Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที จับมือ กลุ่มบีเอสเอ ศึกษาแนวทางนำ Cloud Computing มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับ AEC 2015

May 29th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “Thailand’s Economic Growth in Digital Environment and amid Transmission to AEC 2015: Readiness of Laws and Regulations” ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทศึกษาเปรียบเทียบเรื่องนโยบายและกฎหมายของประเทศต่างๆ ทั้งหมด 24 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน สำหรับการประเมินความพร้อมของนโยบายและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ในมุมมองที่เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิตอล (Digital Economy) บนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“กระทรวงฯ มีหลักการและนโยบายที่ชัดเจนเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบ Cloud Computing ในการส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดภูมิภาคนี้ รวมถึงสร้างศักยภาพทางธุรกิจแก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ ประชาชนโดยทั่วไป และภาครัฐ ซึ่งรายงานการศึกษาดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจบนระบบ Cloud Computing และนำไปสู่การสนับสนุนภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นางจีราวรรณ กล่าว

งานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากงานสัมมนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “Digital Economy and Cloud Computing Scorecard” ซึ่งกระทรวงฯ ได้เคยร่วมกับ บีเอสเอ จัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเนื้อหาหลักของงานสัมมนาปีนี้ได้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับประเด็นด้านนโยบายและกฎหมาย เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล (Digital Economy) และ Cloud Computing รวมทั้งเน้นเรื่องการเชื่อมโยงเข้ากับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในการสัมมนาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้มีอำนาจสั่งการ (CIO) ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับสาระสำคัญที่น่าสนใจของการสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้แก่ 1. เกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพของ Cloud Computing ที่ใช้สำหรับวัดความพร้อมของประเทศไทย และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย 2. Cloud Computing มีส่วนช่วยในการกำหนด ASEAN ICT Master Plan ได้อย่างไร 3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศในโลก Cloud Computing และนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับ Cloud Computing ในระดับชาติ เป็นต้น

ส่วน มร.โรเจอร์ ซัมเมอร์วิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านนโยบายภาครัฐของบีเอสเอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า Cloud Computing เป็นระบบใหม่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล หน่วยงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อให้ระบบ Cloud Computing เติบโตต่อไป และสร้างประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ประเทศนั้นๆ ในตลาดโลก ซึ่งรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย บีเอสเอ ฉบับนี้ยังจะช่วยประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อีก 23 ประเทศ สำรวจตรวจสอบสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถรับประโยชน์สูงสุดจากระบบ Cloud Computing ได้

รายงานการศึกษาดังกล่าวได้นำเสนอแนวทางการริเริ่มและวางนโยบายที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้ และควรจะพิจารณานำไปใช้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบ Cloud Computing และในรายงานยังนำเสนอการพิจารณาปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างงานบนระบบ Cloud Computing ที่จะเพิ่มโอกาสความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย

นอกจากนี้ รายงานการศึกษาดังกล่าว ยังระบุว่าประเทศไทยได้รับคะแนนสูงในบางด้าน เช่น ความพร้อมของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนการทำธุรกรรมบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) แต่สำหรับความพร้อมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่น การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection) กลับมีคะแนนไม่สูงมากนัก ถึงกระนั้น ประเทศไทยยังคงมีความพร้อมในเรื่องอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ (Cybercrime) เพราะมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลบนระบบ Cloud Computing โดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม ยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมถึงการสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมบนโลก ไซเบอร์ และการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) มาตรฐานการระงับและการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร (Censorship, Filtering) รวมทั้งการบังคับใช้ระบบเทคโนโลยีเฉพาะทาง (Technology Mandates) อีกด้วย

View :1689

ภาพรมว.ไอซีทีนำชมขั้นตอนการทดสอบแท็บเล็ต

May 25th, 2012 No comments
View :1346

กระทรวงไอซีที จับมือกระทรวงพลังงาน สนองนโยบายรัฐบาลสู่สมาร์ทไทยแลนด์ นำร่องสร้างต้นแบบ PTT Free Wi-Fi by TOT

