Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที เตรียมพร้อมซักซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

July 21st, 2011 No comments

นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 1 ตามโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามการกระทำความผิดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้นเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ทั้งภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้ / เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล สถาบัน หรือก่อความไม่สงบ ภัยคุกคามที่เกิดจากโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นด้วยความประสงค์ร้าย ที่มุ่งให้เกิดความขัดข้องหรือเสียหายกับระบบ ภัยคุกคามที่เกิดจากความพยายามบุกรุก / เจาะเข้าระบบ หรือระบบถูกครอบครองโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ เป็นต้น

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบดังกล่าว ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามการกระทำความผิดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และจัดกิจกรรมการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมรับมือภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในหน่วยงานระดับกระทรวงฯ รวมทั้งเพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือเมื่อเกิดภัยคุกคามฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมความเสียหาย แก้ไข และกู้คืนระบบได้ตามกรอบขั้นตอนการปฏิบัติงานที่วางไว้ ตลอดจนเพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งนโยบายหรือมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านกฎหมาย ด้านบุคลากร และระบบที่พร้อม  ใช้งานเพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าวอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามฯ นั้น ได้มีการจำลองเหตุการณ์ภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยให้ผู้แทนหน่วยงานของรัฐระดับกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการซักซ้อมในบทบาทสมมติ เช่น ผู้พบเหตุ / ผู้แจ้งเหตุ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง / ผู้บริหารฝ่ายงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน ผู้ดูแลระบบของหน่วยงานที่ถูกภัยคุกคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และให้เผชิญกับสถานการณ์จำลองที่กำหนด นั่นคือ ภัยคุกคามที่เกิดจากระบบของหน่วยงาน  ถูกเจาะ และมีเว็บไซต์เลียนแบบหน่วยงานอื่นติดตั้งอยู่ ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขปิดเว็บไซต์เลียนแบบดังกล่าวโดยด่วน เป็นต้น

“ในการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามฯ นั้น ต้องยึดรูปแบบและขั้นตอนตามกรอบการปฏิบัติงานที่วางไว้ โดยเริ่มจาก 1.การระบุเหตุและรายงานภัยคุกคามฯ เพื่อตรวจสอบและบันทึกภัยคุกคามฯ ประเมินผลกระทบ และระบุถึงหน่วยงาน / บุคคลที่เกี่ยวข้องในการ  แจ้งเหตุและรับมือภัยคุกคามฯ 2.การควบคุมภัยคุกคามฯ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามฯ ให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดและป้องกันไม่ให้มีการลุกลามหรือขยายวงไปยังจุดอื่นๆ 3.การแก้ไขเหตุและกำจัดเหตุของภัยคุกคามฯ ที่เกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามในลักษณะเดิมซ้ำอีก 4.การกู้คืนระบบ ให้อยู่ในสภาพการให้บริการแบบปกติ และ 5.กิจกรรมภายหลังการคุกคามฯ เป็นการประเมินผลในการดำเนินการรับมือภัยคุกคามฯ รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ และบันทึกรายงานการดำเนินงาน เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบและใช้เป็นกรณีศึกษาในภายหลัง” นางเมธินี กล่าว

ส่วนหน่วยงานที่เข้าร่วมการซักซ้อมรับมือภัยคุกคามฯ ครั้งนี้ มีจำนวน 26 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานระดับกระทรวง 18 กระทรวง และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอีก 7 หน่วยงาน

View :1452

คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เห็นชอบแนวนโยบายรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ 8 หน่วยงาน

July 19th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  เปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมอีก 2 หน่วยงาน ทำให้มีหน่วยงานของรัฐที่ได้จัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จำนวน 8 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารออมสิน กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

“การจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 มาตรา 5 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการใดใด ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานของรัฐ หรือโดยหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยและเชื่อถือได้  รวมทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งแนวนโยบายและแนวปฏิบัติฯ ที่จัดทำขึ้นนั้น อย่างน้อยจะต้องมีเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานสารสนเทศ การจัดให้มีระบบสารสนเทศและระบบสำรองของสารสนเทศที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉินในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อให้สามารถใช้งานสารสนเทศได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ” นางจีราวรรณ กล่าว

หลังจากกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศแล้ว  หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำเป็นประกาศ เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้  โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่แจ้งการดำเนินงานไว้ 79 หน่วยงาน คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว 8 หน่วยงาน รอการนำเสนอคณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัย 6 หน่วยงาน ส่งเรื่องคืนเนื่องจากการดำเนินงานไม่ครบถ้วน 6 หน่วยงาน และอยู่ระหว่างการตรวจและประสานงานอีก 59 หน่วยงาน

“การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการนำกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ มาบังคับใช้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนที่ต้องกระทำและในส่วนที่ต้องงดเว้นการกระทำ เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

นอกจากนั้นคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ให้กับบริษัทเอกชน จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด บริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น (IPPS) จำกัด และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

View :1606

ก.ไอซีที จัดอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด

July 14th, 2011 No comments

นายวรพัฒน์  ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชาสัมพันธ์ “หลักสูตรการอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด” ว่า ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ () ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและใช้งานกันอยู่ทั่วไป เช่น ข้อมูลที่อยู่ในรูปของทะเบียน ข้อมูลสถิติ เป็นต้น  และประเภทที่ 2 ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) หมายถึง ข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลก  และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งแสดงอยู่ในรูปของตำแหน่งโดยกำหนดเป็นพิกัด (Coordinate) ข้อมูลดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาในลักษณะที่เป็นข้อมูล จะเรียกว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่

“ในปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่ได้มีกระบวนการจัดทำและผลิตที่ก้าวหน้าไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำและผลิตข้อมูลดังกล่าว  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีความต้องการที่จะนำไปใช้งานในการจัดการเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย ในขณะเดียวกัน ชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ในระบบรหัสเปิด ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่สามารถหามาใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เริ่มมีการใช้งานในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งแม้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักแต่บางส่วนก็มีศักยภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งจัดซื้อมาในราคาแพง แต่ปัญหาที่สำคัญของชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่ระบบรหัสเปิด คือ ใช้งานได้ค่อนข้างยาก และยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าที่ควร  ทำให้ผู้ใช้ยังขาดความคุ้นเคย และไม่กล้าที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง” นายวรพัฒน์ กล่าว

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดด้านภูมิสารสนเทศทั้งระบบขึ้น รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมหลักเป็นการฝึกอบรมชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดให้ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย Desktop GIS, Web-based GIS, Photogrammetry และ Remote Sensing ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและผู้สนใจจากกลุ่มต่างๆ

“การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประยุกต์ใช้ชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานในทุกภาคส่วน และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คำสั่งฯ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน   พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมฯ ทั้งหมดประมาณ 103 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 61 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 18 แห่ง และสถาบันการศึกษา 24 แห่ง” นายวรพัฒน์ กล่าว

View :1502

กระทรวงไอซีที เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Special TELSOM

July 7th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ   บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สมัยพิเศษ ( Special Meeting of ASEAN Telecommunications and Information Technology Senior Officials หรือที่เรียกว่า ขึ้นที่จังหวัดชลบุรี ในระหว่างวันที่ 4 -7 กรกฎาคม 2554 ซึ่งการประชุม ครั้งนี้ ประกอบไปด้วย การประชุมคณะทำงานร่วม ( Join Working Group) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส   โดยได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ การพิจารณาโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน ( ASEAN ICT Master plan 2015) การพิจารณาจัดสรรงบประมาณเงินกองทุน ASEAN ICT Fund และการพิจารณาข้อเสนอโครงการต่างๆ สำหรับปี ค.ศ. 2011 – 2012 เป็นต้น

“สำหรับการประชุมครั้งนี้   มีโครงการที่เสนอโดยประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ได้แก่ โครงการ ASEAN ICT Skill Standard Definitions and Certifications ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานทักษะด้าน ICT ของอาเซียน โครงการ Intra -ASEAN Secure Transactions Framework เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และโครงการ ASEAN e-Government Development Action Plan เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน   ตลอดจนเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน ในปี 2015 อีกด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1596

ตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) คนแรก

July 7th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ   บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ จึงได้ดำเนินการสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานฯ โดยได้มีการแต่งตั้งนางสุรางคณา วายุภาพ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT Policy and ICT Laws) เพื่อทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สพธอ. เป็นคนแรก

“นางสุรางคณา วายุภาพ เป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานและความมั่นคงปลอดภัย ( Standard and ) ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็นกรรมการสมาคม อีกหลายสมาคม เช่น สมาคมความมั่นคงปลอดภัยประเทศไทย ( Thailand Association หรือ TISA) สมาคมเว็บมาสเตอร์ ( Web Master Association) สมาคม Thailand PKI Forum และกรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ( e-Commerce Association) จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งสำคัญนี้” นางจีราวรรณ กล่าว

ด้าน นางสุรางคณา วายุภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมถึง    ทิศทางการทำงานในอีก 4   ปีข้างหน้า ว่า จะมุ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนและมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในภาพรวม โดยการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนามาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัย และการผลักดันกลไกเพื่อเพิ่มทักษะระดับสูงของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งกิจกรรมที่จะดำเนินการนั้นมีทั้งการผลักดันให้เกิดการจัดทำดัชนีสำคัญที่สะท้อนข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการและรัฐบาล การจัดทำกรอบนโยบาย แผนแม่บท และแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแผนระดับชาติทุกแผนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความสอดรับกัน นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการพัฒนาการให้บริการระบบ National Root CA การพัฒนามาตรฐานเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางออนไลน์ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในบทบาทของผู้อำนวยการ สพธอ. ก็คือ การวางแผนและบริหารจัดการให้องค์กรมองเห็นเป้าหมายซึ่งมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนร่วมกัน   การจัดลำดับความสำคัญของงานที่มีผลกระทบระดับสูงซึ่งมุ่งตอบโจทย์ และความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร สพธอ. และมีความสอคคล้องกับภารกิจของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในลำดับต้นๆ   ตลอดจนการให้ความสำคัญในเรื่อง “ คนทำงาน ” ด้วยการสร้าง Career Path ที่ชัดเจนให้กับพนักงานและให้โอกาสกับคนทำงานโดยเท่าเทียมกันอย่างมีธรรมาภิบาล

“สิ่งสำคัญในการบริหารงานตำแหน่งนี้ ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างคนมีไฟ ขยัน และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตื่นตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว กล้าคิด กล้าสร้างสรรค์ และต้องทำงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ เข้มแข็ง มีความหนักแน่น พร้อมเผชิญกับปัญหาและความท้าทายทุกรูปแบบ รวมทั้งสามารถทำงานกับมิตรและเพื่อนร่วมทางหรือเครือข่ายความร่วมมือได้เป็นอย่างดี ตลอดจนมีความตระหนักต่อโจทย์หรือปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กร เพื่อให้พร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างเข้าใจ โดยคำนึงถึงวิธีการแก้ปัญหาหรือหาทางออก   ที่เหมาะสมด้วย” นางสุรางคณา กล่าว

View :1527

ก.ไอซีที จับมือ มรภ.สวนดุสิต จัดอบรมให้ความรู้พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ

July 4th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ   บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ “ ” ครั้งที่ 2 ว่า ปัจจุบันปัญหาสังคมจากโลกออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคม และความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างมาก กระทรวงฯ จึงให้ความสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ ด้วยการจัดทำโครงการ ให้ความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในกฎหมายฉบับนี้   ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างถูกต้อง โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย ศรีปทุม จัดการฝึกอบรมครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรความรู้พื้นฐานและวิธีการเผยแพร่ความรู้ตาม   “ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ” (Training the trainer) สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการ และหลักสูตร “ ” สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยมุ่งเน้นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับรูปแบบการกระทำความผิดตามมาตราต่าง ๆ และบทลงโทษ

แต่เนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังไม่มีการรับรู้ที่เพียงพอ กระทรวงฯ จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดการฝึกอบรม ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ประชาชนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวเกิดการรับรู้มากขึ้น ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับกลุ่มวิทยากรขององค์กร / หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ( ICT 004) และหลักสูตรสำหรับผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต / Admin (ICT 006) เพื่อให้ทราบถึงวิธีการจัดเก็บระบบ log File   รวมจำนวนประมาณ 250 คน

“ การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่ลำพังเพียงกระทรวงไอซีที หน่วยงานเดียวนั้น ไม่อาจจะดำเนินการได้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องแสวงหา ความร่วมมือจาก     ทุกภาคส่วนของสังคม อาทิ สถาบันการศึกษา องค์กร/ หน่วยงานเอกชน ตลอดจนเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ มาเป็น ภาคีเครือข่าย ความร่วมมือ เพื่อร่วมกันสร้างแนวป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยไม่ให้เกิดการกระทำความผิดหรือลดความเสี่ยงที่     เกิดจากคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด และกระทรวง ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตกาลจะได้ขยายความร่วมมือนี้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

View :2318

ก.ไอซีที ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไอซีที

July 1st, 2011 No comments

นางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หลังจากประกาศใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการออกอนุบัญญัติ ได้แก่ กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบใหม่ รวมทั้งได้มีการปรับแก้พระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติต่างๆ เพื่อรองรับกับกฎหมายดังกล่าวอีกหลายฉบับ   โดยในส่วนของกระทรวงไอซีที นั้น ได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ตามมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เช่นกัน ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 และจะมีผลใช้บังคับหลังครบกําหนด 180 วันนับแต่วันประกาศฯ

“ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงไอซีที จึงมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการสื่อสาธารณะ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารที่อยู่ในความควบคุมดูแล โดยให้มีรูปแบบวิธีการ หรือช่องทางที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น การปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ หรือ ซึ่งคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญ คือ การออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม การจัดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร ให้เป็นไปตามความต้องการพิเศษของคนพิการแต่ละประเภท”  นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับประโยชน์ที่คนพิการจะได้รับจากกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ก็คือ การได้รับข้อมูลข่าวสาร  การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ จากหน่วยงานของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งการได้รับบริการจากรัฐ คือ กระทรวงไอซีที ในการขอรับรายการอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการใช้ยืมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์  อุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์ เครื่องปริ้นเตอร์อักษรเบรลล์ เครื่องอ่านหนังสือสำหรับคนพิการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์อ่านหน้าจอ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ขยายจอภาพ เป็นต้น

นอกจากนั้นกฎกระทรวงดังกล่าว ยังจะทำให้คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการได้รับการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร หรือบริการสื่อสาธารณะอย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งการออกกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้คนพิการ ทั้งในเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ การไม่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงปัญหาคนพิการทางสายตาที่ไม่รู้อักษรเบรลล์  โดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ จะต้องมีการพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยผ่านทางเว็บไซต์ รวมทั้งปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีการจัดการฝึกอบรมด้าน ICT ให้แก่คนพิการ จัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกตามความรับผิดชอบทางกฎหมาย ตลอดจนการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ให้แก่ผู้พิการที่ไม่รู้อักษรเบรลล์ อีกด้วย

View :1708

ก.ไอซีที แจงคืบหน้าตั้ง บจ.สินเชื่อไปรษณีย์ไทย

July 1st, 2011 No comments

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งโครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย ว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สินเชื่อไปรษณีย์ไทย จำกัด (สปณ.) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังได้มีหนังสือแจ้งรายชื่อคณะกรรมการของ สปณ.

“นับแต่ได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัท คณะกรรมการ สปณ.ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ เช่น การเลือกตั้งรองประธาน กรรมการ สปณ. การเลือกตั้งรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สปณ. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ สปณ. ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการ สปณ. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ค.54 โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน จากกระทรวงการคลัง ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบงาน IT และกระบวนการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถออกแบบบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด” นายจุติ กล่าว

