Archive

Archive for the ‘Press/Release’ Category

3G พลิกโฉมการสื่อสารไร้สายของไทย คนกรุงกว่าร้อยละ 89 มีแผนใช้งานในอนาคต

August 15th, 2011 No comments

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจุบัน การสื่อสารโทรคมนาคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคใหม่ นอกเหนือจากการสื่อสารในรูปแบบเสียงแล้ว การสื่อสารในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการสื่อสารที่เน้นข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งภาพและเสียงหรือที่เรียกกันว่ามัลติมีเดียมากยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการในการสื่อสารของยุคนี้ คือ ความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูล ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า (Third Generation)

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายหลักได้มีการเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม (HSPA) มาตั้งแต่ปี 2552 โดยจำกัดขอบเขตในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความคุ้นเคยและได้ทดลองใช้งานบริการ 3G มาก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz จะต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2554 และการประมูลน่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงกลางปี 2555 เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เริ่มทยอยเปิดตัวให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะพลิกโฉมการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการการใช้งานบริการ 3G และบริการเสริมด้านข้อมูลต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

 ผลสำรวจความต้องการใช้บริการ 3G…คนกรุงมีแผนใช้ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5

การเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมตั้งแต่ปี 2552 นับได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความคุ้นเคยในหมู่ผู้บริโภคในการใช้งานบริการ 3G นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และกำหนดยุทธวิธีการทำตลาดในช่วงระยะถัดไปที่จะมีการทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูล หรือแม้แต่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ในระยะที่ผ่านมา พบประเด็นต่างๆ ดังนี้

 คนกรุงเทพฯกำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ร้อยละ 36.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่มีแผนจะใช้งานในอนาคตมีถึงร้อยละ 89.5

จากการสอบถามถึงการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 36.6 กำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ในช่วงที่การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 54.4 ให้ข้อมูลว่ายังไม่เคยใช้งานบริการ 3G มาก่อน โดยมีเหตุผลหลัก คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนไม่รองรับระบบ 3G คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.5 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีแผนที่จะใช้งานบริการ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 85.2 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวจะเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ยังไม่เคยใช้งานบริการ 3G อีกว่า พื้นที่ให้บริการ 3G ยังไม่ครอบคลุม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.3 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก การเปิดให้บริการ 3G ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังคงเป็นลักษณะการทดสอบให้บริการ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักมีแผนที่จะเปิดให้บริการ 3G ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ภายในสิ้นปี 2554 นี้ และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 3 ปี ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ให้บริการ 3G มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังไม่เคยใช้บริการ 3G มีแผนที่จะใช้บริการในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้บริการในปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G รวมไปถึงผู้ให้บริการเสริมด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

 ร้อยละ 80 ของผู้ใช้งานบริการ 3G ในปัจจุบัน ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปัจจุบัน การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานบริการ 3G สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หลากหลาย ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เน็ตบุ๊ค แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คผ่านแอร์การ์ด 3G จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯราวร้อยละ 80 ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีสัดส่วนการใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 84.8 ของผู้ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในการถือครองสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการพัฒนาบริการเสริมทางด้านข้อมูลใหม่ๆในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทแท็บเล็ต ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานบริการ 3G ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวถึงร้อยละ 13.0 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจาก ฟังก์ชั่นการทำงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า ขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ และสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ประกอบกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 ผลสำรวจบริการด้านข้อมูล…คนกรุงต้องการช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เน้นมัลติมีเดีย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 บริการด้านข้อมูลมีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 24.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล ในขณะที่ปี 2554 บริการด้านข้อมูลมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงสนับสนุนจากการทยอยเปิดตัวการให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ประกอบกับการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม ซึ่งจะมีส่วนผลักดันการใช้งานบริการด้านข้อมูลให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น โดยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.8 ของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯต่อบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 71.6) รองลงมาคือ ชมทีวีออนไลน์ (ร้อยละ 64.7) บริโภคข่าวสาร (ร้อยละ 59.3) และฟังเพลงออนไลน์ (ร้อยละ 54.7) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานเครือข่าย 3G เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ในการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง ทั้งนี้ เพื่อการอัพเดทข้อมูลกิจกรรมที่ตนทำอยู่ให้แก่เครือข่ายเพื่อนฝูง หรือเพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว รวมไปถึงการบริโภคข่าวสารในรูปแบบมัลติมีเดีย ซึ่งบริการกลุ่มนี้ค่อนข้างเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่บริการที่ค่อนข้างมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ธนาคารบนมือถือ การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะมีผู้สนใจในสัดส่วนที่น้อยกว่า

เมื่อพิจารณาความต้องการใช้งานบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G แยกตามช่วงอายุ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี มีความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ และบริการเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจบริการด้านข่าวสารเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น แต่ก็มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56.1

สำหรับกลุ่มที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 ถึง 44 ปี ให้ความสนใจกับบริการด้านข้อมูลทุกประเภท และมีสัดส่วนปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น ยกเว้น บริการที่เกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจสูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น สำหรับกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 44 ปี ให้ความสนใจใช้บริการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร และธนาคารบนมือถือในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น และไม่ค่อยให้ความสนใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการมากนัก

 ผลสำรวจบริการด้านความบันเทิงออนไลน์…คนกรุงต้องการบริการที่มีคอนเทนต์หลากหลาย

ปัจจุบัน การบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น มักจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม โดยบริการเหล่านี้รวมเรียกว่า โมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Mobile Entertainment) สำหรับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา บริการดังกล่าวมักมีข้อจำกัดจากความเร็วของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งอยู่ระหว่าง 80 ถึง 200 กิโลบิตต่อวินาที ทำให้คุณภาพการให้บริการไม่ค่อยเป็นที่พอใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดให้บริการ 3G ในช่วงครึ่งหลังของปี ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ให้มีทั้งคุณภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อน จึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคต่อลักษณะเนื้อหาและการชำระเงินในการใช้บริการความบันเทิงแบบออนไลน์บนระบบ 3G โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 ผู้บริโภคสนใจชมภาพยนตร์มากที่สุด และอยากจะจ่ายรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการไม่อั้น

