Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที จับมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินหน้าภารกิจป้องปรามอาชญากรรมทาง ICT

September 27th, 2012 No comments

นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเตรียมความพร้อมการปฏิบัติราชการ ในปี พ.ศ.2556 ระหว่าง สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า การหารือร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย รวมทั้งความพร้อมในการปฏิบัติราชการของปี พ.ศ.2556 และความพร้อมของภารกิจที่ต้องก้าวเดินต่อไปในอนาคตร่วมกันระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการเตรียมตัวเพื่อก้าวเดินสู่อนาคตในโลกดิจิตอล รวมถึงโลกของการสื่อสาร โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีบทบาทในการร่วมดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ที่ปรากฏในโลกไซเบอร์หรือระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน เด็ก เยาวชน และประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง

“กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ปอท. สตช. จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อขอรับทราบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้ร่วมดำเนินงานมาอย่างพากเพียร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และร่วมเสียสละทำงานเพื่อบ้านเมือง รวมถึงปกป้องสถาบันอันเป็น ที่เคารพรัก ตลอดจนดูแลประชาชน เด็กเยาวชน และสังคม โดยรวมตลอดมา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในการหารือจะมุ่งประเด็นภารกิจ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการงบประมาณ ตัวชี้วัด การประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานของ ปท. และ ปอท. ที่ต้องการให้มีเอกภาพร่วมกันในการสร้างระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการทำงานให้สามารถตอบสนอง และดูแลประชาชนได้ พร้อมกันนี้ ยังมีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” นายไชยยันต์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น เริ่มตั้งแต่การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการปฏิบัติงานในการสืบสวน สอบสวน การจัดทำหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อรูปคดี การวางแผนปฏิบัติการจับกุม การปฏิบัติการจับกุม การฝึกอบรมหลักสูตรทางเทคนิค การฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การร่วมพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ การแบ่งบันร่วมใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทาง ICT ต่อการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะต่อประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและรูปแบบอาชญากรรมทาง ICT เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานในภาพรวมนั้นคล้ายคลึงกัน แต่มีความโดดเด่นที่ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยปอท. มีความโดดเด่นในด้านจำนวนบุคลากรที่สามารถรองรับการทำงานจำนวนมาก และกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีภารกิจในการดำเนินงานด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางมากกว่า พ.ร.บ.ฯ นอกจากนี้ ปอท. ยังสามารถสร้างความร่วมมือ หรือร้องขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจสากลได้ จึงสามารถดำเนินการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติได้ พร้อมทั้งสามารถสนับสนุนการทำงานด้านคดีอาชญากรรมอื่นให้กับตำรวจหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ ปท. มีความโดดเด่นในด้านการมีอุปกรณ์และเครื่องมือทาง ICT ต่างๆ ที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานเจ้าของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที ยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญ คือ กสทฯ และ ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายนั้น ต้องร่วมมือกันดำเนินการทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Evidence) เชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยของกระบวนการทำงานของแต่ละธุรกิจ (Business Logic) รวมทั้งเชื่อมโยงถึงงานอาชญวิทยา/พฤติกรรมศาสตร์ (Human Behavior) และสิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ ร่วมกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงได้รับนโยบายความร่วมมือจากผู้บริหารระหว่าง สตช. และ กระทรวงไอซีที ตลอดจนนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในแนวทางความร่วมมือร่วมกัน

“การร่วมมือกันดำเนินงานดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ทาง ICT ระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจ อุ่นใจ ปลอดภัยจากภัยร้ายทาง ICT ทั้งการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยสร้างค่านิยมอันดีงามต่อประชาชนในโลกไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการรับบริการแก้ไขปัญหาจากภัยร้ายที่ชัดเจน โปร่งใส มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจจากผลกระทบทาง ICT ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยสร้างความก้าวหน้าด้าน ICT ในภาพรวมของประเทศให้มากขึ้น” นายไชยยันต์ กล่าว

View :1401

ก.ไอซีที เดินหน้าสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศในหน่วยงานรัฐ

