Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที เสริมความรู้โครงข่ายโทรคมนาคมในยุคหน้า หวังสร้างโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันได้โดยไร้ตะเข็บ

August 29th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ว่า ตามกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 -2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ภายในปี 2563 โดยให้การบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ อย่างมีคุณภาพและมั่นคงปลอดภัย ซึ่งจะเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมปัจจุบันไปสู่โครงข่ายโทรคมนาคมในยุคหน้า (Next Generation Network : NGN) เพื่อให้มีโครงข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไร้ตะเข็บ เสมือนเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ

“กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมจากยุคปัจจุบันไปสู่ NGN เป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการหลอมรวมของเทคโนโลยี รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ ทุกที่ ทุกเวลา สำหรับการติดต่อสื่อสารในอนาคต อันเป็นการเปิดประตูไปสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอาชีพแบบใหม่เพิ่มขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเสมอภาค และลดช่องว่างการเข้าถึงทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ในด้านการศึกษา การเกษตรกรรม การแพทย์ และการสาธารณสุข

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ตามโครงการ Capacity Building in National ICT Development จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “NGN : Advanced Technologies and New Applications for Life” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ของ NGN ในระดับสากลเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพื่อนำเสนอการใช้ประโยชน์จาก NGN ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ในด้านการให้บริการสาธารณสุข การศึกษา การเกษตรกรรมสำหรับประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล” นางจีราวรรณ กล่าว

การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการ ด้านนโยบายและแผนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 100 คน เข้าร่วมการสัมมนาและรับฟังการบรรยายทางวิชาการดังกล่าว

“กระทรวงฯ คาดหวังว่า ผลจากการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักให้หน่วยงานต่างๆ ได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จาก NGN ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งได้เผยแพร่การใช้ประโยชน์ของ NGN ตามกรอบนโยบาย ICT 2020 และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการขยายบริการบรอดแบนด์ไปสู่พื้นที่ชนบท เพื่อให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1570

ก.ไอซีที ศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่ม

August 26th, 2011 No comments

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับการสัมมนาโครงการศึกษาวิจัยภายใต้ความร่วมมือองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ครั้งที่ 1 ว่า กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาต่อยอดจากโครงการที่ประเทศไทยเคยมีความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Space Cooperation Organization – APSCO) ได้แก่ โครงการประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยทางพื้นดินและทางทะเล ภายใต้ความร่วมมือองค์การ APSCO ในปี 2552 และเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ และเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัย ดินถล่มภายใต้ความร่วมมือองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายที่จะศึกษาและวิจัยการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย เนื่องจากดินถล่มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยากต่อการเตือนภัยหรือหลบหนีได้ทัน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตือนภัยทางตรง

“โครงการศึกษาวิจัยฯ นี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งผลศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่สามารถใช้ประเมินโอกาสการเกิดภัยดินถล่มในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยในอนาคต นอกจากนั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือภายใต้ความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกในการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Proposal for spatial data sharing service platform and its application pilot project) ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและระบบเตือนภัย” นายธานีรัตน์ กล่าว

ดังนั้น เพื่อนำเสนอผลงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ กระทรวงไอซีที จึงได้จัดการสัมมนาโครงการศึกษาวิจัยภายใต้ความร่วมมือองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ครั้งนี้ขึ้น โดยเชิญอาจารย์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม จากสถาบันการศึกษา และบุคลากรด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากหน่วยงานภาครัฐ จำนวนประมาณ 50 คน เข้าร่วมการสัมมนา

“กระทรวงฯ หวังว่าผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ครั้งนี้ จะได้รับทราบถึงโครงการแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมภายใต้องค์การ APSCO และแนวทางการประยุกต์ใช้งานเพื่อกิจการด้านภัยพิบัติ รวมทั้งได้ติดตามความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาของโครงการฯ ตลอดจน ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือและการวิจัยต่อยอด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างให้เกิดเครือข่ายองค์ความรู้ในด้านการวิจัยและการพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อสามารถประยุกต์ใช้งานข้อมูลดาวเทียมในการพัฒนาระบบแจ้งการเตือนภัยในอนาคต” นายธานีรัตน์ กล่าว

View :1433

ก.ไอซีที จับมือ สปริง นิวส์ เพิ่มช่องทางการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ

August 22nd, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ “การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยพิบัติ” ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและ บจ. สปริง คอร์ปอเรชั่น ว่า ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) เป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากในการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นได้ทวีความรุนแรง และสร้างความเสียหายครอบคลุมไปในพื้นที่หลายจังหวัด โดยเฉพาะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ที่ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยศูนย์เตือนภัยฯ ได้ร่วม ลงนามบันทึกความเข้าใจ “การแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยพิบัติ” กับ บจ. สปริง คอร์ปอเรชั่น เพื่อเพิ่มช่องทางหลักอย่างเป็นทางการในการเผยแพร่ข้อมูลการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติไปยังสาธารณชน โดยการใช้สถานีโทรทัศน์ “” (Spring News) เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ภารกิจ และความสำคัญของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นไปยังสาธารณชน ผ่านทางเครือข่ายการรับชมของสถานีโทรทัศน์สปริง นิวส์ และเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงระบบข่าวสั้นเตือนภัย (เอสเอ็มเอส) พร้อมกันนี้ยังเป็นการสนับสนุนและร่วมมือกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ให้กับสาธารณชน เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาบุคลากร และระบบแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับสถานีโทรทัศน์ “สปริง นิวส์” เป็นสถานีข่าว 24 ชั่งโมง ออกอากาศทั้งระบบ C-Band และ KU-Band ผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม THAICOM 5 และ NSS6 พร้อมเครือข่ายเคเบิลทุกจังหวัด ครอบคลุมผู้ชมโทรทัศน์กว่า 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และสามารถรับชมได้ทาง Internet และ Social Network

View :1386

ก.ไอซีที ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

August 19th, 2011 No comments


นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วย พลเอกพหล สง่าเนตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวกับภัยคุกคามที่มาจากไซเบอร์ โดยการระดมผู้บริหาร ผู้ดูแลระบบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 400 คน มาร่วมสัมมนาฯ วางแผนปฏิบัติการป้องกันภัยคุกคามที่มาจากไซเบอร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการป้องกันภัยคุกคามดังกล่าว ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีการป้องกันภัยคุกคามที่มาจากไซเบอร์ รวมถึงการวิจัยทางด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย ที่ส่งผลให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติในที่สุด

View :1883

ก.ไอซีที เชิญชวนประชาชนใช้บริการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111

August 19th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน ( : ) ว่า ปัจจุบัน ได้ให้บริการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้ง 20 กระทรวง และอีก 13 หน่วยงานอิสระ โดยได้มีการประสานกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลในการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อนำเข้าข้อมูลที่ทันสมัยพร้อมให้บริการแก่ประชาชนอยู่ตลอดเวลา โดยแต่ละเดือนมีจำนวนสายเรียกเข้าเฉลี่ยประมาณ 600,000 ครั้ง ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนจำนวนสายเรียกเข้าเป็นบริการสอบถามข้อมูลประมาณร้อยละ 70 และบริการรับเรื่องร้องเรียน ประมาณร้อยละ 30

สำหรับข้อมูลที่ประชาชนส่วนใหญ่สนใจสอบถามนั้นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน ครั้งแรก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต การนำเงินบำนาญตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ซึ่ง GCC 1111 ได้มีการปรับปรุงในระบบเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าวประจำวัน ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเศรษฐกิจและพยากรณ์อากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้ได้ตามที่เกณฑ์มาตรฐานการให้บริการข้อมูลข่าวสารเพื่อการควบคุมคุณภาพการให้บริการของ GCC 1111 เพื่อให้ตอบสนองบริการต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้พัฒนาคุณภาพของพนักงานรับสายอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดอบรมเพื่อมุ่งเน้นเพิ่มองค์ความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน รวมถึงการให้องค์ความรู้และพัฒนาการให้บริการกับพนักงานรับสายที่เข้าทำงานใหม่ เช่น หลักสูตรคุณภาพในการให้บริการ หลักสูตรทักษะการให้บริการงาน Call Center หลักสูตรจิตวิทยาในการทำงาน หลักสูตรองค์ความรู้ของกระทรวง เป็นต้น