บริการทีวีออนไลน์เป็นบริการลักษณะมัลติมีเดียซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการให้บริการดังกล่าว คือ ขนาดของข้อมูลมักจะใหญ่ ทำให้ความเร็วของโครงข่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดถึงคุณภาพของการให้บริการ โดยความเร็วขั้นต่ำที่พอจะเปิดให้บริการแบบออนไลน์ คือ 64 ถึง 80 กิโลบิตต่อวินาที จึงทำให้มีผู้ให้บริการบางรายเปิดให้บริการดังกล่าวบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปจากการที่ต้องรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับอรรถรสของการชมที่ได้รับ ทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมไม่ค่อยสูงนัก ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ 3G จะมีส่วนช่วยผลักดันให้คุณภาพของการให้บริการดีขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลที่ลดลง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้บริการดังกล่าวขยายตัวยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับรายการทีวีออนไลน์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการชม พบว่า มีผู้ต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.6 รองลงมาคือ รายการข่าวและมิวสิกวีดีโอ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราวร้อยละ 52 และเมื่อสอบถามถึงรูปแบบการชำระค่าชมรายการที่ต้องการจะเลือกชำระ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราวร้อยละ 50 เลือกที่จะชำระแบบรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการแบบไม่อั้น ในขณะที่การจ่ายรายเดือนเพื่อชมหลายช่องรายการตามที่กำหนดไว้แบบไม่อั้น ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่านั้น กลับมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดคือร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยากจะเลือกชมทีวีเฉพาะประเภทรายการที่ตนโปรดปรานจริงๆ และพร้อมที่จะจ่ายเฉพาะช่องรายการที่ชอบ เพื่อสามารถรับชมได้แบบไม่จำกัดในรอบเดือนนั้น

 ผู้บริโภคราวร้อยละ 30.5 ชอบเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้และซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบ

ธุรกิจเพลงดิจิทัลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของไทยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สืบเนื่องจาก ความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สายยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้ธุรกิจเพลงดังกล่าวถูกจำกัดอยู่แต่เพลงที่ได้รับการตัดต่อความยาวประมาณ 30 ถึง 60 วินาที เพื่อนำมาใช้เป็นเพลงในบริการเสียงรอสาย หรือติดตั้งเป็นเพลงเสียงเรียกเข้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถ้าเป็นเพลงฉบับเต็มก็จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนก่อนแล้วฟังแบบออฟไลน์ สำหรับธุรกิจบริการฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงและเก็บเพลงไว้บนอินเทอร์เน็ตได้นั้น ยังคงถูกจำกัดอยู่แต่บนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการ 3G จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริการดังกล่าวได้

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับลักษณะการชำระค่าบริการฟังเพลงออนไลน์ที่ผู้บริโภคต้องการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการชำระเป็นรายเพลงและเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้ เป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.5 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงที่มักจะเลือกเฉพาะเพลงที่ชอบจริงๆ จากความหลากหลายที่นำเสนอโดยค่ายต่างๆ โดยไม่อยากจะชำระแบบรายเดือน ซึ่งโดยรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายโดยเปรียบเทียบที่สูงกว่า ถ้าจำนวนเพลงที่ตนชื่นชอบมีไม่มากนัก

 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและราคาของเกมออนไลน์มากกว่าแหล่งพัฒนาเกม

ลักษณะของรูปแบบธุรกิจเกมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การขายเกมโดยให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดเกมที่ต้องการมาไว้ที่อุปกรณ์คลื่อนที่ก่อนแล้วเล่นแบบออฟไลน์ ไม่ได้เล่นกันแบบออนไลน์เหมือนเกมออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีขนาดเกมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สาย อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไปเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G

จากการสอบถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมออนไลน์บนระบบ 3G พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 58 ต้องการเกมออนไลน์ที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเกม ได้แก่ ต้องเป็นเกมต่างประเทศมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 7.8 และชื่อเสียงบริษัทเกมมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 13.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเนื้อหา และราคาเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาเป็นลำดับรองลงมา

บทสรุป
การเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมของผู้ให้บริการเอกชนรายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการสื่อสารไร้สายของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริการด้านข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯเกี่ยวกับการใช้บริการ 3G ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เปิดทดสอบการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ในเขตกรุงเทพฯมีผู้ที่กำลังใช้บริการ 3G อยู่ราวร้อยละ 36.6 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการ 3G ในปัจจุบันส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เน็ตบุ๊ค และแท็บเล็ต ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานเลยมีอยู่ราวร้อยละ 54.4 อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งาน 3G ในปัจจุบันราวร้อยละ 89.5 มีแผนที่จะใช้งานในอนาคต สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G และเครื่องลูกข่าย/ตัวเครื่อง รวมถึงผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการเสริมหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

ความต้องการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ประกอบกับกระแสการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนจะมีส่วนผลักดันให้บริการด้านข้อมูลมีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนราว 20.8 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้งานบริการเสริมด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ชมทีวีออนไลน์ บริโภคข่าวสาร และฟังเพลงออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ของผู้บริโภค ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลในปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่อยู่ในลักษณะความบันเทิงแบบออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการด้านความบันเทิงแบบออนไลน์ หรือโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์บนระบบ 3G ในอนาคต ซึ่งจากแบบสอบถาม พบว่า ผู้ที่ต้องการใช้บริการทีวีออนไลน์ มีความต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด รองลงมาเป็น ข่าว มิวสิกวีดีโอ ละคร เป็นต้น และส่วนใหญ่อยากใช้บริการแบบรายเดือน โดยสามารถชมเฉพาะช่องประเภทรายการที่ตนโปรดปรานได้แบบไม่อั้น ซึ่งแตกต่างจากบริการฟังเพลงออนไลน์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการความหลากหลายของเพลง โดยสามารถเลือกได้จากหลายๆค่าย และต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบจริงๆ ในขณะที่บริการเกมออนไลน์นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเกมที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก

จากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความบันเทิงรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถสร้างความบันเทิงแบบพกพาได้ทุกที่ทุกเวลา และยังพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการ เพื่อสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตนชื่นชอบได้จากคลังคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่จะเข้ามาพัฒนาบริการด้านความบันเทิงบนช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากช่องทางให้บริการความบันเทิงแบบดั้งเดิมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใช้เวลากับอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น และฐานผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายสื่อสาร (Coverage) ที่มีโอกาสขยายออกไปกว้างขึ้นในอนาคต อาจเป็นทิศทางที่ธุรกิจต่างๆต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาด และโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น

——————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

View :2326

เอเชียซอฟท์เสริมกลยุทธ์เชิงรุกเปิดตัวเกมใหม่เพิ่มอีก 9 เกม

August 15th, 2011 No comments

บมจ. หรือ AS พื้นฐานแข็งแกร่ง ยังคงรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิไว้ได้ที่ระดับ 21% โดยมีรายได้รวมในช่วงไตรมาสสอง 421.80 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากของผลประกอบการในต่างประเทศ โดยเติบโตสูงถึง 37% จากความสำเร็จของเกมใหม่และเกมเก่า