September 27th, 2012 No comments

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ว่า สืบเนื่องจาก พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมหรือการให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มอบหมายก่อน จึงมีผลใช้บังคับได้ และนับตั้งแต่ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 มีหน่วยงานผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว รวมทั้งสิ้น 40 หน่วยงาน จากจำนวนหน่วยงานที่แจ้งขอรับความเห็นชอบทั้งหมด 126 หน่วยงาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31 ของหน่วยงานที่ขอรับความเห็นชอบ

ดังนั้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงาน แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำ รวมทั้งยังไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นจากอะไร หรือทำได้อย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติฯ ของหน่วยงาน และบางหน่วยงานจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการจ้างหน่วยงานภายนอกมาช่วยดำเนินการ กระทรวงฯ จึงได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้สาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ อาทิ เหตุผลความจำเป็นตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ความสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ฝึกทักษะในการประเมินสถานภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานเอง และฝึกทักษะการจัดทำรายละเอียดนโยบายและแนวปฏิบัติด้วย

“การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.2549 รวมทั้ง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการประกันความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่ายบรอดแบนด์และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม ภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติได้อย่างเหมาะสม อาทิ การสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ” นายวรพัฒน์ กล่าว

กระทรวงฯ หวังว่าการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่มีความรู้ทางด้านเทคนิค และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในระดับกระทรวง และกรม ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติฯ รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีการให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้ประโยชน์จากการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างแน่นอน

View :1305

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็น จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการใช้งาน IPv6 ในประเทศไทย

September 23rd, 2012 No comments

นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็น ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน ในประเทศไทย ว่า ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการต่างๆด้าน ICT ตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย นโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โครงการ Free Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายในสถานศึกษา โดยโครงการเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าจำนวนหมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Protocol version 4 (IPv4) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้หมดลงจากส่วนกลางไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา โดยจำนวนหมายเลข IPv4 ที่คงเหลืออยู่สาหรับจัดสรรภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเหลืออยู่น้อยมากและคาดว่าจะหมดลงเป็นภูมิภาคแรกของโลก ส่งผลให้การดำเนินการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไทยเพื่อรองรับแนวนโยบายรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นต้องประสบกับปัญหาหมายเลขอินเทอร์เน็ตมีไม่เพียงพอ ดังนั้น การผลักดันให้มีการใช้งาน Internet Protocol version 6 (IPv6) ในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ประกาศแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนเครือข่ายภายในประเทศของตนไปสู่ IPv6
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ มีนโยบายที่จะผลักดันและสนับสนุนให้มีการใช้ IPv6 ในประเทศไทย ภายใต้ทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อน ICT ของโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้าน IPv6 ที่เป็นมาตรฐานสากลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ด้วยการจัดทำโครงการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทยขึ้น โดยดำเนินการศึกษาแผนกลยุทธ์ด้าน IPv6 จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ศึกษาสถานภาพและความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ รวมทั้งจัดการประชุมระดมสมองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ที่จะจัดทำขึ้นดังกล่าว นอกจากจะมีแผนการดำเนินงาน และระยะเวลาดำเนินงานแล้ว จะมีมาตรการเร่งรัด ผลักดัน ติดตามประเมินผล และเพิ่มศักยภาพบุคลากรอีกด้วย

กระทรวงฯ หวังว่าการประชุมระดมความคิดเห็นสาธารณะฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการฉบับสมบูรณ์ที่มีความชัดเจน และนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

“การใช้ IPv6 นั้นจะเป็นส่วนประกอบสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับโครงข่ายการสื่อสาร ยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีความทั่วถึง ทันต่อเทคโนโลยี และมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับกับระบบงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Smart-Government) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ นโยบาย Free WiFi และนโยบาย One Tablet Per Child รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมให้กับบริการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้ง 3G, LTE และ IPTV เป็นต้น” นางเมธินี กล่าว