May 22nd, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ และเปิดโครงการ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่สถานีบริการ ปตท. สาขาเพื่อสวัสดิการ ร.๑ รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีสองยักษ์ บมจ.ทีโอที และ บมจ.ปตท. นำร่องสร้างโมเดลความร่วมมือคืนประโยชน์ให้กับสังคม โดยร่วมกันให้บริการ อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ไม่คิดค่าใช้บริการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และยกระดับ ประเทศไทยในการจัดอันดับความพร้อมด้านไอซีที ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปี ๒๕๕๕ ไอซีที มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) เพื่อเตรียม พร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการพัฒนาด้าน ICT จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งความร่วมมือในการจัดโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่คิดค่าใช้บริการ PTT Free Wi-Fi by TOT ระหว่าง ปตท. และ ทีโอที จะเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการคืนประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อสนองนโยบายด้าน ICT สู่ Smart Thailand ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยในการจัดอันอับความพร้อมด้านไอซีที ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือของ ปตท. และ ทีโอที ในการพัฒนาโครงการ PTT Free Wi-Fi by TOT ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศครั้งนี้ นับเป็นแบบอย่างความร่วมมือที่น่าชื่นชมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการแก่ประชาชนที่ดำเนินงานในรูปแบบเอกชน ด้วยการประสานประโยชน์จากจุดแข็งของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเทคโนโลยีไร้สาย (Wi-Fi) ของทีโอที กับ เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศของ ปตท. กว่า ๑,๓๐๐ แห่ง จะเพิ่มช่องทางให้คนไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ และข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สนองตอบนโยบายการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนไทยและประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติต่อไป

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ทั่วประเทศ จะเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไทยในทุกเส้นทาง และเป็นอีกช่องทางที่มีศักยภาพในการนำพาองค์ความรู้สู่สังคมไทย และก้าวสู่สังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand ได้อย่างแท้จริง นับเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรทั้งในด้านธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ยังจะช่วยพัฒนางานบริการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น “เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส” อีกด้วย

ดร.มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า วันนี้ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การพัฒนา และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างทั่วถึง ด้วยความร่วมมือของกระทรวงไอซีที และกระทรวงพลังงาน ในการสนับสนุนผลักดันให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุด และ ทีโอที ซึ่งมีจุดแข็งในด้านโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยครอบคลุมทั่วประเทศ สู่เป้าหมายร่วมกันในการสนองนโยบายของรัฐบาล ด้วยการร่วมกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้บริการ หรือ PTT Free Wi-Fi by TOT เพื่อให้บริการกับประชาชนในสถานีบริการ ปตท. กว่า ๑,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการเมื่อเริ่มโครงการประมาณ ๒๐๐ แห่ง ใน กทม. และต่างจังหวัด และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบทั้ง ๑,๐๐๐ แห่ง ภายใน ๕ เดือน

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ทีโอที จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi การติดตั้ง และบริหารรวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ในการให้บริการ รวมถึงการให้บริการด้าน Call Center โดยผู้ใช้บริการจะสามารถใช้บริการ PTT Free Wi-Fi by TOT ด้วยการลงทะเบียน เพื่อขอรับรหัส Username และ Password สำหรับการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยรหัสดังกล่าวสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้วันละ ๒ ชั่วโมง ใช้งานได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐ นาที นาน ๖ เดือน ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน ๒M/๕๑๒ Kbps

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และข่าวสาร ยกระดับคุณภาพชีวิต และการศึกษาของประชาชนในประเทศ ซึ่งตามแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ ๓ มีเป้าหมายในการกระจายการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งแบบมีสายและไร้สายให้ครอบคลุมมากกว่า ๘๐% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี ๒๕๕๘ และเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดให้มีโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้บริการมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ โดย ทีโอที ได้นำร่องดำเนินการให้บริการ Free Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และสถานีขนส่ง เป็นต้น

View :1671

ก.ไอซีที ลงนามจัดซื้อแท็บเล็ต 1,000,000 เครื่อง จาก เสิ่นเจิ้น สโคปฯ

May 10th, 2012 No comments


นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว ภายหลังพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ภายใต้โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพาระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (Shenzhen Scope Scientific Development Co.,Ltd) ว่า รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต)

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีนโยบายหนึ่งที่จะเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนในปีแรก คือ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา พ.ศ. 2555 ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสม ตามหลักสูตรบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) จัดวางระบบเครือข่าย Wi – Fi จัดทำระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และการวางระบบความปลอดภัยในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และสร้างความเข้าใจ เพื่อการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต)

และภายหลังการดำเนินการจัดหา ได้นำเสนอแนวทางการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 อนุมัติการจัดซื้อจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าวข้างต้น โดยรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แนะนำบริษัทผู้ส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ที่มีคุณภาพของประเทศจีน เพื่อให้ผู้ซื้อเลือกหนึ่งบริษัทจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้ในการจัดหาและการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต)มายัง ประเทศไทย

