Archive

Archive for the ‘Internet’ Category

กสิกรไทยให้ลูกค้า i-KooL เล่นเน็ต 3G ฟรีได้ 3เท่า เพียงเติม data ผ่าน K-Mobile Banking PLUS

August 19th, 2011 No comments

นายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ นายสุรช ล่ำซำ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) มอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่เติมเงิน Data Real 3G (SIM Data) ราคา 100 บาท ผ่าน (บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือกสิกรไทย) รับเน็ต 3G เพิ่ม 3 เท่า จาก 250 MB เป็น 750 MB และเติม Data 100 บาท ครบ 3 ครั้ง รับบัตรกำนัล Big C มูลค่า 100 บาท ตั้งแต่วันนี้ – 15 ก.ย. 54 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ K-Contact Center 0 2888 8888 กด 03

View :2913

เดลล์ เปิดตัว Dell Office Connect โซลูชันครบทุกความต้องการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี

August 17th, 2011 No comments


เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเปิดตัว โซลูชันใหม่ที่จะเข้ามาช่วยให้องค์กรกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จากเดลล์เพียงจุดเดียว โซลูชัน เป็นชุดแพ็คเกจระบบไอทีพร้อมใช้งาน ที่เป็นมาตรฐานครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ ครอบคลุมการบริการด้านการให้คำปรึกษา ติดตั้งระบบและบริการหลังการขาย

นายเอกราช ปัญจวีณิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชัน(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“ทุกวันนี้ลูกค้ามีความตื่นตัวมากขึ้น และรู้ว่าอะไรคือโซลูชั่นที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุด สิ่งที่องค์กรธุรกิจเอสเอ็มอีมองหาก็คือระบบไอทีที่มีความยืดหยุ่น และความคุ้มค่าสูงสุด แต่มีความซับซ้อนน้อยที่สุด เดลล์พยายามทำให้ระบบไอทีกลายเป็นเรื่องง่ายเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราสามารถมุ่งเน้นไปที่การทำธุรกิจและสร้างกำไร”

โซลูชัน Dell Office Connect ครอบคลุมบริการและผลิตภัณฑ์ใน 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1. Client&Mobility: ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊คตระกูลวอสโทร และละติจูด โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และเครื่องบันทึกการขาย (POS : Point Of Sale) รวมถึง Microsoft Dynamic สำหรับการใช้งานระบบ ERP

2. Efficient Office: ประกอบไปด้วยเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ตามที่ได้เลือกเอาไว้เพื่อที่ เอสเอ็มอี จะสามารถนำไปใช้งานได้ทันที พร้อมด้วยระบบ ERP ที่พร้อมใช้งานได้ทันที

3. One Stop Service: บริการด้านต่างๆ รวมถึงบริการคลาวด์สาธารณะในการให้บริการการจัดการอีเมล บริการให้คำปรึกษาและบริการหลังการขาย Dell ProSupport ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการสนทนาผ่านระบบแชทและคอลล์เซ็นเตอร์

4. Smart Office: ผลิตภัณฑ์ต่อพ่วงต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพ LCD, เครื่องพิมพ์เลเซอร์ และจอมอนิเตอร์

นายเอกราช ยังกล่าวเสริมว่า “การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำภาพของการเปลี่ยนเดลล์ไปสู่บริษัทที่นำเสนอบริการและโซลูชันและเรายังคงให้สัญญาว่าจะนำเสนอโซลูชันที่ครบวงจรบนระบบเปิด ใช้งานได้จริง และในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้ผลประกอบการที่ดีที่สุด”

ราคาและการวางตลาด

Dell Office Connect พร้อมวางตลาดแล้ววันนี้ พร้อมกันนี้ เดลล์นำเสนอบริการด้านต่างๆ และข้อเสนอราคาพิเศษตั้งแต่วันนี้ – ถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

แพ็คเกจเอ : ชุดรวมคุ้มค่าแก่การลงทุนชุดเดียวที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีบริหารจัดการรวมศูนย์ทั้งระบบฮาร์ดแวร์และระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ที่ดีที่สุด โดยมาพร้อมกับฐานข้อมูลพร้อมใช้งานได้ทันที ประกอบด้วย แบ็คเอนด์เซิร์ฟเวอร์ Dell PowerEdge R410 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับรันงาน Dynamic และ AD และเซิร์ฟเวอร์ Dell PowerEdge R510 สำหรับรันงาน SQL เครื่องเดสก์ท็อป Dell Optiplex 380 จำนวน 5 เครื่อง และระบบ Microsoft Dynamics AX: Business Essential Edition ราคาโปรโมชั่น ราคา 1,436,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

แพ็คเกจบี: โชลูชันจุดบริการสำหรับธุรกิจค้าปลีก ประกอบด้วยเครื่องเดสก์ท็อป Dell Optiplex 1 เครื่อง อุปกรณ์ต่อพ่วงระบบ POS และ Microsoft Dynamic Retail Management Software พร้อมรับประกัน 3 ปีราคาโปรโมชั่น 188,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
พร้อมกันนี้ เดลล์นำเสนอผลิตภัณฑ์ราคาพิเศษสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น เซิร์ฟเวอร์ PowerEdge R210 ราคา 27,000 บาท โน้ตบุ๊ค Dell Vostro 1450 ราคา 17,550 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)พร้อมโปรโมชั่นพิเศษ ถ้าซื้อแพ็คเกจเอ หรือแพ็คเกจบี มีสิทธิเลือกซื้อพรินเตอร์ได้ในราคาพิเศษ

View :1480

ก.ไอซีที เปิดตัวเว็บท่า www.pwdsthai.com สำหรับคนพิการ เพื่อบูรณาการข้อมูลสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม

