart Business และนำไปสู่ความเป็น อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้มอบหมายให้ “ThaiCERT” หรือ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทำหน้าที่ผลักดันการดำเนินงานในทางปฏิบัติ” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

“ThaiCERT” นั้น เดิมเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนภารกิจนี้มายัง สพธอ. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อสานต่อภารกิจดังกล่าวให้มีความแข็งแกร่ง โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักกระทรวงไอซีทีในการปฏิบัติภารกิจป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งนับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ สพธอ. ในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงไอซีที

“หน้าที่หลักของ “ThaiCERT” คือ การรับแจ้งเหตุและแก้ปัญหาภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถรับแจ้งเหตุภัยคุกคามจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยมากกว่า 100 เรื่องต่อเดือน โดยการรับแจ้งภัยคุกคามเรื่องการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงนั้น มีมากกว่า 48% รองลงมาเป็นเรื่องการโจมตีและเจาะระบบคอมพิวเตอร์ประมาณ 13.6% ส่วนที่เหลือเป็นภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ภัยคุกคามที่เกิดจากโปรแกรมไม่พึงประสงค์ เป็นต้น” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ “ThaiCERT” ยังได้ดำเนินการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ สมาคมอีคอมเมิร์ซ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ สมาคมความมั่นคงทางด้านไซเบอร์แห่งประเทศไทย (CSAT) สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ประชาคมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเนคเทคอีกด้วย

“สำหรับแผนงานในช่วง 6 เดือนต่อไปของ “ThaiCERT” นั้น ได้มีการวางเป้าหมายในการให้บริการรับแจ้งเหตุภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และจะยกระดับการทำงานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เน้นการทำงานเชิงลึก โดยเจาะ ไปที่กลุ่มผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มการเงินการธนาคารและกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ส่วนผู้ที่ต้องการ แจ้งเหตุภัยคุกคามกับ “ThaiCERT” สามารถติดต่อได้ 2 ช่องทาง คือ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2142 – 2483 เวลา 8.30 – 17.30 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ และทางอีเมล์ที่ report@thaicert.or.th “นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1431

ก.ไอซีที ชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมประกวดแผนประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน

December 21st, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ผลงานของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้เป็นที่รับรู้และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายคนชั้นกลางที่นิยมค้นหาข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต และเครือข่าย social network เช่น Facebook เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภารกิจของกระทรวงฯ และเกิดการรับรู้ข้อมูลของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น ทั้งในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนผ่านเครื่องมือ ICT การสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนสินค้า ภูมิปัญญา และสร้างความสามารถทางการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือ ICT ให้เข้ากับวิถีชุมชน ทั้งการจัดเก็บข้อมูลชุมชน การประชาสัมพันธ์ชุมชน สินค้า ภูมิปัญญา สร้างเครือข่ายสังคมแห่งการช่วยเหลือ และสร้างมูลค่าสินค้า บริการของชุมชนผ่านแนวคิด Social Network

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดกิจกรรมประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ขึ้น เพื่อสานต่อกิจกรรมในโครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน พร้อมกระตุ้นให้คนไทยทั่วประเทศได้รู้จักและเข้าถึงประโยชน์ของศูนย์ฯ อย่างแพร่หลาย ด้วยการเชิญชวนนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ที่สนใจด้าน ICT ร่วมสร้างสรรค์และส่งผลงานของตนเองเข้าประกวดโดยผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ที่กำหนดไว้

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” นี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่ตั้งกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,879 แห่ง ตามความสนใจของนิสิตนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยการนำข้อมูลที่ได้รับรู้มาดำเนินการวางแผนการประชาสัมพันธ์ให้กับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนั้นๆ และนำเสนอผลงานผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต และ Social Network ที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความสนใจให้กับโครงการฯ และสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้เป็นวงกว้าง รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงบทบาท และประโยชน์ของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนมากขึ้น ซึ่งการเผยแพร่ผลงานผ่าน Social Network นี้ถือเป็นวิธีการแข่งขันแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