“GCC 1111 ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำความตกลงสร้างเครือข่ายร่วมกับศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Call Center 1161) โดยการจัดให้มีทีมงานให้บริการข้อมูลด้านภาษีแก่ประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงเจ้าหน้าที่ได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้มีการหารือร่วมกับสำนักงาน ตรวจคนเข้าเมือง ถึงแนวทางในการเชื่อมโยงการให้บริการ โดยเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถติดต่อผ่านเลขหมาย 1178 ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือสามารถติดต่อมายัง GCC1111 เพื่อขอใช้บริการได้เช่นกัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะได้มีการพิจารณาทำความตกลงในการพัฒนาการให้บริการร่วมกันต่อไป” นางจีราวรรณ กล่าว

ปัจจุบัน GCC 1111 ได้เปิดบริการสอบถามข้อมูลทั่วไป ข้อมูลสถานที่ เลขหมายเพื่อการติดต่อ และรับเรื่องร้องเรียน ให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อได้ใน 4 ช่องทาง คือ โทรศัพท์หมายเลข 1111 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับสายทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง อีเมล์ contact_1111@gcc.go.th เว็บไซต์ www.gcc.go.th และ โทรสารหมายเลข 1111

“กระทรวงไอซีที ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปใช้บริการสอบถามข้อมูลจาก GCC 1111 ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร และบริการจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาไว้ ณ จุดเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการสอบถามข้อมูลต่างๆ ผ่านเลขหมาย GCC 1111 เพียงเลขหมายเดียว”

View :1558

คณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

August 12th, 2011 No comments

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยมี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (แถวที่ 2 ลำดับที่ 3 จากซ้าย) เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย

View :3407

กระทรวงไอซีที ร่วมประชุมสภาบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก

August 12th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้เข้าร่วมการประชุมสภาบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2554 หรือ 2011 Asian Pacific Postal Union Executive Council Meetings () ณ กรุงอูลันบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย

“APPU EC Meetings เป็นการประชุมประจำปีของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารและการปฏิบัติการไปรษณีย์ในภูมิภาค รวมทั้งการงบประมาณของสหภาพฯ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไปรษณีย์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union – UPU)” นางจีราวรรณ กล่าว

โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะ การประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานด้านต่างๆ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการบริหาร (Governing Board: GB) ของวิทยาลัยการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian Pacific Postal College: APPC) ซึ่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย เป็นประธานกรรมการฯ โดยจะมีการนำผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (APPU Congress) ในการประชุม APPU Congress สมัยที่ 11 ซึ่งกำหนดจะจัดให้มีขึ้นในปี 2555 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

สำหรับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 32 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน ดารุส-ซาลาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น ลาว สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า นาอูรู เนปาล นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ซามัว สิงคโปร์ หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา ไทย ตองกา วานูอาตู และเวียดนาม

View :1449

ก.ไอซีที เปิดตัวเว็บท่า www.pwdsthai.com สำหรับคนพิการ เพื่อบูรณาการข้อมูลสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม

August 11th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดใช้งานเว็บท่าสำหรับคนพิการ ว่า กระทรวงไอซีทีมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับคนพิการ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการพัฒนาเว็บท่า (Web Portal) สำหรับคนพิการ ในชื่อว่า เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลให้คนพิการ ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

“เว็บท่าสำหรับคนพิการนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การใช้ชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมในสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนพิการกับหน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับจุดเด่นของเว็บท่าสำหรับคนพิการ คือ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วยเทคนิค TWCAG 2.0 เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นลักษณะ One Stop Service เช่น ข่าวสารแวดวงคนพิการ ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ สถิติข้อมูลคนพิการ สุขภาพกายและจิตใจของคนพิการ บริการด้านการศึกษาของคนพิการ บริการด้านอาชีพของคนพิการ บริการด้านกีฬาและนันทนาการของคนพิการ บริการด้านสังคมของคนพิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ระบบให้ – ยืมคืนอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบจัดเก็บข้อมูลครุภัณฑ์คนพิการที่ดำเนินการติดตั้ง ณ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น เพื่อให้สอดรับกับการออกกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีผลให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต้องจัดทำข้อมูล ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐมากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้จัดทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานสำหรับคนพิการตามมาตรฐาน TWCAG ดังนั้น ในเว็บท่าสำหรับคนพิการนี้จึงมีข้อมูลความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถศึกษาและปรับปรุงเว็บไซต์ตามมาตรฐาน TWCAG อีกทั้งเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

ส่วนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาเว็บท่าสำหรับคนพิการนั้น กระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่คนพิการและผู้สนใจทั่วประเทศ โดยจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwdsthai.com