August 11th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดใช้งานเว็บท่าสำหรับคนพิการ ว่า กระทรวงไอซีทีมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับคนพิการ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการพัฒนาเว็บท่า (Web Portal) สำหรับคนพิการ ในชื่อว่า เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลให้คนพิการ ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

“เว็บท่าสำหรับคนพิการนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การใช้ชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมในสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนพิการกับหน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับจุดเด่นของเว็บท่าสำหรับคนพิการ คือ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วยเทคนิค TWCAG 2.0 เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นลักษณะ One Stop Service เช่น ข่าวสารแวดวงคนพิการ ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ สถิติข้อมูลคนพิการ สุขภาพกายและจิตใจของคนพิการ บริการด้านการศึกษาของคนพิการ บริการด้านอาชีพของคนพิการ บริการด้านกีฬาและนันทนาการของคนพิการ บริการด้านสังคมของคนพิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ระบบให้ – ยืมคืนอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบจัดเก็บข้อมูลครุภัณฑ์คนพิการที่ดำเนินการติดตั้ง ณ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น เพื่อให้สอดรับกับการออกกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีผลให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต้องจัดทำข้อมูล ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐมากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้จัดทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานสำหรับคนพิการตามมาตรฐาน TWCAG ดังนั้น ในเว็บท่าสำหรับคนพิการนี้จึงมีข้อมูลความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถศึกษาและปรับปรุงเว็บไซต์ตามมาตรฐาน TWCAG อีกทั้งเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

ส่วนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาเว็บท่าสำหรับคนพิการนั้น กระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่คนพิการและผู้สนใจทั่วประเทศ โดยจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwdsthai.com

View :1646

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยจับมือพีดีเอเดินหน้าโครงการชุมชนดอทเน็ต

August 9th, 2011 No comments

รับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา พร้อมช่วยชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าถึงไอที เพิ่มรายได้ และขยายช่องทางนำสินค้าท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดออนไลน์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA เดินหน้าประสานความร่วมมือเพื่อชาวบ้าน นำไอทีเสริมรายได้ในโครงการชุมชนดอทเน็ต จัดพิธีรับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 370 เครื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำหรับโครงการชุมชนดอทเน็ต ณ โรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้ชาวบ้านจาก 20 หมู่บ้านในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนรู้ ไอทีและนำไปเสริมศักยภาพชุมชน ในการสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ของชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้อันจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ เป็นหนึ่งในโครงการของไมโครซอฟท์ที่สานต่อพันธกิจในการส่งเสริมการนำ ไอทีเข้าไปเสริมการประกอบอาชีพของคนในชุมชน โดยยึดตามแนวทางของไมโครซอฟท์ที่ต้องการส่งเสริมและฝึกอบรมให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การใช้งานไอที และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปส่งเสริมและขยายอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น อันจะนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นและการสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนต่อไปให้กับชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนในการดำเนินการโครงการชุมชนดอทเน็ตร่วมกับชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น โดยสมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางช่วยเหลือและให้คำแนะนำชาวบ้านในการเพิ่มช่องทางขายและนำสินค้าท้องถิ่นไปสู่ตลาดออนไลน์เพื่อใกล้ชิดผู้บริโภคต่อไป”

นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA กล่าวว่า “จากแนวคิดที่ตรงกันของไมโครซอฟท์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และโรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนาที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญไปสู่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนในระยะยาวและอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการศึกษาของเยาวชน และการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เราจึงมีความร่วมมือกันมายาวนาน และโครงการชุมชนดอทเน็ตก็เป็นอีกโครงการหนึ่งภายใต้ความร่วมมือระหว่าง PDA โรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนา และไมโครซอฟท์ ในการส่งเสริมให้ชาวบ้านนำไอทีเข้าไปขยายตลาดการจำหน่ายสินค้าในชุมชนผ่านเว็บไซต์ และในวันนี้ PDA โรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนาและไมโครซอฟท์ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอทีเพื่อชุมชนเสร็จเป็นที่เรียบร้อย 17 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 20 แห่ง ใน 20 หมู่บ้าน ผ่านการดำเนินงานของโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน หรือ The Village Development Partnership (VDP) ภายใต้โรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนาที่มีการทำงานร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านทั้ง 20 แห่ง อย่างใกล้ชิด ส่วนศูนย์ฯ อีก 3 แห่ง ก็คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเร็วๆ นี้”


นายมีชัย วีระไวทยะ (แรกจากซ้าย แถวหลัง) ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA


นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา (กลาง) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ รับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 370 เครื่อง จากนางวรนุช เดชะไกศยะ(ที่สองจากซ้าย แถวหลัง) ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำหรับใช้ในโครงการชุมชนดอทเน็ต เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากไอทีในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของชุมชนไปสู่ตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้อันจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา (ขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งเสริมการนำไอทีไปสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกลเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านโครงการชุมชนดอทเน็ต โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม และงานประดิษฐ์ จะนำไปจำหน่ายบนเว็บไซต์ ภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ต


เยาวชนจากหมู่บ้านหนองตาเข้ม อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสอนผู้ใหญ่สำหรับการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ในอนาคต ณ ศูนย์ไอทีเพื่อชุมชนภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 20 หมู่บ้านภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ต

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการชุมชนดอทเน็ต

· โครงการชุมชนดอทเน็ตริเริ่มโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยใช้ไอทีมาเพิ่มมูลค่า ช่วยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

· บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัทแม่คือไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เป็นจำนวน 6 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการชุมชนดอทเน็ต ซึ่งนับเป็นการสานต่อพันธกิจการส่งเสริมการใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของคนในชุมชนที่บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทยก่อตั้งและดำเนินธุรกิจอยู่

· ในโครงการนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA ในการส่งเสริมให้หมู่บ้านจำนวน 20 แห่ง ในอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในหมู่บ้านและชุมชนผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ โดยโครงการชุมชนดอทเน็ตมีระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2554 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2555

· สิ่งที่ไมโครซอฟท์และ PDA สนับสนุนชุมชนทั้ง 20 แห่งภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ตคือ

- จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอทีในหมู่บ้านทั้ง 20 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมา โดยมีศูนย์กลาง หรือฮับ (hub) อยู่ที่โรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

- สอนการใช้ไอทีเบื้องต้น ด้วยหลักสูตร Microsoft® Unlimited Potential ซึ่งประกอบไปด้วย ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานเอกสารด้วย Microsoft® Word, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระดานคำนวณด้วย Microsoft® Excel, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลด้วย Microsoft® PowerPoint, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับฐานข้อมูลด้วย Microsoft® Access, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เวิลด์ไวด์เว็บ และ Microsoft® Outlook และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำเว็บ ให้กับผู้นำเยาวชนในหมู่บ้าน ในรูปแบบ train the trainer เพื่อนำความรู้ไปสอนชาวบ้านต่ออีกทีหนึ่ง

- พัฒนาเว็บไซต์หลัก หรือเว็บพอร์ทัลให้แต่ละหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยจะเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่นๆ และโซเชียลมีเดีย

· ความคืบหน้าของโครงการ ไมโครซอฟท์จะทำการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องและติดตั้งโปรแกรม Windows®XP และ Microsoft® Office 2007 ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสินค้าและเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่การค้าขายออนไลน์ หลังจากได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 370 เครื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำหรับสิ่งที่ไมโครซอฟท์และ PDA จะดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป ได้แก่

- ฝึกอบรมไอทีเบื้องต้นให้กับผู้นำเยาวชนจำนวน 80 คน จาก 20 หมู่บ้าน เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นไปฝึกอบรมชาวบ้านในหมู่บ้านต่อไป

- ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องคอมพิวเตอร์สม่ำเสมอ

- จดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ เพื่อเริ่มสร้างเว็บไซต์และอัพโหลดข้อมูล

- ดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านโบรชัวร์ และเสียงตามสายในชุมชน ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ชาวบ้านและเยาวชนในหมู่บ้าน

· ความคาดหวังจากโครงการคือ สร้างโครงการชุมชนดอทเน็ตในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ให้เป็นโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต โดยเบื้องต้น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยและ PDA หวังว่าจะสามารถฝึกอบรมชาวบ้านได้ทั้งสิ้น 1,700 คน ในปีแรก และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้ร้อยละ 20 ภายในเวลา 1 ปี

รู้หรือไม่

· ชุมชนทั้ง 20 แห่งภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ตเป็นชุมชนที่ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นในการนำไอทีเข้าไปช่วยในการหาข้อมูลและเพิ่มช่องทางการทำกินของคนในหมู่บ้านไปยังเว็บไซต์

· ชุมชนบ้านหนองตาเข้ม เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของชาวบ้านที่มีความสนใจขยายช่องทางการสร้างรายได้

· ชุมชนบ้านหนองตามเข้ม ตั้งอยู่ที่ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 653 ไร่ แยกเป็นพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย 217 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 303 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 30 ไร่ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 749 คน อาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนคือ อาชีพทำนา ส่วนอาชีพรองคือ ทอผ้า ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกดอกไม้ ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร เลี้ยงไก่ ปลาดุก และค้าขาย

· ลักษณะเด่นของชุมชนบ้านหนองตาเข้มคือการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือ ชาวบ้านมีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆ และมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกสมุนไพร และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพรเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการทำจักสาน ทอผ้าไหม ปลูกพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ จากการที่บ้านหนองตาเข้มมีความเข้มแข็ง ชาวบ้านมีความสามัคคี และมีการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอส่งผลให้ได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่นของจังหวัดบุรีรัมย์ในปี พ.ศ. 2553

· ความคาดหวังของชาวบ้านจากศูนย์การเรียนรู้ไอทีเพื่อชุมชน ภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ตคือ คนในชุมชนและเยาวชนจะได้รับความรู้และสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นคว้าข้อมูลและความรู้เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ และไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานในเมืองหรือกรุงเทพ

ที่มา http://nongtakem.moobanthai.com/general/

· ชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม ตั้งอยู่ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 613 คน อาชีพหลักคือทำนา ส่วนอาชีพรองคือ ทำวิกผล ค้าขาย

· ความคาดหวังของชาวบ้านจากศูนย์การเรียนรู้ไอทีเพื่อชุมชน ภายใต้โครงการชุมชนดอทเน็ตคือ ต้องการให้คนในชุมชนมีความรู้เพิ่มเติมและสามารถค้นคว้าหาเทคนิคใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพการเกษตร รวมถึงอาชีพเสริมที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม อีกทั้งเยาวชนยังสามารถใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเดินทางออกนอกหมู่บ้านเพื่อเข้าไปในเมือง เพิ่มความสะดวกและปลอดภัย เนื่องจากเส้นทางสัญจรสู่ตัวเมืองยังค่อนข้างทุรกันดาร

View :1953

กรมการขนส่งทางบก เปิดเว็บไซต์ศูนย์ขนส่งออนไลน์

August 8th, 2011 No comments

เปิดเว็บไซต์ศูนย์ขนส่งออนไลน์ ให้ประชาชนเรียกใช้รถบรรทุกสินค้าขาเดียวผ่านระบบ เพื่อลดการบรรทุกเที่ยวเปล่า ซึ่งปัจจุบันพบถึงร้อยละ 40    
 
