Archive

Posts Tagged ‘ก.ไอซีที’

ก.ไอซีที เร่งฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรมไอซีที

January 25th, 2012 No comments

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนการฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรมไอซีทีจากเหตุมหาอุทกภัยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ว่า เพื่อเป็นการ บูรณาการคลี่คลายปัญหาต่างๆ แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไอซีทีให้เกิดผลโดยเร็ว กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรมไอซีทีใน 3 ประเด็น คือ แนวทางดำเนินการเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฯ แนวทางการคลี่คลายปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีที

ในการประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฯ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เป็นประธาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ รวดเร็วยิ่งขึ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน รวมทั้งมีการประชุมหารือร่วมกันเป็นประจำ เพื่อวางนโยบายในการช่วยสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ และมีแผนการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และการบูรณาการองค์ความรู้จากสารสนเทศเดิมให้ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงฯ จะได้มีการประสานกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้หารือในเรื่องการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไอซีทีไทย โดยการสนับสนุนมาตรฐาน มอก. กับสินค้าที่มีการจัดซื้อในปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงฯ จะได้ทำหนังสือเชิญชวนหน่วยงานให้ใช้สินค้าไอซีทีที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. และจะได้มีการจัดทำราคากลางอุปกรณ์ไอซีทีให้เป็นราคาปัจจุบัน รวมทั้งหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางในการปรับใช้ราคากลางใหม่สำหรับอุปกรณ์ ที่ยังไม่ได้มีการจัดซื้ออีกด้วย

นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการขอสนับสนุนวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจไอซีที ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ SME สินเชื่อเพิ่อกิจการซอฟต์แวร์ ร่วมกับ SMEs Bank เพื่อให้สินเชื่อในการพัฒนาโครงการและสามารถนำไปจัดซื้ออุปกรณ์/ซอฟต์แวร์ในการทำงาน ซึ่งจะเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2554

ส่วนแนวทางการคลี่คลายปัญหาระยะสั้นนั้น กระทรวงฯ จะได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมจัดงานนิทรรศการออกร้านขายสินค้าไอทีราคาถูกเพื่อส่งเสริมการขายและกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้า เนื่องจากได้มีการประเมินว่าผู้บริโภคจะชะลอกำลังซื้อลงจนถึงไตรมาส 1 ปี 2555 ทำให้มูลค่าตลาดในไตรมาส 4 ของปี 2554 ลดลงประมาณ 30% ส่วนผู้ประกอบการที่ทำสัญญากับภาครัฐและประสบปัญหาการขาดทุนเนื่องจากสินค้าเสียหายจากอุทกภัยและการส่งมอบงานล่าช้า จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ สัญญา เพื่อกำหนดแนวทางเยียวยาอย่างยุติธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไป

ด้านแนวทางการคลี่คลายปัญหาระยะยาวที่เกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศนั้น กระทรวงฯ จะดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งทางด้านแหล่งทุน BOI ธนาคาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมการลงทุน โดยที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ BOI เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีหน้าที่ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศและในประเทศที่ขอรับการส่งเสริมอุตสาหกรรม

View :1443

ก.ไอซีที หนุนโครงการ e–Shop บูรณาการร่วมโครงการ e-Women

January 25th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ e-Shop หรือ ร้านค้าชุมชนออนไลน์ ขึ้น และบูรณาการร่วมกับโครงการ เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างครบวงจร โครงการ e-Shop นี้ จะเป็นการตั้งร้านค้าสาธิตขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนได้เห็นและใช้เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตาม ซึ่งจะเน้นการทำงานจริงขายจริง โดยจัดทำขึ้นเป็น 3 รูปแบบ คือ www.ThaitelecentreCharms.com , www.thaitelecentreShop.com และwww.thaitelecentreMall.com

ThaitelecentreCharms เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชนกว่า 800 แห่งที่ตั้งอยู่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ThaitelecentreCharms นี้จะยึดหลัก การทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship/ Social Entreprise) โดยมุ่งหวังให้ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีช่องทางการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นออกสู่ตลาดสากล รวมทั้งตลาดระดับบน (High-End Market) ด้วยการจัดทำร้านค้าสาธิตออนไลน์ของชุมชน (Demonstration Community e-Shop) ที่มีชุมชนเข้าร่วมบริหารจัดการ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) จากชุมชนสู่ชุมชนด้วยกัน อีกทั้งเป็นการประกาศอัตลักษณ์ ศักดิ์ศรีของชุมชนออกสู่สังคมใหญ่หรือสาธารณชน และสังคมโลกด้วย ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้คนในชุมชน โดยไม่มีการผูกขาดทางการค้าแต่อย่างใด