นายปราโมทย์ สุดจิตพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ช่วงไตรมาส 2/2554 บริษัทมีรายได้รวม 421.80 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 358.6 ล้านบาท ส่งผลให้มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 46% โดยมีกำไรสุทธิ 83.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 73.88 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตของรายได้จากต่างประเทศถึง 37.2% จากรายได้ 147.92 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 107.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากความสำเร็จในส่วนของเกมออนไลน์ทั้งเกมเก่าและเกมใหม่

ขณะที่ในไตรมาสนี้มีการเปิดเกมใหม่ทั้งหมดในไทย 4 เกมคือ Gigaslave 3 Kingdoms Warriors Online Gangza Band Master และเปิดที่สิงคโปร์ 1 เกม คือ AIKA ทั้งนี้ บริษัทฯได้มีการพัฒนาเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆในด้านการชำระเงินของร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่และผู้เล่นเกมให้ง่ายขึ้น อาทิเช่นการชำระเงินร้านสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ การชำระเงินของผู้เล่นผ่านบัตร 1-2 Call Paysbuy รวมทั้งล่าสุดเพิ่มช่องทางชำระเงินของเกม Facebook ผ่านบัตรเติมเงิน@Cash ขณะที่บริษัทฯ ใกล้จะเปิดเกม AVA ซึ่งเป็นเกมประเภท FPS ใน Platform ใหม่ที่จะทำการบุกตลาดในระดับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกบริษัทฯ มีรายได้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 823.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 725.1 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 554.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.40 ของรายได้รวม และในต่างประเทศรายได้รวม 268.4ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 ของรายได้รวม โดยสาเหตุที่รายได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการดำเนินการตามแผนธุรกิจเชิงรุกในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 153.75 ล้านบาท เติบโต 12.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 136.7 ล้านบาท

“สำหรับแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจยังคงใช้นโยบายเชิงรุกต่อเนื่อง โดยมีแผนจะทยอยเปิดเกมเพิ่มอีกในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นจำนวน 9 เกม ทำให้ภาพรวมในปีนี้เป็นการเปิดเกมใหม่รวมทั้งสิ้น 16 เกม โดยมีแผนการเปิดเกมในสิงคโปร์/มาเลเซียอีก 2 เกม พร้อมทั้งการเปิดเกมใหม่ในไทยอีก 7 เกม ส่วนการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะสามารถเปิดเกมได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนอีก 1 บริษัทในไทยที่จะช่วยเสริมและต่อยอดธุรกิจหลักได้ รวมทั้งพิจารณาลงทุนในบริษัทให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายฐานรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยแผนการดำเนินงานข้างต้น ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะส่งผลให้รายได้ในปีนี้โตขึ้น 20% อย่างแน่นอน” นายปราโมทย์ กล่าวสรุป

กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์ (Online Game) ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีส่วนแบ่งการตลาด เป็นอันดับ 1 ในไทย และสิงคโปร์ อันดับ 3 ในมาเลเซีย และอันดับ 4 ในเวียดนาม แม้ปัจจุบันเป็นเพียงการ sub-license ให้กับคู่ค้า ทั้งนี้บริษัทฯยังคงมีความตั้งใจที่จะลงทุนอย่างแน่นอน ซึ่งมีความพร้อมที่จะเปิดดำเนินการทันที โดยอยู่ระหว่างรอรัฐบาลเวียดนามเปิดให้ใบอนุญาตในการให้บริการเกมในอนาคต

View :1747

ลูกค้าดีแทคได้อัพเกรดใช้บริการ dtac 3G ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เริ่ม 16 สิงหาคมนี้

August 15th, 2011 No comments


บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดให้ลูกค้าดีแทคได้ใช้บริการ บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ ในพื้นที่ให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2554 นี้ มั่นใจ ช่วยให้การใช้งานดาต้าบนดีแทคอินเทอร์เน็ตเร็วและราบรื่น จากจุดเริ่มต้นในวันเปิดบริการนี้ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมยิ่งขึ้นเพื่อเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายดาต้าที่ดีที่สุด พนักงานทุกฝ่ายร่วมใจ พร้อมจัดแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดของปี

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า “บริการ dtac คือส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการมอบนวัตกรรมโซลูชั่นและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยบริการนี้เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าดีแทคปัจจุบันซึ่งสมัครใช้บริการแพ็กเกจดาต้าอยู่แล้ว โดยไม่มีการเก็บค่าบริการเพิ่มเติม เราเชื่อมั่นว่าบริการ dtac บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ผู้บริโภค อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยและประเทศไทยโดยรวม ทั้งยังเป็นผลดีต่อ บมจ. กสท โทรคมนาคม เนื่องจากการให้บริการ บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ นี้ทำอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานปัจจุบัน”

“การอัพเกรดบริการ dtac 3G บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เราเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จะสามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กสทช. เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น” นายอับดุลลาห์กล่าว

นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคมั่นใจว่าการเปิดให้บริการ dtac 3G ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาบริการให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการที่ครอบคลุมต่อไป ลูกค้าดีแทคทุกหมายเลขมีสิทธิ์ใช้บริการ dtac 3G ได้ในพื้นที่ให้บริการของเราในเขตกรุงเทพมหานคร เพียงมีมือถือหรืออุปกรณ์ที่รองรับ 3G บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ และใช้งานในพื้นที่ให้บริการ โดยสามารถใช้บริการได้เหมือนการใช้งานดาต้าที่เคยใช้อยู่ด้วยความเร็วสูงและคุณภาพสัญญาณดีกว่าเดิม ไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มจากเดิมแต่อย่างใด เรามั่นใจว่าบริการ dtac 3G มีจุดเด่นในด้านความเร็ว (speed) สูงที่สุดเนื่องจากดีแทคมีช่องสัญญาณแบนด์วิธขนาดใหญ่มากถึง 10 เมกะเฮิร์ตซ์ รองรับการใช้งานได้มากกว่า โดยระบบของเราออกแบบมาให้สามารถรองรับความเร็วสูงสุดในการดาวน์โหลดข้อมูลถึง 42 เมกะบิตต่อวินาที และมีความเร็วในการอัพโหลดข้อมูลระดับเมกะบิตต่อวินาที จากการทดสอบระบบด้วยทีมพนักงานของเราเองและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกในช่วงที่ผ่านมาทำให้เรามั่นใจที่จะให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบและจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพของบริการให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

“dtac 3G คือแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดของดีแทคในรอบปี เป็นความรับผิดชอบและความร่วมมือของทุกหน่วยงานในบริษัทรวมทั้งพนักงานทุกคนที่ร่วมใจกันทำงานและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า” นายปกรณ์กล่าวปิดท้าย