View :1338

ก.ไอซีที จัดซื้อแท็บเล็ตเพิ่มจาก เซิ่นเจิ้น สโคปฯ อีก 54,945 เครื่อง

September 23rd, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) เพิ่มเติม ภายใต้โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา ระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ซายเอ็นทิฟิก ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Shenzhen Scope Scientific Development Co.,Ltd) ว่า กระทรวงฯ ได้ทำการสั่งซื้อเพิ่มเติม หรือ Repeat Order โดยทำสัญญาจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตกับบริษัท ในส่วนที่เหลือตามสัญญาจัดซื้อลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่ระบุว่า กระทรวงฯ สามารถทำ คำสั่งซื้อเพิ่มเติมสำหรับเครื่องแท็บเล็ต จำนวนไม่เกิน 1,000,000 เครื่อง โดยกระทรวงฯ ได้เคยทำสัญญา Repeat Order ครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 จำนวน 403,941 เครื่อง ส่วนการลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องแท็บเล็ตเพิ่มเติมในครั้งที่สองนี้ กระทรวงฯ ได้สั่งซื้อเป็นจำนวน 54,945 (ห้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยสี่สิบห้า) เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 4,505,490 USD (สี่ล้านห้าแสนห้าพันสี่ร้อยเก้าสิบดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 135,164,700 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบห้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยบาท) โดยหากรวมเครื่องแท็บเล็ต ทั้งหมดที่กระทรวงฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 858,886 เครื่อง

สำหรับสัญญาสั่งซื้อเครื่องแท็บเล็ตเพิ่มเติมในครั้งที่สองนี้ มีนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายธารธรรม อุประวงศา ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐาน สำนักส่งเสริมและพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ลงนามเป็นพยาน ส่วนฝ่ายจีนมี Mr.Liu Jun ประธานบริษัทฯ เป็นผู้ลงนาม และตัวแทนสถานทูตประเทศจีนประจำประเทศไทย ลงนามเป็นพยาน
โดยบริษัท เซิ่นเจิ้น สโคปฯ ได้ดำเนินการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตตามสัญญาจัดซื้อล็อตแรก จำนวน 400,000 เครื่อง ครบแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ขณะที่เครื่องแท็บเล็ตที่ได้จัดซื้อเพิ่มเติม (Repeat Order) ครั้งที่ 1 จำนวน 403,941 เครื่องนั้น บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคปฯ ได้จัดส่งมาแล้วจำนวน 141,304 เครื่อง และจะทยอยส่งมอบพร้อมกับเครื่องแท็บเล็ตที่จัดซื้อเพิ่มเติมครั้งที่สองนี้ ภายในวันครบกำหนดส่งมอบ คือ วันที่ 30 กันยายน 2555

ด้านคุณลักษณะของเครื่องแท็บเล็ตนั้น เป็นไปตามรายละเอียดที่ได้ระบุไว้ในสัญญาจัดซื้อครั้งแรกฉบับที่ 208/2555 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 คือ เป็นหน้าจอแบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว มีหน่วยบันทึกข้อมูล 8 GB มีหน่วยประมวลผลกลางมีความเร็วสัญญาณนาฬิกา (Clock speed) 1.2 GHz มีหน่วยความจำหลัก (RAM) จำนวน 1 GB ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 แบบ Ice Cream Sandwich และใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Polymer ขนาดความจุ 3600 mAh มีการรับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี

View :1676

ก.ไอซีที จับมือ ไอทียู จัดประชุม WTIM 2012 เพื่อพัฒนางานด้านสถิติและตัวชี้วัด ICT ระดับสากล

September 12th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศปี ค.ศ. 2012 ว่า กระทรวงไอซีที ร่วมกับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) กำหนดจะจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 ประจำปี ค.ศ. 2012 (World Telecommunication/ICT Indicators Meeting : WTIM 2012) ขึ้นระหว่างวันที่ 25 -27 กันยายน 2555 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิรลด์ กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอค่าสถิติต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวง หน่วยงานสถิติแห่งชาติ ผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม/ ICT ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม/ ICT นักวิชาการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและการจัดทำตัวชี้วัดสังคมสารสนเทศ จากประเทศสมาชิก ITU จำนวน 193 ประเทศทั่วโลก รวมประมาณกว่า 400 คน ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับความรู้รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและสามารถนำไปพัฒนาหน่วยงานของตนเอง เพื่อเตรียมตัวรองรับ AEC ในปี ค.ศ. 2015