นายเฉลิมไท  ญาณภิรัต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกมีการแข่งขันสูงมาก ทั้งนี้ จากสถิติรถใหม่ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกในปี 2554 พบว่า มีรถบรรทุก จำนวน 36,741 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 7,036 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 19  ในจำนวนดังกล่าว พบรถบรรทุกเที่ยวเปล่าสูงถึงประมาณร้อยละ 30 – 40 ส่งผลให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหารถบรรทุกเที่ยวเปล่า กรมการขนส่งทางบกจึงได้จัดทำ“โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับลดการบรรทุกเที่ยวเปล่าเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน” ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ศูนย์ขนส่งออนไลน์ที่ www.thaitruckcenter.com เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียกใช้บริการขนส่งสินค้าขาเดียวจากรถบรรทุกสินค้าที่ต้องวิ่งเที่ยวเปล่า เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถบรรทุกให้มีการขนส่งสินค้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ทำให้จำนวนรถบรรทุกบนท้องถนนลดลง รวมทั้งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและมลพิษที่เกิดจากรถบรรทุกด้วย 
 
นายเฉลิมไท กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสารสนเทศเพื่อรถบรรทุกเที่ยวเปล่าดังกล่าว เป็นระบบออนไลน์ ที่ทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ใช้บริการขนส่งสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบได้ ฟรี ที่เว็บไซต์ www.thaitruckcenter.com ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งสามารถประกาศการให้บริการรถบรรทุกเที่ยวเปล่า เพื่อค้นหาผู้ต้องการใช้บริการรถบรรทุก รวมทั้งติดต่อและเสนอราคากับผู้ต้องการใช้บริการได้โดยตรง ส่วนผู้ใช้บริการขนส่งสามารถประกาศหาผู้ประกอบการขนส่งที่มีรถบรรทุกเที่ยวเปล่า หรือค้นหาข้อมูลรถบรรทุกเที่ยวเปล่าได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการขนส่งทางบก ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยและคุณภาพการบริการขนส่งด้วยรถบรรทุกมากขึ้น
 
นอกจากการให้บริการดังกล่าวแล้ว กรมการขนส่งทางบกยังมีการวางแผนเส้นทางการเดินรถจากระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่บรรจุเส้นทาง และที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาผู้ประกอบการขนส่งในแต่ละพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในการใช้บริการของเว็บไซต์ www.thaitruckcenter.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก โทร. 0-2271-8490 รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด  

View :1586

ก.ไอซีที แนะวิธีหลีกเลี่ยงภัยจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ในลักษณะ Impersonation

August 6th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของสังคมเครือข่าย () เช่น facebook, hi5, twitter ได้ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ในลักษณะของการ “บอกต่อ” หรือ “ปากต่อปาก” ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งได้ ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการกำหนด และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยทั้งที่เป็นผู้รับสารรวมถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว ยังมีผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้ไปในทางไม่เหมาะสม เช่น การเผยแพร่ข้อมูล เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล สถาบัน หรือก่อความไม่สงบ โดยปัจจุบันมีภัยจากเครือข่ายสังคมออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า หมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นจากการที่มิจฉาชีพสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นของผู้นั้นจริง โดยผู้ที่ทำการลอกเลียนแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น จะพยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับของผู้ที่ถูกทำ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการคนอื่นเข้าใจผิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ที่ถูกทำฯ ซึ่งอาจส่งกระทบในทางลบทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น เมื่อประสบภัย Impersonation วิธีการปฏิบัติ คือ หากเป็นผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation ใน twitter ที่จะมีคนติดตาม หรือ Follow ซึ่งระบบนี้จะมีกล่องข้อความแจ้งชื่อผู้ติดตามให้ทราบ โดยผู้ที่ถูกกระทำไม่ควรยกเลิกการแสดงข้อความดังกล่าว เพราะจะเป็นหลักฐานว่ามีใครบ้างที่ติดตามเรา ซึ่งปกติแล้วผู้ที่กระทำ Impersonation จะทำการติดตามผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation เพื่อสังเกตพฤติกรรมและคอยติดตามลักษณะการพูดคุยและการดำเนินชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ซึ่งข้อความเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานได้

ส่วนผู้ที่ถูกทำ Impersonation ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ควรดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานทันที เมื่อทราบว่ามีผู้กระทำ Impersonation โดยอ้างอิงชื่อเรา หลังจากดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ควรจะแจ้งให้ผู้ใช้อื่นที่ติดตามเราในเครือข่ายทราบว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ตัวตนของเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่าการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการสนทนาของเรา

จากนั้นดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เช่น สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการออกหนังสือในการยื่นคำร้องขอ IP Address จากทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักฐานในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

View :1487

อินเทลร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกสานต่อนวัตกรรมคอมพิวเตอร์จากปัจจุบันสู่อนาคต

July 29th, 2011 No comments


อินเทลร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่บริษัทมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวงการไอทีตั้งแต่ยุคของคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเครื่องแรกไปจนถึงยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์และยุครุ่งเรืองของแท็บเบล็ต

ในขณะที่เรากำลังฉลองช่วงเวลาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่นี้ การทำความเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอิทธิพลสูงเพียงใดต่อชีวิตประจำวันในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมานั้นนับเป็นสิ่งที่ยากทีเดียว ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส และราคาของคอมพิวเตอร์ถูกลงมากอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรังสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมากอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นของ “สิ่งเร้นลับหลังม่านดำ”