ปัจจุบัน ดีแทคลงทุนเพื่อปรับปรุงเครือข่ายสู่ระบบ 3G ครอบคลุมสถานีฐาน (Cell Site) ทั้งหมด 1,220 แห่งและมีแผนการที่จะลงทุนเพื่อครอบคลุม 40 จังหวัดด้วยสถานีฐานทั้งหมด 2,000 สถานี ภายในปี 2555

ลูกค้าดีแทคสามารถตรวจสอบพื้นที่บริการ รายละเอียดอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์หรือมือถือรุ่นที่รองรับ 3G และการตั้งค่ามือถือได้ที่ www.dtac.co.th/3G ลูกค้าดีแทคปัจจุบันที่ใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด (Unlimited) สามารถใช้ dtac 3G ได้ทันที สำหรับลูกค้าที่ใช้งานแพ็กเกจอื่นๆ สามารถกด *3000# และกดโทรออก (ไม่คิดค่าบริการ) เพื่อใช้บริการ dtac 3G ได้ ระบบจะอัพเกรดจาก EDGE เป็น 3G อัตโนมัติเมื่อใช้งานในพื้นที่ให้บริการ โดยลูกค้าชำระค่าบริการดาต้าปกติตามแพ็กเกจเดิมที่เลือกไว้ ไม่มีค่าบริการใช้งานเพิ่ม
ในเวลาเดียวกันนี้ ดีแทคยังได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา ชุด “ห่วงใย” ที่แสดงให้เห็นถึงด้านดีของเทคโนโลยีกับชีวิต ตามแนวความคิด “ที่สุดของเทคโนโลยีคือการเชื่อมต่อความรู้สึกถึงกันอย่างราบรื่น” พร้อมจัดแคมเปญสำหรับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าสามารถติดตามพบกับแคมเปญใหญ่ของ dtac 3G พร้อมทั้งกิจกรรมร่วมสนุกมากมายในเร็ว ๆ นี้

View :3252

กสิกรไทย-วีซ่าเปิดตัวระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือครั้งแรกของโลก

August 15th, 2011 No comments

ร่วมกับวีซ่า โชว์ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพัฒนาระบบชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นครั้งแรกของโลก หวังสร้างความสะดวกพร้อมความปลอดภัยด้วยบริการโมบาย เวอริฟาย บาย (Mobile Verified by Visa) ตั้งเป้าปี 54 จะมียอดรับชำระบัตรเครดิตออนไลน์ 40,000 ล้านบาท

นายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้นนอกเหนือจากการใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารทั่วไป โดยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเวบไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ และมีแนวโน้มที่ช่องทางดังกล่าวจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าและบริการผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเป็นต้องมีระบบชำระเงินที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจและปลอดภัยในการทำธุรกรรม ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับบริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (VISA) พัฒนาบริการโมบาย เวอริฟาย บาย วีซ่า ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อรองรับธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกของโลก

ทั้งนี้ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และทำธุรกรรมจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน ซึ่งหน้าชำระเงินจะเชื่อมต่อมายังระบบบริการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (K-Payment Gateway on Mobile) เพื่อให้ผู้ถือบัตรกรอกข้อมูลบัตร ตรวจสอบรายการชำระเงิน และยืนยันการทำธุรกรรมโดยธนาคารจะส่งรหัสแบบใช้ครั้งเดียว (One-time password: OTP) ผ่านทางเอสเอ็มเอส (SMS) ไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ถือบัตรที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้ผู้ถือบัตรใช้กรอกบนหน้าจอชำระเงิน ซึ่งระบบจะทำการตรวจสอบความถูกต้องและแสดงผลการทำธุรกรรมให้ผู้ถือบัตรทราบในลำดับถัดไป

บริการโมบาย เวอริฟาย บาย วีซ่า แบบ OTP เป็นระบบตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยของการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานสูงสุดในขณะนี้ ผู้ถือบัตรไม่ต้องกังวลว่าผู้อื่นจะทราบรหัสและนำไปใช้ เพราะเป็นเอสเอ็มเอสที่ส่งตรงเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเจ้าของบัตร และใช้ได้เพียงครั้งเดียว ผู้ถือบัตรจึงไม่จำเป็นต้องจำรหัสผ่าน ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรที่เคยลงทะเบียนใช้บริการ เวอริฟาย บาย วีซ่า แบบ OTP จะสามารถใช้บริการดังกล่าวต่อเนื่องได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน ระบบจะแจ้งให้ลงทะเบียน และสามารถกลับเข้ามาทำรายการช้อปปิ้งออนไลน์ต่อได้ในทันที

นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงแรกบริการโมบาย เวอริฟาย บาย วีซ่า จะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้าร่วมให้บริการ ได้แก่ แอมเวย์ นกแอร์ เพย์สบาย เอสเอฟซีนีม่า ตลาดดอทคอม การบินไทย และไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ซึ่งผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น หรือทำรายการช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านทางเวบไซต์ของพันธมิตรธุรกิจดังกล่าวได้

ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรวมกันมากกว่า 9 ล้านใบ และมีผู้ลงทะเบียนกับระบบเวอริฟาย บาย วีซ่า เพื่อช้อปปิ้งออนไลน์แล้วกว่า 400,000 ราย โดย 70 % ของผู้ลงทะเบียนใช้ระบบ เวอริฟาย บาย วีซ่า แบบ OTP

นอกจากนี้ ธนาคารฯ มียอดขายผ่านร้านค้าออนไลน์บนบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ต (K-Payment Gateway) ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 % ต่อปี และคาดว่าในปี 2554 จะมียอดขายผ่านระบบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท

View :1752

กฎหมายปัจจุบันกับการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า

August 12th, 2011 No comments

บทความ: อาจารย์รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค

เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสร่วมฟังการประชุมนโยบายเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และความเหมาะสมของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดโดยสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ได้ฟังความเห็นของม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท รองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแง่คิดที่น่าสนใจ จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง

ม.ล.ชาญโชติ ให้ความเห็นเรื่องนโยบายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าว่า พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ล้าสมัยและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพรบ.ฉบับนี้ ต้องการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นกฎหมายที่ออกมากำกับดูแลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ซึ่งม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้าไปกำกับผู้ประกอบการมากนัก ควรปล่อยให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันโดยเสรี แต่กฎหมายฉบับนี้กลับออกมากำกับไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งควรจะปล่อยให้แข่งขันไปตามกลไกของตลาด ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะให้ประโยชน์กับฝ่ายใดเลย แต่กลับเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต่างๆยื่นข้อร้องเรียน แล้วเรียกร้องให้รัฐเป็นกรรมการตัดสิน แทนที่รัฐจะทำหน้าที่ในการป้องกันเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์เริ่มแรกในการออกพรบ.ฉบับดังกล่าว