“กระทรวงไอซีที ได้ตกลงที่จะจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) จากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแนะนำ ซึ่งการลงนามครั้งนี้มีเงื่อนไขที่จะสั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) จำนวนทั้งสิ้น 400, ( สี่แสน) เครื่อง มูลค่าทั้งหมดจำนวน USD 32,800, (สามสิบสองล้านแปดแสนดอลลาร์สหรัฐ) มีกำหนดให้ส่งมอบภายใน 60 วัน และจะมีการซื้อเพิ่มเติม (Repeat order) โดยทำคำสั่งซื้อเพิ่มเติมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) อีกจำนวนไม่เกิน 1,,000 (หนึ่งล้าน) เครื่องต่อไป” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับคุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ที่ บริษัท เสนอมานั้น คือ มีหน่วยประมวลผลกลางมีความเร็วสัญญาณนาฬิกา (Clock speed) 1.2 GHz มีหน่วยความจำหลัก (RAM) จำนวน 1 GB ใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Polymer ขนาดความจุ 3600 mAh มีการรับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี

View :1796

คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อนุมัติ 4 หน่วยงานของรัฐ ผ่านแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ

April 23rd, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ โดยต้องมีการควบคุมการเข้าถึงและใช้งานสารสนเทศ การจัดให้มีระบบสำรองข้อมูลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและมีแผนเตรียมความพร้อมฉุกเฉิน รวมไปถึงการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ รวมทั้งต้องมีการจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีที่มีการรวบรวม จัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุตัวตนได้ (ถ้ามี) ตามมาตรา 6 ทั้งนี้ นโยบายและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งก็คือ เสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้กำหนดวิธีในการพิจารณานโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐที่ส่งมาให้พิจารณา ด้วยการให้คณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัยพิจารณาให้ความเห็นชอบใน เบื้องต้นก่อน จากนั้นส่งเรื่องให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบ โดยใช้แบบประเมินประกอบการพิจารณาดำเนินงานตามแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ที่คณะอนุกรรมการฯ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ให้ความเห็นชอบ

สำหรับผลการดำเนินงานส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้มีหน่วยงานของรัฐนำเสนอแบบประเมินประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติฯ เข้าสู่การพิจารณา จำนวนทั้งสิ้น 106 หน่วยงาน โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ไปแล้ว 25 หน่วยงาน
และในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งล่าสุด ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบแก่ 4 หน่วยงานของรัฐเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บมจ.ธนาคารกรุงไทย กรมส่งเสริมการส่งออก และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ได้จัดส่งแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ พร้อมแบบประเมินฯ เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ โดยทั้ง 4 หน่วยงานได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในเบื้องต้นจากคณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัยแล้ว ประกอบกับแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติฯ ที่ได้เสนอมานั้น ค่อนข้างละเอียดและมีความครอบคลุมตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กำหนดไว้ คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบ

โดยภายหลังผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จะมีการแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวได้รับทราบและสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมว่า แนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ นั้น เป็นมาตรการขั้นต่ำในการลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามของระบบสารสนเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบสารสนเทศมีความมั่นคงปลอดภัยในทางปฏิบัติ และอาจปรับปรุงมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามความเหมาะสมต่อไป

View :1390

ก.ไอซีที ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN CIO Forum 2012

March 26th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าว การจัดการประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ CIO ของอาเซียนครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 หรือ 1st ว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 1st ระหว่างวันที่ 19 – 20 เมษายน 2555 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมกับ The Authority for Info-communications Technology Industry (AITI) ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสมาคมซีไอโอ 16 (CIO16) แห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ ภายใต้แนวคิดการมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาด้าน ICT (ICT Development) การปรับเปลี่ยนด้าน ICT (ICT Transformation) และการหาแนวร่วมด้าน ICT (ICT Crowd Sourcing)

“การจัดประชุม CIO ของอาเซียนครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงทางด้าน ICT ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการพัฒนาขีดความสามารถทางด้าน ICT ควบคู่กันไปกับการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อเตรียมการรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน ในปี 2558 เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้เจริญรุดหน้า และเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

การประชุมดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน ค.ศ. 2015 (ASEAN ICT Master Plan 2015) หรือ AIM 2015 ที่ได้กำหนดกรอบการพัฒนาด้าน ICT ของอาเซียน โดยกำหนดให้การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และความร่วมมือในการพัฒนาด้าน ICT ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยการจัดให้มีเวทีสำหรับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ CIO ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโต และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมจำนวน 600 คน” นางจีราวรรณ กล่าว

ด้านนายไชยเจริญ อติแพทย์ นายกสมาคม CIO 16 เปิดเผยว่า การจัดประชุม ASEAN CIO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกภาคส่วน ได้ตระหนัก เตรียมการ และดำเนินการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการที่อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมเดียวกัน ในปี 2558 โดยการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตัวบุคคล กฎระเบียบภายในองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ซึ่งภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่างๆ จำนวนมากได้เริ่มดำเนินการวางแผนงาน กลยุทธ์ วางโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และมีมิติใหม่ๆ อาทิ แนวทางที่มีผลในเชิงปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงแนวปฏิบัติเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น