ก่อนที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปี 2524 ผู้สนใจคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มที่มีความสนใจในเทคโนโลยี ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่สนใจนำไปใช้ในกิจกรรมอดิเรกของตน และกระหายที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการใช้งาน องค์ประกอบต่างๆ และพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไอบีเอ็มได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าว โดยการสร้างมาตรฐานสากลขึ้นมาในวงการอุตสาหกรรม และผลักดันการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ออกมาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกในวงกว้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมองว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือชนิดหนึ่งและไม่ใช่ของเล่นอีกต่อไป
ไอบีเอ็มเปิดตัวพีซีเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2524 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของยุคแห่งการหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของคอมพิวเตอร์ และก้าวสู่ยุคของการพัฒนาอย่างแท้จริง เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกของไอบีเอ็มใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น อินเทล 8086 เป็น “สมอง” ภายในคอมพิวเตอร์

การแปรสภาพของเครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง
ระบบประมวลผลผ่านการแปรสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปีอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มแรกเป็นอย่างไร จอภาพที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นจอโมโนโครมที่แสดงตัวอักษรและตัวเลขสีเขียวเรืองแสงออกมา แม้ว่าในช่วงแรกๆ มีการจำหน่ายจอสีด้วยเช่นกัน แต่จอสีมีการใช้ในแวดวงที่จำกัดและมีราคาค่อนข้างสูงมาก ในยุคนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ไม่คล่องตัวมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการแสดงผลแบบกราฟฟิกและไม่มีเมาส์สำหรับใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ในยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ถึง ในขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไมโครโปรเซสเซอร์ชั้นยอดอย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ทั้งสามรุ่น คือ อินเทล คอร์ ไอ5 ไอ7 และ ไอ3 ทีมีพลังสมรรถนะในการประมวลผลที่ดีเยี่ยมกว่าสมัยก่อนมาก รวมทั้งยังประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมาย (ขึ้นอยู่กับรุ่นของโปรเซสเซอร์) อาทิ ® Quick Sync, ® Wireless Display 2.0, ® Turbo Boost Technology 2.0 และเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดอื่นๆ อีกหลากหลาย

ในปัจจุบัน เราสามารถเพลิดเพลินกับภาพกราฟฟิกที่มีความละเอียดสูง สร้างวิดีโอหรือภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดาย ดาวน์โหลดข้อมูลได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแตกต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง

เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกมีราคาราวๆ 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 91,000 บาท) หรือราคาสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยในขณะนั้นประมาณ 10 เท่า ปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.75 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทย และในอนาคตราคาอาจจะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ

ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์จำนวน 10,000 เครื่อง ถือเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลแล้ว จอห์น มาร์คอฟ นักเขียนของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ผู้เขียนบทความชื่อ “มองย้อนหลังพีซีเครื่องแรกของฉัน” ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 เล่าว่า ไอบีเอ็มคาดว่าจะจำหน่ายคอมพิวเตอร์ได้ 240,000 เครื่องภายในเวลา 5 ปี แต่ปรากฏว่าไอบีเอ็มได้รับยอดสั่งซื้อจำนวนนี้ภายในเดือนแรกเท่านั้น ปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์กว่าหนึ่งล้านเครื่องต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลาไม่นานในช่วงชีวิตของเรา

เครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มรุ่นแรก และ “เครื่องเลียนแบบ” ที่ปรากฏตามมาในช่วงต้นปี 2525 ถูกผู้คนมองว่าเป็นแค่ “เครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง” หรือ “เครื่องคิดเลขชั้นดีกว่าปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์เหล่านี้ยังทำงานได้อย่างจำกัด แต่ในปัจจุบัน คุณสมบัติต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ได้ขยายขอบเขตออกไปถึงระดับที่ผู้คนในยุคก่อนหน้านี้ไม่เคยจินตนาการว่าจะทำได้มาก่อน คอมพิวเตอร์สามารถทำหน้าที่เป็นโทรศัพท์ ไปรษณีย์ โรงภาพยนตร์ คลังจัดเก็บข้อมูล และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของเราไปแล้ว

วันนี้และอนาคต

กอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทลตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในปี 2508 ว่า ความจุของโปรเซสเซอร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกๆ 18 เดือน ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่เพิ่มเป็นทวีคูณภายในช่วงเวลาสั้นๆ คำพูดดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็น “กฎของมัวร์” และแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นจริงมาจนถึงทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับผู้บริโภคมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้ในการส่งคนไปดวงจันทร์เสียอีก และวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็มิได้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้นหลังจากผ่านไปแล้ว 30 ปี

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในสามทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวิธีการที่ผู้คนสื่อสาร ทำงาน ศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความสุขใส่ตัว ในขณะที่วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับโปรเซสเซอร์ของอินเทลจะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการจัดการงานต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ผู้คนในช่วงหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้านี้คาดไม่ถึงว่าจะทำได้”

ปัจจุบันระบบประมวลผลมีการแปลงสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก จากยุคที่เป็นแค่เครื่องพิมพ์ดีดซึ่งมีจอเรืองแสง ไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้งานร่วมกับพีซีได้ สมาร์ทโฟน กระทั่งมาถึงยุคของแท็บเบล็ต คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และยังคงทวีความแข็งแกร่งไปทั่วโลก วิสัยทัศน์ของอินเทลในอนาคตอันใกล้นี้คือ การนำรูปแบบการใช้งานแนวใหม่มาใช้ ซึ่งมาในรูปของคอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่อย่าง Ultrabook นั่นเอง คอมพิวเตอร์ชนิดนี้จะให้ประสิทธิภาพและคุณสมบัติต่างๆ ของโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ในปัจจุบันไปผสมผสานกับคุณสมบัติต่างๆ ของแท็บเบล็ต เพื่อให้มีรูปแบบการใช้งานที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยดีไซน์ของเครื่องที่บางมาก (บางไม่ถึง 20 มม.) น้ำหนักเบาและดูเรียบหรู ในราคาทั่วไปที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,900 บาท) นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคแต่ละรายสามารถเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือขณะอยู่บนท้องถนนก็ตาม


นอกจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะใช้เป็นระบบประมวลผลข้อมูล เพื่อความบันเทิง หรือใช้ระบบสื่อสารก็ตาม โดยใช้เทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการอย่าง Wi-Di (Wireless Display) ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และทีวีได้ และสมาชิกในบ้านทุกคนสามารถหันมาใช้เวลาอันมีค่าร่วมกันได้มากขึ้น ใน “ยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์ที่บ้านจะได้รับการใช้งานมากขึ้น และผู้บริโภคจะกลายเป็นศูนย์กลางเพื่อกำหนดประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ที่ปลายนิ้วในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อินเทลคาดหวังว่าการก้าวกระโดดของประสิทธิภาพในครั้งต่อไปจะทำให้ระบบประมวลผลก้าวไปสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับคำสั่งที่เป็นเสียงพูดและตอบสนองได้ในทันทีเป็นต้น

เราได้เดินทางมาไกลมาก นับตั้งแต่ยุคที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาที่ผู้คนต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบันที่ไลฟ์สไตล์และความต้องการต่างๆ ของผู้คนได้กลายเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับเทคโนโลยีไปแล้ว ระบบประมวลผลส่วนบุคคลได้กลายมามีความเป็นส่วนบุคคลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

View :2122

เทรนด์ ไมโคร เผยผลวิจัยพบอันตรายที่มาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในองค์กร

July 29th, 2011 No comments

แม้ว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ แต่องค์กรธุรกิจควรรับรู้ไว้ว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์สามารถเป็นพาหะภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้เช่นกัน

องค์กรธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับวัดการขยายบทบาทของตนในตลาด โดยจะเห็นได้ว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในด้านการส่งเสริมการขายและการตลาด อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนการใช้ไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์จะเพิ่มสูงขึ้น แต่หลายองค์กรยังขาดความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและภัยคุกคามที่มีสื่อสังคมออนไลน์เป็นพาหะ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงการมีนโยบายควบคุมที่สามารถดูแลพนักงานของตนได้อย่างครอบคลุม ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการละเมิดความปลอดภัยซึ่งเป็นผลมาจากการใช้แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงมีจำนวนมากกว่าผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับ

รายงานจากนีลเซนระบุว่า 74% ของประชากรอินเทอร์เน็ตโลกเข้าชมไซต์บล็อก (blog) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ และพบว่าจุดที่ใช้ในการเข้าร่วมในสื่อสังคมออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ในที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่รายงานของการ์ทเนอร์ระบุว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในที่ทำงานกำลังขยายตัวอย่างมากโดยจากการสำรวจพบว่าพนักงานเกือบครึ่งมีการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และ 18.5% มีความชำนาญหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการวางแผน ประเมิน หรือเลือกสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ภายในองค์กรของตน

“สื่อสังคมออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแวดวงธุรกิจ เราพบว่าบริษัทหลายแห่งได้ปรับใช้ไซต์เครือข่ายเสมือนให้เป็นเครื่องมือทำการตลาดเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนหรืออยู่เหนือคู่แข่งในตลาด อย่างไรก็ตาม หลายรายมองข้ามความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่มีอยู่ภายในไซต์เครือข่ายสังคมดังกล่าว” ไมลา ปิลาโอ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีหลัก ศูนย์วิจัยเทรนด์แล็บส์ บริษัท อิงค์กล่าว

ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านราย ทำให้ Facebook กลายเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด อย่างไรก็ตามอาชญากรไซเบอร์เองก็ได้มองเห็นโอกาสในการใช้ Facebook เป็นพาหะแพร่มัลแวร์หรือสร้างการโจมตีด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สแปมเมอร์ใช้ Facebook เพื่อแพร่ลิงก์ที่เป็นอันตรายซึ่งมักจะนำไปสู่การดาวน์โหลดมัลแวร์โดยอาศัยผู้ใช้เป็นนกต่อล่อลวงบุคคลอื่นๆ ให้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ บริษัท เทรนด์ ไมโคร จึงได้รวม Facebook ไว้ในรายชื่อสิ่งที่มีอันตรายที่สุด 10 อันดับแรกโดยพิจารณาจากการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับ Facebook ซึ่งได้รับการรายงานอยู่บ่อยครั้ง

เช่นเดียวกับเครื่องมือค้นหาอื่นๆ Twitter ได้กลายเป็นแหล่งรวมลิงก์ที่เป็นอันตราย โดยอาชญากรไซเบอร์ได้ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้ใช้ที่มักจะติดตามหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจ (trending topics) และกระตุ้นให้ผู้ใช้ทำการค้นหาข้อมูล จากนั้นเมื่อผู้ใช้ Twitter คลิกลิงก์ที่เป็นอันตรายก็จะถูกนำไปยังเพจที่มีมัลแวร์แฝงอยู่

หลุมพรางจากการเข้าใช้ไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์โดยไม่ระวังตัวจะครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนเส้นทางแบบง่ายๆ ไปจนถึงการทำให้ระบบติดเชื้อได้อย่างซับซ้อน “นอกจากไวรัสหรือมัลแวร์ การลวงให้คลิกไลค์ (likejacking) แอพพลิเคชั่นอันตราย และสแปมทวิตเตอร์แล้ว องค์กรธุรกิจกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงหากพนักงานของตนโพสต์ข้อความหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมที่นำไปสู่การเปิดเผยที่ตั้งสำนักงาน ปัญหาการเมืองภายในองค์กร โครงการลับ กลยุทธ์ หรือสภาพภายในสำนักงาน เป็นต้น” ไมลา กล่าว