ม.ล.ชาญโชติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความล้าหลังของกฎหมายฉบับต่างๆ ที่กว่าจะออกมาได้แต่ละฉบับ ใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในขณะที่พัฒนาการทางธุรกิจ ตลอดจนความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้น กว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ ธุรกิจนั้นๆก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เงื่อนไขและรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญไปแล้ว ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายของประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎหมายแต่ละฉบับควรเป็นกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้ด้วย

ม.ล. ชาญโชติ มีความเห็นว่า กฎหมายในบ้านเรามีมากมายหลายฉบับที่มีความซ้ำซ้อนกัน และบางฉบับยังมีข้อกำหนดที่หักล้างกันเอง แทนที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น กลับมีผลทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

แต่กระนั้น ม.ล.ชาญโชติ ย้ำว่า ตนมิได้ไม่ต้องการให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้า แต่เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มแรก และที่สำคัญจะต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้ด้วย เพราะหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวยังล้าหลัง ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างภาคธุรกิจไทยให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย

ม.ล. ชาญโชติ ยังกล่าวถึง การเข้ามาของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย โดยเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็น ต้องมีนโยบายในการกำกับดูแลบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจแข่งขันว่า การที่บริษัทต่างชาติต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศ ก็ควรกำหนดเงื่อนไขค่าตอบแทนที่พึงจ่ายให้กับประเทศด้วย โดยรัฐสามารถออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างมากจนเกินไประหว่างบริษัทไทยกับบริษัทต่างชาติ ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องมีนโยบาย ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ตลอดจนผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ม.ล. ชาญโชติ ยังได้กล่าวถึงนโยบายการเปิดเสรีว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีจริงๆ เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายแตกต่างกันในการกำกับดูแลกรณีต่างๆ เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ก็มีกฎหมายที่ดินที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ม.ล.ชาญโชติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายยังมีความอ่อนแอมาก จึงทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือของต่างชาติ จึงจำเป็นที่จะต้อง พิจารณา สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องวางแผน วางหลักเกณฑ์ในการออกกฎหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น กรณี BOI ที่ต้องการจูงใจให้ต่างชาติที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยให้ออกไปลงทุนแข่งขันในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งในความเป็นจริง BOI ควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลางให้สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศ มากกว่ามาตรการ ลด แลก แจก แถม เพื่อชักจูงให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุน มีหลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย ยกตัวอย่าง บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อคนไทยไปปรึกษาข้อกฎหมาย ข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เป็นข้อพิพาทสำคัญๆ ก็จะกลายเป็นข้อมูลของบริษัทที่เป็นต่างประเทศดังกล่าว ดังนั้น รัฐจึงควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล เช่น การจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย จะต้องเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เป็นคนไทยเท่านั้น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ซึ่งคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ และไม่ควรกลัวต่างชาติ อาจจะยอมเสียเปรียบต่างชาติบ้าง แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และที่สำคัญ ม.ร. ชาญโชติ ย้ำว่า จะต้องไม่ยอมให้ต่างชาติเอาเปรียบตลอดเวลา และจะต้องกำหนดประเภทธุรกิจ และข้อจำกัดการประกอบธุรกิจไว้ให้เป็นของคนไทยอย่างชัดเจน

และในตอนท้าย ม.ล.ชาญโชติ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องบุคลากร ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเอาคนเป็นที่ตั้ง โดยเริ่มจากประชาชนคนไทย คือการสร้างคนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ โดยพิจารณาถึงความสามารถ ว่าคนไทยมีความสามารถในด้านใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนไทยมีความสามารถในด้านการให้บริการ ในด้านการบริหารจัดการซึ่งจะต้องพัฒนาให้คนไทยสามารถบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นทีม แต่อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน กลับไม่กล่าวถึงเศรษฐกิจภาคบริการ ทั้งๆที่ภาคบริการมีความสำคัญ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ90 ของประเทศเป็น SME ที่มีความสามารถทั้งสิ้น

ผมอยากจะฝากประเด็นแง่คิดของม.ล.ชาญโชติ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนพิจารณา เพราะธุรกิจปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ก็ควรที่จะหันมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกรอบของกฎหมายให้ทันสมัย รองรับความต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้อย่างแท้จริง

อาจารย์รุจิระ บุนนาค

กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค

View :1460

สบท. เตือนใช้บริการโรมมิ่งอันลิมิท ก็หมดตัวได้

August 12th, 2011 No comments

สบท.เตือนใช้บริการโรมมิ่งอันลิมิท ก็หมดตัวได้ หากไม่รู้จักตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกเฉพาะเครือข่ายที่แพ็คเกจกำหนด พบหนุ่มนักศึกษาเที่ยวเกาหลีอาทิตย์เดียว กลับมาเจอบิลกว่าสองแสนบาท เหตุพกไอโฟนไปด้วยและต่อเน็ตตลอดเวลา เพราะนอนใจว่าเลือกแพ็คเกจไม่จำกัดแล้ว

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม () เปิดเผยว่า การใช้บริการโรมมิ่งยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ร้องเป็นนักศึกษาเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีเพียง 6 วัน โดยพกโทรศัพท์ไอโฟนพร้อมสมัครใช้แพ็คเกจอันลิมิต แต่กลับมาถึงเมืองไทยถูกเรียกเก็บค่าโทรศัพท์จากการใช้บริการดาต้าเป็นเงินสองแสนกว่าบาท เพราะเครื่องไปเลือกจับสัญญาณเครือข่ายนอกแพ็คเกจเป็นบางช่วง

“แพ็คเกจอันลิมิทหรือแพ็คเกจไม่อั้นทั้งหลายเป็นแพ็คเกจที่บริษัทมักจะเลือกทำสัญญากับเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งในประเทศปลายทาง ไม่ใช่ทุกเครือข่าย เช่นถ้าเครือข่ายของไทยไปเลือกทำสัญญาการเชื่อมสัญญาณกับ 10 บริษัท บริษัทไทยจะเลือกทำสัญญาอันลิมิตแค่บริษัทเดียว อีก 9 บริษัทไม่ใช่ ดังนั้นเมื่อไปถึงปลายทางผู้ใช้ต้องตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้นด้วยถึงจะอันลิมิทจริง “ ผอ.สบท. กล่าว