“ในการประชุมครั้งนี้ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดความรู้ และรับทราบนโยบายแผนงาน ICT ที่สำคัญๆ จากแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันหรือระหว่างกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ ICT ของอาเซียนในอนาคต โดยสมาคม CIO16 ได้นำเสนอรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งในการเตรียมความพร้อมนำมิติใหม่เหล่านี้ไปดำเนินการ ซึ่ง ICT นั้นจะเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมและเสริมขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ระบบ กระบวนการ และการใช้ประโยชน์จากการลงทุนที่มีเทคโนโลยีให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งอาเซียนสามารถจะนำบทเรียนหลายๆ รูปแบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปิด อียู (EU) มาเรียนรู้ปรับปรุงให้ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า และปลอดภัยกว่าได้”

“ในงานนี้จะมีการเปิดประชุมโต๊ะกลม โดยเชิญ CIO จากประเทศสมาชิกอาเซียนหารือ เพื่อสร้างสรรค์การทำงานแบ่งความรับผิดชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแนวทางการผลักดันการดำเนินงานด้าน ICT ร่วมกัน ในภูมิภาคอาเซียน สำหรับรูปแบบของการประชุมฯ นั้น จะเป็นการอภิปรายแบบเปิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้มีเกียรติ ผู้กำหนดทิศทางนโยบายจากแต่ละชาติอาเซียนที่สำคัญๆ ผู้นำ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในอุตสาหกรรม ICT จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งหัวข้อของการอภิปรายทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับ ICT เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่ถือเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่มีทั้งความหลากหลายและความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การประชุมฯ ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการใช้และรวบรวมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ ICT เพื่อสร้างและผสานรวมความแตกต่างในกลุ่มอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน”

“ตัวแทนของรัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่างยอมรับว่า ICT จะยังคงเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างชาติ
ในด้านต่างๆ ไปอีก 2 – 3 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม อาเซียนมีจำนวนประชากรเกือบ 600 ล้านคน จึงยังมีพลเมืองจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึง ICT ได้ ด้วยเหตุนี้ การทำงานร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้าน ICT ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ภายใต้การสนับสนุนที่สำคัญตามหลักการ PPP พร้อมทั้งผู้สนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนของไทย จะช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งจากภายในประเทศและระดับภูมิภาคได้” นายไชยเจริญ กล่าว

สำหรับหัวข้อในการประชุมฯ ครั้งนี้ นายกำพล ศรธนะรัตน์ เลขาธิการสมาคม CIO 16 กล่าวว่า จะครอบคลุมเนื้อหา
ที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม ICT ของอาเซียน อาทิ ระบบการประมวลผลแบบคลาวด์ และการรักษาความปลอดภัยสำหรับระบบคลาวด์ การรวมระบบเครือข่าย ระบบมือถือ การสื่อสาร และผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ระบบการรักษาความปลอดภัยสำหรับโลกไซเบอร์
การตรวจสอบพิสูจน์ทางไซเบอร์ และการสร้างมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบ (Governance, Risk and Compliance : GRC) สำหรับอาเซียน การเรียนรู้เพื่อปรับปรุงการใช้ ICT ช่วยจัดการวิกฤตการณ์จากสึนามิ น้ำท่วมใหญ่ในไทย และ หรือการใช้ไอซีที เพื่อความสมานฉันท์ของคนต่างเชื้อชาติภายในประเทศ เป็นต้น

“หัวข้อสำคัญต่างๆ เหล่านี้จะมีการลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับ “การสนับสนุน” ที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือ” เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนที่ดีด้วย ICT และผู้เข้าร่วมประชุมฯ ยังจะได้พบกับนิทรรศการที่จัดแสดงเทคโนโลยีรวมทั้งโซลูชั่นใหม่ล่าสุด เพื่อใช้จัดการกับความท้าทายทางธุรกิจ ภัยคุกคาม และบริการต่างๆ ตามต้องการ (on demand) พร้อมกันนี้ยังมีการอภิปรายแบบกลุ่มจากมุมมองของผู้รู้จริงในแต่ละประเทศ ที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมฯ ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอาเซียน และเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มความเชี่ยวชาญ ความปราดเปรื่อง และความคล่องแคล่วของซีไอโอหรือสิ่งที่ CIO จะต้องเป็นให้ได้ภายในปี 2558” นายกำพล กล่าว

นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านไอทีของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังจะได้มีการอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจอาทิ พระราชกรณียกิจด้าน ICT เพื่อคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิสัยทัศน์ของ CIO เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียน (Engaging the vision of CIOs to prepare ASEAN for a greater future as one community) และ Leader’s Note : iGov 2015 เป็นต้น

View :1399

รมว.ไอซีที นำทีมสื่อมวลชนดูงานศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง จังหวัดราชบุรี