“กิจกรรมการประกวดฯ ครั้งนี้ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันตั้งวันนี้ถึง 15 มกราคม 2555 โดยการสมัครต้องรวมกลุ่มนิสิต นักศึกษากลุ่มละ 3 – 5 คน เพื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นให้คัดเลือกศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่สนใจ เพื่อจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ส่งเข้าประกวด โดยในแผนจะมีทั้งกิจกรรมการเสนอ slogan ของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่นักศึกษาเลือกทำ เพื่อแนะนำศูนย์ฯ การเสนอแผนประชาสัมพันธ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน หรือ จะสร้างสรรค์โครงการฯ ขึ้นใหม่ และการนำเสนอสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดฯ กระทรวงฯ จะมอบทุนการศึกษา และโล่เกียรติยศให้เป็นรางวัล โดยผู้ชนะรางวัลที่ 1 ได้รับ ทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ รางวัลที่ 2 ทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลที่ 3 ทุนการศึกษา จำนวน 15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษสำหรับผลงานดีเด่นจากการตัดสินของคณะกรรมการ ระดับภาค 5 รางวัล คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท โดยผู้ที่ได้รับรางวัลระดับภาค ยังมีสิทธิ์ได้รางวัลระดับประเทศ นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาทุกคนที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศ และระดับภาคยังจะได้เกียรติบัตรเป็นรายบุคคลด้วย

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ ฯ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของโครงการฯ ว่า “กระทรวงฯ จะเดินหน้าพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนในชุมชน สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างประโยชน์ด้านการศึกษา การเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และในขณะเดียวกันศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนแต่ละแห่งก็สามารถพัฒนาตนเองด้วยการนำแผนการประชาสัมพันธ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้ไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของตนให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไปได้”

View :1605

ก.ไอซีที ร่วมประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 11

December 17th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 11 ว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมฯ หรือ The 11th ASEAN Telecommunications and IT Ministers’ Meeting : 11th TELMIN ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan 2015 : AIM 2015) ในปีแรก ซึ่งมีโครงการรองรับการดำเนินงานจำนวน 17 โครงการ ได้แก่ โครงการอาเซียน ซีไอโอ ฟอร์รั่ม (ASEAN CIOs Forum) โครงการรางวัลไอซีที อาเซียน (ASEAN ICT Awards) โครงการความมั่นคงปลอดภัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Security) โครงการการนำไอซีทีมาใช้ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ICT Adoption by SMEs) โครงการเขตพื้นที่กระจายสัญญาณเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในอาเซียน (ASEAN Broadband Corridor) เป็นต้น โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาไอซีทีเพื่อมุ่งสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณจำนวน 450,000 เหรียญสหรัฐฯจากกองทุนไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Fund) เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการตามแผนแม่บทฯ ระหว่างปี 2555 – 2556 ด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติรับรอง แถลงการณ์เนปิดอว์ “Nay Pyi Taw Statement on ICT: an Engine for Growth in ASEAN” ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือร่วมกันในเรื่องต่างๆ อาทิ 1.ข้อริเริ่มตามแผนแม่บท AIM 2015 2.พัฒนาสภาพแวดล้อมและนโยบายที่ยืดหยุ่นเพื่อจัดตั้ง ASEAN Broadband Corridor 3.ศึกษามาตรการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงบริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ระหว่างอาเซียนโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 4.ส่งเสริมความร่วมมือที่ก้าวหน้าในเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่ 5.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 6.การสื่อสารในสภาวการณ์ฉุกเฉิน และ 7.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไอซีที เป็นต้น