“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงานว่าบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดที่มีอยู่นั้นแสดงว่าประชากรโลกมีแนวโน้มการเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรโลกสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ส่งผลให้การใช้งานแบนด์วิธของโลกเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา เอเชีย และแอฟริกา และการใช้เทคโนโลยีไร้สายก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 6 พันล้านหมายเลข โดยมีประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 สามารถเข้าถึงโครงข่าย 2G ขณะที่ร้อยละ 45 เข้าถึงโครงข่าย 3G ได้

สำหรับประเทศไทยนั้น เคยเป็นต้นแบบของการพัฒนาทางด้าน ICT ในพื้นที่ห่างไกล (ICT in village) และเป็นที่ยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึง ICT ของประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล แต่ปัจจุบันอันดับการแข่งขันและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 หรือ พ.ศ.2549 จากที่ Network Readiness Index ของไทยเคยอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2006 ได้ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 77 ในปี 2012 รวมทั้งการกระจายตัวของ ICT ก็จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มากกว่าในต่างจังหวัดหรือชนบท โดยกรุงเทพมหานครมีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ร้อยละ 35.6 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเพียงร้อยละ 7.3” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ดังนั้น การจัดทำสถิติและตัวชี้วัดต่างๆ ให้ครอบคลุม โดยจัดเก็บข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ รวมทั้งประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ และกระทรวงฯ ยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการจัดเก็บข้อมูลในระดับบุคคลและครัวเรือน ซึ่งข้อมูลในระดับย่อยดังกล่าวนี้ มีความสำคัญอย่างมากเพราะหากรัฐได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและตรงจุดก็จะสะท้อนภาพที่แท้จริงของการพัฒนาทั้งในระดับภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ที่แสดงสถานการณ์ด้านโทรคมนาคมและ เทคโนโลยีสารสนเทศ อันจะช่วยให้กระทรวงฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบถึงปัญหาและจุดบกพร่องในการดำเนินงานที่ผ่านมาและเร่งแก้ไขในจุดดังกล่าว หรือปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันของภาคโทรคมนาคมและ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม WTIM 2012 ครั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นเวทีกลางในการหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ว่าด้วยสถิติและตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การกำหนดตัวชี้วัดและคำจำกัดความ ความท้าทายที่เกี่ยวกับการวัดระดับสังคมสารสนเทศ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำสถิติและตัวชี้วัดด้านนี้ให้สะท้อนความเป็นจริงและครอบคลุมมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและติดตามผลการพัฒนาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ

ส่วนรายละเอียดของการประชุมฯ จะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาทิ การชี้วัดเรื่องบรอดแบนด์ ทั้งด้านราคา ความเร็ว และขีดความสามารถ การชี้วัดพัฒนาการในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามผลการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ ในประเด็นด้านการศึกษา ธุรกิจ และความมั่นคงปลอดภัย การทบทวนและปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับครัวเรือน และการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับบุคคล รวมทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การชี้วัดเรื่องการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และเนื้อหาที่แสดงผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

“การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WTIM 2012 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เน้นย้ำถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะประเทศสมาชิกของ ITU และสมาชิกของสหประชาชาติ พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติและการจัดทำตัวชี้วัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศได้มีโอกาสในการเข้าร่วมการประชุมระดับโลก อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ ตลอดจนสามารถนำความรู้และผลการประชุมมาปรับใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจที่หน่วยงานนั้นๆ รับผิดชอบด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1605

ก.ไอซีที เดินหน้าจัดกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน

September 12th, 2012 No comments

นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวกิจกรรมการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสารในระดับชุมชนเพื่อมุ่งลดช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 – 2555 เพื่อติดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีความพร้อมและเหมาะสม โดยปัจจุบันสามารถจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ได้เป็นจำนวน 1,880 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกระทรวงฯ มีแผนที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน รวมทั้งยกระดับศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย

“การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงสารสนเทศให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น สร้างแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT และสืบค้นสารสนเทศ พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมด้าน ICT รวมถึงการสร้างห้องเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรับบริการข้อมูลข่าวสาร และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ตลอดจนสร้างประโยชน์แก่สินค้า และอาชีพของชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนจึงเป็นกิจกรรมหลักที่จะนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” นายณัฐพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสามารถให้บริการอย่างยั่งยืนตลอดไปนั้น กระทรวงฯ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในหลายๆ ด้าน ซึ่งด้านหนึ่งที่จะดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่กระทรวงฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2554 และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว คือ การจัด “กิจกรรมการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่เป็นศูนย์นำร่อง ซึ่งมีศักยภาพและความเข้มแข็งในการดำเนินงาน จากนั้นจึงมีการขยายผลเพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ของชุมชนด้วยการใช้สื่อ ICT ที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างมูลค่าสินค้าและบริการของชุมชนผ่านเครือข่ายสังคม (Social Networking) ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา () หรือหมายถึงสังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาดพร้อมที่จะเป็น “พลเมืองโลก” และ “พลเมืองอาเซียน” ในยุคโลกไร้พรมแดน และรองรับการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 3 ปีข้างหน้า ได้อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป

View :1465

ก.ไอซีที พร้อมร่วมมือยกระดับผู้ประกอบการ OTOP

September 6th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ ( Plus) ว่า โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ หรือ PLUS เป็นโครงการที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ริเริ่มขึ้น เพื่อบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานโครงการดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาล กับ 6 หน่วยงาน คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาด ตลอดจนเพื่อพัฒนาและสร้างมาตรฐานผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ในส่วนของกระทรวงไอซีที มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภายใต้สังกัด 2 หน่วยงาน คือ ไปรษณีย์ไทย และ กสทฯ ได้ร่วมมีบทบาทในการสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดธุรกิจแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง ไปรษณีย์ไทย นั้น เป็นหน่วยงานที่ไม่เคยหยุดนิ่งมีการพัฒนาเครือข่ายขนส่งสู่บริการโลจิสติกส์ครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งทั้งระบบ ด้วยการเชื่อมโยงกับทุกโครงข่ายเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า ตอบสนองการทำธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะ SMEs และ e-Commerce ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้อย่างมืออาชีพ สำหรับบทบาทของ ไปรษณีย์ไทย ในโครงการฯ นี้ คือ การอำนวยความสะดวกโดยเปิดช่องทางการสั่งซื้อสินค้า OTOP และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.postshop.co.th และ Call Center 1545 รวมทั้งการนำศักยภาพที่มีอยู่ในด้านเครือข่ายทั่วประเทศ และระบบ logistic มาเป็น ผู้จัดส่งสินค้าให้แก่ผู้สั่งซื้อ

ด้าน กสทฯ นั้น มีพันธกิจในการให้บริการเครือข่ายการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีและการบริการที่ดีที่สุด และเป็นพันธมิตรชั้นนำขององค์กรทั้งในและต่างประเทศในด้านการติดต่อสื่อสาร ส่วนบทบาทของ กสทฯ ในโครงการ OTOP PLUS คือ การจัดทำ e-Commerce System เพื่อให้มีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีการแสดงสินค้าในรูป e-Exhibition การจัดทำ e-Smart OTOP เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อมูลของสินค้าผ่านทาง QR code และสามารถสั่งซื้อซ้ำได้ทาง Smart phone รวมทั้งการจัดอบรมผู้ประกอบการ สมาชิก สสว. กว่า 1,000 ราย เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต

“กระทรวงไอซีที พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการยกระดับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ประชาชนมีทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงสินค้าในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการกระจายสินค้าโดยทำหน้าที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย ส่วนผู้บริโภคก็สามารถซื้อสินค้า OTOP ได้อย่างสะดวกง่ายดายผ่านช่องทางสายด่วนหมายเลข 1545 ซึ่งรับบริการทั้งสั่ง และ ส่ง รวมทั้งผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นความสามารถในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาโครงการฯ ให้ก้าวไปสู่การให้บริการในรูปแบบ Smart OTOP Plus ต่อไปในอนาคต” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1353

ก.ไอซีที เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

September 4th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการขึ้นตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้บริการทั้งการให้ การให้ยืม อุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรมที่ใช้กับคนพิการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงมีห้องฝึกอบรมด้าน ICT ให้กับคนพิการ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล ผู้ดูแล และผู้ช่วยคนพิการ โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานผู้ให้บริการ และมีสำนักงานสถิติจังหวัด รวมทั้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นผู้ให้บริการในส่วนภูมิภาค