สำหรับนโยบายของ ThaitelecentreCharms ก็คือ การขายสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ราคายุติธรรม เน้นความซื่อสัตย์ และส่งสินค้าแน่นอน โดยทางร้านจะให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพระดับพรีเมี่ยมไปยังตลาดต่างประเทศ (Premium Market) เป็นหลัก ส่วนสินค้าที่จำหน่ายจะแบ่งออกเป็นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ อาหารแปรรูป เครื่องประดับ ของที่ระลึก และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าทางร้านจะแจ้งหมายเลขการส่งสินค้าให้กับผู้สั่งซื้อทุกครั้ง เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบสถานะการขนส่งกับเว็บไซต์ไปรษณีย์หลังจากการจัดส่งของ ซึ่งหมายเลขการส่งของนี้สามารถตรวจสอบได้หลังจากที่ส่งของแล้วประมาณ 24 ชม. หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

ส่วนร้านค้าชุมชนออนไลน์อีก 2 รูปแบบนั้น จะมุ่งเน้นการจำหน่ายสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดย thaitelecentreMall.com จะเน้นการจำหน่ายสินค้าชุมชนออกสู่ตลาด (Open Market) ขณะที่ thaitelecentreShop จะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่คัดสรรแล้ว (Developed Market) ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายผ่าน thaitelecentreMall จะแบ่งออกเป็น 6 หมวดสินค้า คือ อาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา ส่วน thaitelecentreShop จะจำหน่ายสินค้าประเภทงานฝีมือและหัตถกรรมชุมชน สินค้าด้านการเกษตร งาน ICT หรือเทคโนโลยี งานบริการต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

View :1608

ก.ไอซีที ผลักดันสำนักงานสถิติฯ จัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน

January 24th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน ครั้งที่ 1/2555 ว่า ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554-2558 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาระบบสถิติของประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้ และเครือข่ายผู้ดำเนินการด้านสถิติที่ปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลสถิติในการตัดสินใจ และการดำเนินนโยบายบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงของทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการผลิตข้อมูล/ สถิติที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลมีความซ้ำซ้อน หลายมาตรฐาน และยากต่อการบูรณาการเชื่อมโยงสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ผลิตให้เป็นชุดข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และการบริหารให้กับผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งประเทศ จังหวัด และท้องถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดระบบสถิติเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการผลิต บูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูล/ สถิติในทุกสาขา ให้สามารถนำชุดข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้จริง นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตข้อมูลสถิติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านสถิติของประเทศ รวมทั้งกำกับ ติดตามการดำเนินงานด้านสถิติของประเทศให้ เป็นไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พร้อมรายงานความก้าวหน้าตามแผนแม่บทฯ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบสถิติต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นเลขานุการ

สำหรับการจัดระบบสถิติของประเทศไทยนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) ผังสถิติทางการ สาขาต่างๆ เช่น สาขาอุตสาหกรรม สาขารายได้ – รายจ่าย สาขาแรงงาน สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะสนับสนุนผู้บริหารระดับประเทศ จังหวัด และท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินงานตามนโยบาย 2) ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การพัฒนา และต้องการชุดข้อมูลสถิติหลากหลายสาขามาสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารทั้งสามระดับ 3) การพัฒนาทักษะผู้ผลิตและผู้ใช้สถิติทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการนำสถิติมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจบนฐานข้อมูล

ส่วนการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติ 3 ด้านของประเทศครั้งนี้มีสาระสำคัญ คือ การศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศและสาขาต่างๆ รวมทั้งได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อระบุประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการการพัฒนาข้อมูลสถิติเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนั้นยังได้มีการตรวจสอบข้อมูลสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ได้ผลิตในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การกำหนด “เจ้าภาพสถิติสาขาต่างๆ” ตลอดจนได้ศึกษามาตรฐานคุณภาพสถิติและแนวทางการพัฒนาสถิติแต่ละประเภทอีกด้วย การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานในระดับสาขาและระดับพื้นที่ต่อไป

View :1404

ก.ไอซีที เตือนผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อผู้ไม่ประสงค์ดี

December 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ มาดัดแปลง ตัดต่อ รวมถึงแสดงข้อความ หรือความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ตามเว็บไซต์ เฟสบุก หรือ ทวิตเตอร์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย และสร้างความแตกแยกในสังคม โดยการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้

ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือเฟสบุก ที่มีภาพหรือมีการแสดงข้อความอันมีลักษณะดูหมิ่น หรือไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โปรดอย่ากด “ถูกใจ” (like) “แบ่งปัน” (shared) หรือ “แสดงความคิดเห็น” (comment) ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิ ตอบโต้ในรูปแบบใดก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นโดยความตั้งใจ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น และยังเป็นการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการทำให้ภาพหรือข้อความอันไม่เหมาะสม แพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน หากมีการพบเห็นเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เผยแพร่ภาพ หรือมีข้อความหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้ผู้พบเห็น หรือรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณีอันดีงาม ก็อย่าได้ด่วนแสดงความคิดเห็นตำหนิติเตียน ตอบโต้ เนื่องจากเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์อื่นๆ นั้น อาจเกิดจากการที่กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างใช้ภาพ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาปลอมแปลงในลักษณะที่เรียกว่า Impersonation ซึ่งเป็นภัยออนไลน์ที่เกิดจากการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นของบุคคลผู้นั้น การแสดงความคิดเห็นตอบโต้หรือตำหนิ จึงอาจเป็นการให้ร้ายตำหนิผู้บริสุทธิ์และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกแอบอ้าง รวมถึงอาจทำให้ความเป็นธรรมในสังคมเสื่อมลง ดังนั้น ผู้พบเห็นจึงควรพิจารณาและต้องตระหนักอย่างรอบคอบ

หากประชาชนผู้ใดพบเจอเว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ที่มีลักษณะดังกล่าวโปรดแจ้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 1212 หรือ อีเมล์ 1212@mict.mail.go.th เพื่อดำเนินคดีหรือยุติการเผยแพร่ตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานเมื่อทราบว่ามีผู้กระทำ Impersonation โดยแอบอ้างชื่อเรา และควรจะแจ้งให้ผู้ใช้อื่นที่ติดตามเราในเครือข่ายทราบว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ตัวตนของเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่าการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการสนทนาของเราด้วย

จากนั้นดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เช่น สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการออกหนังสือในการยื่นคำร้องขอ IP Address จากทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักฐานในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

View :1531

ก.ไอซีที จับมือ 3 หน่วยงานพัฒนาการใช้ ICT ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

December 23rd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารให้กับประชาชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท

“กระทรวงไอซีที ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับประชาชนของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3 หน่วยงาน คือ สสค. สวทช. และ สกว. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมขึ้น เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้และการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสให้ดียิ่งขึ้น โดยบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้จะเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 4 หน่วยงาน ให้มีทักษะ ความรู้และความสามารถทางวิชาการที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม รวมถึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือทางด้านงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมที่มีคุณภาพระหว่างกันอีกด้วย

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามารถในการต่อเชื่อมถึงกันของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกไปยังพื้นที่ทุรกันดารหรือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก อีกทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายผลต้นแบบการทำงานช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ที่ได้มีการวิจัยพัฒนาไว้ในพื้นที่นำร่องต่างๆ ของทั้ง 4 หน่วยงาน รวมถึงเพื่อส่งเสริมระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในเรื่องเด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพัฒนาให้เกิดระบบข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการของหน่วยงานในพื้นที่ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือดูแลเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ และเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้กระทรวงฯ สามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการจัดการเชิงพื้นที่ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับสาระสำคัญๆ ของบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ ก็คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและกำกับทิศทางความร่วมมือทางวิชาการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วม 4 หน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบและกำกับทิศทางการพัฒนาโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างกระทรวงฯ กับ สสค. สวทช. สกว. และองค์กรเครือข่ายภาคี รวมทั้งวางแผนผลักดันโครงการความร่วมมือที่มีความสำคัญให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ในระบบงานประจำของแต่ละหน่วยงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานระยะยาว นอกจากนี้ยังจะร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาระบบการจัดการระดับมหภาคทั้งในเชิงองค์กรและกลไกทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ขึ้นมารองรับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนการเรียนรู้ของเด็กและประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมในระยะยาวอีกด้วย

View :1267

ก.ไอซีที เปิดตัว “ThaiCERT” หน่วยงานดูแลความมั่นคงปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์

December 22nd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว กับ “ความมั่นคงปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์” ว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment นั้น มีมูลค่าสูงกว่า 680 ล้านล้านบาท ซึ่งการผลักดันให้จำนวนและมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานและบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมของทรัพยากรเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือเอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์

“ความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นมิติสำคัญที่เอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงไอซีที ได้เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเชิงรุกของการรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงฯ ในด้าน “Security” ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยมี Smart Business และนำไปสู่ความเป็น Smart Thailand อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้มอบหมายให้ “ThaiCERT” หรือ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทำหน้าที่ผลักดันการดำเนินงานในทางปฏิบัติ” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