March 23rd, 2012 No comments

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ชุมชนต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร จากเครื่องมือของศูนย์การเรียนรู้ฯ พร้อมชมกระบวนการผลิตน้ำข้าวกล้องงอก ที่ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวชุมชนบ้านรางไม้แดง โดยมี นายสุรพล แสวงศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับ

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนมีความแข็งแกร่งและสามารถยืนด้วยลำแข้งของชุมชนเองได้ โดยชุมชนบ้านรางไม้แดงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ในด้านการฝึกอบรมและสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของหมู่บ้าน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก น้ำข้าวกล้องงอก ไอศครีมข้าวกล้องงอก ผลิตผลทางการเกษตรผลผลิตจากหมู่บ้านรางไม้แดงที่โดดเด่น

ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการเตรียมการเพาะปลูก ค้นคว้าเรื่องดิน สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ราคาสินค้าเกษตร ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เพื่อวางแผนการผลิตสินค้าได้เท่าทันความต้องการของตลาด และใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในการหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกร เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้านการเกษตร ทำให้สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยง อีกทั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนยังเป็นแหล่งข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น เมื่อมีศัตรูพืชระบาด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิต และขายสินค้าของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือก การแปรรูป และต่อยอดการผลิต ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายเปิดร้านอาหารปลอดภัย และล่าสุดอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของชุมชนและเครือข่าย สำหรับเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

กระทรวงไอซีที ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนกระจายครอบคลุมทั่วประเทศแล้วมากกว่า 1,800 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

“ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน มีเป้าหมายหลักเพื่อลดช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างคนเมืองและคนชนบท ให้สามารถใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน พบว่า ประชาชนทั่วประเทศได้ใช้งานศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์หลากหลายด้าน ซึ่งนอกจากประชาชนจะได้เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีแล้วยังสามารถเป็นแหล่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนอีกด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ฯ กล่าว

ปัจจุบันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนขึ้น ทั่วประเทศแล้วมากกว่า ๑,๘๐๐ แห่ง ซึ่งมีที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้รับการยอมรับจากชุมชน ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

ดังนั้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับทราบข้อมูล และสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน กระทรวงไอซีที จึงได้จัดทำ “กิจกรรมประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ภายใต้โครงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ขึ้น เพื่อส่งเสริมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ให้คนไทยทั่วประเทศได้รู้จัก และเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเป็นแผนต้นแบบเพื่อให้ชุมชนสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยการเชิญชวนนิสิตนักศึกษาที่สนใจด้านไอที ร่วมสร้างสรรค์และส่งผลงานของตนเองเข้าประกวดกับโครงการประกวดแผนประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมฯ กว่า ๑๐๐ ทีม และเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ได้ประกาศผลทีมที่เข้ารอบ ๒๐ ทีมสุดท้ายไปแล้ว โดยผู้สนใจสามารถชมผลงานของทั้ง ๒๐ ทีมได้ที่ www.ictcontest.com หรือ www.facebook.com/ictcontest

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนตัวอย่างที่ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการสืบค้นข้อมูลด้านการเกษตร และต่อยอดสร้างอาชีพจากผลผลิตทางการเกษตร ใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการเกษตรระหว่างชุมชนเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับขายสินค้าของชุมชนอีกด้วย

ประกอบกับในขณะนี้กระทรวงไอซีที ได้จัดทำโครงการร้านค้าชุมชนออนไลน์ที่ www.ThaiTelecentreMall.com หรือ e-Shop ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายแกนนำผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนภาคกลางเป็นแกนหลักในการรวบรวมข้อมูลสินค้า/บริการจากชุมชนเพื่อสร้างช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้แก่กลุ่มอาชีพและสินค้าชุมชนโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อของการซื้อขายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้าง e-Women ระดับเอเชียและแปซิฟิคมาแล้ว จำนวน ๓ คน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของจุดเปลี่ยนในการประยุกต์ใช้ ICT กับกลุ่มอาชีพในชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ICT เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มพูนรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง

นายสุรพล แสวงศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้รับการดูแลการสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนจากภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมทั้งสมาชิกในชุมชนเองก็พยายามสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งยืนด้วยลำแข้งของตนเอง โดยการสร้างชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ได้เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้ในหลายด้าน รวมถึงการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนบ้านรางไม้แดงด้วย

สำหรับแผนงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้วางแผนที่จะรวบรวมองค์ความรู้ขึ้นเว็บไซต์ของชุมชน เพื่อเผยแพร่แก่คนในชุมชนและแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนอื่นๆ โดยมุ่งให้บริการเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ผู้สนใจทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาศึกษาโดยตรงที่จังหวัดราชบุรีอีกต่อไป

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน “บ้านรางไม้แดง”