นอกจากการจัดตั้งศูนย์ให้บริการฯ ดังกล่าว กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินงานต่างๆ ภายใต้กฎกระทรวงฯ โดยการประสานกับหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวงฯ พร้อมให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ รวมถึงจัดการฝึกอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ จัดทำรูปแบบ (Templet) การพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ จัดการประกวดเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และผลักดันหลักสูตรการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้เข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้จัดงบประมาณ เพื่อจัดการฝึกอบรมให้คนพิการและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ โดยประสานกับสมาคมคนพิการแต่ละประเภทเพื่อร่วมมือกันในการจัดกิจกรรม รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณ 23.5 ล้านบาท เพื่อใช้จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือด้าน ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ ตามบัญชีแนบท้ายของกฎกระทรวงฯ 18 รายการ จำนวน 2,000 กว่าชิ้น ได้แก่ 1.โปรแกรมอ่านหน้าจอ (Screen Reader) 2.เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Braille Printer) 3.โปรแกรมขยายหน้าจอ (Zoom Text) 4.เครื่องคอมพิวเตอร์ 5.เครื่องสแกนเนอร์ 6.อุปกรณ์สื่อสาร 7.เครื่องช่วยสื่อสารพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับ คนพิการ 8.เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ 9.เครื่องอ่านหนังสือสำหรับคนพิการ 10.อุปกรณ์ควบคุมตัวชี้ตำแหน่ง 11.โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับแปลสื่อพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ หรืออักษรเบรลล์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ 12.โปรแกรมคอมพิวเตอร์แปลภาพเป็นอักษร และมีเสียงสังเคราะห์ 13.โปรแกรมคอมพิวเตอร์อ่านหนังสือสำหรับคนพิการ 14.โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการพิมพ์สำหรับคนพิการ 15.โปรแกรมพจนานุกรมสำหรับคนพิการ 16.โปรแกรมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสาร 17. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยในการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับคนพิการ และ 18.ชุดอุปกรณ์สำหรับฝึกการใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์

โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 มาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

View :1770

คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมมือกับ สพธอ. และ สรอ. ผลักดันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย สู่ “Smart Thailand”

September 4th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (.) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) () เพื่อหารือกรอบนโยบายการดำเนินงานร่วมกันในการผลักดันงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและภาคเอกชนให้มุ่งสู่การเป็น “

โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ดำเนินการจัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการบริหาร สพธอ. และคณะกรรมการบริหาร สรอ. ขึ้น เพื่อรับทราบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อแนวทางการผลักดันงานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Thailand ซึ่งองค์การมหาชนทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เป็นหน่วยงานที่กระทรวงไอซีที ตั้งขึ้น เพื่อช่วยผลักดันงานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดย สพธอ. ทำหน้าที่ดำเนินการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความน่าเชื่อถือ และ สรอ. ทำหน้าที่พัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาด้าน ICT ของประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการบริหาร เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร สพธอ. และ สรอ. เพื่อผลักดันงานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการประชุมดังกล่าว ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ตามที่กระทรวงฯ ได้มุ่งเป้าหมายไปสู่การเป็น Smart Thailand ในปี 2020

View :1324

ผลงานกระทรวงไอซีทีในรอบ 1 ปี ภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

August 30th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แถลงผลงานภายหลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครบรอบ 1 ปี ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและนโยบายเร่งด่วนที่ดำเนินการในปีแรก การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินงานอื่นๆ ของหน่วยงานในกำกับ ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงฯ โครงการอื่นๆ ที่กระทรวงฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี และผลการดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ด้าน ICT กับต่างประเทศ

ในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐในเรื่องการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และการพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีแรก คือ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในเรื่องการสร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ

โดย กระทรวงฯ ได้ดำเนินการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ได้แก่ การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ผ่านโครงการถวายพระพรออนไลน์ รวมทั้งการสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ และกิจกรรมพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกอินเทอร์เน็ต โดยการจัดตั้ง Cyber Security Operation Center หรือ ศูนย์ CSOC การจัดตั้งเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเทิดทูนและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมโดยใช้หลักการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย การประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศเพื่อระงับการเผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และโครงการลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) โดยการสร้างอาสาสมัคร Cyber Scout เพื่อพ่อหลวง จำนวน 102,082 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวังสิ่งที่ไม่เหมาะสมและภัยในอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้น ยังมีโครงการจัดทำศูนย์บริการประชาชน ICT (One Stop Service) โครงการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพ ด้วยราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม โครงการ Free Public WiFi โดยวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Wi-Fi) ซึ่งในปี 2555 ติดตั้งให้บริการจำนวน 30,000 จุดในปี 2555 และในอนาคตจะขยายบริการทั่วประเทศ 250,000 จุด

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้มีการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (GIN) การวางระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การจัดทำ Smart Card Application การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน ICT โดยการจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การจัดตั้งคณะกรรมการผู้บริหาร ICT ระดับสูงภาครัฐ การยกระดับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปสู่ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ การวางแนวทางดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจในกำกับ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน

และกระทรวงฯ ยังได้ดำเนินนโยบาย ใน 3 ด้าน คือ 1. Smart Network ดำเนินการศึกษาเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยการพัฒนาและขยายโครงข่าย Smart Network ด้วยการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้งานจาก IPv4 ไปสู่ และการทดสอบเทคโนโลยี“4G Thailand The First 100 Mbps” ด้วย

2. Smart Government ได้ดำเนินการขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) การจัดทำโครงการ Government Cloud Service และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับเด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS : Multiple Indicator Cluster Survey) 3. Smart Business ดำเนินการป้องกันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT) การจัดทำ e-CERTIFICATE เพื่อการรับรอง Print out การส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรองรับการทำการค้าระหว่างประเทศ

ด้านการดำเนินงานของหน่วยงานในกำกับที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย นั้น ได้มีการดำเนินการในเรื่อง การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้เกิดความยั่งยืน การพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส การรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ร่วมกับมหาวิทยาลัย 26 แห่ง การส่งเสริมการนำโปรแกรมโอเพนซอร์สไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรมต่อยอดของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และผู้ใช้ซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ โครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี โดยร่วมดำเนินการกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ติดตามการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จัดตั้ง Emergency Call Center โดยใช้เลขหมายโทรศัพท์ 192 ดำเนินการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบส่งข้อความสั้น พัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศและเตือนภัยธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพยากรณ์อากาศและการเตือนลักษณะอากาศร้าย

สำหรับโครงการอื่นๆ ที่กระทรวงฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนั้น ได้ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการ Smart Province ในจังหวัดนครนายก ซึ่ง กสทฯ ได้ร่วมดำเนินการขยายโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วขนาด 48 Core ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดนครนายก ขณะที่ ได้ร่วมสนับสนุนการนำร่องการบริหารงานราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้เข้าถึงประชาชนในระดับหมู่บ้าน และ ซิป้า ได้ดำเนินการจัดทำซอฟต์แวร์สนับสนุน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบจังหวัดอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกหนึ่งโครงการ คือ การจัดทำหลักสูตร CIO โดยพัฒนาหลักสูตรการวางแผนและการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและเตรียมความพร้อมของผู้เรียนสู่ตำแหน่ง CIO ขององค์กร ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนการดำเนินงานสร้างความสัมพันธ์ด้าน ICT กับต่างประเทศ กระทรวงฯ ได้ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 11 รวมทั้งร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2 และกระทรวงฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ ทั้งการประชุม GSMA Ministerial Programme 2012 การประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการลดภัยพิบัติในภูมิภาคโทโฮคุ การประชุม World Economic Forum on East Asia (WEFEA) การประชุม The 8th Ministerial Forum during the Infocomm Media Business Exchange การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN CIO Forum 2012 และการประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12) รวมถึงการประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ค.ศ. 2012 (World Telecommunication/ ICT Meeting 2012 หรือ WTIM 2012) ระหว่างวันที่ 25 -27 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้อีกด้วย

View :1447