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเลือกเครือข่ายได้ถูก ล็อคเครือข่ายได้สำเร็จ การจะใช้ในปริมาณเท่าไหร่ก็จะอยู่ในโปรโมชั่นที่เลือกไปคือ อันลิมิทอาจจะราคา 1,500 หรือ3,000 บาท ไม่เกินนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ล็อคเครือข่าย แล้วเครื่องไปจับสัญญาณเครือข่ายอื่นก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขอันลิมิทและจะกลายเป็นว่า ใช้เท่าไหร่ก็ต้องจ่ายเท่านั้นและคิดตามปริมาณข้อมูลด้วย อย่างเกาหลี ญี่ปุ่นหรืออเมริกา ซึ่งมีบริการ เพราะฉะนั้นข้อมูลจะไหลเร็วมาก เช่นรายนี้เพียงไม่กี่วันที่เครื่องจับสัญญาณดาต้านอกเครือข่ายพบว่าใช้ไปกว่า400 เมกกะไบต์ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเมกะไบต์ละ 500 กว่าบาท ขณะที่มีการใช้ในเครือข่ายที่กำหนด 180 เมกะไบต์ ส่วนนั้นถูกเรียกเก็บตามแพ็คเกจ 1,750 บาท

ผอ.สบท.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การจำกัดวงเงินสูงสุดไว้ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากเพราะปัจจุบันการรายงานการใช้บริการระหว่างประเทศยังทำได้ไม่ตรงตามเวลาที่ใช้จะมีการล่าช้าของการแจ้งผล

“โดยหลักทางเทคนิคค่าใช้จ่ายในต่างประเทศไม่ได้โอนข้อมูลมาเป็นวินาทีอาจรายงานเป็นวันหรือ 24 ชั่วโมง เช่นทำการจำกัดไว้ที่ 5,000 บาท แต่พอใช้ในต่างประเทศวันแรกเป็นแสน แล้วผ่านไปวันหนึ่ง ต่างประเทศเพิ่งแจ้งกลับประเทศไทย เพราะมีการดีเลย์ของข้อมูล ไม่เหมือนอยู่ในเมืองไทยเพราะบริษัทในเมืองไทยคุมค่าใช้จ่ายเองพอถึง 5,000 ก็ตัดได้เลย แต่กรณีโรมมิ่งไม่ใช่ เพราะข้อมูลกว่าจะส่งผ่านมาจะมีความล่าช้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ดังนั้นต่อให้ควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ก็อย่าชะล่าใจ เพราะต่อให้มีการใช้เกินวงเงินแล้วเครื่องก็จะยังไม่ตัดยังใช้ได้อยู่” นายประวิทย์กล่าว

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศและสมัครใช้บริการโรมมิ่งควร สอบถามชื่อเครือข่ายที่เราต้องใช้เมื่ออยู่ต่างประเทศ แล้วเมื่อไปถึงให้ตั้งระบบเครื่องด้วยตัวเองให้ล็อครับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้น รวมถึงสังเกตหน้าจอขณะใช้บริการเป็นระยะๆว่า เครื่องรับสัญญาณของเครือข่ายใดอยู่ นอกจากนี้อาจใช้วิธีการซื้อซิมการ์ดในประเทศนั้นๆแทน เพราะโดยส่วนใหญ่ค่าบริการจะถูกกว่า

“ถ้าเราต้องการติดต่อสื่อสาร มันไม่ได้มีเครื่องมือเดียว ไม่ได้ต้องเอาโทรศัพท์เราไปโรมมิ่งต่างประเทศ เพราะในประเทศนั้นเค้าก็มีซิมขาย ส่วนใหญ่ค่าบริการมักจะถูกกว่าค่าบริการโรมมิ่ง ยกตัวอย่างถ้าชาวต่างชาติมาไทย เค้าซื้อซิม เอไอเอส ดีแทค เค้าจะจ่ายถูกเหมือนเรา ดังนั้นหากเราไปต่างประเทศเราก็ต้องคิดเหมือนกันว่า บ้านเค้ามีซิมอะไรหรือไม่ประเภทอันลิมิทหกเจ็ดร้อยบาท ขณะที่ใช้โรมมิ่งของประเทศเราเนี่ยกลับมาโดนไปสามสี่แสน ดังนั้นเราต้องฉลาดที่จะเลือกด้วย” นายประวิทย์กล่าว

View :1696

เทคโนโลยี 3G กับ Digital Media Channel

August 12th, 2011 No comments

โดย…..บลจ. บัวหลวง จำกัด

ประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี ภายใต้คลื่นความถี่ 2.1 MHz ในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ถกเถียงและยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สาเหตุของความล่าช้าในการประมูลคลื่นนั้น เกิดจากประเทศไทย ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับผิดชอบการจัดสรรและเปิดประมูลคลื่นความถี่ หน่วยงานดังกล่าว ก็คือ กสทช. ก็กำลังจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้เกิดการคาดหมายกันว่าการประมูลใบอนุญาต จะเริ่มอย่างเร็วสุดในช่วงปลายปีหน้า หรือต้นปี 2556 และหลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตก็จะทำการพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการใช้ของผู้บริโภคมากขึ้น

• ทำไมประเทศไทย จึงควรที่จะมีเทคโนโลยี 3G

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทในชีวิตจนเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว โดยจากผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ นีลเส็น ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า คนไทยเป็นกลุ่มผู้ที่มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 56% ของคนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ โดยคาดว่า ภายใน 1 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น และจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น และไทยยังมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ต่ำ และผู้บริโภคมีระดับการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตที่ไม่บ่อยนัก จึงสรุปได้ว่าสื่อ “Digital” ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกอย่างมากในประเทศ

ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ใช้เทคโนโลยี 2.75G หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) แต่เมื่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้บริการ Non-voice ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เทคโนโลยี 2.75G ที่ใช้อยู่ จึงเกิดข้อจำกัดค่อนข้างมากในการให้บริการระบบเสียงและการส่งข้อมูล เนื่องจากความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดประมาณ 384 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) และจำนวนช่องสัญญาณก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เมื่อผู้บริโภคมีการใช้บริการในการ Download ข้อมูล ก็จะไปแย่งพื้นที่ของช่องสัญญาณที่มีอยู่จนเหลือพื้นที่ในการบริการด้านเสียงลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดให้บริการ Non-Voice ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะเกิดผลรบกวนต่อการให้บริการ Voice