ข้อมูลจำเพาะของชุมชน
บ้านรางไม้แดงไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน พื้นที่เป็นชายเขามีป่าเบญจพรรณขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยเฉพาะต้นไม้แดงและมีลำรางน้ำในหมู่บ้านจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ประชากรอพยพมาจากบ้านโรงช้าง บ้านบางป่า และคนจีนอพยพเข้ามาถากทางทำมาหากินในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้านเท่าที่สามารถค้นหาประวัติได้ 5 ท่าน บ้านรางไม้แดงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี 6 กม. มีประชากรทั้งสิ้น 1,329 คน แยกเป็นชาย 656 คน เป็นหญิง 673 คน ประกอบอาชีพทางการเกษตร 54 ครัวเรือน 104 ราย ในอดีตมีการทำนาแบบดั้งเดิมไม่ประสบปัญหา ต่อมาเมื่อสังคมเจริญขึ้นมีการจัดรูปที่ดินและทำนาสองครั้งในหนึ่งปีเพื่อเพิ่มผลผลิตรวมถึงมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ในปี 2528 ชุมชนบ้านรางไม้แดงประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพและการใช้สารเคมีส่งผลกระทบกับตัวเกษตรกร จากการสำรวจโดยการตรวจเลือดพบสารปนเปื้อนในกระแสเลือดของเกษตรกร นอกจากนั้นปัญหาการเพาะปลูกทวีความรุนแรงขึ้นเกิดการ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนที่สูงแต่ได้ผลิตผลที่ต่ำ ผลพวงในครั้งนั้นชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา จึงเกิดการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนขึ้นเมื่อปี 2544 วัตถุประสงค์หลักเมื่อเริ่มต้นนั้นเพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลประมาณ 4,500 ไร่ และเกิดกลุ่มผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพ เพื่อรณรงค์ให้ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันสามารถลดการใช้สารเคมีได้ประมาณ 50% และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกร และกลุ่มยังหวังที่จะแปรรูปผลผลิตออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกต่อไป

การสนับสนุนจากภาครัฐด้านอาชีพ
หมู่บ้านรางไม้แดงมีหน่วยงานจากภาครัฐหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนทางด้านการเกษตร สำหรับการก่อตั้งชุมชนเพื่อด้านอาชีพได้มีการจัดตั้งเป็น ศูนย์ข้าวชุมชน ด้านการทำนาและเพาะเห็ด โดยได้รับการอบรมความรู้จากสถาบัน/องค์กรหลายแห่ง อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานร่วมประชุมแก้ไขปัญหา

ด้านอาชีพเสริมของชุมชนหลังการปลูกข้าว ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้า OTOP โดยใช้ผลผลิตที่ได้ในชุมชนจากการปลูกข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตข้าวกล้องงอก น้ำข้าวกล้องงอก เป็นต้น

จุดเด่นของชุมชนบ้านรางไม้แดง
ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้รับการดูแล การสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนจากภาครัฐ สมาชิกในชุมชนเองก็พยายามสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งยืนด้วยลำแข้งของตนเอง โดยสร้างชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ได้เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง โดยในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ชุมชนวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศและเครื่องมือในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอาชีพเสริมที่มีอยู่ทั้งหมด มาบรรจุใส่ในระบบสารสนเทศและจัดทำเป็นเว็บไซต์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ให้เพื่อน ๆ เกษตรกรในหมู่บ้านสามารถเข้ามาค้นคว้าได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งเผยแพร่ไปยังพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้เข้ามาศึกษาข้อมูลด้านการเกษตรได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ชุมชนดังเช่นปัจจุบัน

การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ประโยชน์ในชุมชน
เมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ให้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้กับหมู่บ้านรางไม้แดงแล้ว หลังจากนั้นก็มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมให้ความรู้วิธีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ วิธีการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนอบรมให้ความรู้แก่ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน เพื่อให้บริการและถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในหมู่บ้าน ทำให้ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดงสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศ ดังนี้