ในการบล็อกภัยคุกคามที่มาจากการใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของพนักงาน มีหลักการที่สำคัญอยู่ไม่กี่ข้อซึ่งองค์กรธุรกิจควรนำไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สร้างแนวทางเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อควบคุมพฤติกรรมพนักงานและแนะนำให้พนักงานพึงระวังในสิ่งที่พวกเขาเผยแพร่ทางออนไลน์ 2) ปรับใช้และปรับปรุงการป้องกันแบบหลายชั้นเป็นประจำ 3) ติดตามตรวจสอบสินทรัพย์สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมดและบันทึกการสื่อสารทั้งหมดไว้ 4) พัฒนาแผนการสื่อสารและการดำเนินการที่เหมาะสมสำหรับกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และข้อสุดท้ายแต่ไม่ใช่ท้ายสุด จัดแคมเปญรณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เพื่อช่วยให้พนักงานเข้าใจและสำนึกในคุณค่าของสินทรัพย์ข้อมูลองค์กร รวมถึงผลที่ตามมาในกรณีที่สินทรัพย์นั้นตกอยู่ในภาวะอันตรายด้วย

View :2078

อึ้ง! วิจัยภัยไซเบอร์เผยชายเสี่ยง-ล่อแหลม มากกว่าหญิง

July 14th, 2011 No comments

ปัญญาสมาพันธ์ฯ เผยวิจัยภัยไซเบอร์ ช็อคผู้ชายถูกกระทำ 62% หญิง 38% ไม่รู้ว่าร้องเรียนที่ไหน 51.1% และ ไม่ทราบมาก่อนว่าพ.ร.บ.คอมฯ 35% ขณะที่ ยอดคดีอาชญากรรมคอมพิเตอร์พุ่ง 191 คดี…  
 
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “รู้เท่าทันกฎหมาย ชนะภัยไซเบอร์” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่อง ภัยไซเบอร์:การรับรู้ และความเข้าใจของประชาชน เกี่ยวกับกฎหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบ และนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางให้แก่ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พ.ต.อ. สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันธิปดอทคอม (pantip.com) และนางสาวเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยมี นางสาวฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
ทั้งนี้  กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 2 พัน คน ที่เคยใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยใช้แบบสอบถามที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ข้อมูลทางด้านประชากรศาสตร์ 2.พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต 3.การรับรู้เกี่ยวกับกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบและผลงานด้านการดูแลภัยทางไซเบอร์ และ 4.ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบและผลงานทางด้านการดูแลภัยทางไซเบอร์ โดยมุ่งศึกษาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต
 
นางสาวเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลคดีอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยตั้งแต่เดือนก.ค.2550 ถึง เดือนก.ค.2553 พบว่ามีการดำเนินคดีตามกฎหมาย 185 คดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาล จากการสำรวจกลุ่ม ตัวอย่างพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุระหว่าง15-25 ปี  มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน วันละประมาณ 1-2ชม. ใช้ที่บ้านมากที่สุด โดยพบว่าผู้ถูกกระทำเป็นผู้ชาย 62% ผู้หญิง 38% ขณะที่ พบว่า หากโดนกระทำผิดทางอินเทอร์เน็ตสามารถเรียกร้องเรียนได้ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมฯ 2550  แต่ไม่รู้ว่าร้องเรียนที่ไหน 51.1% รองลงมาไม่เคยทราบมาก่อนว่าร้องเรียนได้ 34% นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มตัวอย่าง 35% ไม่ทราบมาก่อนว่ามีกฎหมายนี้ แต่ไม่เคยอ่าน กว่า35.9% และเคยอ่านแต่ไม่เข้าใจในบางประเด็น 22%
 
พ.ต.อ. สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กล่าวว่า ในจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนพบว่ามีเพียงบางเรื่องที่ผิดทางอาญา แต่เรื่องที่รับไว้ เสร็จสิ้นไปไม่ถึง 100 เรื่อง จาก 191 เรื่อง โดยปอท. ทำเอง 70 เรื่อง จบไปแล้ว 50 กว่าเรื่อง เพราะบางเรื่องถูกส่งไปยังพื้นที่ ส่วนตจว.ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะที่ มีเรื่องที่อยู่ในมือไม่ถึง 10 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นโทษปรับมากกว่าจำคุก ทั้งนี้ ความผิดบางเรื่อง พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ขณะที่บางเรื่องอยู่ระหว่างพิจารณา บางเรื่องที่น่าสนใจ คือ การสร้างตัวตนแอบอ้างบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก สำหรับ ระยะเวลาการพิจารณาคดีต่างๆ  ขึ้นอยู่กับหลักฐาน ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นจากเฟซบุ๊กนั้นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่ต้องติดต่อระหว่างประเทศ 
 
นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันธิปดอทคอม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า พ.ร.บ.คอมฯ ยังมีความไม่สมบูรณ์ในบางเรื่อง ขณะที่ อินเทอร์เน็ตเข้ามาสร้างประโยชน์ และโทษ นอกจากนี้ ยังฝากถึงผู้ที่เข้าร่างพ.ร.บ.คอมฯ ว่าให้ดูความสมดุล เรื่องเสรีภาพ และอาชญากรรม
 
โดย @kanokrat_k นักข่าวไอที ไทยรัฐ ออนไลน์

ฉบับเต็มอ่านที่ http://www.thairath.co.th/content/tech/185815
 

View :3052

ทริดี้ เปิดวิสัยทัศน์ระดมความคิด มองทิศทาง แนวโน้มอนาคตของโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ กับนักวิชาการภาคการศึกษากว่า 30 มหาวิทยาลัย