จากข้อจำกัดและความต้องการใช้บริการ Non-voice ที่เร็วและมากกว่าคาด สอดคล้องกับจำนวนยอดขายของโทรศัพท์ Smart Phone ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำเป็นต้องเร่งการเปิดให้บริการ 3G โดยเทคโนโลยี 3G จะสามารถรองรับการใช้บริการมัลติมีเดีย และส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งความเร็วสูงสุดในการ Download ข้อมูล จะอยู่ที่ 42 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) เร็วกว่าเทคโนโลยี 2.75G ถึง 109 เท่า ทำให้สามารถใช้บริการ Multimedia ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรับส่ง File ที่มีขนาดใหญ่ การประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร การโทรศัพท์ต่างประเทศผ่านระบบ Internet เช่น Skype การโทรศัพท์โดยเห็นหน้าคู่สนทนา รวมถึงการใช้บริการทางด้านสื่อ Entertainment ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดเพลง หรือการชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ โดยเทคโนโลยี 3G นั้น จะมีช่องสัญญาณความถี่และความจุในการรับส่งข้อมูลมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลและบริการระบบเสียงดีขึ้นกว่าเทคโนโลยีเดิม

• ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากการมีเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz

ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยในระบบสัมปทานเดิมนั้น จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ 25-30% ให้ทีโอที หรือ กสท. แต่ใบอนุญาตใหม่ของเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz ผู้ประกอบการจะเสียส่วนแบ่งรายได้ลดลงเหลือประมาณ 6.50% ให้กับหน่วยงาน กสทช. เท่านั้น จะเห็นได้ว่าใบอนุญาต 3G จะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และทำให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการภายใต้เงื่อนไขอันเดียวกัน ซึ่งจะเกิดผลดีกับผู้บริโภค ทำให้เสียค่าบริการในการใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูกลง และได้รับบริการทางด้าน Non–voice ที่ดีขึ้น

ข้อดีของการมีเทคโนโลยี 3G จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาไปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ ศึกษาของเด็กๆ และคนไทยในชุมชนห่างไกลที่จะเรียนรู้ผ่านทาง E-Learning ได้ รวมไปถึงระบบการขนส่งและติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี 3G จึงช่วยทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเมือง จนไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ในปัจจุบันนี้สามารถมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ผ่านทาง Air Card ของผู้ให้บริการ 3G ในระบบต่างๆ และทำให้ชีวิตดีขึ้น เรียนรู้เท่าเทียมคนเมืองมากขึ้น

• เทคโนโลยี 3G กับการทำการตลาด

เนื่องจากการขับเคลื่อนทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Global Generation ที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต บริษัทเจ้าของสินค้าและบริการจึงสามารถใช้โลกอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้าและบริการได้ และให้ความสำคัญกับช่องทางใหม่นี้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณสื่อสารทางการตลาดผ่าน Digital Media มากขึ้น ทั้งยังใช้งบประมาณที่ไม่สูง แต่สามารถเข้าตรงถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทาง เช่น Facebook, Twitter, Google ที่มีผู้เข้าใช้บริการดูข้อมูลจำนวนมาก ทำให้สามารถเห็นและเกิดการจดจำแบรนด์สินค้าต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การทำธุรกรรมต่างๆ ก็มีช่องทางผ่านทางสื่อโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น

• การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของธนาคารต่างๆ จะมีการให้บริการระบบ iBanking เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้า ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ธนาคารด้วยตัวเอง
• ห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะมีบริการให้ลูกค้า Shopping Online สามารถเลือกสั่งสินค้าและจ่ายเงิน โดยการตัดยอดเงินผ่านเครดิตคาร์ด หรือ เดบิตคาร์ด
• โรงภาพยนตร์ ระบบขนส่งมวลชน ต่างเพิ่มช่องทางในการให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้น บริษัทใดที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากช่องทางนี้มากและได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เนื่องจากการกระจายตัวของข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์นี้ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ถือว่าเป็น Value Added ที่บริษัทได้รับจากการมี Network และมูลค่าที่ Network สร้างขึ้นมาให้กับบริษัทนั้นก็มหาศาล ซึ่ง Network ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างการเติบโตที่ดีของบริษัท โดยสะท้อนกลับมาในรูปของกำไรและผลการดำเนินงานในที่สุด

—————————-
Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

View :1588

กระทรวงไอซีที ร่วมประชุมสภาบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก

August 12th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้เข้าร่วมการประชุมสภาบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2554 หรือ 2011 Asian Pacific Postal Union Executive Council Meetings () ณ กรุงอูลันบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย

“APPU EC Meetings เป็นการประชุมประจำปีของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารและการปฏิบัติการไปรษณีย์ในภูมิภาค รวมทั้งการงบประมาณของสหภาพฯ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไปรษณีย์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union – UPU)” นางจีราวรรณ กล่าว

โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะ การประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานด้านต่างๆ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการบริหาร (Governing Board: GB) ของวิทยาลัยการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asian Pacific Postal College: APPC) ซึ่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย เป็นประธานกรรมการฯ โดยจะมีการนำผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (APPU Congress) ในการประชุม APPU Congress สมัยที่ 11 ซึ่งกำหนดจะจัดให้มีขึ้นในปี 2555 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

สำหรับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 32 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน ดารุส-ซาลาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น ลาว สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า นาอูรู เนปาล นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ซามัว สิงคโปร์ หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา ไทย ตองกา วานูอาตู และเวียดนาม

View :1449

ก.ไอซีที เปิดตัวเว็บท่า www.pwdsthai.com สำหรับคนพิการ เพื่อบูรณาการข้อมูลสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม

August 11th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดใช้งานเว็บท่าสำหรับคนพิการ ว่า กระทรวงไอซีทีมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับคนพิการ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการพัฒนาเว็บท่า (Web Portal) สำหรับคนพิการ ในชื่อว่า เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลให้คนพิการ ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

“เว็บท่าสำหรับคนพิการนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การใช้ชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมในสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนพิการกับหน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับจุดเด่นของเว็บท่าสำหรับคนพิการ คือ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วยเทคนิค TWCAG 2.0 เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นลักษณะ One Stop Service เช่น ข่าวสารแวดวงคนพิการ ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ สถิติข้อมูลคนพิการ สุขภาพกายและจิตใจของคนพิการ บริการด้านการศึกษาของคนพิการ บริการด้านอาชีพของคนพิการ บริการด้านกีฬาและนันทนาการของคนพิการ บริการด้านสังคมของคนพิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ระบบให้ – ยืมคืนอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบจัดเก็บข้อมูลครุภัณฑ์คนพิการที่ดำเนินการติดตั้ง ณ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น เพื่อให้สอดรับกับการออกกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีผลให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต้องจัดทำข้อมูล ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐมากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้จัดทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานสำหรับคนพิการตามมาตรฐาน TWCAG ดังนั้น ในเว็บท่าสำหรับคนพิการนี้จึงมีข้อมูลความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถศึกษาและปรับปรุงเว็บไซต์ตามมาตรฐาน TWCAG อีกทั้งเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