• การเตรียมการเพาะปลูก สมาชิกของชุมชนบ้านรางไม้แดงเข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ค้นคว้าเรื่องดินโดยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนและที่ดินโดยใช้ GPS ช่วยค้นหาระบุตำแหน่ง เมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็ไปค้นหาข้อมูลดินว่าดินที่ตำแหน่งนี้เป็นดินชุดไหน ประเภทอะไร เหมาะสมในการเพาะปลูกอะไร คุณสมบัติของดินเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงดินอย่างไรเพื่อเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เราจะสามารถรู้และแก้ปัญหาสภาพดินได้ ซึ่งดินเป็นหัวใจหลักของการเพาะปลูก และคนในชุมชนจะช่วยกันดูแลรักษา สภาพดิน เช่น การลดปริมาณสารเคมีเพื่อไม่ให้ดินนั้นมีสารเคมีตกค้าง ปัจจุบันคนในชุมชนเปลี่ยนวิธีการเกษตรจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเป็นทำปุ๋ยใช้เองลดสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกได้ถึงร้อยละ 50
• การเพาะปลูก ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดงใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนหลายอย่างสรุปโดยสังเขปดังนี้
1) ก่อนการเพาะปลูกพืชชนิดใด คนในชุมชนจะเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อตรวจสอบเว็บไซต์ที่แสดงข้อมูลราคาพืชผลการเกษตร แล้วนำไปคิดเรื่องต้นทุนว่าเมื่อปลูกพืชผลนั้นๆ แล้วจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ ทำให้ลดความเสี่ยงและปัญหาการเพาะปลูกที่อาจขาดทุนได้
2) ในฤดูการเพาะปลูกเกษตรสามารถเข้ามาตรวจสอบสภาพอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝน ปริมาณน้ำฝนในแต่ละช่วง เพื่อลดปัญหาพืชผลการเกษตรเสียหาย การเตรียมการสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลนั้นๆ ความเสี่ยงในการเพาะปลูก
3) เมื่อเพาะปลูกแล้ว หากพบปัญหาในการเพาะปลูกเราก็เข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สืบค้นข้อมูลที่เราอยากทราบ เช่น เมื่อมีศัตรูพืชระบาด ปัญหาศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรทุกที่ต้องเจอ ชุมชนศึกษาข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรที่ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ ทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ลดการสูญเสียของผลผลิต ไม่ต้องลองถูกลองผิดเอง และในอนาคตกำลังจะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อจัดตั้งหมู่บ้านรางไม้แดงเป็นศูนย์พยากรณ์ศัตรูพืชและเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน
• ด้านผลผลิต การจัดการผลผลิตในชุมชน พยายามแปรรูปผลิตผลของชุมชนเอง เพื่อสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในขณะนี้คือ ข้าวกล้องงอก (Gaba Rice) น้ำข้าวกล้องงอก และไอศกรีมข้าวกล้องงอก พยายามประยุกต์แปรรูปผลผลิตที่มีในชุมชน นอกจากนี้ยังใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิต โดยได้เริ่มจัดทำเว็บไซต์ของชุมชนและร้านค้าชุมชน ผ่าน www.thaitelecentre.org และ www.thaitelecentremall.com ตามลำดับ เพื่อขายสินค้า รวบรวมผลผลิตข้าวเปลือก การแปรรูป และต่อยอดการผลิต พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายเปิดร้านอาหารปลอดภัย และกำลังรวบรวมข้อมูลของชุมชนและเครือข่าย สำหรับนำขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่สินค้าของชุมชนและเครือข่ายให้ให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
• การให้บริการอื่น ๆ ชุมชนบ้านรางไม้แดง มีแผนงานที่จะรวบรวมองค์ความรู้ขึ้นเว็บไซต์ของชุมชน เพื่อเผยแพร่แก่คนในชุมชนและแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนอื่นๆ โดยมุ่งให้บริการเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ผู้สนใจทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัดและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางไกลมาศึกษาโดยตรงที่ตำบลเจดีย์หัก รวมทั้งจะเปิดให้บริการถาม-ตอบในเว็บไซต์ เพื่อแลกเปลี่ยนและจัดการความรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

View :1983

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็น 20 หน่วยงานวางแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลด้านไอซีทีแก่คนพิการ

March 21st, 2012 No comments

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) ครั้งที่ 10 ตามกฎกระทรวงมาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ภายใต้โครงการพัฒนา ICTและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท ว่า กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมให้ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และมีโอกาสเข้าถึงICT อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงไปกลุ่มคนพิการที่ขาดโอกาส และความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวในปัจจุบัน โดยกระทรวงฯ เชื่อมั่นว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาสังคม และประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน หากแต่จะต้องมีการส่งเสริม และสนับสนุนด้านความสะดวก และเครื่องมือหรืออุปกรณ์เฉพาะทางที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ด้าน ICT สำหรับคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง

​ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท เพื่อกำหนดให้มีกรอบแนวทางเชิงนโยบาย โดยมีการจัดเวทีสำหรับระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความต้องการต่าง ๆ รวม ไปถึงการสัมมนาเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอันประกอบด้วยผลการดำเนินงานที่ได้จากโครงการฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดแนวทาง เชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง

​“ในการดำเนินโครงการพัฒนา ICT ฯ นี้ กระทรวงฯ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลความต้องการทางด้านการบริการ หรือข้อมูลข่าวสาร จากองค์กรคนพิการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งข้อมูลความต้องการของคนพิการ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกรอบแนวทางเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะทางด้านกิจกรรม และวิธีการปฏิบัติของกระทรวงฯ เพื่อที่จะนำไปใช้ในการให้บริการและสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

และหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ การระดมความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นจำนวน 10 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอข้อคิดเห็นที่ช่วยพัฒนาการใช้ ICT ให้กับคนพิการ รวบรวมข้อมูล และให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะ ตามกฎกระทรวงในมาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
พ.ศ. 2550 โดยได้เชิญหน่วยงานองค์กรด้านการวิจัยและเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรวม 20 หน่วยงาน

View :1301

ก.ไอซีที เผยแพร่แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 รองรับประชาคมอาเซียน

March 9th, 2012 No comments

นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี รักษาการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ” ว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ถือเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศ โดยประเด็นที่เห็นได้ชัดเจน คือ โอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การลดอุปสรรคทางการค้า และโอกาสในการลงทุน ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า 600 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวม 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่และดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังมีประเทศพัฒนาหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ให้ความสนใจภูมิภาคอาเซียน และเข้าร่วมเป็นคู่เจรจากับอาเซียน

นอกจากนี้ การเป็นประชาคมยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาค เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนเรื่องความท้าทายนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ผลกระทบทางลบจากการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเป็นประชากรของอาเซียน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพร้อมรับกับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งในเชิงรุกที่จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียน และในเชิงรับที่ต้องปกป้องและแก้ไขผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจต่างๆ ของกระทรวงฯ ทั้งด้านการพัฒนาไอซีที การเตือนภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านสถิติ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนด้วย

ด้านนายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2558 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TELMIN ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 จึงได้เห็นชอบโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 และอนุมัติการสนับสนุนเงินจากกองทุน ASEAN ICT Fund เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางกิจกรรมความร่วมมือด้านไอซีทีและสนับสนุนการรวมกลุ่ม ของอาเซียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีที ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อร่วมพิจารณาจัดทำแผนแม่บทฯ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว

หลังจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ประชุมได้มีการรับรองแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 และมีการประกาศแผนแม่บทฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแผนแบบเบ็ดเสร็จที่มีการระบุยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการภายใน 5 ปีที่ชัดเจน และภายหลังจากการรับรองแผนแม่บทฯ แล้ว ที่ประชุมอาเซียนยังได้เห็นชอบให้สมาชิกแต่ละประเทศจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนแม่บทฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการผลักดันแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

กระทรวงฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 อย่างเป็นทางการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนบทบาทของประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจประมาณ 250 คน นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย

View :1623

ก.ไอซีที จัดประกวดผลงานอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ เพื่อพ่อหลวง

March 6th, 2012 No comments

นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวการประกวดผลงานอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) ว่า กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดทำโครงการลูกเสือไซเบอร์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Cyber Scout ขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ด้าน ICT และใช้เป็นแบบอย่างแก่เครือข่ายทางสังคมในการส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม ตลอดจนร่วมกันสอดส่องดูแลภัยอันตราย และเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อสถาบัน รวมถึงความมั่นคงของประเทศ นอกจากนั้น อาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ยังสามารถช่วยแนะนำเพื่อน ๆ ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิดให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และถูกวิธี อันจะนำมาซึ่งสังคมออนไลน์ที่สะอาด สร้างสรรค์ และมีวิจารณญาณ

ส่วนการจัดกิจกรรมการประกวดผลงานอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ ภายใต้โครงการ Cyber Scout ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้ เยาวชน ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนน้อมนำแนวความคิด พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมด้วย

ด้าน นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการ Cyber Scout ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือ อบรมวิทยากรแกนนำ จำนวน 1,309 คน จัดอบรมขยายผลอาสาสมัครจำนวน 83,224 คน จัดค่ายลูกเสือไซเบอร์ จำนวน 1,119 คน และมีกิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งกิจกรรม คือ การจัดประกวดผลงานของอาสาสมัครลูกเสือ ไซเบอร์ ภายใต้ชื่อ โครงการ “ลูกเสือไซเบอร์ เพื่อพ่อหลวง” ในหัวข้อ “เจริญรอยตามคำพ่อสอน” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรณรงค์และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และสร้างจิตสำนึกในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์

“สำหรับการประกวดผลงานฯ ในครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ส่งผลงาน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวพระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์ด้วยตนเองมานำเสนอ เพื่อชิงรางวัลทุนการศึกษา พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 5 รางวัล โดยนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับตำแหน่ง Cyber Scout Youth Ambassador 2011 พร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และทุนการศึกษา รวมถึงได้ร่วมแสดงสารคดีหนังสั้นกับโครงการ Cyber scout และร่วมกิจกรรมที่ทางโครงการ Cyber scout จัดขึ้นตามโอกาสที่เหมาะสมต่าง ๆ อีกด้วย

อาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครและส่งผลงานผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.cyberscout.in.th ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2555 ” นายสมบูรณ์ กล่าว

View :1330