View :1646

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นภาคเอกชนพัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและตลาด ICT ไทย

August 2nd, 2011 No comments

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทย ว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อทุกระบบและภาคส่วนของประเทศ ทั้งระบบการเงิน การศึกษา การค้า และการติดต่อสื่อสาร ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาและการเสริมสร้างศักยภาพของทุกภาคส่วนจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศแทบทั้งสิ้น ซึ่งในการพัฒนานั้นจำเป็นต้องมีการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงทุกๆ ด้านของโครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้นๆ

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องมีการจัดทำโครงสร้างอุตสาหกรรมฯ ทั้งระบบ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทย ( : ) ที่ประกอบด้วยการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ และการจัดทำศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุตสาหกรรมและการตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้ประสานและจัดทำกรอบความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย

“กระทรวงฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำโครงสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย จึงได้ดำเนินโครงการฯ นี้ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT ของไทยให้สามารถก้าวหน้าพัฒนาเข้าสู่ระดับสากล แต่ในการดำเนินการพัฒนาระบบจำเป็นต้องได้รับแนวคิด ข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการ เพื่อที่จะนำมาพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานข้อมูล รวมทั้งเพื่อจัดทำเป็นนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง” นายวรพัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันโครงการฯ นี้ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบระบบต้นแบบ ดังนั้น สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้เห็นควรที่จะต้องดำเนินการจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมและศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุตสาหกรรมและการตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระดมข้อคิดเห็นต่างๆ จากผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อนำความต้องการจากภาคเอกชน มาวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและการตลาด ICT ของประเทศไทย

“งานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนในภารกิจและนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของภาครัฐ รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนและนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลอุตสาหกรรมและตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ยังเป็นการระดมข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและการตลาด ICT ของประเทศไทย อีกด้วย ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดงานสัมมนาดังกล่าวขึ้น 2 ครั้งโดยเลือกจัดในภูมิภาคที่มีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม ICT อยู่จำนวนมาก คือ ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่จังหวัดนครราชสีมา และได้เชิญผู้ประกอบการฯ จากทั้ง 2 จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งสิ้น 100 คนเข้าร่วมงาน” นายวรพัฒน์

View :1360

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมเตรียมความพร้อมป้องกันและรับมือการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ

July 22nd, 2011 No comments


นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานการสัมมนา เชิงปฏิบัติการผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ที่อาจจะมีต่อสาธารณูปโภคพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนในกรุงเทพมหานคร ด้านกฎหมาย วิศวกรรม และการบริหารความเสี่ยง ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานคร 770 กิโลเมตรแต่ทำให้เกิดการสั่นไหวของอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากชั้นดินของกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อนทำให้ความรุนแรงขยายตัวได้ 3 – 5 เท่าตัว และหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดรุนแรง หรือใกล้กับกรุงเทพมหานครมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ก็อาจส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นวงกว้างเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมื่อปี พ.ศ. 2528 เพราะมีสภาพของชั้นดินเป็นดินอ่อนลักษณะเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กรุงเทพมหานคร จึงร่วมมือกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จัดการสัมมนาระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือการเกิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“การสัมมนาฯ ครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้แนวทางยุทธศาสตร์สำหรับการรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร จากแผ่นดินไหวระยะไกล ทั้งด้านกฎหมาย วิศวกรรม และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย การบรรยายภาพรวมของแผ่นดินไหวที่อาจจะมีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร ความเสี่ยงจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกลที่อาจจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร แนวทางในการลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชน การสร้างการรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อบรรเทาภัยจากความรุนแรง เป็นต้น โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 24 คน มาให้ความรู้ รวมทั้งมีการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อวางแนวทางยุทธศาสตร์สำหรับการรับมือด้วย ซึ่งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ระดมสมองเพื่อกำหนดแผนที่ยุทธศาสตร์หลัก และแนวทางแผนปฏิบัติการ (Roadmap and Strategic Action Plans) สำหรับการรับมือกับแผ่นดินไหว ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแนวทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องข้อกำหนดทางอาคารของกรุงเทพมหานคร ที่จะสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ โดยแนวทางยุทธศาสตร์ฯ ที่ได้นี้ จะนำไปใช้เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือการเกิดแผ่นดินไหวต่อไป” นายธานีรัตน์ กล่าว

View :1500