ส่วนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาเว็บท่าสำหรับคนพิการนั้น กระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่คนพิการและผู้สนใจทั่วประเทศ โดยจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwdsthai.com

View :1646

ผลสำรวจชี้บริการเสริมสร้างรายได้แก่ผู้บริการมือถือกว่าเท่าตัวในอีก 3 ปี

August 10th, 2011 No comments

ผู้ให้บริการมือถือคาดว่ารายได้จากบริการเสริมจะเติบโตจาก 14% เป็น 24% ในอีก 3 ปีข้างหน้า

จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 120 คน ซึ่งริเริ่มโดยแอมด็อคส์ ผู้นำตลาดในด้านนวัตกรรมระบบบริหารประสบการณ์ลูกค้า (customer experience) พบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเอเชียแปซิฟิกคาดว่ารายได้จากบริการเสริม (Value-added services หรือ VAS) เช่น บริการชำระเงินผ่านมือถือ จะเติบโตจากค่าเฉลี่ย 14% ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 24% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าอินเดียจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตของรายได้ในส่วนของบริการเสริมมากที่สุด โดยเติบโตจาก 12% ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 29% ในอีก 3 ปี การสำรวจครั้งนี้ยังพบอีกว่า 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังเร่งเปิดให้บริการชำระเงินผ่านมือถือ และส่วนใหญ่เชื่อว่าเว็บท่า (portal) ของตนจะทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ากำลังเร่งเปิดให้บริการโฆษณาผ่านมือถือและบริการค้นหา โดย 65% ระบุว่าผู้ใช้บริการยินดีจะเปิดดูโฆษณาผ่านมือถือแลกกับบริการประเภท free content เช่น แอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือหรือความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ผู้ให้บริการกล่าวว่าเหตุผลหลักที่ต้องให้ความสำคัญกับบริการเสริม ก็คือ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นและเพื่อสร้างความภักดีของลูกค้า

“บริการเสริมผ่านมือถือ () โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการชำระเงินผ่านมือถือ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผู้ให้บริการเชื่อว่า บริการเหล่านี้ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นในตลาด เช่น ธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้ทางหนึ่ง ตลอดจนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น (app store) และผู้ให้บริการอื่นๆ” มร. เออร์แวนน์ โธมาเซน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกำลังมองหาหนทางสร้างรายได้จากบริการเสริม แอมด็อคส์พร้อมสนับสนุนผู้ให้บริการเหล่านี้ด้วยโซลูชั่นเพื่อการสร้างสรรค์ การจัดหา การนำเสนอบริการแบบเหมารวม (bundling) และการเรียกเก็บเงินจากบริการเหล่านี้ รวมถึงโซลูชั่นในส่วนของการสนับสนุนลูกค้า (customer support)”

กรุณาอ่านรายงานการวิจัยฉบับเต็มที่ดำเนินการโดย Coleman Parkes ได้ ที่นี่ http://www.amdocsinteractive.com/node/108

หรือร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านแอมด็อคส์ ทวีทแช็ท ในหัวข้อ “บริการเสริม กลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ให้บริการค่ายมือถือ หรือ Value-added services – What is the best strategy for mobile operators?” ได้ในวันที่ 10 สิงหาคม เวลา 17.00น. โดยติดตาม #doxchat hashtag บน Twitter

ข้อมูลน่าสนใจจากผลสำรวจ มีดังนี้

· ความสำคัญของบริการเสริม: 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า บริการเสริมมีความสำคัญหรือมีความสำคัญมากต่อบริษัทของพวกเขา ในออสเตรเลียและอินเดีย 70% ของผู้ประกอบการเห็นว่าบริการเสริมจะมีความสำคัญ ในขณะที่เพียง 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยและเวียดนามเชื่อว่าบริการเสริมมีความสำคัญ

· ผู้ประกอบการในออสเตรเลียและอินเดียคาดหวังการเติบโตของรายได้จากบริการเสริมไว้สูงสุด: ในออสเตรเลีย สัดส่วนรายได้ในปัจจุบันจากบริการเสริมคิดเป็น 23% ซึ่งคาดว่าจะเติบโตไปถึงระดับ 30% ในอีก 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอินเดียคาดหวังการเติบโตของรายได้จากบริการเสริมไว้สูงสุดที่ 17% หรือจาก 12% เป็น 29% ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้เปรียบธนาคารในแง่ของการเข้าถึงตลาด เช่น ในอินเดียและอินโดนีเซียมีสัดส่วนของประชากรที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารสูงมาก

· ตลาดบริการชำระเงินผ่านมือถือกำลังเฟื่องฟู: บริการเติมเงินค่าโทร (prepaid top-up) เป็นบริการที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มบริการชำระเงินผ่านมือถือ ตามด้วยบริการชำระค่าบริการและสาธารณูปโภคอื่นๆ บริการโอนเงิน และการเรียกเก็บเงินแทนผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น (app store)

· กรณีผลประโยชน์ขัดกันกับสถาบันการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น: มีเพียง 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าอาจเกิดกรณีผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกับกับธนาคาร และบริษัทบัตรเครดิตในเรื่องบริการชำระเงินผ่านมือถือ แม้ว่าผลสำรวจแตกต่างกันมากในแต่ละตลาดที่เลือกทำการสำรวจ ทั้งนี้ ในออสเตรเลียมีเพียง 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าอาจเกิดกรณีผลประโยชน์ขัดกัน เทียบกับ 33% ในอินเดีย 50% ในไทย และ 90% ในเวียดนาม

เกี่ยวกับแอมด็อคส์

แอมด็อคส์ เป็นผู้นำตลาดในด้านนวัตกรรมระบบบริการลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้ผสานระบบสนับสนุนธุรกิจและการดำเนินงาน แพลตฟอร์มการส่งมอบบริการ (service delivery platform) บริการต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ และความเชี่ยวชาญเชิงลึกเข้าไว้ในหนึ่งเดียว เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการ (service provider) และลูกค้าของพวกเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นในโลกแห่งการเชื่อมต่อ (connected world) ผลิตภัณฑ์และบริการของแอมด็อคส์ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ สร้างความแตกต่างผ่านประสบการณ์ลูกค้าที่ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย และปรับปรุงการดำเนินงานด้านต่างๆ

แอมด็อคส์ เป็นบริษัทระดับโลกที่มีรายได้ราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีการเงิน 2553 ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 19,000 คนและให้บริการลูกค้าในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www..com

View :1704