“ThaiCERT” นั้น เดิมเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนภารกิจนี้มายัง สพธอ. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อสานต่อภารกิจดังกล่าวให้มีความแข็งแกร่ง โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักกระทรวงไอซีทีในการปฏิบัติภารกิจป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งนับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ สพธอ. ในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงไอซีที

“หน้าที่หลักของ “ThaiCERT” คือ การรับแจ้งเหตุและแก้ปัญหาภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถรับแจ้งเหตุภัยคุกคามจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยมากกว่า 100 เรื่องต่อเดือน โดยการรับแจ้งภัยคุกคามเรื่องการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงนั้น มีมากกว่า 48% รองลงมาเป็นเรื่องการโจมตีและเจาะระบบคอมพิวเตอร์ประมาณ 13.6% ส่วนที่เหลือเป็นภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ภัยคุกคามที่เกิดจากโปรแกรมไม่พึงประสงค์ เป็นต้น” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ “ThaiCERT” ยังได้ดำเนินการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ สมาคมอีคอมเมิร์ซ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ สมาคมความมั่นคงทางด้านไซเบอร์แห่งประเทศไทย (CSAT) สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ประชาคมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเนคเทคอีกด้วย

“สำหรับแผนงานในช่วง 6 เดือนต่อไปของ “ThaiCERT” นั้น ได้มีการวางเป้าหมายในการให้บริการรับแจ้งเหตุภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และจะยกระดับการทำงานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เน้นการทำงานเชิงลึก โดยเจาะ ไปที่กลุ่มผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มการเงินการธนาคารและกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ส่วนผู้ที่ต้องการ แจ้งเหตุภัยคุกคามกับ “ThaiCERT” สามารถติดต่อได้ 2 ช่องทาง คือ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2142 – 2483 เวลา 8.30 – 17.30 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ และทางอีเมล์ที่ report@thaicert.or.th “นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1431

ก.ไอซีที ร่วมประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 11

December 17th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 11 ว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมฯ หรือ The 11th ASEAN Telecommunications and IT Ministers’ Meeting : 11th TELMIN ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน (ASEAN ICT Masterplan 2015 : AIM 2015) ในปีแรก ซึ่งมีโครงการรองรับการดำเนินงานจำนวน 17 โครงการ ได้แก่ โครงการอาเซียน ซีไอโอ ฟอร์รั่ม (ASEAN CIOs Forum) โครงการรางวัลไอซีที อาเซียน (ASEAN ICT Awards) โครงการความมั่นคงปลอดภัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Security) โครงการการนำไอซีทีมาใช้ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ICT Adoption by SMEs) โครงการเขตพื้นที่กระจายสัญญาณเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในอาเซียน (ASEAN Broadband Corridor) เป็นต้น โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาไอซีทีเพื่อมุ่งสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณจำนวน 450,000 เหรียญสหรัฐฯจากกองทุนไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Fund) เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการตามแผนแม่บทฯ ระหว่างปี 2555 – 2556 ด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติรับรอง แถลงการณ์เนปิดอว์ “Nay Pyi Taw Statement on ICT: an Engine for Growth in ASEAN” ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือร่วมกันในเรื่องต่างๆ อาทิ 1.ข้อริเริ่มตามแผนแม่บท AIM 2015 2.พัฒนาสภาพแวดล้อมและนโยบายที่ยืดหยุ่นเพื่อจัดตั้ง ASEAN Broadband Corridor 3.ศึกษามาตรการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงบริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ระหว่างอาเซียนโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 4.ส่งเสริมความร่วมมือที่ก้าวหน้าในเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่ 5.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 6.การสื่อสารในสภาวการณ์ฉุกเฉิน และ 7.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไอซีที เป็นต้น

“ในส่วนของประเทศไทยได้หยิบยกความสำคัญด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้วยการนำไอซีทีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของไทยที่ได้รับอุทกภัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนั้น รัฐมนตรีอาเซียนยังได้ประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) โดยในการหารือดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอาเซียนให้มีการพัฒนาและวิจัยด้านไอซีที รวมทั้งแนวปฏิบัติตามแผนแม่บท AIM 2015 ทั้งนี้ คู่เจรจาจะสนับสนุนอาเซียนในการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านต่างๆ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) 2.เทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่ไร้สายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (Broadband Wireless Mobile) 3.การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) 4.ความมั่นคงปลอดภัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Security) และ 5.การประยุกต์ใช้ไอซีทีและความมั่นคงปลอดภัยด้านไอซีที (ICT Applications and Security)