นอกจากนั้นคณะกรรมการ สปณ. ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารงานบุคคลในเรื่อง การกำหนดโครงสร้าง อัตรากำลัง และแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน   รวมทั้งยังได้พิจารณาวิธีการปฏิบัติงานด้านการเงินของ สปณ. การว่าจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้สอบบัญชี และการทำประชาพิจารณ์   พร้อมกันนี้คณะกรรมการ สปณ. และผู้บริหาร ปณท ได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนกว่า 300 คนที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 โดยได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ รวมถึงรับรู้ความต้องการและทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าการให้สินเชื่อของ สปณ. มิได้เป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาล และไม่ต้องการให้เป็นการเพิ่มภาระหนี้กับประชาชน พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอแนะความคิดเห็น และตอบข้อซักถาม ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ พบว่าประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ มาก่อนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่ ส่วนประชาชนที่ยังไม่เคยกู้เงินจากสถาบันการเงินและแหล่งเงินกู้ใดๆ เลยมีอยู่จำนวนไม่มากนัก เช่น กลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นที่จะกู้เงิน กลุ่มที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน กลุ่มที่อยู่กับพ่อแม่แต่ต้องการแยกครอบครัว กลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น

View :1413

ก.ไอซีที ชี้แจงแนวทางการใช้กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ

June 27th, 2011 No comments


นายวรพัฒน์   ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนมีการจัดทำหรือแปลงเอกสารให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่น่าเชื่อถือได้ จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น 3 ฉบับ คือ ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2553   ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 และประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2553

“นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ประกาศทั้ง 3 ฉบับ หน่วยงานภาครัฐได้มีการกำหนดแนวทางในการนำประกาศดังกล่าวไปปฏิบัติ โดยใช้เวทีการประชุมผู้บริหารสารสนเทศภาครัฐ หรือ CIO Forum ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดนำกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปปฏิบัติ รวมทั้งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานหลักในการนำหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับกระทรวงไอซีที และให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็น หน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนทางด้านเทคนิคและวิชาการแก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการฯ ทั้ง 3 ฉบับได้” นายวรพัฒน์ กล่าว

นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้พยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการฯ อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงได้จัดการประชุมชี้แจงแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น

นางสาวลัดดา   แจ้งเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการฯ ทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นให้หน่วยงานของรัฐใช้ในการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ตลอดจนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐภายใต้มาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ จำนวน 350 คน เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งบุคลากรที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการฯ อย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถนำประกาศคณะกรรมการฯ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐภายใต้มาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินกิจกรรมของรัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

สามารถดาวโหลดกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่ www.etcommission.go.th

View :1572

ก.ไอซีที วางแนวทางใช้ประโยชน์ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน

June 24th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ   บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ตามหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม ว่า จากแนวคิดที่ต้องการจะนำเสนอให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ ได้ทราบว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนขึ้นและมีประโยชน์ต่อผู้ตรวจราชการกระทรวง ในการใช้เป็นกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจราชการร่วมกัน และโครงการศูนย์การเรียนรู้ ก็ยังเป็น     ส่วนหนึ่งของแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 รวมทั้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กำหนดให้โครงการศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนอยู่ใน Value Chain ของเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ( Creative Economy ) จากการมีฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับ 4 กลุ่มธุรกิจของเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ และการมีช่องทางให้ท้องถิ่นรวมถึงชุมชนสามารถเข้าถึงฐานความรู้ ซึ่งประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

“ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละกระทรวงมีส่วนร่วมผลักดันให้มีการนำ    ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนไปต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน และมุ่งหวังให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง   ช่วยผลักดันประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand ด้วยการนำ ICT ไปใช้เป็นฐานองค์ความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์   เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้า OTOP   การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร เป็นต้น   ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ให้กับประชาชนในแต่ละภูมิภาค โดยกระทรวงฯ ได้เชิญหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง   ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้แทนจากหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม จำนวน 50 คน “ นางจีราวรรณ กล่าว

โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน หรือ Thai Tele centre นี้ จัดทำขึ้นภายใต้นโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ต้องการสร้างสังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาดและใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การลดช่องว่างทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนทุกระดับทั้งในเมืองและในชนบท สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความรู้ คุณภาพชีวิต และรายได้แก่ประชาชน ซึ่งกระทรวงฯ ได้เริ่มต้นโครงการนี้มาตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดตั้งศูนย์ฯ ได้ทั้งหมด 1,879 ศูนย์

View :1542