“ในส่วนของประเทศไทยได้หยิบยกความสำคัญด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้วยการนำไอซีทีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของไทยที่ได้รับอุทกภัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนั้น รัฐมนตรีอาเซียนยังได้ประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) โดยในการหารือดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอาเซียนให้มีการพัฒนาและวิจัยด้านไอซีที รวมทั้งแนวปฏิบัติตามแผนแม่บท AIM 2015 ทั้งนี้ คู่เจรจาจะสนับสนุนอาเซียนในการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านต่างๆ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) 2.เทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่ไร้สายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (Broadband Wireless Mobile) 3.การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) 4.ความมั่นคงปลอดภัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Security) และ 5.การประยุกต์ใช้ไอซีทีและความมั่นคงปลอดภัยด้านไอซีที (ICT Applications and Security)

“สำหรับประเทศไทยได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีไอซีทีจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงรองเลขาธิการ ITU โดยประเด็นหลักที่หารือคือ 1.การให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนโดยอาศัยไอซีที 2.ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ 3.แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที ซึ่งจะมีการมอบหมาย ผู้ประสานงานให้ดำเนินการตามความร่วมมือต่างๆ ที่ได้หารือไว้กับประเทศคู่เจรจาดังกล่าวต่อไป” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1436

ก.ไอซีที จับมือ กสทช.พัฒนากิจการสื่อสารโทรคมนาคมไทยให้ก้าวหน้า

December 16th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจการดำเนินการตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา ระหว่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า กระทรวงฯ และ ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่มีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย กำกับ ควบคุม รวมทั้งดูแลด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้พัฒนาไปในทิศทางที่จะให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ประสานและร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนากิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลกให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

และเพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรี แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 และ กสทช. จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

“การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองหน่วยงาน จะได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้มีความก้าวหน้า และก่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศตลอดจนเพื่อผลักดันแนวนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศให้เกิดเสถียรภาพ และยั่งยืนต่อไป” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1462

ก.ไอซีที เปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

December 2nd, 2011 No comments


นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงถวายความจงรักภักดีในปีแห่งมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ว่า เนื่องในโอกาส ปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอถวายความจงรักภักดีด้วยการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center : CSOC ขึ้น เพื่อดำเนินภารกิจในการปกป้องดูแลกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์และสังคมเครือข่ายที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย ตลอดจนปกป้อง ดูแลเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย

“การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงฯ ที่จะต้องสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเครือข่าย หรือ Social Network บนโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยดำเนินการผ่านทาง ศูนย์ CSOC ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินงานจากรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ได้ดำเนินการเอาไว้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ CSOC ที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นการต่อยอดการดำเนินงานเดิมที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต หรือ ISOC นั้น ซึ่งศูนย์ CSOC นี้ นอกจากจะมีภารกิจในการปกป้องดูแลสถาบันหลักของประเทศ และประชาชนแล้ว ยังมีหน้าที่ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบวิเคราะห์เว็บไซต์และข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายต่างๆ อันเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย”

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังขอถวายความจงรักภักดีและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการจัดทำ “โครงการถวายพระพรออนไลน์” ผ่าน www.welovekingonline.com เพื่อเป็นช่องทางให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยการร่วมลงนามถวายพระพร และเลือก e-postcard ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งหมด 9 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะนำเสนอวิดีโอสารคดีชุด “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” อันเป็นสารคดี ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน จากนั้นสามารถเลือกคำถวายพระพรที่ถ่ายทอดถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ ที่มีให้เลือก 5 ข้อความ ได้แก่ 1. ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 2. ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ 3. ขอพระองค์ทรงหายจากอาการพระประชวรในเร็ววัน 4. ขอพระองค์ทรงอยู่คู่ฟ้าแผ่นดินสยามยิ่งยืนนาน และ 5. ร้อยรัดดวงใจ เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน ที่พระองค์ทรงฝ่าฟัน ให้ไทยนั้นได้ร่มเย็น

กระทรวงฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยและทุกภาคส่วน ร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผ่านเว็บไซต์ www.welovekingonline.com เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตลอดปี 2554 นี้

View :1904