“สำหรับประเทศไทยได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีไอซีทีจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงรองเลขาธิการ ITU โดยประเด็นหลักที่หารือคือ 1.การให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนโดยอาศัยไอซีที 2.ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ 3.แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที ซึ่งจะมีการมอบหมาย ผู้ประสานงานให้ดำเนินการตามความร่วมมือต่างๆ ที่ได้หารือไว้กับประเทศคู่เจรจาดังกล่าวต่อไป” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1436

ก.ไอซีที จับมือ กสทช.พัฒนากิจการสื่อสารโทรคมนาคมไทยให้ก้าวหน้า

December 16th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจการดำเนินการตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา ระหว่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า กระทรวงฯ และ ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่มีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย กำกับ ควบคุม รวมทั้งดูแลด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้พัฒนาไปในทิศทางที่จะให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ประสานและร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนากิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลกให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

และเพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรี แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 กระทรวงไอซีที และ กสทช. จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

“การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองหน่วยงาน จะได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้มีความก้าวหน้า และก่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศตลอดจนเพื่อผลักดันแนวนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศให้เกิดเสถียรภาพ และยั่งยืนต่อไป” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

View :1462

ก.ไอซีที เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสามัญ ของ APT สมัยที่ 12

November 29th, 2011 Comments off

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสามัญ สมัยที่ 12 ขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ APT ณ เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ ว่า “การประชุมสมัชชาสามัญฯ เป็นองค์กรสูงสุดของ APT ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัยที่ 12 นี้ขึ้น เพื่อพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์ของ APT สำหรับปี ค.ศ. 2012 – 2014 โดยได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินค่าบำรุงฯ สำหรับประเทศสมาชิก สมาชิกสมทบ และสมาชิกในเครือ ซึ่งปัจจุบัน APT มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ สมาชิกสมทบจำนวน 4 เขตปกครองพิเศษ และมีสมาชิกในเครืออีกจำนวน 128 หน่วยงาน

“ในการประชุมฯ ครั้งนี้ยังได้มีการเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการและรองเลขาธิการ ซึ่งผลปรากฏว่า นาย Toshiyouki Yamada ผู้สมัครจากประเทศญี่ปุ่นได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการเป็นสมัยที่ 2 และนายไกรสร พรสุธี ผู้สมัครจากประเทศไทยก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการเป็นสมัยที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี คือ ระหว่างปี ค.ศ. 2012 – 2014 โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555” นางจีราวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม อาทิ ออสเตรเลีย จีน บังกลาเทศ ฟิจิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มองโกเลีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ซามัว สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังได้กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานใหญ่ของ APT ที่ตั้งอยู่บนถนน แจ้งวัฒนะก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

“ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยขอแสดงความขอบคุณในความห่วงใย และไมตรีจิตที่มิตรประเทศได้มอบให้แก่ประชาชนไทยในครั้งนี้ และขอให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เพื่อขยายความร่วมมือในการหาทางป้องกัน โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล การเตือนภัย และการฟื้นฟูระบบการสื่อสารต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลที่สื่อสารผ่านไปยังประชาชนมีความถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากภ

View :1124

ก.ไอซีที ต่อยอด Cyber Scout เปิดหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำและผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์

November 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภัยคุกคามจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนรวม ไปถึงข้อมูลที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้งานและสังคมออนไลน์จำเป็นต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจากสิ่งไม่พึงประสงค์ โดยที่ผ่านมากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการจัดตั้ง “โครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ()” ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครออนไลน์ที่มีจิตสำนึกในการร่วมมือกันส่งเสริมและปกป้องให้สังคมไทยเกิดความตระหนักในการรับรู้และใช้งานข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานโครงการ Cyber Scout นั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารในสังกัดกระทรวงฯ รวมทั้งต้องอาศัยกระบวนการและหลักการลูกเสือช่วยขับเคลื่อนให้โครงการฯ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C) และหลักสูตรผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ (Executive Cyber Scout) ให้กับผู้บริหารกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อนำความรู้ด้านการลูกเสือมาปรับใช้กับการทำงานการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการฝึกอบรมฯ นี้ ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ในวิชาลูกเสือ มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความรักสามัคคี มุ่งมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเคารพในสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีสิทธิได้ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน และเพื่อให้เป็นแกนนำในการบริหารจัดการเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์ (Cyber Scout)

กระทรวงฯ หวังว่าการฝึกอบบรมในหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง (A.T.C) นี้ จะทำให้ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงของกระทรวงฯ ได้รับทราบถึงหลักการลูกเสือ บทบาทหน้าที่ของลูกเสือ และสามารถเป็นแกนนำหลักในการผลักดัน ตลอดจนขับเคลื่อนโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) ให้พัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

View :1427