July 5th, 2011 No comments

สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ จัดประชุมระดมความคิด ครั้งที่ 2 หาทิศทางและแนวโน้มในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ข้อคิดเห็น และเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศในอนาคต โดยการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ ทริดี้เชื่อว่าจะได้ทราบถึงทิศทางและแนวโน้ม  การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง  โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง    รวมถึงรับทราบถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในด้านดังกล่าว

โดยการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นการรวมกลุ่มจากภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 มหาวิทยาลัย ที่ต้องการหาทางออก ปฏิรูปสื่อในประเทศ ให้เกิดการกระจายในระดับมหภาคอย่างเสรีและมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ กล่าวว่า การประชุมระดมความคิดเรื่อง “Road map for Broadcasting and Telecommunications Research & Development ครั้งที่ 2” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ทริดี้และสำนักงาน กสทช. มุ่งตรงที่จะได้ทราบถึงทิศทางและแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง เทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง  ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม   ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ  เพื่อเป็นแผนการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของ  และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสำนักงาน กสทช.  ตามขอบเขตในภารกิจและการส่งเสริมและสนับสนุนตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553    โดยกิจกรรมในครั้งนี้  ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น   ซึ่งตอกย้ำถึงความร่วมมืออระหว่าง ทริดี้  สำนักงาน กสทช.  กับสถาบันการศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา  และยังมุ่งต่อยอดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคตด้วย

ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ ยังเผยภารกิจในการดำเนินงานของทริดี้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  และการพัฒนาบุคลากรที่ผ่านมา รวมไปถึงทิศทางและแนวโน้มในอนาคต  พร้อมแผนการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา  การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากร   และทราบถึงความพร้อมของสถาบันการศึกษาภายใต้ขอบเขต พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ.2553 เพื่อเป็นการรองรับการแข่งขัน AEC ที่จะมีขึ้นในปี 2015 ซึ่งในครั้งนี้จะมีนักวิจัย รวมถึงผลงานวิจัยในเทคโนโลยีในด้านที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น และสามารถต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้ สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอีกด้วย

“ในการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทริดี้เชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดแผนและแนวทางการพัฒนาการวิจัยและพัฒนา  การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพของประเทศ   และในอนาคตเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะเติบโตไปอีกมาก  ซึ่งประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังในส่วนของงานวิจัย บุคลากร และการมองหาทิศทางของผลิตภัณฑ์ ตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเริ่มพัฒนาคือภาคการศึกษาที่จะสามารถช่วยให้เกิดบุคลากรคุณภาพ เกิดการใช้ในประเทศ ตลอดจนการส่งออกในต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว”  ดร.สุพจน์ กล่าวสรุป

มุมมองของภาคการศึกษา “ความคิดเห็นของกลุ่มนักวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งนี้ มองถึงความสำคัญของการปฎิรูปในอนาคตที่ชัดเจนและจริงจัง สู่ภาคประชาชนอย่าง “รู้ทันสื่อ” โดยโครงของสื่อในอนาคต กลุ่มนักวิชาการมองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมในอนาคตหากเกิดการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น และหากจะเกิดการพัฒนาในประเทศต้องมองถึงการวางโครงสร้างที่แข็งแรง ตลอดจนการร่วมมือกันอย่างมีศักยภาพทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาเอง โดยทั้งหมดต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนา และยังมองถึงส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคจากสื่ออีกด้วย ซึ่งในอนาคตหากไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนจะเกิดการก่อกวนหรือสร้างปัญหาจากสื่อได้

งานวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญหากที่ผ่านมามีแต่การวางโครงการนำเสนอวิจัย แต่ไม่มีการนำโครงการต่าง ๆ ไปปฏิบัติงานหรือต่อยอด ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งมี ทริดี้ที่สนับสนุนให้นำงานวิจัยไปดำเนินงานต่อยอด แต่ในอนาคตหากเกิดการดำเนินงานในด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ที่เสรีมากขึ้น ต้องช่วยกันในหลายภาคส่วนให้นำผลงานต่าง ๆ ไปต่อยอดให้เกิดการใช้งานจริง ซึ่งหากสามารถนำโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ไปปฏิงานได้จริง ไม่เพียงแต่ผลงานจะสะท้อนถึงทิศทางในอนาคต แต่จะเกิดการลดต้นทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เกิดการจ้างงาน และภาครัฐเองต้องมองหาตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ (ภาคการศึกษา-สนับสนุน วิจัยผลงาน พัฒนาผลงาน, ภาครัฐ-สนับสนุนเงินทุน หาช่องทางตลาด ตลอดจนผลักดันให้เกิดมูงค่าในเชิงพาณิชย์ สร้างมาตรฐานของผลงานที่พัฒนาขึ้นมา, ภาคเอกชน-สนับสนุนการใช้ผลงาน อุปกรณ์ และผลักดันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ) หากมองในตลาดปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ต้องเริ่มที่ พัฒนาความรู้ผลงาน ต่อยอด ใช้เอง และส่งขายตามลำดับ กอปรกับความร่วมมือจากนักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มวิศวะโทรคมนาคม นักวิจัย และลงพื้นที่พัฒนาให้ความรู้ในระดับท้องถิ่น และก้าวสู่การพัฒนาในระดับประเทศในอนาคต

หมายเหตุ :     มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 มีบทบัญญัติ ดังนี้ “ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงาน กสทช. เรียกว่า “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1)    ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนตามมาตรา 51

(2)    ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

(3)    ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กร ซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

(4)    สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

(5)    สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

View :2133